ประเพณีไทย พิธีมงคลโกนผมไฟ


พิธีมงคลโกนผมไฟ

       คนส่วนใหญ่มีความเชื่อกันว่า ผมของเด็กที่ติดมากับครรภ์มารดานั้น ไม่ค่อยสะอาดนัก จึงต้องโกนทิ้งเพื่อให้ผมขึ้นมาใหม่ แต่จะโกนเมื่อแรกคลอดเลยนั้นก็ไม่สะดวก เนื่องจากยังต้องวุ่นอยู่กับการเลี้ยงดูและจัดหาข้าวของเครื่องใช้ ตัวมารดาเองเพิ่งคลอดบุตรยังไม่ค่อยแข็งแรงนักอีกสาเหตุหนึ่งคือเด็กที่คลอดใหม่ๆ กะโหลกศีรษะยังบอบบาง แม้เมื่อมีอายุครบ ๑ เดือนแล้วก็ยังไม่ค่อยแข็งเท่าไรนัก การทำพิธีโกนผมไฟจึงควรระมัดระวัง และให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโกนผมให้ จะดีกว่าทำกันเอง



การจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้

        เนื่องจากมักนิยมทำพิธีโกนผมไฟพร้อมกับพิธีทำขวัญเดือนจึงจัดเตรียมข้าวของตามที่กล่าวไว้ในพิธีทำขวัญเดือน สำหรับพิธีโกนผมไฟนั้น ต้องมีพิธีของพราหมณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ
  • พิธีสงฆ์ ได้แก่ การสวดมนต์เย็น รับอาหารบิณฑบาตรเช้า และ
  • พิธีพราหมณ์ ได้แก่ การรดน้ำ
        ดังนั้นจึงต้องเตรียมจัดสถานที่และข้าวของเครื่องใช้สำหรับพระที่จะสวดเจริญพระพุทธมนต์ และตระเตรียมหม้อน้ำมนต์ เครื่องสระศีรษะ (สำหรับใส่ในหม้อน้ำมนต์) สังข์ บัณเฑาะว์ (สำหรับตีและเป่าในพิธี ส่วนใหญ่พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะจัดเตรียมมาเอง) นอกจากนั้นยังมี เครื่องสำหรับโกนศีรษะเด็ก อันได้แก่ มีดโกน ใบบัว ดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ
        หากเจ้าภาพเป็นผู้ที่ฐานะหรือมีหน้ามีตาก็จะบอกข่าวออกบัตรเชิญ ไปยังญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดจนผู้ที่เคารพนับถือให้มาเป็นเกียรติในงาน ผู้มาร่วมงานก็จะนำของขวัญหรือเงินทองมาให้ร่วมรับขวัญ เรียกว่าเป็นการลงขันเสร็จพิธีแล้วก็มีการเลี้ยงฉลองกันตามสมควร

ลำดับพิธีการ

        ครั้นถึงฤกษ์งามยามดี ผู้กระทำพิธีก็นำเด็กออกมาวางต่อหน้าพระสงฆ์ โดยหันศีรษะเด็กไปทางทิศที่โหรกำหนด ส่วนใหญ่จะนำออกมาก่อนได้ฤกษ์เล็กน้อย เพื่อให้ญาติมิตรได้ชื่นชมในตัวเด็ก ครั้งถึงฤกษ์โหรก็ทำการลั่นฆ้องชัย ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงานทำการหลั่งน้ำจากหอยสังข์รดไปบนศีรษะของเด็ก แล้วหยิบมีดโกนแตะบนศีรษะเด็กพอเป็นพิธีพร้อมอวยชัยให้พรพระสงฆ์สวดบทชยันโตพราหมณ์เป่าสังข์และไกวบัณเฑาะว์ บรรดาพิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ต่อจากนั้นจึงให้ทำการโกนผมไฟ

พิธีอาบน้ำเด็ก

        เมื่อช่างโกนผมไฟจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ยกเด็กลงไปอาบน้ำในอ่าง ซึ่งมีน้ำอุ่นผสมน้ำพระพุทธมนต์ ครั้นเสร็จแล้วจึงนำไปแต่งตัว แล้วนำเด็กมาวางไว้บนเบาะข้างบายศรี สำหรับคนที่ทำหน้าที่อุ้มเด็กควรเป็นย่า ยาย หรือญาติผู้ใหญ่
        ในช่วงที่ทำพิธีอาบน้ำเด็กนี้ ให้จัดภัตตาหารถวายแด่ภิกษุสงฆ์ ประเคนเครื่องปัจจัยไทยธรรม หลังจากพระอนุโมทนาแล้วก็จะลากลับวัด

พิธีลงเปล

        ข้าวของที่ต้องเตรียมไว้สำหรับพิธีนำเด็กลงเปล ได้แก่ ข้าวตอก, ข้าวเปลือก, ถั่วเขียว, งา, เมล็ดฝ้าย อย่างละกำมือ ให้ใส่ถุงแพรหรือห่อไว้ นอกจากนั้นก็ยังมี หินบด, ฟักเขียว ๑ ผล,มะพร้าวเงินและมะพร้าวทอง อย่างละ ๑ ผล (ใช้มะพร้าวทาสีทองและสีเงิน เป็นการสมมุติ)
        ครั้นได้ฤกษ์ลงเปล ให้หยิบถุงต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้วางลงในเปลเด็กก่อน แล้วเอาบายศรีปากชามใส่ลงขันข้าวปักแว่นเวียนเทียน แล้วจัดเครื่องกระยาบวช ๑ สำรับ ให้บิดามารดาพร้อมหมู่วงศาคณาญาติ มานั่งล้อมกันเป็นวงโดยมีเด็กอยู่ตรงกลาง นำด้ายสายสิญจน์จากพานมาปัดข้อมือเด็ก โดยถือเคล็ดว่าได้เอาสิ่งอันไม่เป็นมงคล ตลอดจนเคราะห์และโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทิ้งไป
        ต่อจากนั้นจึงตักมะพร้าวอ่อนแตะปากเด็กพอเป็นพิธี ครั้นแล้วจุดเทียนในแว่น ๓ แว่น ยกขึ้นอวยชัยให้แก่เด็ก ๓ ครั้ง แล้วทำพิธีอำนวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ต่อจากนั้นก็ทำพิธีปูเปลเด็ก

พิธีปูเปล

ข้าวของเครื่องใช้สำหรับทำพิธีปูเปลเด็กมีดังนี้
  1. น้ำพระพุทธมนต์
  2. ใบมะตูม
  3. กระแจะจันทน์
  4. ถั่วงา
  5. แมวตัวสวยๆ ซึ่งเลี้ยงง่าย นำสายสร้อยมาสวมคอให้ดูสวยงาม
        ให้นำน้ำพระพุทธมนต์พรมเปลเด็กก่อนเป็นลำดับแรก พรมพอเป็นพิธีไม่ต้องให้ถึงกับเปียกโชก แล้วนำใบมะตูมวางลงในเปล เจิมหัวนอนเด็กด้วยกระแจะจันทน์ เอาเครื่องต่างๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดงา เป็นต้น วางลงในเปล นำแมววางลงในเปลครู่หนึ่งจึงยกออก
        ต่อจากนั้นจึงนำเด็กลงวางในเปล เห่กล่อมแบบการเลี้ยงของคนสมัยโบราณ เป็นอันเสร็จพิธี ในการทำพิธีโกนผมไฟนี้ เกิดจากการปลื้มปีติยินดีที่มีทายาทไว้สืบสกุล และเด็กทารกนั้นได้เลี้ยงรอดปลอดภัยจนมีอายุครบ ๑ เดือน และถือเป็นการรับขวัญเด็ก หรือสมาชิกคนใหม่ในบ้านอย่างเป็นทางการ สำหรับคนที่มีฐานะธรรมดาทั่วไป อาจไม่จัดพิธีใหญ่ แค่เอาด้ายสายสิญจน์มาผูกข้อมือเป็นการรับขวัญก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีกระทำกันแล้ว อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}