แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีภาคอีสาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีภาคอีสาน แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย บุญแจกข้าว

  
       ชาวอีสานมีความเชื่อว่าดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หากไม่ได้รับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แล้ว ดวงวิญญาณนั้นก็จะมีแต่ความอดอยากทนทุกข์ทรมานและไม่ได้ไปผุดไปเกิด ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้จึงทำให้มีการจัดงานหรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่เสียชีวิต หรือเรียกว่า การทำบุญแจกข้าว
               
  การทำบุญแจกข้าวเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอา ซึ่งผู้เสียชีวิตเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปได้ไม่นานมากนัก ประมาณ 1-3 ปี

  โดยการทำบุญแจกข้าวนี้ ต้องมีการระบุไปว่ามีความต้องการจะทำบุญแจกข้าวให้ใคร โดยจะมีการจัดงานกันใหญ่พอสมควรโโยมีการบอกกล่าวเพื่อนบ้านใกล้เคียงและ ภายในหมู่บ้านหรือต่างหมู่บ้าน และมีการบอกกล่าวไปถึงญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลให้มาร่วมงานนี้ด้วย

  งานทำบุญแจกข้าวนี้นิยมทำกันในเดือนสี่ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวอีสานว่างเว้นจากการทำไร่ไถนาจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการทำกิจกรรมนี้ การทำบุญแจกข้าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวอีสานเพราะชาวอีสานมีความเชื่อว่าทุกคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ต้องได้กินข้าวแจก หากคนใดที่เสียชีวิตไปแล้วแล้วไม่ได้ทำบุญแจกข้าวไปให้บุคคลนั้นจะได้รับความอดอยากไม่ได้ไปผุดไปเกิด จะยังคงวนเวียนเพื่อรอรับข้าวแจกจากญาติพี่น้องต่อไป

  บุคคลใดเมื่อมีญาติที่เสียชีวิตไปแล้วไม่ได้ทำบุญแจกข้าวอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็จะถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนภายในหมู่บ้าน ว่าไม่รู้จักบุญคุณไม่รักใคร่ญาติที่เสียชีวิตไป เป็นคนเห็นแก่ตัวไม่รู้จักเสียสละ
          

   ก่อนการทำบุญแจกข้าวจะมีการบอกเล่าญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านว่าจะมีการทำบุญ ให้ญาติที่เสียชีวิตไป พอถึงวันทำบุญในช่วงตอนกลางวันจะมีการจัดแต่งเครื่องไทยทาน เรียกว่า ห่ออัฎฐิ และมีการจัดเลี้ยง อาหารกลางวันแก่ผู้ที่มาจัดแต่งเครื่องไทยทานและมาช่วยงานในเรื่องต่างๆ บางครั้งภายในงานก็จะมีการบว๙นาคด้วย ในช่วงเย็นก็จะมีการฟังเทศน์และในช่วงกลางคืนก็ก็จะมีงานมหรสพที่เจ้าภาพของงานว่าจ้างมา ไม่ว่าจะเป็น หมอลำ ภาพยนตร์ เป็นต้น

  ในช่วงเช้าของวันใหม่จะมีการถวายอาหารและเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยจะนิมนต์มาบ้านเจ้าภาพหรือนำไปถวายที่วัดก็ได้ หลังจากนั้นก็จะมีการถวายผ้าบังสกุล ฟังเทศน์ และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไป หลังจากนั้นก็จะมีการจัดเลี้ยงอาหารให้ผู้ที่มาร่วมงาน ก็เป็นอันเสร็จพิธี การทำบุญแจกข้าวแก่ญาติที่เสียชีวิตไป
          
  ชนชาวอีสานถือเรื่องความกตัญญูต่อญาติพี่น้องและผู้มีพระคุณ การจัดงานทำบุญแจกข้าวจึงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ที่เสียชีวิตไป เพื่อให้ดวงวิญญาณของคนเหล่านั้นได้รับบุญกุศลและไปเกิดใหม่ไม่ต้องวนเวียนเพื่อรอรับส่วนบุญอีกต่อไป

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก ibrary.uru.ac.th/webdb

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ผีนางด้งประเพณีภาคอีสาน

  ประวัตินางด้ง

  นางด้ง เป็นการละเล่นแต่ครั้งสมัยโบราณ ซึ่งผู้สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยปู่-ย่า ตา-ยาย ซึ่งแต่ก่อนจะมีการละเล่นอย่างอื่นอีกมากมาย จากการสอบถามผู้สูงอายุคนเก่าคนแก่ของหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนจะมีการละเล่นมากมายหลายอย่างตามความเชื่อถือ ผี สาง เทวดา จะเข้าแค่แขนของคนทรง และยังมีการละเล่นอีกบางอย่างที่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าให้ฟังว่า ผี สาง เทวดา จะเข้าทรงทั้งตัว คือ นางแม่สี นางช้าง แต่ปัจจุบันจะเหลือการละเล่นเพียงแค่ นางด้งเท่านั้น แต่บางปีก็จะมีการละเล่น นางหัวควาย นาไซ นางข้อง บ้างแต่ก็ไม่ค่อยนิยม ที่นิยมมากและก็จะเล่นสืบต่อกันมาตลอดคือ นางด้ง จะเล่นกันตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ และอีกอย่างที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังให้คือ

  ที่การละเล่นทั้งหลายที่กล่าวมานี้ช่วงหลังๆ จนถึงปัจจุบันไม่ได้เล่น ก็เพราะว่าคนไม่เหมือนแต่ก่อนและก็ปากคนไม่เหมือนแต่ก่อนและก็ปากคนไม่เหมือนสมัยก่อนไม่ค่อยรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม บางครั้งชอบพูดจาไม่เป็นมงคล ตามคำเชื่อถือจึงทำให้ ผี สาง เทวดา ไม่ทรงลงมาประทับเข้าทรง การละเล่นเหล่านี้จะเล่นกันในเวลากลางคืนยกเว้นวันพระ และจะเล่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันสงกรานต์ของชาวบ้านชมพูจะเล่นกันทั้งหมด 7 วัน วันสุดท้ายของวันสงกรานต์คือวันที่ 19 เมษายน จะมีพิธีรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่และสรงน้ำพระ จะทำสืบต่อกันมาทุกปี


  การละเล่นที่กล่าวมาก็จะเล่นกันมากในสมัยก่อนเพราะสมัยก่อนไม่มีดนตรี ก็จะมีแต่เพลงพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านตอนกลางวันเล่นกันที่ลานวัด พอกลางคืนก็จะเล่นการละเล่นดังที่กล่าวมาข้างต้นที่ลานกลางบ้านซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวางเหมาะที่จะเล่นด้วยคนจำนวนมากๆ

  การละเล่นนางด้ง จะเล่นสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันและจะเล่นกันทุกปี เป็นการเล่นที่ทุกเพศทุกวัยชอบได้รับความสนุกสนานถึงจะเจ็บตัวกันเป็นแถวๆ แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรกัน นางด้งจะมีคนเข้าทรงครั้งละ 2 คน เป็นผู้หญิง เมื่อเข้าทรงได้แล้วจะถือกระด้งเป็นอาวุธคอยเฝ้าสาก (จากการสอบถามคนเข้าทรงหลังจากออกจากทรงแล้วคนเข้าทรงเล่าว่าจะชาที่ช่วงแขนเหมือนมีอะไรบังคับซึ้งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน และจะรู้สึกหวงสากมากที่สุด เพราะสากที่วางอยู่คู่กันจะเห็นเป็นทองคำ เมื่อมีใครเข้ามาจะเอาสากก็จะไล่ตี) 


  ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าทรงก็คือคนดูไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะเข้าไปแย่งสาก เมื่อมีคนเข้ามาแย่งสากก็จะถูกนางด้งไล่ตี บางคนหลบไม่ดีถูกตีหัวแตกก็มี บางคนก็แขน ขา หน้าถลอกเป็นแผลก็มี แต่ก็ไม่มีใครถือโทษโกรธอะไรเพราะเป็นการละเล่นมีแต่เสียงหัวเราะ เสียงฮา อยากมีความสุขสนุกสนานบางครั้งถ้าไม่เข้าไปแย่งสากก็จะเข้าไปฟ้อนรำหรือถามหาคู่ว่าอยู่ทิศใด นางด้งก็จะชี้และก็รำกับคนเข้าไปรำด้วย เวลานางด้งจะออกจากการทรงก็จะโยนหรือวางกระด้งที่ถือหงายขึ้นถ้ากระด้งคว่ำจะต้องหงายใหม่เพราะไม่อย่างนั้น ผีสาง เทวดา ไม่ยอมออก พอนางด้งออกจากร่างทรงก็จะเริ่มทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญเข้าทรงอีก 

  ก็จะมีกลุ่มคนคอยเคาะไม้ไผ่เป็นจังหวะและก็จะร้องเพลงของนางด้งไปด้วย อีกกลุ่มก็จะไปยืนมุงดูการทรงล้อมวงและก็ร้องเพลงนางด้งไปด้วย จะมีคนคนเฒ่าผู้สูงอายุเป็นคนคอยเซ่นบวงสรวงเจ้าลงมาประทับเข้าทรงนางด้ง นางด้งเข้าหรือไม่เข้าดูได้จากกระด้งที่คนเข้าทรงจับกระด้งเริ่มสั่นก็แสดงว่าเจ้าเริ่มเข้าประทับทรงคนดูคนเชียร์ก็จะเร่งจังหวะร้องเพลงให้เร็วขึ้นพอเข้าเสร็จวงก็จะแตกฮือออกจากบริเวณนั้นเพราะกลัวถูกตี คืนหนึ่งก็จะเล่นกันประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับคนเข้าทรงว่ามีเยอะหรือน้อย และขึ้นอยู่กับคนเล่นและคนดูว่าเล่นกันสุภาพหรือไม่ ถ้าเล่นกันไม่ดีไม่สุภาพก็จะเลิกเล่นกันทันที และจะเล่นกันจนครบ 3 วัน และคนเฒ่าคนแก่ยังบอกอีกว่าคนที่จะเข้าทรงนั้นต้องเป็นคนขวัญอ่อน จิตอ่อน ถึงจะเข้าทรงได้


ความสำคัญ การเล่นนางด้ง เป็นพิธีการขอฝนพิธีหนึ่งของชาวชมพู ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

สาระ การประกอบพิธีการเล่นนางด้งเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือ ร่วมใจ ความสามัคคีปรองดองและเป็นการแก้ปัญหาของท้องถิ่นร่วมกัน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงจาก npnfe.wordpress.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ขึ้นเขาพนมรุ้ง

ตำนานเรื่องเล่า

ประเพณีไทย ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นศาสนสถานสำคัญบนยอดเขาของนครขอมโบราณนาม วนัมรุงปุระ ตั้งอยู่เชิงเขาพนมรุ้งวนัมรุงปุระ เป็นเมืองใหญ่และมีคามสำคัญมากเมืองหนึ่งบนเส้นทางปราสาทหินโบราณ จากปราสาทหินพิมายไปถึงเมืองพระนคร เมืองแห่งนี้ล่มสลายลงในยุคขอมสิ้นอำนาจและไม่เคยกลับคืนมาเป็นเมืองอีกเลย คงปล่อยให้ศาสนสถานอันสวยงามที่ยังสร้างไม่เสร็จแห่งนี้เปลี่ยวร้าง ปรักหักพังไปตามกาลเวลา

ปราสาทหินพนมรุ้ง น่าจะได้รับการจัดสร้างโดย นายช่างฝีมือเยี่ยมของขอม การรังวัดจัดสร้างต้องทำอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยเฉพาะการจัดสร้างแนวประตูปราสาท ที่ต้องวางแนวขนานกับยอดเขา เล็งให้ศูนย์กลางประตูอยู่ในแนวเดียวกับพระอาทิตย์ขึ้นตรงกันตลอดแล้วทำเครื่องหมายไว้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ของทุกปีเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นขนานกับยอดเขา จึงสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ได้เป็นแนวเดียวตลอดทั้ง 22 ประตู และเกิดขึ้นในลักษณะนี้ได้เพียงวันเดียวในรอบปี

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ด้วยการผนวกเอาตำนาน การสร้างปราสาทหินพนมรุ้งรวมเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของประชาชนท้องถิ่นจัดเป็นงานเทศกาลวันเดียวที่มีเนื้อหาและมีจุดสำคัญของงานต่อเนื่องกันตลอดทั้งวัน นับตั้งแต่การรอชมพระอาทิตย์ขึ้น การทำบุญตักบาตร ขบวนแห่จำลองขบวนเดินทางของเจ้าเมือง การเฉลิมฉลองสมโภชปราสาท และการจัดเลี้ยงอาหารค่ำพร้อมชมการแสดงแสงเสียง ประกอบการแสดงในพื้นที่โบราณสถานอันยิ่งใหญ่ในช่วงกลางคืน 

วันเวลาจัดพิธีกรรม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

รูปแบบประเพณี


เป็นงานประเพณีไทยวันเดียวที่มีจุดเด่นเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าพระอาทิตย์ขึ้น จะเป็นการเฝ้าชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ได้เป็นแนวเดียวกันตลอดทั้ง 22 ประตู ปัญหาสำคัญคือ ทุกปีจะมีผู้เฝ้าชมมากแต่ประตูปราสาทเล็กทำให้ชมได้ลำบาก หากไม่ต้องการเบียดชม ก็มีการทำบุญตักบาตรบนยอดเขาในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการเดินทางของเจ้าเมืองวนัมรุงปุระนำขบวนนำขบวนข้าราชบริพารขึ้นมานมัสการองค์ปราสาท การนำชมตัวปราสาท และตกค่ำจะเป็นการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำพร้อมชมแสงเสียงประกอบการแสดงพื้นในที่ลานกว้างหน้าปราสาทท่ามกลางแสดงจันทร์และแสงดาว


จุดเด่นของพิธีกรรม

มีจุดเด่นของพิธีกรรมเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงเช้าและมีช่วงพักในเวลากลางคืน นับเป็นงานเทศกาลที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายกิจกรรมติดต่อกันอย่างน่าสนใจยิ่ง 

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก ku.ac.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญผะเหวด ภาคอีสาน




ความเป็นมา บุญผะเหวด เป็นประเพณีไทยอีสาน

    "บุญผะเหวด" เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า "บุญพระเวส"หรือ พระเวสสันดร เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา ตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว ภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย โดยบุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน

     วันแรก เป็นวันเตรียม ในวันแรกนี้ ชาวบ้าน จะช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญ

     วันที่สอง เป็นวันโฮม เป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร  ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธีมี ทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด(ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย  ในเรื่องพระมาลัยนี้ จะแสดงให้เห็นถึงที่มาของประเพณีบุญผะเหวด

     ส่วนวันที่สาม เป็นงานบุญพิธี  เป็นวันที่มีเทศน์เวสสันดรชาดก ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงราย นำกัณฑ์เทศน์ กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน มาถวายพระ พระสงฆ์จะเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกจนจบ และเทศน์อานิสงส์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี


มูลเหตุของพิธีกรรม 

      จากเรื่องในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบปะสนทนากับพระศรีอริยเมตไตย ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เนื้อความตอนหนึ่งว่า....

“..   ลำดับนั้น สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตยใคร่จักทราบถึงวิธีการทำบุญของเหล่าชาวชมพูทวีป จึงขอให้พระมาลัยวิสัชนา พระมาลัยจึงกล่าวว่า  “มนุษย์บางพวกก็ให้ทานรักษาศีล บางพวกก็จัดให้มีพระธรรมเทศนาพร้อมกับป่าวประกาศให้ชาวประชามารับฟัง บ้างก็สร้างวัดวาอารามศาลากุฎี บ้างก็สร้างสถูปเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ในพระศาสนา บ้างก็ถวายเสนาสนะคิลานเภสัชแด่พระภิกษุสงฆ์ บ้างก็มีเจตจำนงถวายภัตตาหารบิณฑบาตตลอดจนสบงจีวรแด่พระภิกษุ บ้างก็เป็นบุตรกตัญญูเลี้ยงดูบำรุงบิดามารดา บ้างก็สร้างพระคัมภีร์ไตรปิฎก สุดแท้แต่กำลังแห่งทรัพย์แลปัญญาของตน มหาบพิตร”

     เมื่อสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตยได้ทราบถึงวิธีการทำบุญกุศลของชาวชมพูทวีปแล้ว พระองค์จึงถามถึงมโนปนิธานในการทำบุญนั้นว่าหวังผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติ พระมาลัยตอบว่า “ดูกรมหาบพิตร อันมนุษย์ทั้งหลายที่หมายทำบุญกุศลด้วยมิได้หวังผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติแต่อย่างใด กลับมุ่งหมายให้ได้เกิดทันศาสนาของพระองค์ทั้งนั้นเป็นส่วนใหญ่ ที่หมายใจเป็นอย่างอื่นกลับมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง”

     เมื่อพระศรีอาริยเมตไตยทรงสดับเช่นนั้นก็มีพระดำรัสตรัสฝากพระมาลัยไว้ว่า “ถ้าพวกเขาเหล่านั้นอยากเกิดทันศาสนาของข้าพระองค์ ก็จงอุตส่าห์ฟังธรรมมหาเวสสันดรชาดกให้จบทั้งหมดในวันเดียว แล้วบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้อย่างละพันฉัตร อันประกอบด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวเขียว ดอกบัวขาว ดอกสามหาวอย่างละพัน ถ้าทำได้ดังนั้นก็จะพบกับศาสนาของข้าพระองค์ ส่วนคนบาปหยาบช้าหนาหนัก เช่นกระทำปิตุฆาต มาตุฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า แลทำสังฆเภทให้หมู่สงฆ์เกิดการแตกแยกแตกความคิดไม่สามัคคี ทำลายพระเจดีย์แลพระพุทธรูป ตลอดจนคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวไม่รู้จักทำบุญให้ทาน ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ดำรงตนอยู่ในความประมาท คนพวกนี้มิได้มีโอกาสพบศาสนาของข้าพระองค์เป็นแน่แท้”

     เมื่อพระมาลัยได้ฟังดังนั้น ก็กำหนดจดจำไว้ในใจ เพื่อว่าจะได้นำไปเทศนาสั่งสอนชาวประชาทั้งหลายให้ได้ปฏิบัติ…”
     ด้วยมูลเหตุนี้ ชาวอีสานต้องการจะได้พบพระศรีอริยเมตไตย และเกิดร่วมศาสนาของพระองค์ จึงมีการทำบุญผะเหวด เป็นประจำทุกปี

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก isan.clubs.chula.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย แซนโดนตา


สวัสดีครับวันนี้ "ที่นี่ประเพณีไทย" ขอนำเสนอประเพณีแปลกๆที่คนไทยอาจจะไม่รู้จักเลยก็ได้นั่นก็คือประเพณี "แซนโดนตา" บางก็ว่า "โฎนตา<<ประไปณี โฎนตา >> ประเพณีวันสารทของชาวอีสานใต้  "งั้นผมจะไม่พูดมากไปกว่านี้ละมาอ่านความเป็นมาย่อๆเลยละกันครับ"

แซนโดนตา   เป็นประเพณีไทยเซ่นไหว้บรรพบุรุษของเขมรชาวไทย  เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะชนชาวเขมรในเขตพื้นที่อีสานตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ  สุรินทร์  บุรีรัมย์ เป็นต้น  เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ย้อนรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ  สืบสานขนบธรรมเนียมที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อบิดามารดา ครูอาจารย์  และยึดหลักคำสอนทางพุืทธศาสนา คำว่า "แซน" แปลว่า เซ่น ในภาษาไทย  โดนตา  เป็นคำนามที่ใช้เรียกบรรพบุรุษ หมายถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว  ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เป็นวันสาร์ทใหญ่ ชาวเขมรจะเตรียมการเป็นพิเศษ  เพราะเป็นวันรวมญาติก็ว่าได้  ลูกหลานไปอยู่แห่งหนใดก็จะกลับมาทำพิธีนี้อย่างพร้อมเพรียง  ส่วนวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบก่อนหน้านี้ถือเป็นวันสาร์ทน้อย ชนชาวลาวจะถือเป็นวันสาร์ทของเขา

          พิธีแซนโดนตา ประเพณีในหมู่บ้านหนองคล้า กลุ่มชาวเขมร  (บ้านหนองคล้ามี 2 ภาษา ลาว,เขมร  ส่วนลาวได้รับอิทธิพลนี้มากทีเดียว)   จะเริ่มเตรียมสิ่งของก่อนถึงวันสาร์ท  เช่น บ่มกล้วยให้สุกทันวันห่อข้าวต้ม ผลไม้ต่าง ๆ ไก่ย่าง(ส่วนมากจะย่างทั้งตัว) ปลาย่าง หมูย่าง เนื้อย่าง  อาหารคาวหวานต่าง ๆ หมาก พลู บุหรี่มวน  ธูป เทียน ดอกไม้และอื่น ๆ   เมื่อพร้อมแล้วก็จัดสำรับเซ่นไหว้ใส่ภาชนะที่ใหญ่ ๆ เช่น ถาดหรือกระด้ง เพื่อจะได้ใส่เครื่องเซ่นได้เยอะ ๆ และอีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้สำหรับทำบุญที่วัด


          วันขึ้น 14 ค่ำเดือนสิบ  ผู้ที่เป็นบุตรหลานไม่ว่าจะเป็นเขย  สะใภ้  จะต้องส่งข้าวสาร์ทหรือเครื่องเซ่นนี้ไปให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  เพื่อให้ท่านได้ใช้เครื่องเซ่นนั้นทำพิธีเซ่นต่ออีกทีหนึ่ง  ส่วนปู่ ย่า ตา ยาย ก็จะมอบสิ่งของตอบแทนให้ จะเป็นผ้าซิ่น ผ้าไหม หรือสิ่งใดก็แล้วแต่ เป็นรางวัลให้ลูกหลานผู้รู้จักกตัญญู   พอตอนเย็นวันนี้จะเริ่มทำพิธีเซ่นไหว้กัน  เมื่อพี่น้องลูกหลานมาพร้อมหน้ากันแล้วก็จุดธูปเทียน  โดยผู้อาวุโสที่สุดจะเป็นผู้บอกกล่าวอัญเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษ  คนที่เป็นหมอพราหมณ์จะรู้ขั้นตอนนี้ดีจะมีคำกล่าวคำเชิญเฉพาะ  แต่ผู้ที่ไม่เป็นก็เพียงแค่กล่าวเอ่ยชื่อ นามสกุลของบรรพบุรุษให้ถูกต้อง มีศักดิ์เป็นปู่เป็นทวดอย่างไรก็เอ่ยให้ถูกต้องก็ใช้ได้แล้ว  และคนกล่าวอาวุโสรองลงมาตามลำดับ  จะต้องเอ่ยชื่อ นามสกุลของบรรพบุรุษให้ถูกต้องครบถ้วนทุกคน  เพื่อแสดงความรำลึกกตัญญูู  ในขณะกล่าวเชิญก็กรวดน้ำไปด้วย


        เมื่อครบทุกคนแล้วก็หยุดพักระยะหนึ่ง  แล้วทำพีธีต่ออีกจนครบคนละ 3 รอบ  รอบสุดท้ายนี้ให้รวมหยาดน้ำพร้อมกันเป็นอันเสร็จพิธี  แล้วนำเครื่องเซ่นส่วนหนึ่งออกไปโปรยข้างนอกเพื่อเผื่อแผ่แก่ผีพเนจร ผีไม่มีญาติ ผีอื่น ๆ ตามความเชื่อ  แต่ผู้เฒ่าผู้แก่จะยังทำพิธีเซ่นไหว้และกรวดน้ำนี้เป็นระยะ ๆ บางคนก็ทำตลอดคืน  ตื่นนอนเมื่อไรก็เซ่นไหว้กันตอนนั้น  ดึก ๆ เงียบสงัดจะได้ยินเสียงบ้านไกล้เรือนเคียงร้องเรียกวิญญาณบรรพบุรุษดังมาเป็นระยะ ๆ  บางครั้งก็ให้รู้สึกโหยหวนวังเวงน่าขนลุกเหมือนกัน  (เหอ ๆ ๆ).....


          พอได้เวลาตีสาม หรือเวลาประมาณ 3 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น(แรม 15 ค่ำเดือน 10 )  ชาวบ้านก็จะนำเครื่องเซ่นนี้ไปแห่เวียนรอบศาลาวัดหรืออุโบสถ 3 รอบ แล้วนำขึ้นไปให้พระสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลทำพิธีกรรมทางศาสนา  โดยนำขนมข้าวต้ม กล้วยเป็นกระบุง ไก่ย่างเป็นตัว อาหารคาวหวานผลไม้ต่าง ๆ ตามที่กล่าวถวายพระแล้ว  พระจะได้ฉันมื้อนี้แต่เช้ามืด

เครื่องเซ่นไหว้ที่นำไปวัด

          เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำเครื่องเซ่นที่พระสวดแล้วไปวางตามสถานที่ที่เหมาะสมเช่น ตามรั้ววัด ตามธาตุเจดีย์  หรือตามโคนไม้  เพื่อผีวิญญาณจะได้มากิน  บางคนก็นำออกไปวางตามไร่นาของตน ตามที่คิดว่าน่าจะมีผีเจ้าสถิตย์อยู่


เสร็จแล้วก็กลับบ้าน ไปเตรียมข้าวและอาหารมาทำบุญตักบาตร วันนี้วันพระ แรม 15 ค่ำ เดือน 10   ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันทำบุญประเพณีแซนโดนตาครั้งนี้  โดยพระสงฆ์จะได้รับภัตตาหารฉันในมื้อเช้านี้อีก  ส่วนตอนเที่ยงก็จะได้รับภัตตาหารเพลปกติ  รวมวันนี้พระจะได้ฉันอาหาร  3  มื้อ......
          ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติตามประเพณีนี้ ทำให้รู้จักการกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  สืบสานพระพุทธศานา มีวัฒนธรรมและจารีตที่งดงาม

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง sisaket.mots.go.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ลงแขกเกี่ยวข้าว


มารู้จักการลงแขกเกี่ยวข้าวกันเถอะ


ช่วงนี้อิสานบ้านเฮาก็ย่างเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวชาวนา ก็สิเริ่มเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว ประเพณีอิสานบ้านเฮาอีกย่างหนึ่งคือประเพณี ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือ การหา ,การวาน,เพื่อมาช่วยกัน โดยไม่มีค่าจ้าง ลักษณะสิเป็นการแสดงนําใจ ในการช่วยเหลือกัน ซึ่งชาวนาอิสานสิหมุนเวียนช่วยกันไปเรื่อยๆ หลังจากช่วยคนหนึ่งเสร็จ วันต่อไปก็ไปช่วยอีกคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของที่นาหลังจากเพื่อนบ้านมาช่วยแล้วก็ สิแต่ งสําหรับ กับข้าว เหล้าไห ไก่ตัว บางที่ก็ร้องรํา ทําเพลงม่วนชื่นกันไปหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้ง วัน เป็นการสังสรรค์ต่างตอบแทน ที่มาช่วยเหลือ ซึ่งการกระทําในลักษณะนี้ ยุควัตถุนิยมสิหาดูยากมาก ทุกวันนี้สิมีแต่การจ้าง ใช้เงินเป็นหลัก บ่อคือรุ่นก่อน สิช่วยกันด้วยใจจริง


    คนอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า "ลงแขก" การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไปงานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) ลงแขกสร้างบ้าน ลงแขกขุดมัน ลงแขกลอกปอ เป็นต้น


  -การลงแขกทำนา ด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้ แรงงานมากถึง 4 วาระด้วยกันคือช่วงการดำนา การเกี่ยว การตี และเอาข้าวขึ้นเล้า ดังนั้นการทำงาน ทุกๆ ระยะ ส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็น การแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันลูกหลานคนหนุ่มสาวไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้พ่อแม่และคนแก่อยู่บ้าน การลงแขกจึงยังมีความจำเป็นสำหรับชาวร้อยเอ็ด

  -การลงแขกสร้างบ้าน การลงแขกขุดมัน การลงแขกลอกปอ ก็จะมีลักษณะ การทำงานเช่นเดียวกับ การลงแขกทำนาคือคนที่เป็นเจ้าของงานจะไปบอกกล่าวญาติมิตร และ เพื่อนบ้านให้ทราบว่าตนจะทำอะไร และขอแรงเขามาช่วยงาน จะต้องการแรงงานมากน้อยเพียงใด ก็บอกกล่าวไปตามจำนวนที่ต้องการ นัดกำหนดวันที่จะทำงาน
ในการลงแขกฝ่ายเจ้าบ้านจนเป็นฝ่ายตระเตรียมอาหารการกินไว้ให้พร้อมบริบูรณ์ มิให้ขาดตกบกพร่อง เป็นอาหารที่มีคุณค่า ทั้งปริมาณก็มากพอเพียง และต้องเป็นอาหารพิเศษ เช่น ลาบ ตำบักฮุ่ง(ส้มตำ) ปิ้งไก่ ต้มไก่ เป็นต้น

   ขณะทำงาน คณะลงแขกจะทำงานไปพูดคุยกันไป และมีการจ่ายผญา สลับกับ การเล่านิทานก้อม เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศให้สนุกสนานครื้นเครงและผ่อนคลายความเหนื่อยล้าเวลาทำงาน เมื่อทำงานเสร็จแล้วก็ต่างแยกย้ายกันกลับไป การลงแขกถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่สำคัญของชาวร้อยเอ็ดที่นำมาใช้ เพื่อให้คนได้แสดงความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และยังแสดงถึงกุศโลบายในการที่จะสร้างความรัก ความสามัคคีกลมเกลียวกันของคนในสังคมอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิงจาก http://blog.eduzones.com/yukiokung
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}