แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย การเบิกน่านน้ำ


ช่วงเวลา กระทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในเทศกาลออกพรรษา ก่อนจะมีการแข่งขันเรือพาย

ความสำคัญ
เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงมีประเพณีการแข่งขันเรือพายขึ้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า งานออกพรรษา ประเพณีการแข่งเรือถือว่าเป็นการบูชาพญานาค ๗ ตระกูล และเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างชาวมุกดาหารกับชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

พิธีกรรม
ก่อนจะมีการแข่งขันเรือ จะต้องทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าฟ้ามุงเมือง และศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง โดยจะมีขบวนแห่จากชาวคุ้มวัดต่าง ๆ เพื่ออัญเชิญเจ้าฟ้ามุงเมืองลงเรือลำแรก (ชื่อเรือมุกดาสวรรค์) โดยเจ้าฟ้ามุงเมืองในร่างของจ้ำหรือคนทรงจะประทับนั่งที่หัวเรือ เพื่อเป็นการเบิกน่านน้ำ ให้การแข่งขันเรือพายในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดผลดี เป็นสิริมงคล เกิดความสนุกสนานแก่ปวงชนปราศจากอุปสรรคทั้งปวง ต่อจากเรือมุกดาสวรรค์จะเป็นขบวนเรือประเพณี ประกอบด้วยฝีพายที่เป็นหญิง แต่งกายสีสันตามแบบพื้นเมือง หัวเรือ ๒ คน และท้ายเรือ ๓ คน จะเป็นชาย หลังจากล่องเรือแข่งกันแล้วจะเริ่มพายทวนน้ำจากหน้าวัดศรีบุญเรืองไปสิ้นสุดที่หน้าวัดศรีมงคลใต้ ระหว่างทางจะหยุดรับเครื่องสักการะจากชาวบ้าน มีเหล้า ดอกไม้ ธูป เทียน และดอกดาวเรือง ส่วนเรือประเพณีที่ตามหลังจะมีสาวงาม ๑ คน ฟ้อนหางนกยูงอย่างสวยงามที่หัวเรือ พร้อมกับฝีพายจะร้องเล่น เซิ้งและผญาอย่างสนุกสนาน

สาระ
เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณ เชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างพี่น้องสองฝั่งโขงไทย-ลาว แสดงถึงความสามัคคีของชาวจังหวัดมุกดาหารและชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า


  คำว่า “ ข้าวประดับดิน ” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538 ได้ให้ ความหมายไว้ว่า “ ข้าวประดับดิน (ถิ่นอีสาน) ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์และพระเจดีย์เวลาเช้ามืดเดือน 9 ” ความหมายตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคนะวันออกเฉียงเหนือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ที่ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

“ ข้าวประดับดิน ชื่อของบุญเดือน 9 บุญข้าวสากน้อยที่เรียกว่า : ชื่ออาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ที่จัดใส่กระทง วางไว้ตามพื้นดินหรือโคนต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ”


   เนื่องจากคนลาวและไทอีสานมีความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ว่ากลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรมสิบสี่ค่ำเดือน เก้า) เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากัน จัดห่อข้าว ไว้ให้ญาติที่น้องที่ตายไปแล้ว ผู้ล่วงรับไปแล้ว

   ครั้งพระพุทธกาลบรรดาญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์แล้ว ตายไปเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระ พุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้ว จึงได้ทรงอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้บรรดาเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น เมื่อเปรตมิได้รับผลบุญ ถึง เวลากลางคืนพากันมาส่งเสียงน่ากลัว เพื่อขอส่วนบุญอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชนิเวศน์ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้ยินเช่นนั้น พอรุ่งเช้าจึง เสด็จไปทูลถามสาเหตุจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแจ้งสาเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารททรงทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารนั้นทรง ทราบแล้ว จึงถวายทานและอุทิศส่วนกุศลซึ่งได้ทำให้เปรต ตั้งแต่นั้นมาบรรดาเปรตเหล่านั้นก็ไม่มารบกวนอีก เพราะเปรตที่เป็น ญาติได้รับผลบุญแล้ว ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ทำบุญข้าวประดับดินติต่อกันมา


   พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหารมีทั้งคาวหวาน แก่ เนื้อปลาเผือกมัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลูบุหรี่ไว้ให้พร้อมเพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสมเณรบ้าง ส่วน สำหรับอุทิศให้ญาติที่ตายใช้ห่อด้วยใบตองกล้ายคาวห่อหนึ่ง หวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่งเย็บหุ้มปลายแต่บางคนใส่ ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มีหรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้

   พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหารหมากพลู บุหรี่ที่ห่อหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลาวัดตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ใน บริเวณวัด พร้อมพับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาของและผลบุญด้วย

เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปตักบาตรและถวายทานแต่พระภิกษุสามเณร มีการ สมาทานศีลฟังเทศน์และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป

การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว หวานหมากพลูบุหรี่ไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญ ข้าวประดับดิน


คำถวายสังฆทาน (ข้าวประดับดิน)

   อิมานิ มะยัง ภันเต ปิณฑะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยะมะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปิณฑะ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

   ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวและอาหาร (ข้าวประดับดิน) กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวและอาหาร(ข้าวประดับดิน) พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และ ความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.


   การห่อข้าวปลาอาหารและของขบเคี้ยวต่างๆ เป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายทานบ้าง แขวนไว้ตามต้นไม้บ้าง ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) เรียกว่าข้าวประดับดิน การทำบุญด้วย การให้ทาน รักษาศีล ด้วยอาศัยข้าวประดับดินเป็นมูลเหตุเรียกว่า "ข้าวประดับดิน" นักปราชญ์อีสานโบราณได้ กล่าวไว้เป็นบทผญา โดยได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์และประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า...

เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว 
เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน 
กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน 
ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว 
เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน 
เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้ 
เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น 
คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย

อ้างอิงจาก www.phibun.com/thai_tradition ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ค้ำโพธิ์ค้ำไทร


  ความเชื่อเรื่องประเพณีค้ำโพธิ์ ค้ำไทร เมื่อคนป่วย มีอาการนอนไม่หลับ ผอมเหลือง ทำงานไม่ได้ ปวดหัวตัวร้อนตลอดเวลาต้องพึ่งพระ ให้จัดหาไม้คูณ ไม้ยอ ถากกลบเท่า ประมาณขาของคนป่วย ยาวประมาณ 1-2 วา

  เมื่อถึงวันพระ 15 ค่ำ กลางเดือน นำดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ข้าวตอกดอกไม้ นำผู้ป่วยไปจัดเพื่อประกอบพิธี นิมนต์เจ้า อาวาส พร้อมลูกวัด 4 รูป ร่วมพิธีรับศีล ชุมนุมเทวดา

  ประกาศรุกขเทวดารักษาต้นโพธิ์ ต้นไทร ขอให้อาการป่วย บรรเทาต่ออายุให้ยืนยาว แล้วนำไม้เสานั้นค้ำโพธิ์ ค้ำไทร พระสงฆ์สวดอนุโมทนา ผู้ป่วยกรวดน้ำ

  ความเชื่อเรื่องประเพณีสูตรธาตุ-ชะตา เมื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย นอนอาการหนักจนผู้มีความรู้เห็นว่าชะตาถึงฆาต ดวงชะตาขาด ควรสูตรชะตา ซึ่งใช้ภาชนะสองอัน ภาชนะ อันหนึ่งใช้ดินเหนียวทำเป็นเจดีย์เล็ก ๆ สูงแค่ศอกคนป่วย

  รอบเจดีย์บนภาชนะนั้น เจดีย์เล็ก ๆ อีก 9 อัน รอบเจดีย์ใหญ่นำไม้ไผ่ยาวแค่ศอกเท่าอายุคนป่วย กรรไกรตัดกระดาษ เป็นธงสามเหลี่ยมติดปลาย ไม้ไผ่ มัดเรียงที่ยอดเจดีย์ ทำธงเล็กเท่าอายุ

  ภาชนะอันที่สองนั้นเอามัดธงกระดาษ และมัดธงเหล็กนั้นเอาตั้งไว้บนภาชนะ ตัดกระบอกไม้ไผ่ยาวเท่านิ้วชี้มีรูหลวมนิ้วชี้ผู้ป่วย 5 อัน อันหนึ่งเอาถ่านไฟใส่ให้เต็ม อัน ที่สองยัดนุ่นให้เต็ม อันที่สามใส่ดินให้เต็ม อันที่สี่ใส่น้ำให้เต็มเป็นเครื่องหมายธาตุ คือ

  น้ำ ไฟ ลม มัดติดกับเสาธงกระดาษและธงเหล็กบนภาชนะ กระบอกไม้ไผ่อันที่ 5 ใช้ตวงข้าวสารเท่าอายุผู้ป่วย ใส่ขันหรือกะละมังไว้แล้วเย็บกระทงตองกล้วยเท่ากำมือผู้ป่วย 5 อัน ใส่ข้าวตอกกระทงหนึ่ง ใส่ดอกบานไม่รู้โรยกระทงหนึ่ง ใส่ข้าวเปลือกกระทงหนึ่ง ใส่ถั่วงากระทงหนึ่งใส่เมี่ยงหมากกระทงหนึ่ง วางบนภาชนะรอบเสาธง เทียนยาวรอบหัว เทียนสูงแค่หัว วัดจากสะดือผู้ป่วยถึงลูกกระเดือก เทียนเล่มบาท 1 คู่ ขัน 5-8 ปัจจัยเท่าอายุ

  พอถึงตอนเย็นแบกไปที่วัดถวายเจ้าอาวาส พระสงฆ์ 4 รูป จะนำไปสวดในพระอุโบสถสวดเสี่ยงทายอยู่ 3 วัน 3 คืน หลังทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว ผู้ป่วยชะตาขาดธาตุ สูญตวงข้าวสารในกระบอกไม้ไผ่เท่าอายุ ชะตาผู้ป่วยยังไม่ขาดธาตุยังไม่สูญ ข้าวสารที่ตวงเท่าอายุนั้นเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยต้องหายแน่

  ถ้าข้าวสารในกระบอกขาดไปจัดแจงสวด ตามกำลังวัน ตวงดูยังขาดอย่างเดิม ผู้ป่วยไปไม่รอดแน่ คืนที่สองสวดอีกตวงข้าวสารแล้วมีข้าวสารเพิ่มขึ้นเหนือกระบอกโดยลำดับผู้ป่วยหายแน่ เช่น

  พิธีตัดกรรม-ตัดเวร คนไข้เจ็บป่วย อัมพาต ป่วยมานานจนลุกเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ชาวอีสาน เกิดจากกรรมเวรในชาติก่อนหรือชาตินี้ตามสนอง จึงต้องได้รับ ความทุกข์ทรมาน ผู้ที่มีความรู้ก็จะจัดแจงแต่งเครื่องตัดกรรมตัดเวร มีหม้อแกง 4 หม้อ เครื่องหมายธาตุ 4 มีคาวหวาน ห่อพริก ห่อเกลือ ห่อปลาร้า ปลาเค็ม บุหรี่ตัว หมากคำ เงินสตางค์ห่ออันละนิดใส่ลงในหม้อ ทั้งสี่หม้อเหมือนกันหมด ด้ายสายสิญจน์ 4 เส้นยาว 2 วามีดน้อย 4 ดวง ขัน 5-8 หมาก พลู บุหรี่ถวายพระ

  พอถึงตอนเย็นนำไปที่วัดพร้อมเชิญคนป่วยไปด้วย คนป่วยใส่ล้อหรือนั่งเก้าอี้หามไปที่ต้นโพธิ์ นิมนต์พระสงฆ์นั่งทิศตะวันออกต้นโพธิ์ ให้คนป่วยนั่งหรือนอนอยู่ตรงกลาง ตั้ง หม้อในทิศทั้ง 4 ด้วยสายสิญจน์ผูกปากหม้อ พระสงฆ์ทั้ง 4 รูป จับด้ายสายสิญจน์ ไหว้พระรับศีลอาราธนาพระสงฆ์สวดตัดกรรม-ตัดเวร สวดตามกำลังวัน


  พิธีการแต่งบูชาพระเคราะห์แห่งปี ชาวอีสานถือเป็นประเพณีประจำครอบครัว ในเรื่องการประกอบสัมมาอาชีพ การป่วยไข้ หมอชาวบ้านจะแนะนำให้แต่งบูชา พระเคราะห์ ประเภทแก้พระเคราะห์บูชาโรค การบูชาพระเคราะห์ในบ้านเรือนครอบครัวจะมีความสุข เจ็บไข้ได้ป่วยป้องกันอันตราย ความเดือดร้อนในการครองเรือน โชค ร้ายจะหายไป จะได้โชคลาภ ป้องกันอันตราย ความเดือดร้อนในการครองเรือนโชคร้ายจะหายไปจะได้โชคลาภ

  หมอแต่งบูชานพเคราะห์นุ่งขาวห่มขาว จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยชุมนุมเทวดา ใช้ใบตองกล้วยสดปู จึงเอากระทงบูชานพเคราะห์วางบน เจ้าชะตามานั่งตรงหน้า ประกาศบอกเทวดา บอกชื่อเจ้าชะตามีความเคารพพรหมชาติชะตาของตน แต่งเครื่องบูชาพระนพเคราะห์บูชาพระเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะ

  ขอเชิญพระนพเคราะห์คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุทธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหูและพระเกตุ จงมารับเครื่องสักการะของเจ้าชะตา อันมีมา ในทักษาและมหาทักษา อีกทั้งพระมฤตยูผู้เป็นใหญ่ใน 12 ราศี อันเจ้าชะตานี้สักการะบูชาพระรัตนตรัยได้จัดลงใส่ในกระทงคาวหวานเป็นอเนกประการ

  ขอความสวัสดีมีชัยในลาภข้าวของเงินทองอันเนืองนอง จงมีแก่เจ้าชะตาเจริญรุ่งเรืองทุกเมื่อเทอญ พิธีสูตรขวัญก่อง การเจ็บป่วยของชาวอีสานได้ใช้พระพุทธศาสนาเข้าช่วย ผู้ป่วยที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ฝันร้ายตลอดเวลาขวัญหนีดีฝ่อ ร่างกายผอมเหลือง

  ซึ่งญาติพี่น้องจะนิมนต์ให้พระสงฆ์ สอดขวัญก่องให้ด้วยการหาก่องข้าวสูงแค่ศอก ผู้ป่วย ผู้ป่วยเป็นผู้ชายจัดเอาหวี แป้งหอม น้ำหอม ผ้าเช็ดหน้า แหวน กระจกเงา เครื่องแต่ง ตัว ของผู้ชายใส่ลงในก่องข้าว พร้อมทั้งเขียนชื่อผู้ป่วยและปัจจัยเท่าอายุ เทียนรอบหัว เทียนยาวแค่ตัววัดแค่สะดือถึงลูกกระเดือก ผ้านุ่ง ผ้าอาบของผู้ป่วยใส่ภาชนะขัน 5-8 ดอก ไม้ธูปเทียนข้าวตอก หมากพลู บุหรี่

นำไปถวายเจ้าอาวาส ถ้าเป็นผู้หญิงป่วยให้แต่งเครื่องผู้หญิง มีช่องหวี สร้อยคอ กำไลมือ กระจอนหู ต่างหู แป้งหอม น้ำหอม และ เขียนชื่อผู้ป่วยใส่ลงในก่องข้าว

  นอกนั้นเหมือนกันกับของผู้ชาย พอถึงเวลาเย็นนำไปวัดเจ้าอาวาสรู้แล้วพอถึงเย็นทำวัตรสวดมนต์ก่อนจำวัตรเจริญภาวนา จะนำก่องข้าวมาตรวจดู วางภาชนะเสื้อผ้าชิดก่อง ข้าว จุดธูปเทียน ชุมนุมเทวดาประกาศให้รู้ว่าคนป่วยชื่อนั้น ไม่สบายเป็นไข้ นำก่องข้าวมาให้ข้าสวดมงคลเรียกขวัญ ขวัญคนชื่อนี้ไปเที่ยวที่ใด จงมาลงในก่องข้าวนี้

  ขณะที่สวดให้เปิดฝาก่องข้าวไว้ ห้ามพูดกับใคร จำวัตรเลย คืนแรกฝันดีห้ามเอาคืนที่สองสวดอีกเหมือนเดิมห้ามพูด จำวัตรเลย มีนิมิตดีฝันดีไม่ต้องเอา คืนที่สามให้ สวดเหมือนเดิม คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย สุบินนิมิตจะฝันดีเหมือนคืนที่แล้วมา เวลาประมาณตี 4 หรือตี 5. ลุกขึ้นให้ปิดฝาก่องข้าว ปิดให้แน่นห้ามเปิด

  พอถึงตอนเย็นพระผู้สวดนั้นถือก่องข้าวและภาชนะผ้าเข้าไปในบ้านเรือนของคนป่วย ห้ามใช้พระรูปอื่นแทน ทำพิธีเอาก่องข้าวและภาชนะไว้ใต้แขนประมาณ 30-40 นาที

  จึงเอาด้ายผูกข้อมือคนป่วยและลูกเมียในครอบครัว ฮายความส่งบัตรพลี กระทงหน้าวัว กระทงกาบกล้วยพร้อมทั้งบัตรพลี เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะนำไปไว้ที่ต้นโพธิ์หรือทาง 4 แพร่ง คนป่วยจะจัดสิ่งของบูชาหมอตามประเพณี

  ความเชื่อเป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจ อาจจะมีเหตุผลหรือไม่มีซึ่งเกิดจากการยอมรับภายในจิตสำนึกของมนุษย์ในด้านนั้น ๆ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม แต่ความเชื่อก็ยังสืบต่อกันมาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอีสาน

  ความเชื่อก็ได้เกิดขวัญกำลังใจในภาระหน้าที่การงาน ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะ ความร่วมมือร่วมใจทำงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดปัญญา ความคิดค้นหาเหตุผล

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก kku.ac.th ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย สรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย


พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งของจังหวัดลำพูน เป็นจอมเจดีย์องค์หนึ่งในจำนวน 8 แห่งของประเทศไทย เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชพระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป ประเพณีสรงน้ำธาตุ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง ประเพณีนี้ยึดถือและปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี


วัตถุประสงค์ของประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย มีดังนี้
1.เพื่อเป็นการสักการะพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ของวัดพระบรมธาตุหริภุญชัย และนับเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวลำพูนและชาวพุทธทั่วไป
2.เพื่อสักการะพระบรมอัฐิธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3.เพื่อเป็นการบูชาเสาหลักเมือง ทั้งนี้เพราะประชาชนลำพูนถือว่าเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมืองทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยจึงได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนด้วย


กิจกรรมสำคัญ ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย กำหนดจัดขึ้น ณ วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า " วันแปดเป็ง " (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของภาคกลาง) หรือ" วันวิสาขบูชา " กิจกรรมที่จัดขึ้น มีทั้งพิธีราษฎร์และพิธีหลวง มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

พิธีราษฎร์ เริ่มเวลาประมาณ 07.00 น. คณะศรัทธาประชาชนร่วมประกอบพิธีทำบุญตักบาตรเวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ประจำวิหารทั้งสี่ทิศ คือ พระวิหารหลวง วิหารพระละโว้ วิหารพระเจ้าทันใจและวิหารพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีราษฎร์

พิธีหลวง เริ่มเวลาประมาณ 13.00 น. คณะข้าราชการในจังหวัดลำพูนนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำขบวนแห่น้ำสรงพระราชทาน เครื่องสักการะ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ธูปเทียนของหลวง ผ้าห่มพระธาตุสีแดง ยาวประมาณ 1 เมตร และน้ำศักดิ์บนดอยคะม้อ เริ่มขบวนแห่จากศาลากลางจังหวัดเข้าสู่วัดพระบรมธาตุหริภุญชัยการประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเริ่มพิธีทางศาสนาอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน น้ำศักดิ์สิทธิ์จากดอยคะม้อชักรอกขึ้นสรงน้ำพระบรมธาตุ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา โดยมีพราหมณ์ 8 คน ประจำอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุ หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนำน้ำขมิ้นส้มป่อยขึ้นสรงน้ำโดยวิธีชักรอบเช่นกัน เวลาประมาณ 17.00 น. เป็นเสร็จพิธีหลวง


อนึ่ง หลังจากเสร็จพิธีสรงน้ำพระราชทานและน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะมีขบวน "ครัวทาน"จากหัววัดต่างๆ แห่เข้าสู่บริเวณพิธีเพื่อนมัสการและสักการะพระบรมธาตุ ทั้งนี้ขบวน " ครัวทาน" จะตกแต่งเป็นเรื่องทางพระพุทธประวัติหรือมหาชาติที่ให้ข้อคิดคติธรรม ในขบวนจะประกอบด้วยขบวนตุง ธงทิว การแสดงศิลปพื้นบ้าน การบรรเลงดนตรีพื้นเมืองที่ครึกครื้นสนุกสนานและให้ความบันเทิงแก่ผู้ร่วมพิธี

ในภาคกลางคืน เริ่มเวลาประมาณ 18.00 น. พระสงฆ์ประมาณ 20 รูป พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธีเวียนเทียนประทักษิณองค์พระบรมธาตุ 3 รอบและพระสงฆ์แยกย้ายเข้าประจำพระวิหารทั้ง 4 ทิศ เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์สวดเบิกวิหารละ 4 วาร (วาระ) เป็นเสร็จพิธี


คำบูชาพระบรมธาตุหริภุญชัย สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐรัง สะทะอังคุลีฏฐัง
กัจจายะเนนตินะ ปัตตะปูรัง สีเสนะมัยหัง ปาณะมามิธาตุง อะหังวันทามิสัพพะทา

ข้าพเจ้า ขอเอาเศียรเกล้าของข้าพเจ้า นอบน้อมพระธาตุ อันเป็นเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือ พระอัฏฐิเบื้องพระทรวงอันประเสริฐ กับทั้งพระอัฏฐิพระองคลี และพระธาตุย่อยเต็มบาตรหนึ่ง อันพระกัจจายะนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทาในกาละทุกเมื่อแล

ขอบคุณข้อมูลจาก  baanjomyut.com
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก facebook.com/tatchiangmai.fanpage

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ตานก๋วยสลาก ภาคเหนือ

 

วัน เดือน ปีที่จัดกิจกรรมนิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
สถานที่จัดกิจกรรม- วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน
- วัดบุญยืน ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา
- วัดพงษ์ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น
- วัดนาทะนุง ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น
- วัดปิงหลวง ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น

ประวัติความเป็นมา 

ตานก๋วยสลาก ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก  ล้วนแต่เป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการ อาจจะแตกต่างกันไปบ้านในเรื่องรายละเอียด ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่า “ สลากภัต”ของชาวล้านนา  คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือสังฆทาน มีประวัติความเป็นมาเล่ากันว่า “ ครั้งพุทธกาลพระบรมโพธิสัตว์พร้อมพระสาวกำด้เดินทางจาริกแสวงบุญ เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาได้มีศรัทธา ญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวาย ในบรรดาญาติโยมเหล่านั้น แต่ละคนมีฐานะแตกต่างกัน คนที่มีฐานะดีก็นำอาหารอย่าดี จำนวนมากมาถวาย ส่วนคนที่มีฐานะยากจน แต่มีจิตศรัทธาใคร่ทำบุญก็นำอาหารเท่าที่หามาได้มาทำบุญ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สงฆ์ที่รับถวาย  พระพุทธองค์พิจารณาเห็นดังนั้น จึงบัญญัติวิธีการให้พระสงฆ์จับสลารับถวายอาหารจากญาติโยม ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุติธรรม และความพอใจให้แก่ทุกฝ่าย และได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

ความมุ่งหมายของประเพณี 
ประเพณีตานก๋วยสลาก ปฏิบัติในช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่นลำไย พระสงฆ์ ส้มโอ เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจี ชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตเริ่มขัดสน เมื่อข้าวในยุ้งหมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้ จึงเท่ากับได้สงเคราะห์คนยาก คนจนเป็นสังฆทานได้กุศลเอง 

 

ขั้นตอนปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม
วันดา  หรือวันสุกดิบ หรือวันเตรียม ก่อนจะถึงวัดตานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่าวันดา  หรือวันสุกดิบ วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ  เริ่มจากเตรียมก๋วยสลาก บรรจุลงในก๋วย  (ชะลอมสานจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก ) แล้วนำอาหารคาวหวาน อาหารแห้งและของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ  กะปิ   น้ำปลา  หมาก พลู น้ำดื่ม ขนม ข้าวต้ม  กล้วย ส้ม สมุด  ดินสอ  สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และยารักษาโรค ที่จำเป็น ฯลฯ   เท่าที่หาได้พร้อมอาหารคาว หวาน และข้าวสุกที่พระสงฆ์จะนำไปฉัน  สำหรับจะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก และวันนี้มักจะมีญาติมิตรสหาย ที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดา สลากด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรบที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตองหรือกระดาษก็ได้ เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นเล็กๆ สำหรับเสียบเงินที่เป็นธนบัตร เพื่อทำยอดก๋วยสลาก จะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ  คณะศรัทธาใดที่จะจัดงานประเพณีสลากจะต้องจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดบ้าน จัดเตรียมสถานที่ จัดหาข้าวของใช้ อาหาร หรือวัสดุในการทำอาหารความหวานไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดสถานที่ ที่จะจัดเตรียมก๋วยสลากที่วัด  วันนี้มักเรียกว่า วันเตรียมหรือวันสีเตียน


วันตานสลาก ผู้จะถวายสลากภัต จะนำก๋วยสลาก พร้อมก้านตานสลาก ดอกไม้ ธูปเทียน ไปวางไว้ ณ สถานที่ในบริเวณวัดจัดไว้ เพื่อทำพิธีทางศาสนา และถวายก๋วยสลากแด่พระสงฆ์ตามหมายเลขที่พระสงฆ์จับได้   การตานสลากภัต จะเขียนคำอุทิศถวาย ที่เรียกว่า ด้านสลาก หรือก้านตาน หรือใบสลาก มักทำด้วยกระดาษแข็งหรือใบลาน เพื่อให้พระสงฆ์กรวดน้ำ ในสมัยก่อนนั้น จะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาบางสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์ จากจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้น บ้างแล้วแต่  กรณีส่วนหนึ่งแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อน จะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเส้นสลากไปอ่าน  โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อน  โดยจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธี

ก๋วยสลากถูกแกะเอาข้าวปลาอาหาร ออกมากิน จะกลายเป็นอาหารมื้อเที่ยงสำหรับชาวบ้านที่มารอรับ  สำหรับของใช้และอาหารแห้งต่างๆ ชาวล้านจะเป็นเอาไว้ใช้ประโยชน์

ก๋วยสลากจะมี ๒ ลักษณะ 
๑.ก๋วยฉลาก เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ  ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้น อาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น  ช้าง  ม้า  วัว ควาย และสุนัข  เป็นต้น  หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ในภายหน้า

๒.ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี  เป็นพลวปัจจัย นับว่าได้กุศลแรงสิ่งที่นำมาบรรจุใส่ในก๋วยสลาก เพื่อจะนำไปถวาย  ได้แก่ ข้าวสาร บุหรี่ กะปิ  น้ำปลา เกลือ กระเทียม หอม น้ำ ขนม ข้าวต้ม ข้าวนึ่งจิ้นทอด เมี่ยง พริกแห้ง ไม้ขีดไฟเทียนไข สบู่ ยาสีฟัน สมุด แปรงสีฟัน ดินสอ ผลไม้ต่างๆ และที่สำคัญ คือ เงินสำหรับ ที่จะทำยอดของก๋วยสลาก

สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ อีกอย่างหนึ่งคือ  สลากโชค  มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะระดับเศรษฐี (บางคน)  ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน   สลากโชค มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่นผ้าห่ม ที่นอนหมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่มห่ม อาหารแห้งต่างๆ และเงินธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด  ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่าง เช่น “ ศรัทธาหมายมีนายบุญมีนางคำมา ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยตาแม่อุ้ยเฟยผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ”  เป็นต้น


แหล่งข้อมูล
๑. หนังสือโครงการสืบค้นวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน รวบรวมโดยนายบรรเจิด   ติ๊บตุ้ย  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

๒. หนังสือข้อมูลด้านการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน(อำเภอเวียงสา)  รวบรวมโดยนางอารีย์วรรณ์ ปันสอน  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

บทความดีๆจาก http://www.m-culture.go.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}