ประเพณีไทย งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ


ประวัติประเพณี
 หลังจากพระยาลิไท ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุช่อแฮแล้ว ได้โปรดให้มีงานฉลองสมโภช 5 วัน 5 คืน ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเดือนมีนาคมของทุกปี นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเจ้าผู้ครองนครแพร่ทุกองค์จึงได้ยึดถือประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

  ประเพณีไทยการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เดิมจะจัด 5 วัน 5 คืน ในปี พ.ศ. 2536 ได้เปลี่ยนแปลงเป็น 7 วัน 7 คืน วันแรกของงาน จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ไต้ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ในการจัดงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ประกอบไปด้วยริ้วขบวนของทุกอำเภอ การฟ้อนรำ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่ กังสดาล ขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ซึ่งประกอบด้วยขบวนตุง 12 ราศรี ขบวนข้าวตอกดอกไม้ ต้นหมาก ต้นผึ้ง ต้นดอก ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศรี ขบวนกังสดาล ขบวนตุง ขบวนฟ้อนรำ มีการเทศน์และมีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน




ข้อมูลต่างๆของประเพณี

  วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 8 กิโลเมตร ในบริเวณวัด ประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศี คือ พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ) องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ศิลปะแบบเชียงแสน

  ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า สมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะ แห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับขุนลั๊วะอ้ายก้อม จึงได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮแห่งนี้ เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา

   ด้านประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างขึ้นสมัยสุโขทัย โดยระหว่างจุลศักราช 586-588 (พ.ศ.1879-1881) ในสมัยพระมหาธรรมราช (ลิไท) ขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้เสด็จมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ และใน พ.ศ.1902 ได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ และขนานนามว่า “โกสิยธชัคคปัพพเต” หรือ “โกสัยธชัคคบรรพต” จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน และต่อมาจึงได้ชื่อว่า “พระธาตุช่อแฮ” (คำว่า “แฮ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่า ผ้าแพร)

  สมัยกรุงธนบุรี (ปี พ.ศ.2512) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงยกทัพตีพม่าที่ยึดครองล้านนาอยู่ โดยมีพญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ ผู้ปกครองเมืองแพร่ พาขุนนาง กรมการเมืองและไพร่พล เข้าเฝ้าถวายบังคมเข้าร่วมทัพ ยกทัพไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดแต่งตั้งให้เป็นพระยาสุริยวงศ์

  ดังนั้นในสมัยกรุงธนบุรี จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุช่อแฮ โดยพญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ (พระยาศรีสุริยวงศ์) ตลอดมา พญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ (พระยาศรีสุริยวงศ์) ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาดูแลองค์พระบรมธาตุช่อแฮจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในปี พ.ศ.2361 ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเจ้าหลวงเทพวงศ์ (เจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นทอง) ในปี พ.ศ.2373 เจ้าหลวงอินทวิไชย ก็รับการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากเจ้าหลวงเทพวงศ์

ในปี พ.ศ.2415 เจ้าหลวงที่มีบทบาทในตำบลป่าแดงมากที่สุดและอุปถัมภ์พระบรมธาตุช่อแฮตลอดคือ เจ้าหลวงพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) และจนมาถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเมืองแพร่มากที่สุด คือเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ (พระยาพิริวิไชย) ท่านปกครองเมืองแพร่ ปี พ.ศ.2432 ถึง ปี 2445 เจ้าหลวงเดินทางลี้ภัยไปหลวงพระบางซึ่งในปีนี้เมืองแพร่เกิดจลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่

ในปี พ.ศ.2467 องค์พระธาตุช่อแฮก็ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งโดยนักบุญแห่งล้านนาไทย ที่ซึ่งเรียกตามคนเมืองแพร่ว่า ครูบาศีลธรรมหรือครูบาศรีวิชัยนั่นเอง ดังค่าวตำนานปางเดิม

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2474 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานเล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2532

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดไว้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.1900 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.1910 ตามหนังสือ ที่ พ.ศ. 0003/526 ลงวันที่ 24 มกราคม 2548

วัดพระธาตุช่อแฮ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 96 ง ลงวันที่ 24 มกราคม 2549

จังหวัดแพร่ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่างวันขึ้น 9 ค่ำ-ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ ของทุกปีโดยใช้ชื่องานว่า “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง”

ด้วยความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้า เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด และนำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้
“หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมืองลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”

ผู้เรียบเรียงใหม่ http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก wikipedia.org และ phrathatchohae.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}