แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย แห่ปราสาทผึ้ง



การแห่งปราสาทผึ้ง  เป็นประเพณีไทยโบราณอีสาน มุ่งทำเป็นพุทธบูชา หรือเกี่ยวข้อง กับความเชื่อทางศาสนา คำว่า "ปราสาทผึ้ง" ในภาษาอีสานจะออกเสียง "ผาสาทเผิ่ง"

        ความเชื่อเรื่องการแห่ปราสาทผึ้ง  เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา โดยเริ่ม พิธีกรรมนี้ ในภาคอีสาน ตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในตำนาน เรื่องหนองหาน (สกลนคร) กล่าวไว้ว่า ในสมัยขอมเรืองอำนาจ และครองเมืองหนองหานในแผ่นดินพระเจ้าสุวรรณภิงคาราช  ได้โปรดให้ ข้าราชบริพารทำต้นผึ้งหรือปราสาทผึ้งในวันออกพรรษา เพื่อห่คบงันที่วัดเชิงชุม (วัดมหาธาตุเชิงชุมวรวิหาร) จากนั้นเมืองหนองหานได้จัดวันปราสาทผึ้ง ติดต่อกันมาทุกปี


ความเชื่อในประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งนั้น มีรากฐานของความเชื่อ ที่เนื่องมาจากความเชื่อในพุทธศาสนา ความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณ และความเชื่อ ในศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือ


 ความเชื่อที่เนื่องในพุทธศาสนา ถือเป็นปรัชญานำมาสู่การสร้างปราสาทผึ้งนั้น มีที่มาจากเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งมีปรากฏในเหตุการณ์ที่สำคัญคือ เหตุการณ์ตอนที่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ป่าปาเลไลยก์ ได้พบช้างและลิงที่มาทำหน้าที่ เป็นอุปัฏฐาก โดยเฉพาะลิงนั้น ได้นำรวงผึ้งมาถวายแด่พระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธเจ้า รับรวงผึ้งนั้นไปแัน ทำให้ลิงกระโดดด้วยความดีใจ จนพลาด ตกจากต้นลงมาตาย  ด้วยอานิสงส์ที่ลิงได้ถวายรวงผึ้งแดพระพุทธองค์ (จากการ ที่ผู้จัดทำได้ศึกษาเรื่องนี้ ก็ไม่ปรากฏว่าลิงพลาดตกต้นไม้แต่ประการใด ไม่ทราบว่า คงมีใครเอามาเล่าต่อ ๆ  กันมา) ทำให้ได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเหตุการณ์ ตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ขณะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากที่เสด็จไปจำพรรษา เทศนาโปรดพระพุทธมารดา และเหล่าเทวดา ด้วยการเปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรคภูมิ  มนุษยภูมิ และนรกภูมิ ได้เห็นซึ่งกันและกัน โดยตลอด ซึ่งเรียกเหตุการณ์ตอนนี้ว่า เทโวโรหนปริวัตต์  ทำให้ผู้คนเห็น ความแตกต่าง ของความสะดวกสบายบนสวรรคภูมิ และความยากลำบากในนรกภูมิ ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้พุทธศาสนิกชน ได้คิดสร้างอาคารศาสนสถาน ถวายเป็น พุทธบูชาด้วยหวังให้เป็นอานิสงส์เพื่อที่จะได้ไปเกิดบนสวรรค์

 ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างปราสาทผึ้งจาเรื่องไตรภูมิพระร่วง ในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนที่มีปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา ที่ว่าด้วยการที่มนุษย์ต้องเวียนว่าย ตายเกิดในโลกภูมิต่าง ๆ  ตามที่ได้ประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้ โดยเฉพาะ ความเชื่อที่ว่า ผู้ที่ประกอบกรรมดีจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ภูมิชั้นต่าง ๆ  ที่มีวิมาน ปราสาทเป็นเรือนที่อยู่อาศัย
     
   ความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างปราสาทผึ้งจากเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ มาเลยยเทวัตเถรวัตถุ (เป็นของพระลังกาแต่ง) ที่ได้กล่าวถึงพระมาลัยอรหันต์ ซึ่งเป็นพุทธสาวกองค์หนึ่ง (ไม่ใช่สาวกที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า แต่เป็นสาวก รุ่นหลัง เหมือนพระนาคเสน และเป็นพระลังกา) ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เคย ไปเทศนาโปรดสัตว์ในนรกภูมิ (ความจริงแล้ว สัตว์นรกไม่สามารถฟังธรรมได้ เพราะอำนาจบาปกรรมที่ทำไว้ ไม่มีปัญญาที่จะรับรู้หรือเข้าใจธรรมได้) และได้เสด็จ ขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อไหว้องค์พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย์ (ในตำราทางพุทธ เถรวาท เรียกว่า "พระเมตไตยะ"  ที่จะเสด็จมาตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล หลังจากนั้น พระมาลัยอรหันต์ ได้เทศนาโปรดแก่พุทธศาสนิกชน เพื่อให้ทราบถึงวิธีการสร้างบุญกุศล เพื่อที่จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ รวมทั้งการสร้าง อาคารศาสนสถานถวายเป็นพุทธบูชานั้นเป็นหนทางหนึ่ง ที่เป็นอานิสงส์ นำพาให้ได้ ไปเกิดในบนสวรรค์ มีวิมานเป็นที่อยู่อาศัย และมีเหล่านางฟ้าเป็นบริวารด้วย


  ความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างปราสาทผึ้ง จากเรื่องการประกอบพิธีพลีดวงวิญญาณ หรือพิธีกงเต็กตามคติในพุทธศาสนามหายาน ด้วยการจัดทำสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างบ้านเรือนด้วยกระดาษ ในลักษณะของสิ่งของเครื่องใช้ และบ้านจำลอง แล้วนำมาเผาอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับ ได้นำไปใช้อยู่อาศัยในโลกหน้าต่อไป
     
   ความเชื่อที่เนื่องในภูตผีวิญญาณ เป็นความเชื่อพื้นบ้านที่ทำให้ชาวอีสาน ถือเป็น ปรัชญาคติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทผึ้ง คือ ความเชื่อที่ว่า คนที่ตายไป แล้ว  ดวงวิญญาณ (ทางพุทธเรียกว่า "โอปปาติกะ = สัตว์จำพวกหนึ่ง ที่ผุดเกิดขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ เช่น เทวดา สัตว์นรก เปรต อสุรกาย มนุษย์ต้นกัลป์ ฯลฯ เรียกง่าย ๆ  ว่า กายทิพย์") ก็ยังต้องการสิ่งต่าง ๆ  เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องการที่อยู่อาศัย ทำให้มีการประกอบพิธีเซ่นสรวง ดวงวิญญาณ ตลอดจนการสร้างเรือนจำลองในลักษณะของศาลหรือหอผี (อีสาน ก็ทำเหมือนจีน คือ เอาไม้ไผ่มาทำเป็นโครงบ้าน แล้วปะด้วยกระดาษ) เพื่ออุทิศ ให้เป็นที่สิงสถิตแก่ดวงวิญญาณด้วย  จากความเชื่อดังกล่าว จึงเป็นแนวคิดส่วนหนึ่ง ที่ปรับเข้ากับการสร้างปราสาทผึ้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารจำลอง เพื่ออุทิศส่วนกุศล จากการสร้างปราสาทผึ้งแก่ดวงวิญญาณบรรพบุึรุษ หรือเจ้ากรรมนายเวรผู้ล่วงลับ

   ความเชื่อที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับความนิยม ในการสร้างปราสาทหินหรือเทวาลัย ให้เป็นอาคารเทวสถาน ที่เชื่อว่าเป็นวิมาน ที่ประทับของเทพเจ้าสำคัญในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ โดยเชื่อว่า การสร้างเทวาลัยอุทิศถวายแด่เทพเจ้านั้น เป็นอานิสงส์อย่างสูงสุด และยังเชื่อว่าอานิสงส์ของผู้ที่สร้างเทวาลัยอุทิศถวายนั้น จะส่งผลให้ชีวิตหลัง ความตาย คือดวงวิญญาณจะได้เข้าไปรวมกับองค์เทพเจ้า ที่ประดิษฐาน อยู่ในอาคารเทวาลัย ที่ได้สร้างไว้


 ปราสาทผึ้งทรงพระธาตุ ลักษณะรูปแบบโดยส่วนรวม คล้ายกับองค์พระสถูปเจดีย์ หรือพระธาตุที่มีปรากฏ ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม หรือบางทีเรียกว่า เจดีย์ทรง ดอกบัวเหลี่ยม เช่น พระธาตุพนม  พระเชิงชุม  พระธาตุ ศรีสองรักษ์ พระธาตุบังพวน ฯลฯ  จากหลักฐานภาพถ่าย จากกองจดหมายแห่งชาติ สันนิษฐานว่า น่าจะมีการ กระทำอยู่ในช่วง  พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา


     ปราสาทผึ้งทรงหอผี เป็นปราสาทผึ้ง ที่สร้างขึ้น เลียนแบบอาคารเรือนที่อยู่อาศัยแบบพื้นเมือง ของชาวอีสาน แต่สร้างให้มีขนาดเล็ก เป็นลักษณะ ของเรือนจำลอง ปราสาทผึ้งแบบทรงหอผี มีลักษณะ เช่นเดียวกับศาลพระภูมิ หรือหอผีที่ชาวอีสาน นิยมสร้าง โดยทั่วไป อันเนื่องด้วยความเชื่อเกี่ยวกับศาลพระภูมิ ศาลมเหศักดิ์ หรือศาลปู่ตา ตามหมู่บ้านต่าง ๆ  ในชนบท ซึ่งลักษณะของศาลต่าง ๆ  เหล่านั้น จะมีลักษณะ โดยส่วนรวม ที่จำลองรูปแบบมาจากลักษณะรูปแบบ ของอาคารเรือนที่อยู่อาศัย  การสร้างปราสาทผึ้ง ทรงหอผี ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา

 ปราสาทผึ้งทรงบุษบก  เป็นปราสาทผึ้ง ที่สร้างขึ้น เลียนแบบหรือจำลองจากบุษบก บุกษบก เป็นเรือนเครื่องยอดขนาดเล็ก หลังคาทรงมณฑป ตัวเรือนโปร่ง มีฐานทึบและเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุขไม้ ลักษณะของปราสาทผึ้ง ทรงบุษบกนี้ มีลักษณะ เช่นเดียวกับบุษบกธรรมาสน์ ที่พระสงฆ์นั่งแสดงธรรม ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า หอธรรมาสน์ หรือธรรมาสน์เทศน์

    ปราสาทผึ้งทรงจตุรมุข เป็นปราสาทผึ้งที่สร้างขึ้น เลียนแบบหรือมีลักษณะที่แสดงถึงการจำลองรูปแบบ มาจากพระที่นั่งปราสาทราชมณเฑียรสถาน ในพระบรมมหาราชวัง แต่มีขนาดเล็กเป็นลักษณะ ของอาคารจำลอง ลักษณะรูปแบบของอาคาร ทรงจตุรมุข คือ อาคารที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีสันหลังคาจั่ว ชั้นบนอยู่ในระดับเดียวกัน และออกมุข เสมอกันทั้งสี่ด้าน ที่หลังคามีจั่วหรือหน้าบันประจำมุข ด้านละจั่ว หรือด้านละหนึ่งหน้าบัน ด้วยเหตุที่มีการออกมุขทั้งสี่ด้าน และประกอบด้วยหน้าบัน สี่ด้าน จึงเรียกว่า ทรงจตุรมุข  ซึ่งเป็นอาคาร ที่มีเรือนยอดเป็นชั้นสูงเช่นเดียวกับอาคารประเภทบุษบก และมีการออกมุขทั้งสี่ด้านที่หลังคาทรงจั่ว
     โดยทั่วไป ประชาชนจะนับเอาวันขึ้น  14  ค่ำ เดือน 11 เป็นวัน "โฮม" หรือวันรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มต่าง ๆ ที่บริเวณวัด แต่ละคุ้มจะอยู่ซุ้มของตนเอง

     วันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีการทำบุญตักบาตร เสร็จแล้วจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ในแต่ละขบวน จะแห่ด้วยเกวียนใช้คนเทียมแทนวัว นางฟ้าปราสาทผึ้ง (เทพี) จะนั่งอยู่ตอนหน้าของเกวียน  ตรงกลางเป็น ปราสาทผึ้ง ขบวนแห่มีพิณ กลอง ฆ้อง ตามด้วยขบวนคนหนุ่มสาว และเฒ่าแก่ถือธูป เทียน ประนมมือ แห่ครบ 3 รอบ ก็ถวายแก่ทางวัด ประเพณีปัจจับัน นิยมทำกันมากในสี่จังหวัดภาคอีสาน คือ สกลนคร  นครพนม  หนองคาย และเลย

เรียบเรียงใหม่โดย ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก allknowledges.tripod.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}