แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วัดนางชี แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วัดนางชี แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย แห่พระบรมสารีริกธตุวัดนางชี


ประเพณีไทย งานบุญประจำปีทางฝั่งธนบุรีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานและเป็นที่รู้จักของคนฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวางในสมัยก่อน คือ “งานชักพระวัดนางชี” หรือที่เรียกันในปัจจุบันว่า “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ”
วัดนางชีเป็นวัดเก่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยไหน แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพระยาพิชัยมนตรีได้สร้างร่วมกับพระยาฤาชัยณรงค์ และออกหลวงเสนาสุนทร สาเหตุที่สร้างก็เนื่องมาจาก แม่อิ่มลูกสาวของเจ้าพระยาพิชัยมนตรี ป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุจนกระทั่งมีชีปะขาวมานิมิตรเข้าฝัน ให้เจ้าพระยาพิชัยมนตรีแก้บนโดยให้ลูกสาวบวชชี ดังนั้นเมื่อแม่อิ่มหายป่วย เจ้าพระยาพิชัยมนตรีจึงให้ลูกสาวบวชชีพร้อมกับสร้างวัดนี้ วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างในปลายแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (พระราชาธิบดีที่ 2) เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากอยู่ระหว่างทำสงครามกับพม่าก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกครั้งที่ 2 วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ่อค้าสำเภาชื่อพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม ได้เป็นผู้บูรณะและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัด ได้ดัดแปลงและแก้ไขรูปทรงพระอุโบสถพระวิหารให้เป็นแบบจีน ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบ และนำตุ๊กตาหินแบบจีนและหินปูทางเดินมาจากเมืองจีน เพื่อนำมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ นอกจากนี้ยังได้ถวายเครื่องใช้แบบจีนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเตียงไม้มะเกลือประดับลายหอยมุกและหินอ่อน ซึ่งเป็นของลูกสาวที่เสียชีวิตอยู่บนเดียงนี้เมื่ออายุประมาณ 18 ปี 1 หลัง เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายวัดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระอารามหลวง ได้พระนามว่า “วัดนางชีโชติการาม” ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระยาราชานุชิต (จ๋อง) ได้บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้ง และถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ปูชนียวัตถุพิเศษที่สำคัญในวัด ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุและพระบรมธาตุสาวกซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี ก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่เสร็จพระบรมสารีริกธาตุก็จะนำมาตรวจนับอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปประดิษฐานเก็บไว้บนกุฎิเจ้าอาวาส พระบรมธาตุนั้นจะมีขนาดเล็กมาก คือ มีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเมล็ดข้าวสารหัก เวลาตรวจนับจะต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็น
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาได้เขียนเล่าเกี่ยวกับจำนวนพระธาตุที่เพิ่มขึ้นและลดลงไว้ในหนังสือตำราพระธาตุว่า “พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุนี้ก็เป็นของแปลก ถ้าเป็นพระบรมธาตุก็ว่าเสด็จมาเองบ้าง เสด็จไปเองบ้าง ครั้งหนึ่งประมาณ 20 ปีล่วงมาแล้ว เขาพูดว่าพระบรมธาตุที่วัดนางชี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดนนทบุรี บางปีก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น บางปีก็มีจำนวนลดลง ที่ว่าไปพิสูจน์นั้นได้เป็นจริงดังที่เขาว่ากัน ปีแรกที่ไปดูมีจำนวนมาก ครั้งที่สองน้อยลง ครั้งที่สามจำนวนมากขึ้น แต่ไม่ถึงจำนวนที่ไปดูครั้งแรก สงสัยว่าทางวัดจะเอาออกหรือเพิ่มขึ้นเพื่อลวงว่ามีอภินิหาร ถามเจ้าอาวาสท่านบอกว่าไม่เคยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมาหลายปีแล้วไม่เคยเอาออกมาดูเลย เอาออกมาสรงน้ำปีละครั้งคือวันแห่และตรวจต่อหน้ากรรมการด้วย”
พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีมิได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ดังเช่นพระบรมธาตุอื่นๆ ที่บรรจุไว้ในผอบแก้วซึ่งเป็นขวดน้ำหอมจากฝรั่งเศส ที่ชาววังใช้น้ำหอมผสมน้ำอาบกันในสมัยก่อน แล้วประดิษฐานไว้ ณ.มณฑปที่จัดทำเป็นพิเศษ ตามประวัติที่เล่ากันต่อๆ มากล่าวว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 1217 คณะพราหมณ์ 3 ท่าน และชาวจีน 9 ท่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ 2 ผอบ มาโดยเรือสำเภาจากชมพูทวีป เพื่อไปประดิษฐานไว้ที่เมืองปทาคูจาม อาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) และที่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง
แต่เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐาน ที่เมืองนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระสถูปเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วได้เดินทางต่อไป จนเรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ตรงบริเวณปากน้ำคลองด่านปัจจุบัน (ตามสภาพภูมิศาสตร์ ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยทางแถบเมืองธนบุรียังเป็นป่าทึบ และพื้นดินยังไม่งอกออกมามากมายเท่าในปัจจุบัน) คณะพราหมณ์และชาวจีนจึงได้พร้อมกันอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้น ห่างจากที่เรือล่มประมาณ 5 ไมล์ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีก็ตกลงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ.ที่นั้น แต่ไม่ทราบว่าได้ประดิษฐ์ไว้อย่างไร
เมื่อนานเข้า ผอบทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้ถูกฝังจนดินพระบรมสาริกธาตุที่ทูลเชิญเสด็จมาในครั้งนั้นมีด้วยกัน 5 พระองค์ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ส่วนไหล่ ส่วนแขน ซี่โครง หัวเข่า และขา ต่อมาในสมัยพระชัยราชา (พระเอก) กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. 1082 เป็นปีที่วัดนางชีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมสารีริกธาตุเสด็จขึ้นมาให้ปรากฏแก่แม่ชีอิ่มให้เห็นทั้ง 5 พระองค์ แม่ชีอิ่มได้ทูลเชิญเสด็จบรรจุไว้ในผอบแก้วและได้ประดิษฐานไว้ ณ. วัดนางชีแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา

ข้อมูลอ้างอิงไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}