ประเพณีไทย แห่สลุงหลวง

ประวัติประเพณี
  ในเทศกาลสงกรานต์ คือในวันที่ 12 เมษายน ชาวลำปางจะจัดขบวนแห่ที่เรียกว่า "ประเพณีแห่สลุงหลวงจังหวัดลำปาง" ( สลุงหลวง แปลอีกความหมายว่าขันเงินใบใหญ่
พิธีการคือนำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญไปสรงพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่อัญเชิญมาให้ประชาชนได้ร่วมกันสรงน้ำในช่วงวันขึ้นปีใหม่ไทย

  การสรงน้ำพระที่ถูกต้องตามประเพณีไทย คือใช้วิธีตักน้ำจากสลุงเทสู่ รางริน ซึ่งเป็นทางให้น้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ไหลไปสรงองค์พระ อันถือว่าเป็นการสรงน้ำที่ถูกต้องตามประเพณี น้ำที่สรงองค์พระจะไหลไปสู่ภาชนธ และถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวล้านนานำมาประพรมศีรษะ ร่างกายหรือที่อยู่อาศัยเพื่อควาเป็นสิริมงคล ร่มเย็นเป็นสุขแก่ชีวิตและครอบครัวของตนสืบไป
ชาวลำปาง ยึดถือประเพณีสรงน้ำองค์พระแก้วมรกตดอนเต้าสืบมาตลอด การจัดขบวนแห่สลุงหลวง เพื่อรับน้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมแต่โบราณ

พิธีกรรม
  ขบวนแห่สลุงเริ่มจากการแห่ตุง(ธง) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เต็มไปด้วยสีสันในขบวนแห่ตุงแต่ละผืน มีความหมายในตัว มีทั้งตุงสีชมพูอ่อน ชมพูเข้ม สีส้ม สีเหลือง เขียวสลับลายชมพูและฟ้า ผู้แห่ในขบวนส่วนใหญ่ประกอบด้วยชายฉกรรจ์ โพกผ้าขาวไว้บนศีรษะ เปลือยกายท่อนบนส่วนท่านล่างบางคนนุ่งกางเกงขาสั้นสีแดงบ้าน สีดำบ้าง ในขณะทีบางคนนุ่งกางเกงขายาวสีขาว มีผู้ร่วมขบวนแห่นับร้อยคนแลดูตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้พบเห็น


  ต่อจากขบวนตุง ก็เป็นขบวนเครื่องสายและเครื่องเป่าที่คอยประโคมให้ขบวนแห่ครบเครื่อง ทั้งสีสันอันสดสวย และเสียงเครื่องดนตรีขับกล่อมที่สร้างมนต์ตราตรึงให้ผู้พบเห็นได้เข้าถึงพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น

  ต่อจากขบวนเครื่องสาย ก็เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในขบวนแห่ คือ ชาวลำปางจะอาราธนาพระเจ้า แก้วมรกตและพระเจ้าแก่นจันทร์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะบูชาอย่างสูงของชาวลำปางร่วมในงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ของเมืองลำปาง เพื่อให้ผู้คนชาวลำปางได้ร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ จากสลุงหลวงเงินสู่ลำรางสรงน้ำต่อไปตามลำดับ

  ขบวนเครื่องสักการะจะมีส่วนประกอบหลักๆได้แก่ สุ่มดอก หรือต้นดอก หรือหลักบายศรี เป็นเครื่องสักการบูชาประเภทหนึ่ง ที่ใช้ใบไม้ ดอกไม้ ตกแต่งคล้ายกับบายศรี ทำรูปลักษณะเหมือนกรวย หรือเป็นพุ่ม หมากสุ่ม คือ การนำผลหมากที่ผ่าซีกแล้วเสียบร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกไว้เป็นพวงตากแห้งเก็บไว้กิน 


ซึ่งคนทางเหนือเรียก “หมากไหม” มาปักคลุมโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้นพุ่มไว้ หมากเบ็ง มีลักษณะเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบหรือหมากสุกทั้งลูกแทน มีจำนวน ๒๔ ลูก ผูกติดตรึงโยงไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะการผูกโยงตรึงกันนี้ คนเหนือเรียกว่า “เบ็ง” จึงเป็นที่มาของชื่อต้นพุ่มชนิดนี้ ต้นเทียน มีการนำเทียนเล่มเล็กๆ มาผูกห้อยกับโครง เพื่อให้พระสงฆ์เก็บนำไปใช้สอยได้เลย สะดวกกว่าต้นผึ้งที่ต้องสะสมไปหล่อเทียนเอง


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก lampangclub.com/board
ขอบคุณภาพจาก อีเมล์ psuka49@hotmail.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ผีนางด้งประเพณีภาคอีสาน

  ประวัตินางด้ง

  นางด้ง เป็นการละเล่นแต่ครั้งสมัยโบราณ ซึ่งผู้สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยปู่-ย่า ตา-ยาย ซึ่งแต่ก่อนจะมีการละเล่นอย่างอื่นอีกมากมาย จากการสอบถามผู้สูงอายุคนเก่าคนแก่ของหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนจะมีการละเล่นมากมายหลายอย่างตามความเชื่อถือ ผี สาง เทวดา จะเข้าแค่แขนของคนทรง และยังมีการละเล่นอีกบางอย่างที่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าให้ฟังว่า ผี สาง เทวดา จะเข้าทรงทั้งตัว คือ นางแม่สี นางช้าง แต่ปัจจุบันจะเหลือการละเล่นเพียงแค่ นางด้งเท่านั้น แต่บางปีก็จะมีการละเล่น นางหัวควาย นาไซ นางข้อง บ้างแต่ก็ไม่ค่อยนิยม ที่นิยมมากและก็จะเล่นสืบต่อกันมาตลอดคือ นางด้ง จะเล่นกันตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ และอีกอย่างที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังให้คือ

  ที่การละเล่นทั้งหลายที่กล่าวมานี้ช่วงหลังๆ จนถึงปัจจุบันไม่ได้เล่น ก็เพราะว่าคนไม่เหมือนแต่ก่อนและก็ปากคนไม่เหมือนแต่ก่อนและก็ปากคนไม่เหมือนสมัยก่อนไม่ค่อยรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม บางครั้งชอบพูดจาไม่เป็นมงคล ตามคำเชื่อถือจึงทำให้ ผี สาง เทวดา ไม่ทรงลงมาประทับเข้าทรง การละเล่นเหล่านี้จะเล่นกันในเวลากลางคืนยกเว้นวันพระ และจะเล่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันสงกรานต์ของชาวบ้านชมพูจะเล่นกันทั้งหมด 7 วัน วันสุดท้ายของวันสงกรานต์คือวันที่ 19 เมษายน จะมีพิธีรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่และสรงน้ำพระ จะทำสืบต่อกันมาทุกปี


  การละเล่นที่กล่าวมาก็จะเล่นกันมากในสมัยก่อนเพราะสมัยก่อนไม่มีดนตรี ก็จะมีแต่เพลงพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านตอนกลางวันเล่นกันที่ลานวัด พอกลางคืนก็จะเล่นการละเล่นดังที่กล่าวมาข้างต้นที่ลานกลางบ้านซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวางเหมาะที่จะเล่นด้วยคนจำนวนมากๆ

  การละเล่นนางด้ง จะเล่นสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันและจะเล่นกันทุกปี เป็นการเล่นที่ทุกเพศทุกวัยชอบได้รับความสนุกสนานถึงจะเจ็บตัวกันเป็นแถวๆ แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรกัน นางด้งจะมีคนเข้าทรงครั้งละ 2 คน เป็นผู้หญิง เมื่อเข้าทรงได้แล้วจะถือกระด้งเป็นอาวุธคอยเฝ้าสาก (จากการสอบถามคนเข้าทรงหลังจากออกจากทรงแล้วคนเข้าทรงเล่าว่าจะชาที่ช่วงแขนเหมือนมีอะไรบังคับซึ้งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน และจะรู้สึกหวงสากมากที่สุด เพราะสากที่วางอยู่คู่กันจะเห็นเป็นทองคำ เมื่อมีใครเข้ามาจะเอาสากก็จะไล่ตี) 


  ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าทรงก็คือคนดูไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะเข้าไปแย่งสาก เมื่อมีคนเข้ามาแย่งสากก็จะถูกนางด้งไล่ตี บางคนหลบไม่ดีถูกตีหัวแตกก็มี บางคนก็แขน ขา หน้าถลอกเป็นแผลก็มี แต่ก็ไม่มีใครถือโทษโกรธอะไรเพราะเป็นการละเล่นมีแต่เสียงหัวเราะ เสียงฮา อยากมีความสุขสนุกสนานบางครั้งถ้าไม่เข้าไปแย่งสากก็จะเข้าไปฟ้อนรำหรือถามหาคู่ว่าอยู่ทิศใด นางด้งก็จะชี้และก็รำกับคนเข้าไปรำด้วย เวลานางด้งจะออกจากการทรงก็จะโยนหรือวางกระด้งที่ถือหงายขึ้นถ้ากระด้งคว่ำจะต้องหงายใหม่เพราะไม่อย่างนั้น ผีสาง เทวดา ไม่ยอมออก พอนางด้งออกจากร่างทรงก็จะเริ่มทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญเข้าทรงอีก 

  ก็จะมีกลุ่มคนคอยเคาะไม้ไผ่เป็นจังหวะและก็จะร้องเพลงของนางด้งไปด้วย อีกกลุ่มก็จะไปยืนมุงดูการทรงล้อมวงและก็ร้องเพลงนางด้งไปด้วย จะมีคนคนเฒ่าผู้สูงอายุเป็นคนคอยเซ่นบวงสรวงเจ้าลงมาประทับเข้าทรงนางด้ง นางด้งเข้าหรือไม่เข้าดูได้จากกระด้งที่คนเข้าทรงจับกระด้งเริ่มสั่นก็แสดงว่าเจ้าเริ่มเข้าประทับทรงคนดูคนเชียร์ก็จะเร่งจังหวะร้องเพลงให้เร็วขึ้นพอเข้าเสร็จวงก็จะแตกฮือออกจากบริเวณนั้นเพราะกลัวถูกตี คืนหนึ่งก็จะเล่นกันประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับคนเข้าทรงว่ามีเยอะหรือน้อย และขึ้นอยู่กับคนเล่นและคนดูว่าเล่นกันสุภาพหรือไม่ ถ้าเล่นกันไม่ดีไม่สุภาพก็จะเลิกเล่นกันทันที และจะเล่นกันจนครบ 3 วัน และคนเฒ่าคนแก่ยังบอกอีกว่าคนที่จะเข้าทรงนั้นต้องเป็นคนขวัญอ่อน จิตอ่อน ถึงจะเข้าทรงได้


ความสำคัญ การเล่นนางด้ง เป็นพิธีการขอฝนพิธีหนึ่งของชาวชมพู ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

สาระ การประกอบพิธีการเล่นนางด้งเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือ ร่วมใจ ความสามัคคีปรองดองและเป็นการแก้ปัญหาของท้องถิ่นร่วมกัน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงจาก npnfe.wordpress.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณี งานนมัสการหลวงพ่อปานและแข่งเรือพาย


อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เตรียมจัดงานนมัสการหลวงพ่อปาน ประจำปี 2555 เพื่อสืบสานงานประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม
กำหนดจัดงานนมัสการหลวงพ่อปาน ประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2555 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยงานนมัสการหลวงพ่อปานอำเภอบางบ่อ เป็นงานประเพณีของอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 80 ปี เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มานมัสการและปิดทองรูปหล่อหลวงพ่อปาน ซึ่งเป็นพระอริยะสงฆ์ที่ยึดมั่นเคร่งครัดทางพระธรรมวินัย เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังทางวิปัสสนากรรมฐาน ยึดมั่นทางธุดงค์ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอำเภอบางบ่อและใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณงามความดี และวัตรปฏิบัติอันดีงามของท่าน เมืองครั้งยังอยู่ในเพศบรรพชา จนกระทั่งมรณภาพ ถือว่าเป็นการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงได้ยึดวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีเป็นวันเริ่มงาน สำหรับงานในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 เป็นวันเริ่มงาน ภายในงานยังมีการจัดแสดงมหรสพต่างๆ เช่น ดนตรี ลิเก ลำตัด การแข่งขันเรือพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้าน

หลวงพ่อปาน เกิดที่ตำบลบางเหี้ย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2368 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาเป็นคนจีนไม่ทราบชื่อ มารดาเป็นคนไทยชื่อ นางตาล เมื่อวัยเยาว์หลวงพ่อปานได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอรุณราชวราราม จนครบอายุอุปสมบทที่วัดอรุณราชวราราม เป็นเวลาพอสมควรจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาหลวงพ่อปานได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น ”พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ” หลวงพ่อปานมรณภาพเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2453 สิริอายุได้ 86 พรรษา

คำสอนหลวงพ่อปาน "ไม่เกิดต้องทำอย่างไร"

ทีนี้คนที่จะไม่เกิดต้องทำอย่างไร มันทำไม่ยาก ทำง่าย ๆ คือ

๑. รักษาศีลให้บริสุทธิ์ คนรักษาศีลน่ะเป็นคนดี ไอ้คนไม่มีศีลน่ะเป็นคนระยำ จำไว้ให้ดี ถ้าเราอยากจะเป็นคนดี เราต้องเป็นคนมีศีล ถ้าเรายังปฏิบัติศีลไม่ได้ ให้รู้ตัวว่าเราระยำเต็มทีแล้ว เลวเต็มทีแล้ว ให้รู้ตัวไว้ อย่าเป็นคนเข้าข้างตัว จงเป็นคนรู้ตัวดีกว่าคนเข้าข้างตัว

๒. รักษาสมาธิให้ตั้งมั่น ซึ่งเป็นของที่ไม่ต้องลงทุน

๓. ปลงสังขาร ไว้ว่า โลกทุกโลกเป็นแดนของความทุกข์ สังขารทุกสังขารเป็นดินแดนของความทุกข์ เราจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ก็ไม่พ้นทุกข์

ถ้าเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ก็ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน เราไม่ต้องการโลกทั้ง ๓ ประการ และไม่ต้องการอะไรทั้งหมด ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา สิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ ก็คือ พระนิพพาน ภาวนาไว้ว่า สิทตะมหานิพพานัง หรือ นิพพานัง เฉยๆ ก็ได้ นึกไว้ว่า นิพพานๆ เราต้องการพระนิพพานโลกนี้ทั้งหมดเราไม่ต้องการอะไร ความรัก ความเกลียด ความโกรธ ความเร่าร้อน เราถือเป็นของธรรมดา อะไรจะมากระทบกระทั่ง นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดา เราจะเปลื้องสมบัติสภาวการณ์ต่างๆ ของโลกให้สิ้นไป

เราอยู่กับโลก เราจะอาศัยโลกและสมบัติของโลกชั่วคราว เมื่ออัตตภาพมีอยู่ เมื่อความสิ้นไปแห่งอัตตภาพมีเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละเราจะไปพระนิพพาน

ที่มา : FB ศูนย์พุทธศรัทธา

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ปีใหม่ม้ง

ประวัติย่อ
   ประเพณีไทย ปีใหม่ม้ง ที่หมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งประเพณีปีใหม่ของพวกเขาตรงกับ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเวลาระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ซึ่งในวันปีใหม่นี้ของชาวม้งจัดเป็นงานประเพณีที่ชาวม้งรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากจะเป็นการพบปะกันระหว่างกลุ่มญาติมีประเพณีขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้อาวุโส เป็นวันที่หนุ่มๆสาวๆในหมู่บ้านจะได้เลือกคู่ มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเพณีและการละเล่นต่างๆ เช่น ลูกข่าง ลูกช่วง และยังมีการแข่งขันล้อเลื่อนไม้ชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งเป็นกีฬาที่ท้าทายน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่นอกการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานแล้วชาวม้งก็ไม่ลืมที่จะทำพิธีกรรมต้อนรับปีใหม่ซึ่งจัดเป็นพิธีกรรมที่ชาวม้งให้ความสำคัญกันมากโดยมี 4 อย่างดังนี้ วันดา วันขึ้นปีใหม่, วันที่สาม, วันที่สี่, การแข่งขันล้อเลื่อนไม้,

วันดา
   หรือ แรม 12 ค่ำ เดือน 1 ชาวม้งจะมีการเตรียมต้อนรับปีใหม่โดยทุกบ้านจะทำความสะอาดบ้านโดยใช้ใบไผ่กวาดบ้านเพื่อเอาสิ่งไม่ดีไปกับปีเก่า และจะมีพิธีเรียกขวัญโดยนำไก่ต้มสุก 1 คู่ มาทำพิธีบนแท่นบูชา โดยระหว่างงานปีใหม่นี้จะจุดธูปหรือตะเกียงไว้กลางบ้านตลอด แต่ละแซ่จะสอนสิ่งดีๆให้กับลูกหลาน ระหว่างที่สอนจะนำเม็ดข้าวโพดใส่ในกระด้งแล้วโยกไปมา ทุกวันของวันปีใหม่จะมีการจัดเลี้ยง แต่วันดาจะเป็นวันที่ดื่มเหล้ากันมากที่สุด กลางคืนของวันดานี้ทุกคนจะเฝ้ารอเสียงสัตว์ร้อง เพราะเสียงสัตว์ร้องเสียงแรกจะถือเป็นเวลาที่เริ่มต้นของวันปีใหม่ ถ้าเป็นเสียงไก่ร้องจะถือว่าดีที่สุด ทันทีที่ได้ยินเสียงสัตว์ร้องเสียงแรก ผู้ชายของทุกบ้านจะยิงปืนต้อนรับปีใหม่ และในเวลา 01.00 น. จะเทภาชนะที่บรรจุน้ำภายในบ้านทิ้งและตวงน้ำใส่ใหม่ ผู้หญิงจะเริ่มตำข้าวหุงข้าวเพื่อเตรียมเลี้ยงงานปีใหม่


ปัจจุบันชาวม้งได้เลื่อนการจัดปีใหม่ม้งไม่มีวันที่แน่นอน บางปีจัดวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 บางปีจัดวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 2 หรือบางปีจัดตรงกับปีใหม่สากลซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคม แต่ละปีจะจัดไม่เหมือนกันเพราะวิถีชีวิตและการดำรงชีพเริ่มแตกต่างไปจากเดิม

วันขึ้นปีใหม่
  (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ) ในวันนี้จะมีการละเล่นในหมู่บ้าน เช่น การเล่นลูกข่าง ซึ่งจะแข่งขันกัน ใครตีได้แม่นหรือลูกข่างหมุนได้นานก็จะเป็นฮีโร่ของงาน 

   นอกจากนี้วันนี้จะเป็นวันที่หนุ่มสาวจะเลือกคู่กันโดยใช้วิธีโยนลูกช่วง โดยหนุ่มๆสาวๆก็จะแต่งกายด้วยชุดสวยงาม ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายทำลูกช่วงซึ่งทำจากผ้าเป็นลูกกลมๆและวานให้เพื่อนหญิงหรือจะเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วเป็นผู้นำลูกช่วงของตนไปมอบให้กับชายหนุ่มที่ตนพึงพอใจ และหญิงสาวที่ทำหน้าที่เป็นแม่สื่อนี้จะบอกกับชายหนุ่มว่าลูกช่วงนั้นเป็นของหญิงสาวคนใดเพื่อที่ชายหนุ่มจะได้นำลูกช่วงนี้ไปโยนหรือขว้างเล่นกับหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของลูกช่วงต่อไป หรือหากผู้ชายหมายตาหญิงสาวคนใดไว้ก็จะไปขอโยนลูกช่วงด้วย ถ้าฝ่ายหญิงไม่พอใจก็จะไม่โยนด้วย ระหว่างที่ชายหนุ่มหญิงสาวโยนลูกช่วงก็จะพูดจาจีบกันในเวลานี้ ในส่วนใหญ่แล้วคู่โยนลูกช่วงจะมีการสู่ขอแต่งงานกันหลังงานปีใหม่ (ตามประเพณีเดิมแล้วถ้าผู้ชายพอใจก็จะฉุดหญิงสาวไปด้วยเลยแล้วค่อยมาทำการสู้ขอในภายหลัง) และวันนี้ในแต่หลังคาเรือนก็จะจัดเลี้ยงแขกที่เข้าไปเยี่ยมในบ้านซึ่งจะมีการตั้งวงร่ำสุรา ตามธรรมเนียมของชาวม้งแล้วจะมีการต้มเหล้าข้าวโพดเตรียมไว้สำหรับฉลองเทศกาลปีใหม่นี้ 

   ใครที่มีฝีมือดีก็จะต้มเหล้าได้ใสเป็นตาตั๊กแตน ผู้เขียนเคยได้ลองชิมเหล้าข้าวโพดนี้แล้วบอกได้เลยว่าทั้งหอมหวานรสชาดสู้กับเหล้าฝรั่งได้เลย ส่วนความแรงนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเวลาที่ดื่มเข้าไปนั้นก็ทราบทันทีเลยว่าเหล้าได้เดินทางไปถึงส่วนไหนของทางเดินอาหารแล้วประกอบกับความหวานของเหล้านั้นทำให้ดื่มได้เรทื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมาไปซะแล้ว 

ธรรมเนียมการนั่งในวงสุราจะนั่งตามผู้อาวุโส ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าจะนั่งทางด้านซ้ายมือของผู้ที่อาวุโสกว่า หากเราจะไปร่วมวงการร่ำสุรานี้ก็ต้องถามจากเขาก่อนว่าเราสามารถนั่งได้ตรงไปไหน ด้านหลังของวงเหล้าจะมีผู้ทำหน้าที่รินเหล้าหนึ่งคน จอกเหล้าสองจอก โดยจะเริ่มดื่มจากผู้อาวุโสที่หัวแถวก่อนแล้ววนไปทีละ สองจอกจนครบเก้ารอบ รอบสุดท้ายจะเป็นจอกใหญ่กับจอกเล็กเรียกว่าแม่วัวกับลูกวัว ทุกคนในวงต้องดื่มให้หมดเพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าบ้าน ถ้าใครดื่มไม่ไหวก็ต้องให้คนในครอบครัวมายืนข้างหลังคอยช่วยดื่ม

วันที่สาม
   (ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 1) เป็นวันที่จะไปดำหัวผู้เสียชีวิตไปแล้วที่หลุมศพ และถือเป็นวันสุดท้ายของปีใหม่ ไก่ที่ต้มไว้วันแรกต้องกินให้หมดวันนี้และดับธูปหือตะเกียงที่จุดไว้ตลอดปีใหม่

วันที่สี่
   เป็นวันที่ส่งผีกลับ ในตอนเช้าจะต้มไก่ใหม่ไว้บนโต๊ะ ผู้นำครอบครัวทำพิธีปล่อยผีกลับและบอกไว้ว่าถ้ามีอะไรจะเรียกผีนี้กลับมาช่วย ในหมู่บ้านชาวม้งบางหมู่บ้านจะมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านเรียกว่า ดงเซ้ง ซึ่งต้องดูแลให้ดี หากไม่เช่นน้นจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ 

และในวันที่สี่นี้หมู่บ้านที่มีดงเซ้งก็จะเข้าไปทำความสะอาดและพิธีที่ดงเซ้งนี้เพื่อขอพรให้อยู่ดีมีสุขก็เป็นหลังจากที่ทำพิธีกรรมทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็มาถึงการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานต่างๆของม้งที่มีมากมาย เช่น การตีลูกข่าง การยิงหน้าไม้ การหาบน้ำ การฝัดข้าว การโยนไข่ การประกวดแม่บ้านสมบูรณ์ การโยนลูกช่วงหรือประเพณีเกี้ยวสาวที่กล่าวไปข้างต้น แต่ที่เป็นไฮไลท์สุดก็ต้องเป็นกีฬาแข่งขันล้อเลื่อนไม้หรือโกคาร์ทชาวเขานั่นเอง

การแข่งขันล้อเลื่อนไม้ [ย่อ]
  ล้อเลื่อนชาวเขานี้ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวเขามาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยเหล่าชาวเขาได้คิดค้นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันล้อเลื่อนไม้นี้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์ไปแล้ว เหลือแต่การละเล่นและแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนาน จากการแข่งขันกันใหม่หมู่เพื่อนฝูงก็กลายมาเป็นการแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้านและมีทีท่าว่าจะขยายไปเรื่อยๆ เนื่องจากในปีนี้จะเห็นได้ว่าได้มีผู้สมัครแข่งขันจากหลากหลายที่ เช่น ชาวเขาจากดอยเต่า ดอยสุเทพ ดอยปุย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีนักแสดงชื่อดังมาร่วมแข่งขันด้วย เช่น ลิฟท์, เจี๊ยบ ชวนชื่น, เอิร์ท ณัฐนันท์, อาจารย์ธัญธีรา ยิ้มอำนวย หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประเพณีปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง


ล้อเลื่อนไม้สำหรับบรรทุกวัตถุดิบสำหรับดำรงชีวิตจากป่าหรือโกคาร์ทชาวเขานั้น จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาในการปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิต แสดงให้เห็นถึงดูแลครอบครัวของฝ่ายชายซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำและเป็นผู้ไปหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันอีกด้วย ล้อเลื่อนไม้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์กับธรรมชาติและมีขอบเขตจำกัดไม่สะสมมากเกินพอ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจแบบพึ่งพาอาศัยไม่แสวงหากำไร อีกทั้งการแข่งขันล้อเลื่อนไม้นี้ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กัน ความเท่าเทียมกันทางสังคมอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่วันนี้การแข่งขันล้อเลื่อนไม่เพียงเป็นกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์และอนุรักษ์วัฒนธรรมระหว่างชาวม้งได้เป็นอย่างดี ทั้งยังคงสร้างความสนุกสนานระหว่างชาวบ้านที่แข่งกับคนดูซึ่งเป็นชาวเขาในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วสารทิศอีกด้วย และการแข่งขันนี้เชื่อไหมว่าเป็นการแข่งขันที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วยเพราะการแข่งขันนี้ได้ลงข่าวในช่อง ESPN ซึ่งเป็นช่องข่าวกีฬาชื่อดังของโลกอีกด้วย หากใครสนใจจะไปเที่ยวงานปีใหม่ชาวม้งนั้นคงต้องดูปฏิทินกันล่วงหน้าก่อน เพราะเขากำหนดวันขึ้นปีใหม่กับแบบข้างขึ้นข้างแรมกันโดยจะอยู่ในช่วงราวเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมพาพันธ์ของทุกปี ซึ่งก็สามารถสอบถามข้อมูลล่วงหน้าจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
  ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก http://th.wikipedia.org
    ขอบคุณภาพจาก อินเตอร์ ค้นหาโดย Google
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย แห่พระแข่งเรือ ขึ้นโขนชิงธง


ช่วงเวลาที่จัด
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

เอกลักษณ์ของประเพณี 
เป็นการแห่พระและจัดแข่งเรือโดยผู้ชนะการแข่งขันต้องขึ้นโขนชิงธงขณะเรือเข้าเส้นชัย

พิธีกรรม
การแข่งเรือ ของอำเภอหลังสวน เป็นประเพณีที่ดำเนินการสืบทอดมายาวนาน ซึ่งเริ่มมาจากการแข่งเรือระหว่างวัดต่าง ๆ ในงานออกพรรษาของทุกปี โดยมีการวางกติกา สำหรับเรือที่ชนะว่า ก่อนการเข้าเส้นชัย นายหัวเรือต้องปีนขึ้นหัวเรือ ซึ่งเรียกว่า โขนเรือ เพื่อไปหยิบธงที่ผูกไว้ ณ เส้นชัย การผูกธงจะใช้เรือโป๊ะลอยลำกลางแม่น้ำ และใช้สมอช่วยในการทรงตัวของเรือให้นิ่ง ธงชัยนั้นจะมีการนำท่อเป๊ปสอดที่ข้างเรือให้มีความยาวเสมอกัน จุดต่อของท่อจะผูกด้วยด้าย ซึ่งผู้แข่งขันต้องกระชากธงให้ขาด ถ้าเรือถึงเส้นชัยโดยไม่ได้ธงจะถือว่าแพ้ หรือ นายหัวเรือขึ้นชิงธงแต่ตกน้ำก็ถูกจับแพ้เช่นกันแม้ว่าเรือจะถึงเส้นชัยก่อน จากกติกาที่กำหนดให้เรือที่ชนะต้องปีนขึ้นหัวเรือทำให้เรือที่เข้า แข่งขันต้องใช้ไม้ที่เบาและเหนียว หัวเรือที่นิยมทำจะใช้ไม้กำจัด เพื่อไม่ให้หัวเรือหนักเวลาต้องวิ่งขึ้นไปกระตุกธงขณะเข้าเส้นชัย เรือที่ใช้ในการแข่งขัน ไม่จำกัดความยาวของเรือ แต่กำหนดจำนวนฝีพายไม่เกิน ๓๒ ฝีพาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือจากวัดต่าง ๆ ในการจัดแข่งขันกรรมการจัดงานจะต้องติดต่อมาที่วัด เพื่อเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน และเปิดรับสมัครจากภายนอกเช่นเดียวกับการรับสมัครแข่งขันกีฬาทั่ว ๆ ไป 



ประเภทของการแข่งเรือมี ๒ ประเภทคือ ประเภท ก เป็นการแข่งเรือจากทุกจังหวัดเพื่อชิงรางวัลคือโล่ห์พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนประเภท ข เป็นการแข่งขันเฉพาะเรือในจังหวัดชุมพร เพื่อชิงรางวัลเป็นขันน้ำพานรองจากนายกรัฐมนตรี การถือครองรางวัลมีเงื่อนไขว่า เรือที่ชนะเลิศสามารถครอบครองโล่ห์หรือถ้วยรางวัลเป็นเวลา ๑ ปี และต้องส่งคืนในวันงานของปีต่อไป แต่ถ้าสามารถชนะเลิศได้ ๓ ปีซ้อน ผู้จัดงานจะมอบโล่ห์จำลองให้ไปครอบครองแทน โดยไม่ต้องส่งคืน ที่มาของโล่ห์รางวัล ได้มาจากการขุนชัด รัตนราช ขณะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (เคยเป็นข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เมื่อเสด็จประทับที่ภาคใต้) ขอพระราชทานรางวัลในงานดังกล่าว
ส่วนการประกวดเรือประเภทสวยงาม รางวัลที่ได้คือโล่ห์พระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ นอกจากโล่ห์แล้วยังมีการมอบเงินสดเป็นรางวัล และเงินช่วยเหลือเรือที่ร่วมแข่งขัน ซึ่งได้จากการประมูลให้เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้า ระหว่างการจัดงาน


ผู้ประกอบพิธี ประกอบด้วย
(๑)คณะกรรมการผู้จัดการ เดิมเป็นความรับผิดชอบของนายอำเภอ ต่อมาได้มอบให้เทศบาลเป็นผู้จัดและมีคณะกรรมการร่วมดำเนินการ ปัจจุบันผู้รับผิดชอบในการจัดประเพณีนี้ คือ จังหวัด โดยให้อำเภอหลังสวนเป็นผู้รับผิดชอบ 
(๒) ผู้เข้าร่วมแข่งขัน 
(๓) ผู้ชมการแข่งขัน 

สถานที่จัด
ในระยะแรก ๆ จัดกันที่วัดขันเงิน โดยเริ่มจากการแห่พระคือการลากพระ ชักพระ เป็นการใช้เรือขนาดเล็ก ร่วมพิธีเพื่อพายแข่งกันชิงข้าวต้ม (ข้าวเหนียวห่อ) และปรับเปลี่ยนใช้เรือพายขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมทั้งเคลื่อนย้ายไปจัดที่แม่น้ำหลังสวนบริ
เวณหน้าเทศบาล ซึ่งมีร่องน้ำลึก และสายน้ำตรง จุดปล่อยเรือจะอยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำ ส่วนเรือตัดสิน หรือ เรือชิงธง อยู่ห่างจากจุดปล่อยประมาณ ๕๐๐ เมตร ลงไปทางใต้ สำหรับเวลาจัดงาน หรือ ระยะการแข่งขัน ปัจจุบันใช้เวลา ๔ วัน

การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
มีการเปลี่ยนแปลงกติกาบางประการโดยผลการประชุมของคณะกรรมการจัดงาน ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้แก่ การห้ามเรือเล็กเข้าใกล้บริเวณเรือแข่งขัน จากเดิมที่เคยมีการอนุญาต ให้ร่วมเพื่อสังสรรค์ร่วมกันได้ และมีการกำหนดจำนวนฝีพายให้มีจำนวนไม่เกิน ๓๒ ฝีพาย เพิ่มจากเดิมที่ใช้ฝีพายจำนวน ๑๙ คน ในตำบลหาดยายมีเรือดังกล่าว ๒ ลำ คือเรือนางยวน และเรือมะเขือยำ (ปัจจุบันใช้เป็นเรือนำขบวนพาเหรด เพราะเป็นเรือเก่าแก่ของอำเภอหลังสวนที่ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)

รูปแบบของการแข่งเรือ จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการจัดงาน ดำเนินงานหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเปิดรับสมัครเรือที่เข้าแข่งขัน และมีขบวนแห่ที่มีทั้งพาเหรดทางบก และพาเหรดทางน้ำ ขบวนแห่จะอัญเชิญโล่ห์พระราชทานเป็นต้นขบวน ลักษณะของขบวนพาเหรดทางน้ำ ประกอบด้วยขบวนที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม จัดให้มีการประกวดเรือประเภทต่าง ๆ เช่น ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด ประเภทตลกขบขัน และมีการประกวดมารยาทเรือ ซึ่งพิจารณาจากการเข้าร่วมแข่งขันตลอดรายการ
 

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดนายหัวเรือดีเด่น เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติลุกได้เร็ว ขึ้นโขนเร็ว ไม่ผิดพลาด และไม่ใช่กลอุบายหลอกเรือคู่แข่ง
งานประเพณีแข่งเรือหลังสวน เป็นกิจกรรมที่ต้องจัดขึ้นในทุกปี




บอกเล่าเรื่องราวโดย
ชื่อ นายสมเจตน์ เขียวสม 
เกิด วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ 
ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๖ หมู่ ๔ ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 
การศึกษา มัธยมปีที่ ๖ วิชาชีพครู ครูพิเศษมัธยม 
อาชีพ ทำสวน 
สถานภาพ แต่งงาน 
ชาติพันธุ์ ไทย 
ภาษา ไทย (ท้องถิ่นใต้) 
วันที่ให้สัมภาษณ์ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

ข้อมูลอ้างอิงจาก culture.go.th/pculture/chumphon


ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}