แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตรุษสงกรานต์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตรุษสงกรานต์ แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย ตรุษสงกรานต์


         

ตรุษ หมายถึง นักขัตฤกษ์ เมื่อเวลาสิ้นปี กำหนดวันทางจันทรคติตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5
         ประเพณีทำบุญตรุษ เป็นประเพณีทำบุญสิ้นปี ซึ่งจะทำในช่วงวัน แรม 14 ค่ำ เดือน 4 จนถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ



         ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ และในวันนี้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะมีกิจกรรมประเพณีที่นิยมทำในช่วงวันสงกรานต์ ดังนี้

         การทำบุญตักบาตรและปล่อยนกปล่อยปลา พุทธศาสนิกชนจะนำอาหารคาวหวาน ไปทำบุญที่วัด ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใสและเมื่อได้ทำบุญตักบาตรเรียบร้อยแล้ว จะมีการบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้นอกจากการทำบุญตักบาตรแล้ว ยังนิยมทำบุญโดยการปล่อยนกปล่อยปลา ซึ่งถือว่าเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์

         การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การสรงน้ำพระพุทธรูปจะมีการแห่ อัญเชิญพระพุทธรูป เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสรงน้ำกันอย่างทั่วถึงการสรงน้ำพระพุทธรูปจะนำน้ำอบไปประพรมที่องค์พระเพื่อความเป็นสิริมงคล และนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาการสรงน้ำพระสงฆ์จะรดน้ำที่มือของท่านและเมื่อสรงน้ำ พระท่านก็จะให้ศีล ให้พร เพื่อความเป็นสิริมงคลหลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการสรงน้ำพระสงฆ์แล้ว ท่านจะเปลี่ยนไตรจีวรใหม่ที่อุบาสก อุบาสิกานำมาถวาย

         การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นการที่ลูกหลานจะเชิญให้ญาติผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มานั่งในที่ที่จัดไว้ แล้วลูกหลานหรือผุ้ที่มารดน้ำจะรดด้วยน้ำอบไทยผสมเจือกับน้ำที่โรยด้วยดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ หรือกลีบกุหลาบ โดยรกที่มือ หรืออาจจะรดไปที่ตัวก็ได้ ท่านผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พร อวยพรให้ผู้ที่รดน้ำมีความสุขความเจริญ ซึ่งประเพณีนี้นับว่าเป็นการช่วย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว และเป็นประเพณีที่ดีงาม ควรค่าแก่การส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้
         
     การก่อพระเจดีย์ทราย เป็นการนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ทรายบริเวณลานวัดซึ่งคนไทยมีความเชื่อว่าเป็นการขนทรายเข้าวัดมาก่อเจดีย์นั้นเป็นการได้กุศลมาก

         การเล่นสาดน้ำ หลังจากที่ทำพิธีสรงน้ำพระและรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว หนุ่มสาวก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งน้ำที่ใช้จะต้องเป็นน้ำสะอาดซึ่งอาจจะผสมน้ำอบด้วยก็ได้ บริเวณที่เล่นสาดน้ำจะเป็นที่ลานวัดหรือลานกว้างของหมู่บ้าน เมื่อถึงตอนเย็นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน เพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วมารวมกันอีกครั้งเพื่อร่วมการละเล่นพื้นบ้าน

         การละเล่นพื้นบ้าน ที่นิยมเล่นในวันสงกรานต์เพื่อเพื่อสร้างความสนุกสนาน ความสามัคคี และหนุ่มสาวมีโอกาสที่ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น การละเล่นที่นิยมได้แก่ มอญซ่อนผ้า ชักเย่อ วิ่งเปรี้ยว หลับตาตีหม้อ ขี่ม้าส่งเมือง นอกจากนี้ยังมีการรำวง เล่นลำตัด เพลงยาว ประกวดนางสงกรานต์ เป็นต้น
         
    ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีประเพณีที่แตกต่างกันไปบ้างและอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามแต่ละยุคแต่ละสมัย

         ประเพณีไทยสงกรานต์ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม ศาสนา
         คุณค่าต่อครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสได้อยู่รวมตัวกันและได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้สมาชิกได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วโดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
         คุณค่าต่อชุมชน การพบปะสังสรรค์ การร่วมกันละเล่นกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ สามารถช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้
         คุณค่าต่อสังคม ในวันสงกรานต์คนในชุมชนจะช่วยกันร่วมทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม บำเพ็ญประโยชน์โดยการทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะ อาคารของหน่วยงานต่างๆ
         คุณค่าต่อศาสนา พุทธศาสนิชน จะทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ สรงน้ำพระซึ่งถือเป็นการทำนุบำรุงพระศาสนา

เรียบเรียงโดยใหม่ http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง 9ddn.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}