แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมั้นและแต่งงาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมั้นและแต่งงาน แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย หมั้นและแต่งงาน


การแต่งงานแบบไทย เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยของ คนไทย ที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน ซึ่งควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามครรลองเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตต่อไป โดยที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงนั้นจะต้องรักใคร่ชอบพอกันในระยะเวลาที่เหมาะสม และเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงปลงใจที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้ว เบื้องต้นฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้บอกกับพ่อแม่ตนให้รับทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่นับถือมาทาบทามสู่ขอหรือหมั้น หมายฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ก่อนที่จะแต่งงานกัน...
หมั้นและแต่งงาน
หมั้นและแต่งงาน


การทาบทามหรือที่เรียกว่า 'พิธีการสู่ขอ'
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาสู่ขอตามประเพณี คือ เฒ่าแก่ เพราะ ในอดีตหญิงชายนั้นไม่มีโอกาสที่จะคบหาศึกษาดูใจกันก่อน แต่จะอาศัยเฒ่าแก่ หรือผู้ใหญ่ที่นับถือเข้าไปทาบทาม โดยส่วนใหญ่แล้วเฒ่าแก่นั้นจะมีฐานะดี มีผู้ให้ความเคารพนับถือ หรือมีหน้ามีตาในสังคม และเป็นที่รู้จักของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายด้วย เพราะจะเป็นผู้รับรองในคุณสมบัติของฝ่ายชาย ซึ่งหากฝ่ายหญิงไม่มีทีท่ารังเกียจ และการเจรจาผ่านพ้นไปด้วยดี ฝ่ายชายก็จะสานความสัมพันธ์กับฝ่ายหญิงต่อ หลังจากนั้นจะมีการตกลงในเรื่องของสินสอดทองหมั้น และหาฤกษ์ยามในการจัดพิธี ซึ่งในขั้นตอนนี้ฝ่ายหญิงจะขอวันเดือนปีเกิดของฝ่ายชายไว้ด้วย และถ้าหากฝ่ายหญิงต้องการปฏิเสธการสู่ขอของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงอาจจะนำเรื่องดวงชะตามาเป็นข้ออ้างได้ว่า ดวงไม่สมพงศ์กัน เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจของฝ่ายชายนั่นเอง

แจ้งผลการทาบทาบ สู่ขอ
เมื่อการเจราจาเรื่องสินสอดทองหมั้น และการหาฤกษ์ยามในการจัดพิธีเป็นได้ด้วยดี เฒ่าแก่จะเป็นผู้แจ้งข่าวแก่ฝ่ายชาย และดำเนินการพูดคุยเพื่อเตรียมการ เช่น ขบวนขันหมาก ของที่ต้องใช้ในการจัดพิธี รวมไปถึงเรื่องของจำนวนคน แขกฝ่ายชายที่จะมารวมเป็นสักขีพยาน ควรเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่ควรให้ขาดตกบกพร่อง เพราะถือเป็นธรรมเนียมไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน

เรือนหอรอรัก
ในสมัยก่อนฝ่ายชายต้องทำการปลูกเรือนหอใน พื้นที่ของฝ่ายหญิง เพราะ"ต้องแต่งเขยเข้าบ้าน" ดังนั้น เรือนหอจึงควรให้เสร็จก่อนถึงพิธีแต่งงาน แต่ในปัจจุบันหากเรือนหอยังไม่พร้อม อาจจะมาอาศัยอยู่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อนก็ได้ แล้วแต่จะ ตกลงกัน

การหมั้นหมาย
หลังจากที่มีการเจรจาสู่ขอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในบางครั้งผู้ใหญ่ก็จะให้หมั้นหมายไว้ ก่อนสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยจัดงานแต่งงานกันในภายหลัง  เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ศึกษานิสัยใจคอกันให้มากขึ้น โดยจะมีการกำหนดฤกษ์ยาม และสินสอดทองหมั้น หรือที่เรียกว่า "ขันหมากหมั้น" โดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะเป็นผู้นำของหมั้นมา และแจกแจงของที่นำมาว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งฝ่ายหญิงก็จะนำไปไว้ที่ตัว ในสมัยก่อนทางบ้านฝ่ายหญิงต้องเตรียมพานหมากพลูไว้ต้อนรับทางฝ่ายชายด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่นิยมกินหมากจึงละไว้ ไม่จำเป็นต้องเตรียม

สินสอดทองหมั้น หรือของหมั้น
สินสอดทองหมั้นถือเป็นหน้าเป็นตาของทางฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่จะเรียกเป็นทองคำ จึงเรียกติดปากว่า ทองหมั้น  ซึ่งปัจจุบันนี้หันมานิยมเพชร เพราะล้ำค่า เปรียบประหนึ่งว่า 'เธอนั้นคือคุณค่าทางจิตใจอันสูงส่งสำหรับฉัน นั่นเอง 

ทั้งนี้ ตามประเพณีแล้วของหมั้นจะตกเป็นของเจ้าสาว และจะนำมาประดับร่างกายในพิธีวันแต่งงาน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเงินสินสอดและผ้าไหว้ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ โดยถือเป็นค่าเลี้ยงดูหรือค่าน้ำนม นั่นเอง

กำหนดฤกษ์ยามการหมั้นหมาย
การกำหนดฤกษ์ยามถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยมากการกำหนดฤกษ์ยามในการหมั้นนั้น นิยมกำหนดในช่วงเช้าก่อนเที่ยง ซึ่งการกำหนดฤกษ์ จะมีตั้งแต่ฤกษ์ขันหมาก ฤกษ์หมั้น สู่ขอ ฤกษ์รดน้ำ  รวมถึงทิศทางที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวควรจะนั่ง  ส่วนฤกษ์ปูที่นอน เรียงหมอน และส่งตัว จะดูทั้งวันเดือนปีเกิดที่สมพงศ์กันของคู่แต่งงาน

คนไทยนิยมแต่งงานเดือนคู่ตามปฏิทินจันทรคติ ยกเว้นเดือน 12 เพราะถือว่าเป็นเดือนที่สัตว์มีคู่ วันสิบสองค่ำทั้งข้างขึ้นและข้ามแรม ตามตำราโบราณห้ามแต่งเพราะถือว่าเป็น "วันจม" วันอังคารและวันเสาร์ถือเป็น "วันแรง" วันพุธถือเป็นวันนามไม่ดี ส่วนวันพฤหัสบดีตามตำราฮินดูแล้วถือว่าเป็นวันไม่ดี เพราะลูกสาวพฤหัสบดีแต่งงานแล้วไปมีชู้ วันศุกร์นั้นเป็นวันที่เหมาะจะแต่งงานเพราะเสียงไปพ้องกับคำว่า "สุข"  แต่ปัจจุบันนี้หลายคู่ถือเอา "ฤกษ์สะดวก" เป็นสำคัญ



ขันหมากหมั้น
ตามธรรมเนียมไทย ขันหมากและทองหมั้น เฒ่าแก่หรือพ่อแม่ฝ่ายชายจะเป็นคนนำไปมอบให้ฝ่ายหญิง ซึ่งตอนแต่งควรเป็นเฒ่าแก่คนเดียวกันกับคนที่ไปทำการทาบทาม สู่ขอ โดยเฒ่าแก่ขันหมากหมั้นนั้น นิยมใช้คู่สามีภรรยาที่เป็นคนดี มีคนนับหน้า ถือตา มีบุตรหลานที่เชื่อฟัง และทั้งคู่ก็อยู่กินกันมานาน เป็นการถือเคล็ดในการใช้ชีวิตคู่ ขันหมากโดยมากจะใช้เป็นขันเงิน ขันทอง ขันนาก ขันถมตามแต่ฐานะ

สิ่งที่ต้องเตรียมในขันหมากหมั้น
ใช้หมากดิบทั้งลูก 4 ผล หรือ 8 ผล แต่ควรเป็นคู่ไม่ต้องเฉาะ หรือเฉือน และใช้ปูนแดงป้ายที่เปลือกหมากเล็กน้อยทุกลูก และใช้ใบพลู 4 เรียง หรือ 8 เรียงก็ได้แต่ต้องเป็นคู่ โดยใช้ปูนแดงแต้มที่โคนของใบพลูทุกใบ แล้ววางเรียงเป็นวงรอบๆ ในขัน ก้นขันหมากจะบรรจุข้าวเปลือก ถั่วเขียว ข้าวตอก และงาดำ อย่างละ 1 ถุง เป็นเคล็ดให้คู่รักมีความเจริญงอกงาม

ขันสินสอด หรือขันหมั้น
ภายในนั้นมีเงิน ทอง ของหมั้น หรือค่าสินสอดตามที่ตกลงไว้ ซึ่งอาจจะใส่เศษเงินเพิ่มเข้าไปเป็นการถือเคล็ดในเรื่องของความงอกเงย ผลิดอกออกผล นอกจากนี้ยังใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ใบแก้ว ใบรัก และเย็บถุงแพรเล็กๆใส่ข้าวเปลือก ถั่วงา ลงไปด้วย โดยใช้ผ้าแพรคลุมไว้อีกชั้น

ดอกไม้ธูปเทียน
ใช้ธูปแพร เทียนแพร ดอกไม้ (จะเป็นดอกอะไรก็ได้) ใส่ไว้ในกระทงกรวยปิด ตั้งไว้บนธูปแพรเทียนแพรอีกที

ผ้าไหว้
มี 2 อย่าง คือ ผ้าไหว้พ่อแม่และผู้มีพระคุณ ถ้าผู้ไปไหว้เป็นผู้หญิงให้ใช้ผ้าลาย กับผ้าแพรห่ม หรือว่าจะเป็นผ้าไหมก็ได้ ถ้าเป็นผู้ชายนิยมผ้าม่วงนุ่ง กับผ้าขาวม้า ส่วน ผ้าไหว้ผี ควรเป็นผ้าขาวเพื่อไปเย็บเป็นสบงหรือจีวรสำหรับถวายพระ  ทั้งนี้ ผ้าไหว้ทั้งสองชนิดจะจัดใส่พานแยกกัน

เครื่องขันหมาก
จะประกอบด้วยขนมและผลไม้ บางครั้งอาจมีสุรา หรือยาเซ่นสำหรับไหว้ผีบรรพบุรุษรวมอยู่ด้วย

การจัดขบวนขันหมากหมั้น
โดยมากมักใช้ลูกหลานเป็นผู้เชิญขั้นหมากไปยัง บ้านเจ้าสาว เพราะการเชิญขั้นหมาก สินสอด หรือผ้าไหว้ถือเป็นเกียรติ เมื่อมอบหมายหน้าที่แล้วก็จัดเข้าขบวนออกจากบ้านฝ่ายชาย ไปยังบ้านฝ่ายหญิงให้ตรงกับฤกษ์พอดี โดยมากมักเป็นตอนเช้าเช่นเดียวกับฤกษ์หมั้น คนเชิญดอกไม้ธูปเทียนเป็นผู้นำขบวน ต่อด้วยคนถือขันหมาก ขันสินสอด ตัวเฒ่าแก่ และผ้าไหว้ (บ้างก็ให้ขันหมากเดินนำหน้า)

โดยมากมักเป็นลูกหลานของฝ่ายหญิง ทำหน้าที่ถือพานหมากออกมารับ ในพานจะมีหมากพลูที่เจียนและจีบเป็นคำๆ ใส่ไว้เป็นจำนวนคู่ พอขันหมากหมั้นมาถึง เด็กจะส่งพานหมากพลูให้กับเฒ่าแก่ฝ่ายชาย เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชายรับแล้วก็จะให้เงินเป็นของขวัญ พร้อมทั้งคืนพานหมากให้ด้วย หลังจากนั้นก็จะเข้าไปยังสถานที่ซึ่งทำพิธีหมั้น ฝ่ายหญิงจะคอยต้อนรับ 

ความสุขสนุกสนานในช่วงนี้จะอยู่ที่ขบวนขัน หมาก กล่าวคือมีการ กั้นประตูเงินประตูทอง ของทางฝ่ายหญิง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นลูกหลานของฝ่ายหญิง โดยนำเอาเข็มขัดหรือสร้อยเงินมากั้นขบวนไว้ไม่ให้ผ่านเข้าไปได้ง่ายๆ เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะต้องแจกซองที่เตรียมไว้ให้เป็นรางวัลก่อนจึงจะผ่านได้ โดยประตูท้ายๆ มักจะใช้ทองหรือเพชรกั้น ค่าผ่านทางจึงต้องเพิ่มสูงตามลำดับ อาจมีการหยอกล้อระหว่างญาติฝ่ายหญิงและขบวนของฝ่ายชาย สร้างความครึกครื้นเป็นยิ่งนัก

ปัจจุบันพิธีหมั้นมักตัดขั้นตอนของขบวนขัน หมากออกไป เหลือเพียงการนำสินสอดของหมั้นฝ่ายหญิง และมีการเลี้ยงฉลองกันในหมู่ญาติ พิธีหมั้นอาจจัดควบคู่กับพิธีสู่ขอ หรืออาจจัดในช่วงเช้าของวันแต่งงานเลยก็ได้ แต่คู่รักสมัยนี้นิยมการหมั้นแล้วแต่งเลย เพราะถือเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในการเตรียมงาน

ฤกษ์ยามการแต่งงาน
ในสมัยก่อนเดือนที่นิยมจัดพิธีแต่งงาน ได้แก่ เดือน 6 เดือน 9 เดือน 10 เดือน 2 และเดือน 4 แล้วแต่ความเหมาะสม เพราะเชื่อถือว่าเป็นเดือนคู่ บางทีก็แต่งงานเดือน 9 ถือเคล็ดเรื่องความก้าวหน้า เนื่องจากคำว่า "เก้า" กับ "ก้าว" ออกเสียงใกล้เคียงกัน เดือนที่นิยมแต่งงานมากที่สุดคือ เดือน 6 เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน อาจเพราะมีบรรยากาศที่โรแมนติก นั่นเอง ส่วนเดือนที่ไม่นิยมจัดพิธีแต่งงานคือ เดือน 12 เพราะเป็นช่วงเดือนคู่ของสัตว์

เป็นการแสดงความคารวะนบนอบต่อบิดามารดา และบรรดาญาติผู้ใหญ่ เงินที่ได้จากพิธีรับไหว้ถือว่าเป็นเงินทุนให้แก่คู่บ่าวสาวอีกด้วย เหมือนกับพิธียกน้ำชาในการแต่งงานของคนจีน ถ้าผู้รับไหว้เป็นบิดามารดา หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะกราบลงพร้อมกันสามครั้ง แต่หากเป็นญาติคนอื่นๆ ก็จะกราบหนึ่งครั้ง โดยไม่ต้องแบมือ แล้วส่งพานดอกไม้ธูปเทียนให้พ่อแม่รับไว้ หลังจากนั้นท่านก็จะให้ศีลให้พรแก่ทั้งคู่  แล้วหยิบเงินรับไหว้ใส่ในพาน หยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์เส้นเล็กๆ ผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาว แสดงการรับไหว้ หลังจากทำพิธีรับไหว้เสร็จ ต่อจากนั้นพ่อแม่และญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย ที่มีความประสงค์จะมอบเงินเพิ่มทุนให้แก่คู่บ่าวสาว ก็จะใส่เพิ่มตามความพอใจ ต่อจากนั้นจึงนำถั่วงา และแป้งประพรมพร้อมอวยพร

คู่บ่าวสาว...ทำบุญตักบาตร
การตักบาตรสมัยก่อนจะให้คู่บ่าวสาวตักคนละ ทัพพี แต่ปัจจุบันนิยมให้ตักทัพพีเดียวกัน เชื้อว่าตักบาตรพร้อมกันต่อไปชาติหน้าจะได้เกิดมาคู่กันอีก นอกจากนี้ ยังมีความเชื่ออีกว่าการตักบาตรของคู่บ่าวสาวถ้าผู้ใดจับที่ยอดหรือคอทัพพี ผู้นั้นจะได้เป็นใหญ่เหนือกว่าคู่ของตน วิธีแก้เคล็ดให้ผลัดกันจับที่คอทัพพีก็จะไม่มีใครเหนือกว่าใคร คู่บ่าวสาวอาจมีการตักบาตรร่วมกันอีกครั้งหลังจากวันแต่งงาน แต่ต้องทำติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 9 วัน เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตคู่

หมั้นและแต่งงาน

รดน้ำสังข์...วันแห่งความสุข
เป็นการอวยพรความสุขให้คู่บ่าวสาว โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะรดน้ำสังข์ให้ เจ้าสาวก่อน แล้วจึงรดให้เจ้าบ่าว ส่วนการเจิมหน้าผากนั้น พระผู้เป็นประธานจะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ซึ่งฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่สำหรับฝ่ายหญิง พระท่านไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวได้ จึงต้องจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน หลังจากนั้นจึงทำมงคลแฝดสวมให้คู่บ่าวสาวคนละข้าง มีสายโยงห่างกันประมาณ 2 ศอกเศษ เพื่อความสะดวก และส่วนปลายของมงคลจะโยงมาพันที่บาตรน้ำมนต์ ส่วนหางสายสิญจน์พระสงฆ์จะส่งกันไปเป็นทอดๆโดยจับไว้ในมือ จนถึงพระองค์สุดท้ายก็จะวางสายสิญจน์ไว้ที่พาน หากเป็นการรดน้ำตอนเย็นจะเป็นมงคลแฝดแบบไม่มีสายโยง คู่บ่าวสาวต้องนั่งในที่จัดไว้ ซึ่งจะมีหมอนสำหรับรองรับมือ และพานรองน้ำสังข์ ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะยืนให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง จากนั้นญาติผู้ใหญ่ก็จะทยอยกันมารดน้ำสังข์ตามลำดับ ในสมัยก่อน หลังจากพิธีรดน้ำสังข์เสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว หากฝ่ายใดลุกขึ้นยืนก่อน ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าคู่ครองของตน เช่น ถ้าเจ้าสาวลุกขึ้นก่อนก็ว่ากันว่า สามีจะกลัว

การเลือกเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว
เชื่อกันว่า... ควรเลือกที่อายุน้อยหรือใกล้เคียงกับคู่บ่าวสาว และควรมีโครงการจะแต่งงานเร็วๆ นี้ เพราะหากว่าเป็นคนโสด อาจจะต้องกลายเป็นเพียงเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันไปตลอด ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวตัวจริงกันเสียที แต่ความจริงแล้วน่าจะเป็นกุศโลบายที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ผู้ที่ใกล้แต่งงานได้ ดูขั้นตอนการแต่งงาน เมื่อถึงคราวตนเองจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและไม่เคอะเขินนั่นเอง

งานเลี้ยงงานสมรส
โดยคู่บ่าวสาวและพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ขึ้นกล่าวขอบคุณแขกที่มาร่วมแสดงความยินดีในงาน โดยพิธีกรจะบอกถึงความเป็นมาของคู่บ่าวสาว และพูดหยอกล้อกัน อาจมีการหอมแก้ม การร้องเพลงร่วมกัน หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวจะเดินไปตามโต๊ะ เพื่อขอบคุณแขกและแจกของชำร่วย รวมทั้งถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วยเช่นกัน

คู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ
ก่อนเข้าห้องหอนั้นจะมีการ ดูฤกษ์ทำพิธี จัดแจงปูที่นอน จัดหมอน พอถึงฤกษ์เรียงหมอนผู้ทำพิธีฝ่ายชายก็จะล้มตัวลงนอนทางด้านขวา ฝ่ายหญิงนอนทางซ้าย เป็นการเอาเคล็ดให้แคล้วคาดปลอดภัย

ส่วนการส่งตัวเจ้าสาวพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะนำเจ้า สาวมาส่งให้กับเจ้าบ่าว จากนั้นก็ฝากฝังให้ช่วยดูแล สำหรับการทำพิธีปูที่นอน มีสิ่งของมงคลอันควรนำมาวางไว้บนที่นอน ได้แก่

- กลีบดอกกุหลาบ บานไม่รู้โรย ดอกรัก กลีบบัว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ทั้งคู่รักกันมากขึ้น

- ฟักเขียว มีหมายความว่า จะได้เย็นเหมือนฟัก มีความอดทนอดกลั้นต่อกัน

- หินบดยา สื่อหมายความว่า จะได้มีความหนักแน่น

- แมวสีขาว ให้หมายความว่า จะได้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลโดย weddingmakmy.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}