แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พิธีตานขันข้าว แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พิธีตานขันข้าว แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย ตานขันข้าวชาวลำปาง



ประเพณีทานขันข้าวหรือประเพณีตานขันข้าว ของชาวเหนือจะจัดขึ้นในช่วงนี้เนื่องในโอกาสวันเทศกาลออกพรรษา ซึ่งเราจะพบว่าแต่ละภาคจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องหรือนิยมจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาอยู่มากมายในประเทศไทยของเรา “ประเพณีทานขันข้าว” หรือตานขันข้าวก็เป็นอีกประเพณีหนึ่งของชาวเหนือที่จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ถือเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงาม ความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนคนรุ่นก่อนที่เคยสร้างคุณงามความดีไว้ “ประเพณีทานขันข้าว” ชาวลำปางจะจัดงานนี้ขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษา และเทศกาลออกพรรษาตามหมู่บ้านในแต่ละท้องถิ่นของตน


ประเพณีทานขันข้าวหรือตานขันข้าวเป็นประเพณีไทยการทำบุญเพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูอีกแบบหนึ่งของชาวไทยเหนือ โดยการนำสำรับกับข้าวไปถวายพระที่วัด ในวันเทศกาลที่สำคัญต่างๆ ได้หลายวัน เช่น เทศกาลวันสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษา และเทศกาลออกพรรษา และเป็นการถือโอกาสในการทำบุญในโอกาสวาระอื่นๆ ไปด้วย สำหรับพิธีกรรมที่จัดขึ้นในประเพณีทานขันข้าวนั้น เริ่มขึ้นโดยก่อนวันทำบุญ ชาวบ้านจะมีการจัดเตรียมอาหาร คาว หวานต่างๆ ไว้ให้พร้อม และจะมีการนำเอาใบตองมาเย็บทำกรวยหรือเรียกกันว่า สวย เพื่อใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ขวดน้ำ สำหรับรอการหยาดน้ำ และในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันทำบุญ เวลาประมาณ 06.30 น. ทุกครัวเรือนจะเตรียมอุ่นอาหารและบรรจุใส่ปิ่นโต พร้อมทั้งสวยดอกไม้และน้ำหยาด บางบ้านอาจเขียนชื่อผู้ที่ตนต้องการจะทานไปหา (อุทิศส่วนกุศลไปให้) ลงในกระดาษ จากนั้นคนในครอบครัวจะช่วยกันหิ้วปิ่นโตไปวัด โดยทางวัดจะจัดเตรียมสถานที่สำหรับให้ศรัทธานำปิ่นโตมาถวาย ก่อนจะประเคนปิ่นโตถวายพระสงฆ์ญาติพี่น้องผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะเอาสวยดอกไม้เสียบไปพร้อมกับปิ่นโต บางคนมีกระดาษจดรายชื่อผู้ที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็จะเอากระดาษเหน็บติดไปกับปิ่นโตด้วย พร้อมกันนั้นก็เทน้ำหยาดจากขวดใส่ลงในขันที่วางอยู่หน้าพระสงฆ์


เมื่อศรัทธาชาวบ้านมากันพอสมควรแล้ว พระสงฆ์ก็จะกล่าวสัมโมนียกถานำการทำบุญ และให้พรดังนี้ อันดับแรกเป็นการแสดงความชื่นชมที่ศรัทธาชาวบ้านได้ช่วยกันรักษาจารีตประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล กล่าวถึงผู้รับของทาน พระสงฆ์อ่านชื่อผู้วายชนม์ตามที่ศรัทธาชาวบ้านเขียนมาในแผ่นกระดาษ ส่วนบางคนที่ไม่ได้เขียนมา ก็จะเอ่ยว่าการทานครั้งนี้มีไปถึงบรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร เทวะบุตร เทวดา แม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทาง สรรพสัตว์ ฯลฯ ให้มารับของทาน และการรับเอาทานครั้งนี้ หากผู้ที่ล่วงลับมารับไม่ได้ ก็ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้นำไปให้ แล้วให้พรแก่ผู้มาทำบุญ ทานขันข้าว และอนุโมทนาอุทิศส่วนกุศล สวดยถา สัพพี อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายหลังจากจบคำว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ศรัทธาชาวบ้านจะกล่าวสาธุพร้อมกัน จากนั้นจึงรับเอาปิ่นโตไปให้สามเณรหรือเจ้าหน้าที่จัดการเทอาหารออก เป็นอันเสร็จพิธีทานขันข้าวครั้งนี้


การทานขันข้าว นอกจากจะเป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว การประกอบอาหารก็ดี การไปทำบุญร่วมกันที่วัดก็ดี เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก ความอบอุ่น ประการสำคัญ การพาเด็กๆ ไปทานขันข้าวที่วัด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมการทำบุญแล้ว ยังเป็นการสืบทอดในเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องใช้วิธีอบรมสั่งสอน แต่เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นวิธีสืบทอดหรือการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง รวมทั้งเป็นการที่ทำให้พระสงฆ์ได้มีสิ่งของสำหรับอุปโภคและบริโภค เป็นการช่วยกันจรรโลงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วกาลนานด้วย

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างจาก banmuang.co.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}