แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เรือยาว แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เรือยาว แสดงบทความทั้งหมด

ประวัติกีฬาเรือยาวประเพณีไทย




ประวัติความเป็นมาเรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ
1.สายน้ำ กับชีวิต คนไทย 
  มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับ สายน้ำ และธรรมชาติการสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างชุมชน แต่โบราณกาล จะเลือกทำเลที่มีแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำเป็นสำคัญ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรมยังชีพแห่งชีวิต และชุมชน สายน้ำ จึงเปรียบเสมือน สายโลหิตของชีวิตคนไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบันยันอนาคต เพราะน้ำคือชีวิต น้ำยังนำมาซึ่ง คติธรรม ในการดำเนินชีวิตของชาวไทยให้เข้าใจถึงสัจธรรมในธรรมชาติของชีวิต กล่าวคือ
  1. น้ำ มีลักษณะ ชุ่มเย็น เปรียบเหมือน ความเมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ตรงข้ามกับความเร่าร้อน อันหมายถึง ความโกรธ หรือโทสะ เปรียบเหมือน ไฟเผาจิตใจให้ร้อนลน
  2. น้ำ มีลักษณะ รวมตัวกันเป็นนิจ เปรียบเหมือนมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องรู้รักสามัคคีมีกัลยาณมิตตตา “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย รวมกันแล้วไม่ทำอะไร ก็ไปตายเสียดีกว่าอยู่”
  3. น้ำ มีลักษณะ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี หมายถึง สมานัตตา คือ บุคคลพึงวางตนเสมอต้นเสมอปลายได้ถูกต้อง โบราณาจารย์ กล่าวไว้ว่า นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย
  4. น้ำ มีลักษณะ เที่ยงตรง แม้แต่ช่างสร้างบ้านยังอาศัยน้ำเป็นระดับวัดความตรงของส่วนประกอบต่างๆ เปรียบเหมือนการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงามต้องมี สัจจะ คือ ความจริง ตรงแท้ ในภารกิจหน้าที่นั้นเอง หน้านอก บอกความงาม หน้าใน บอกความดี หน้าที่ บอกความรับผิดชอบ
2.เรือ กับ วิถีชีวิตไทย
  แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสำคัญในการสัญจรติดต่อไปมาค้าขายซึ่งกันและกันมาแต่บรรพกาล เรือจึงเป็นพาหนะสำคัญในวิถีชีวิตของชาวไทยที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนแต่บรรพกาลประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสัญจรระหว่างบ้านและชุมชน เรือเป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญแต่อดีตจวบจนปัจจุบันทั้งในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำของสยามประเทศ
3.บุญแข่งเรือ 
  ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติเป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันดีงามของชาวไทย ในฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ปักดำทำนา ในเทศกาลงานบุญประเพณีออกพรรษา ด้วยนิสัยรักสนุกอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ก่อให้เกิดการละเล่นทางน้ำ อาทิ การเล่นเพลงเรือ และการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้น อันเป็นกีฬาชาวบ้านในชุมชนชนบทไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติขึ้นทุกลุ่มน้ำแห่งสยามประเทศ ความล้มเหลวในการพัฒนาชนบทไทยนำมาซึ่งปัญหาสังคมนานับประการในสังคมเมือง
4.จากขุนเขา 
  สู่สายน้ำ สยามประเทศ เรือยาว เป็นเรือที่ขุดจากไม้ต้นเดียวตลอดทั้งลำ มีลักษณะรูปท้องขัน (แบน) และท้องรูปกะทะ ไม้ที่นำมาขุดเรือยาว หรือเรือแข่งได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้สำโรง ไม้มะหาด เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่นิยมเรือขุดจากไม้ตะเคียน ต้นตะเคียนเป็นต้นไม้ที่มีกำหนดจากขุนเขาในเขตป่าดิบชื้น และป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นได้ดีบนที่ราบ หรือค่อนข้างราบใกล้ริมน้ำ ไม้ตะเคียนแต่โบราณนิยมนำมาขุดเรือยาว เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเนื้อเหนียว ลอยน้ำ และพุ่งน้ำได้ดี มีน้ำหนักพอประมาณ แช่น้ำได้นาน ไม่ผุง่าย แต่โบราณเชื่อกันว่ามี นางไม้ หรือนางตะเคียนสิงอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้เป็นแม่ย่านางเรือ เชื่อกันว่าจะนำชัยชนะและความสำเร็จมาให้
5.ประเภทของไม้ตะเคียน 
  จำแนกได้ 4 ประเภท คือ 1.ไม้ตะเคียนทอง 2.ไม้ตะเคียนหิน 3.ไม้ตะเคียนหนู 4.ไม้ตะเคียนหยวก ส่วนใหญ่นิยมใช้ “ไม้ตะเคียนทอง” ขุดเรือ เพราะนางไม้มีวิญญาณที่แกร่งกล้า (เฮี้ยนมาก) และเนื้อไม้ออกสีเหลือง เมื่อขุดเป็นเรือเสร็จ สีผิวไม้ของตัวเรือจะดูสวยงาม
6.ลักษณะของไม้ตะเคียนที่ดี 
  เป็นไม้ตรง ไม่มีปุ่ม ไส้ไม่กลวง พึงสังเกตลักษณะของใบเขียวเป็นมัน ขอบใบไม่ไหม้เกรียม ใบไม่เหลือง ผิวเปลือกอิ่มเป็นมัน ไม่แตกระแหงเป็นสะเก็ด โคนต้นไม่มีเห็ดราขึ้น ไม่มีแมลงบินเข้าออกจากลำต้น หรือมีปลวกขึ้นต้น จึงเป็น “ไม้ที่มีลักษณะงามตามตำราขุดเรือ” มีขนาดและความยาวเหมาะสม ควรคำนึงถึงการโค่นด้วยว่าสามารถโค่นได้หรือไม่ ทิศทางในการล้มของไม้ ถ้าล้มฟาดระหว่างขอบห้วย หรือลานหินไม้อาจหัก หรือไส้ไม้ช้ำน่วมเสียหายได้
7.ภูมิปัญญาในการคำนวณความสูงของต้นตะเคียน
  เมื่อพบต้นตะเคียนที่มีลักษณะถูกต้องตามตำราแล้ว จะอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในการคำนวณความสูง (ยาว) ของต้นไม้ โดยอาศัย หลักตรีโกณมิติคณิตศาสตร์ ด้วยการยืนหันหลังให้ต้นตะเคียน แล้วก้มลงมองลอดหว่างขา ศีรษะก้มอยู่ระดับเข่า ถ้ามองเห็นยอดตะเคียนพอดีก็วัดจากจุดยืนถึงโคนต้นจะได้ความสูงของต้นตะเคียนพอดี บางครั้งใช้การปีนขึ้นต้นไม้แล้วใช้เชือกวัด หรือใช้เชือกผูกติดหน้าไม้ยิงไปที่ส่วนปลายยอดไม้แล้วจึงวัดคำนวณความยาว หรือใช้วิธีการปล่อยลูกโป่งอัดลมลายถึงกิ่งยอดตะเคียนแล้วจึงดึงลงมาวัดหาความยาวของต้นไม้
8.ขนาด และความยาว (สูง) ของไม้ตะเคียน 
  ไม้ตะเคียนที่ดีควรมีขนาดของลำต้นวัดส่วนโคนขนาดประมาณ 3.5 เมตร วัดรอบปลายลำต้นขนาดประมาณ 2.5 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะที่สุดในการขุดเรือ และมีสัดส่วนของความยาว (สูง) ดังนี้ เรือยาวใหญ่ จะต้องมีความยาวประมาณ 13-15 วา เรือยาวกลาง จะต้องมีความยาวประมาณ 11-12 วา เรือยาวเล็ก จะต้องมีความยาวประมาณ 10 วา เรือยาวจิ๋ว จะต้องมีความยาวประมาณ 7 วา หมายเหตุ เรือจิ๋ว (12 ฝีพาย) นิยมใช้ไม้งิ้วขุดเพราะมีน้ำหนักเนื้อเบากว่า
9.การโค่นต้นตะเคียน

  ต้นตะเคียนเชื่อกันว่ามีนางไม้ หรือนางตะเคียนสิงอยู่ ก่อนโค่นต้องตั้งศาลเพียงตา 2 ศาล พร้อมเครื่องสังเวย อาทิ หัวหมู ไก่ ไข่ต้ม ขนมต้มแดง-ขาว เหล้าขาว หมากพลู-บุหรี่ บายศรี 2 ที่ เพื่อขอขมาบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำการตัดโค่นต้นไม้ในป่า ซึ่งนิยมเซ่นไหว้ได้แต่เช้าจรดเย็นยกเว้นวันพระ ศาลที่ 2 บอกกล่าวนางตะเคียนโดยงดเว้นเหล้า-บุหรี่ ควรเพิ่มเครื่องตกแต่งผู้หญิง อาทิ หวี แป้ง ผ้าแพร น้ำอบน้ำหอม เป็นต้น ไม่ควรเซ่นไหว้เกินเที่ยงวัน เมื่อพลีกรรมแล้วจึงทำการตัดโค่นโดยผู้เชี่ยวชาญ สมัยโบราณใช้เลื่อยมือแรงงานคนในการโค่นและช้างชักลากไม้ ปัจจุบันใช้เครื่องทุ่นแรง คือ เลื่อยยนต์ทำให้ตัดไม้รวดเร็ว แล้วใช้รถยนต์ชักลากสู่สถานที่ขุด คือวัดได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ต้นตะเคียนที่นำมาขุดเรือต้องเป็นไม้ที่ไม่ได้ตีตราไม้ตามระเบียบราชการเชื่อว่าไม้ต้นใดตีตราแล้วแม่ย่านางจะไม่อยู่
10.ภูมิปัญญาไทยในการขุดเรือยาว 
  การขุดเรือ ช่างขุดเรือซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไทยจะพิจารณาดูไม้ว่าจะเอาส่วนไหนทำ หัวเรือ หางเรือ และท้องเรือ ซึ่งช่างขุดเรือส่วนใหญ่จะนิยมใช้โคนต้นไม้เป็นหัวเรือ ใช้ปลายไม้เป็นท้ายเรือ รูปทรงเรือหัวโตท้ายเรียวคล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าจะเปิดน้ำได้ดีทำให้เรือวิ่ง แต่บางช่างนิยมใช้ปลายไม้ทำหัว โคนไม้ทำท้าย เรือลักษณะนี้หัวเรียวท้ายโต ก่อนขุดจะตั้งศาลเพียงตาอัญเชิญนางไม้ขึ้นศาลฯ เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วจะเชิญขึ้นเป็นแม่ย่านางประจำเรือ โดยมีขั้นตอนการขุดเรือดังนี้
  • ขั้นตอนที่ 1.การขุดโกลนเรือ ช่างจะเปิดปีกไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วจะตีเส้นหาศูนย์กลางแบ่งไม้เป็นสองซีกเท่า ๆ กัน พร้อมตีกรอบด้านข้าง ๆ ละ 2 เส้น เรียกว่า เส้นมาด แล้วจึงขุดเอาเนื้อไม้ออกตามแนวเส้นมาดตลอดลำ ด้วยขวานโยนและเลื่อยยนต์ให้มีลักษณะเป็นร่อง หรือรางเหมือนรางใส่อาหารหมู กว้างประมาณ 60 ซม. แล้วจึงเริ่มปอกเปลือกไม้เหลาตัวเรือด้านนอกให้ได้รูปทรงเรือตลอดลำ แล้วจึงเริ่มสางในตัวเรือให้มีความหนาเท่ากัน พร้อมวางรูปกระดูกงู เป็นรูปหน้าตัดสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ที่ท้องเรือส่วนกลางด้านในไปตามแนวหัวท้ายของความยาวตั้งแต่กระทงที่ 3 ไปถึงสุดราวชับ (แอน) ทำหน้าที่คล้ายกระดูกสันหลังของเรือตามขนาดที่ต้องการ
  • ขั้นตอนที่ 2. การเบิกเรือ เบิกเรือ คือ การถ่างเรือที่ทำเป็นรูปร่างแล้วให้ผายออกโดยวิธีสุมไฟให้ร้อน เมื่อได้รูปทรงเรือทั้งด้านในด้านนอกตามที่ต้องการแล้วก็พลิกคว่ำลงเพื่อลนไฟ หรือย่างไฟ โดยใช้ขี้เลื่อยเปลือกไม้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนเท่า ๆ กัน ใช้เวลาไฟแรกประมาณ 12 ชั่วโมง เมื่อเนื้อไม้เหลืองได้ที่ดีแล้วก็หงายเรือขึ้นเพื่อเบิก หรือทำการถ่างเรือให้มีความกว้างตามรูปแบบที่ต้องการด้วย ไม้ปากกา (ลักษณะคล้ายกรรไกร) งัดมาดเรือ (แคมเรือ) ทั้ง 2 ข้างดีดออกตลอดลำ (บางแห่งใช้ แม่แรงช่วยค้ำยันในการถ่างเรือ) แล้วใช้ไม้ค้ำยันกันไว้ไม่ให้หุบเข้ามาอีก ทิ้งไว้จนไม้เย็นลง จึงใช้ละแมะถากสางใน และคว่ำไสนอกจนมีความหนาเป็นที่พอใจได้รูปทรงที่เรียบร้อย จึงคว่ำลงย่างไฟเพื่อเบิกเรืออีกประมาณ 4-5 ไฟ แล้วแต่สภาพเนื้อ และขนาดของไม้เล็กหรือใหญ่ จึงจะได้ความกว้างของตัวเรือที่เพียงพอตามสูตรขุดเรือของแต่ละช่วงจึงถึงขั้นวางกงเป็นขั้นตอนต่อไป
  • ขั้นตอนที่ 3. การวางกงเรือ (โครงเรือ) กง เป็นชิ้นไม้ตัดแต่งให้โค้งเข้ากับรูปท้องเรือด้านใน ช่วยเพิ่มความแข็งแรง และได้รูปทรงเรือที่ต้องการ นิยมใช้ไม้ประดู่ ไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ทำกงเรือขนาดหนาประมาณ 2-2.5 นิ้ว กว้างประมาณ 3 นิ้ว โดยทำการติดกงตัวแรก เรียกว่า กงครู หรือ กงเอก คร่อมทับกระดูกงู ใช้สว่านเจาะกงทะลุตัวเรือแล้วตอกยึดด้วยลูกประสัก ซึ่งนิยมทำจากไม้แสมสารยึดติดกับเนื้อเรือ แล้วจึงเริ่มวางกงเรือตัวที่ 2 สลับกันคนละตัวจากทางหัวและท้ายของตัวเรือ ระยะห่างของกงตามสูตรของแต่ละช่างแตกต่างกันไป โดยเรือใหญ่วางกงประมาณ 30-32 ตัว เรือยาวกลางวางกง 26-28 ตัว เรือเล็กวางกงประมาณ 23 ตัว ลดลงไปตามขนาดของเรือแต่ละประเภท จึงเริ่มวางกระทงเรือ เรือภาคใต้ (หางแมลงป่อง) นิยมวางกงลิง (มือลิง) เป็นกงหลอก เพื่อใช้เป็นที่ยันหรือถีบเท้าเวลาออกแรงพายเรือ ส่วนภาคอีสานแถบลุ่มน้ำโขง ตัวเรือหนาขนาดซองบุหรี่ จึงไม่นิยมวางกงเรือ หากเป็นไม้ขนาดต้นเล็ก ความสูงของตัวเรือจะไม่พอ จึงนิยมเสริมมาดช่วย
  • ขั้นตอนที่ 4. การวางกระทงเรือ กระทง หรือ ที่สำหรับนั่งพาย นิยมใช้ไม้สักกว้างประมาณ 6 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ยาวเท่ากับความกว้างของตัวเรือ ตามกงเรือแต่ละกงที่วางไว้แล้ว โดยวางไม้กระทงบนหัวกง แล้วเจาะตอกยึดกระทงกับกงและตัวเรือด้วยลูกประสักตลอดลำ มีกระทงเดียวนั่งเดี่ยวทางด้านหัวเรือ 3-4 กระทง ท้ายเรือ 5-6 กระทง ส่วนกลางลำเรือจะเป็นกระทงนั่งคู่และกระทงผี (ภาคใต้เรียก แอนผี) คือกระทงหน้าสุดสำหรับวางเครื่องเซ่นไหว้สังเวยต่าง ๆ แล้วจึงติดไม้แอนหรือไม้แอบ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง กว้าง 2 นิ้ว หนา 3 นิ้ว ยาวขนาดพอ ๆ กับกระดูกงู ขันด้วยน็อต ติดใต้กระทงเรือตลอดลำเรือกับกระดูกงู เพื่อใช้ในการตั้งหรือตอกตอหม้อ (ต้ำต้อ) คือ ไม้ขนาด 1.5 นิ้ว ใช้ค้ำยันบนกระดูกงูกับราวชับ (ไม้แอน) แต่โบราณทางภาคเหนือ ภาคกลาง นิยมใช้ไม้ไผ่ป่า สาวหวายขันชะเนามัดกลางลำเรือ บนและใต้ที่นั่ง เพื่อทำให้เรือแข็งแรง ปัจจุบันใช้ไม้แอนแทน หรือเรียกว่าราวชับ
  • ขั้นตอนที่ 5. การติดกราบเรือ เมื่อช่างเหลาและขัดตัวเรือ ทั้งด้านในและด้านนอก ให้ผิวตัวเรือเรียบร้อยดีแล้ว ก็จะหงายตัวเรือขึ้น เพื่อติดกราบเรือ โดยใช้ไม้ตะเคียน กว้างประมาณ 6 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว ยาวตลอดแนวกระทงเรือตลอดลำ ติดสองข้างบนกระทงเรือ เพื่อช่วยให้ส่วนบนของตัวเรือแข็งแรงเพิ่มขึ้น และกันน้ำเข้าเรือเวลาพายเรือ หรือจ้ำเรือขณะแข่งขัน รวมทั้งเจาะติดตะขอห่วงเหล็กบริเวณตัวเรือทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้หวายหรือลวดสลิง ร้อยดึงสำหรับขัดหวายหรือสลิง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงหรือไมิให้ตัวเรือแบะออกจนเสียรูปทรงหรือสัดส่วนที่ต้องการได้ทุกกระทงเรือ และเป็นส่วนสำคัญประกอบการตั้งเรือให้วิ่งหรือไม่วิ่ง คู่กับการตั้งตอม่อเรือ
  • ขั้นตอนที่ 6. การติดโขนเรือ โขนเรือ นิยมใช้ไม้มงคล อาทิ ไม้ขนุนหรือไม้สักหรือไม้กระท้อนหรือไม้เนี่ยง ยาวประมาณ 3 เมตร ต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือจริง ๆ เพราะต้องเข้ารอยต่อระหว่างโขนเรือกับหัวเรือ (หน้าว่าว) ให้ต่อกันสนิท มีโขนหัวกับโขนท้าย ที่สำคัญนิยมทำโขนแบบถอดได้ (แต่เดิมเรือในภาคเหนือ กลาง อีสาน นิยมโขนต่อในตัว ภาคใต้นิยมโขนถอด) เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายเรือโดยนิยมขุดทำโขนกลวงเพื่อให้เบา บางแห่งใช้โขนเป็นโครงไม้นิ้วตีปิดด้วยไม้จริง ทำให้โขนเบามากขึ้น เมื่อทุกอย่างเสร็จก็ขัดแต่งตัวเรือด้วยกระดาษทรายให้เรียบร้อยลงชันเรือแล้วจึงทาน้ำมันด้านนอก ด้านในตัวเรือ ชโลมด้วยชันและน้ำมันยางด้านในตัวเรือ หรือบางลำอาจจะเขียนลวดลายให้สวยงามติดตามเรือตามความนิยมของท้องถิ่น จึงเป็นอันเสร็จกระบวนการขุดเรือพร้อมที่จะลงน้ำได้โดยต้องประกอบพิธีในขั้นตอนต่อมา
  • ขั้นตอนที่ 7. การตั้งชื่อเรือ มีคติความเชื่อหลายหลายวิธีที่เป็นพื้นฐานในการตั้งชื่อเรือแล้วแต่ความนิยมหรือความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละลำยึดถือ แต่โบราณนิยมเชิญแม่ย่านางประทับทรงเพื่อขอให้ตั้งชื่อให้ รวมทั้งถามถึงอาหาร เครื่องแต่งกาย และสีเสื้อ-ผ้าแพรประดับ โขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านางเพื่อเป็นมงคลแก่ทีมเรือให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน ส่วนใหญ่นิยมตั้งชื่อว่าเจ้าแม่ กับ เทพ นำหน้า โดยมีมูลเหตุของที่มาของชื่อเรือ พอประมวลสรุปได้ดังนี้ เหตุที่เรียกว่า เจ้าแม่ เพราะเชื่อว่าแม่ย่านางเรือเป็นผู้หญิง ส่วนที่เรียกว่า เทพ นั้น เพราะถือกันว่านางไม้หรือนางตะเคียนเป็นเทวดาประเภทหนึ่งหรือรุขเทวดาประจำต้นไม้นั้นเอง
    • 1.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามท้องถิ่นที่พบต้นไม้ อาทิ เรือเทพธนูทอง พิษณุโลก เพราะไม้จากเขาธนูทอง นครไทย เรือเพชรร่มเกล้า จ.พิจิตร ไม้จากเขาบ้านร่มเกล้า จ.พิษณุโลก เรือคำบอนสายฝน จ.กาฬสินธุ์ บริเวณที่พบไม้อยู่กลางป่าบอนเวลาโค่นเกิดฝนตก เป็นต้น
    • 2.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามลำน้ำที่เกี่ยวข้องกับเรือ อาทิ เรือเจ้าแม่ตาปี จ.สุราษฎร์ธานี แม่ย่านางชื่อตาปีมาเข้าฝันประกอบกับวัดที่ขุดเรืออยู่ริแม่น้ำตาปีจึงใช้ชื่อเป็นมงคลนามว่า เจ้าแม่ตาปี, เรือขุนน่าน จ.น่าน ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน, เรือเจ้าแม่หลังสวน จ.ชุมพร มีแม่น้ำหลังสวนเป็นสายโลหิต, เรือน่านนที จ.พิจิตร มีแม่น้ำน่านไหลผ่านหน้าวัดท่าฬ่อ เป็นต้น
    • 3.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามจังหวัดที่เรือสังกัดอยู่ เช่น เรือศรีอยุธยา, เรือศรีอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, เรือเทพปทุม วัดโบสถ์ จ.ปทุมธานี, เรือเทพพิษณุ วัดใหญ่ จ.พิษณุโลก, เรือศรีอ่างทอง จ.อ่างทอง, เรือศรีสุราษฎร์ จ.สุราษฎร์ธานี, เรือคนสวยโพธาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี, เรือศรีวัดโบสถ์ วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก, เรือหงส์สุพรรณ เรือเพชรสุวรรณ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
    • 4.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามตัวละครสำคัญในวรรณคดีไทย เช่น เรือไกรทอง วัดหัวดง จ.พิจิตร, เรือจหมื่นไวย์ เรือวันทอง เรือพลายแก้ว วัดตะเคียนเลื่อน จ.นครสวรรค์ เรือขุนช้าง สุพรรณบุรี เป็นต้น
    • 5.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนามของวัด หรือหมู่บ้านที่ขุดเรือ หรือสังกัดอยู่ อาทิ เรือศรสุวรรณ วัดสุวรรณราชหงส์ อ่างทอง, เรือหงส์อาษา วัดหาดอาสา จ.ชัยนาท, เรือหงส์นคร เรือหงส์ทอง วัดเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์, เรือศรีจุฬามณี วัดจุฬามณี อยุธยา, เรือหงส์ชัยสิทธิ์ วัดสวนหงส์ สุพรรณบุรี
    • 6.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามชื่อบุคคลสำคัญที่เคารพนับถือ เช่น เรือศรีสุริโยทัย วัดจุฬามณี อยุธยา, เรือเทพจักรี วัดสว่างมนัส อ.หลังสวน จ.ชุมพร, เรือพรพระเทพ วัดบางทราย จ.พิษณุโลก, เรือเทพนรสิงห์ จ.สระบุรี เป็นต้น
    • 7.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนาม หรือชื่อและสกุลเจ้าของ หรือผู้อุปถัมภ์เรือ เช่น เรือขุนเพ่ง จ.พิจิตร เจ้าของเรือคือ กำนันเพ่ง ขวัญอันอินทร์, เรือขุนโจ้ จ.พิษณุโลก เจ้าของเรือคือ อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ หรือ (อ.โจ้), เรือขุนจอด จ.พิจิตร เจ้าของเรือชื่อจอด (สจ.ปรีชา ชูกร), เรือสุขสวัสดิ์ จ.สิงห์บุรี โดยสกุลสุขสวัสดิ์อุปถัมภ์เรือ, เรือคำประกอบ จ.นครสวรรค์โดยคุณสวัสดิ์ คำประกอบ, เรือชัยนาจ ของสจ.อำนาจ นพขำ จ.ปทุมธานี เป็นต้น
    • 8.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามหน่วยงานที่ฝีพายสังกัดอยู่ เพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงาน เช่น เรือตระเวณสายชล กก.ตชด.31 จ.พิษณุโลก, เรือบันเทิงทัพนาวา ทภ.3 จ.พิษณุโลก, เรือเจ้าแม่ประดู่ทอง เรือยุทธการนาวา เรือยุทธการนาวี เรือราชนาวี เรือเจ้าแม่ประดู่เงิน ในสังกัดกองทัพเรือ, เรือค่ายจุฬาภรณ์ใช้ฝีพายนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส, เรือสาวน้อยเกียรติวงศ์ ฝีพาย ตชด.41 ค่ายเกียรติวงศ์ จ.ชุมพร, เรืออัครโยธิน ของกรมสื่อสารทหารบก ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นต้น
    • 9.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามตาม สปอนเซอร์ที่อุปถัมภ์เรือ เช่น เรือเบียร์สิงห์ จ.สระบุรี (เบียร์สิงห์สนับสนุน), เรือเป็บซี่ จ.นครสวรรค์ (บ.เสริมสุข ส่งเข้าแข่งขัน), เรือกระทิงแดง จ.ปทุมธานี (กระทิงแดงสนับสนุน), เรือแม่ทองหล่อ (บ.แม่ทองหล่อสนับสนุน), เรือนำสุราษฎร์ (บ.นำสุราษฎร์ เทรดดิ้ง สนับสนุน)
    • 10.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามบุพการีของผู้เป็นเจ้าของเรือเพื่อบูชาคุณ เช่น เรือสาวดวงแก้ว อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี นำเอามงคลนามของคุณแม่ดวงแก้ว สุขสวัสดิ์ มาตั้งชื่อเรือ เป็นต้น
    • 11.ตั้งชื่อให้เป็นเดช อำนาจ เป็นที่หวั่นเกรงของคู่แข่งขัน อาทิ เรือเดชสมิง วัดแหลมทราย จ.ชุมพร, เรือสมิงสาว วัดบัวหลวง จ.ปทุมธานี, เรือสมิงรามัญ จ.ปทุมธานี, เรือขุนปราบ จ.ปทุมธานี, เรือพญาอินทร์ จ.พิษณุโลก เป็นต้น
    • 12.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนามของสัตว์ในวรรณคดีไทย อาทิ เรือพญาราชสีห์ วัดหาดมูลกระบือ จ.พิจิตร, เรือราชสีห์ทอง เรือราชสีห์เพชร วัดบางมะฝ่อ จ.นครสวรรค์, เรือช้างแก้ว เรือม้าแก้ว วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง, เรือพญานาคราช วัดบางมูลนาค จ.พิจิตร เป็นต้น
    • 13.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนิมิต หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นขณะขุดเรือ อาทิ เรือนกกาเหว่าแว่ว จ.นครสวรรค์ เนื่องจากตามเสียงนกกาเหว่าไปจนพบต้นไม้ต้นนี้ จึงนำมาขุดเป็นเรือยาว, เรือเจ้าแม่ตะเคียนทอง จ.พิษณุโลก เนื่องจากนางตะเคียนเข้าฝันขณะขุดเรือ, เรือศรีรัตนโกสินทร์ จ.อ่างทอง สร้างในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2525
    • 14.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามเนื้อความที่พระเกจิอาจารย์ตั้งให้เป็นมงคลนาม เช่น เทพส่องแสง วัดเจดีย์หอย จ.ปทุมธานี, เรือเทวฤิทธิ์ วัดบางพระ จ.นครปฐม เป็นต้น
11.พิธีนำเรือลงน้ำ
  เมื่อขุดเรือเสร็จ ตั้งชื่อเรือเรียบร้อย ก็จะถึงขั้นตอนที่จะนำเรือลงน้ำ ก็จะต้องทำพิธีกรรมสำคัญอีกครั้ง โดยการตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเชิญแม่ย่านางลงเรือ โขนเรือก็จะตกแต่งด้วยผ้าแพรสีสันสวยงาม พิธีเบิกเนตร (ตาเรือ) บางครั้งอาจมีพิธีสงฆ์ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล และรำถวายรับขวัญแม่ย่านาง ครั้นได้ฤกษ์ฝีพายก็ชวยกันโห่สามครั้งยกเรือลงน้ำทันทีฝีพายก็จะนั่งประจำเรือและทดสอบพายดูว่าเอียงหรือท้ายลากหรือไม่ เป็นต้น โดยนายช่างขุดเรือจะตรวจสอบความบกพร่องของเรือที่ขุด ถ้าเรียบร้อยดีก็จะเริ่มการฝึกซ้อมฝีพายให้ทันที ถ้ามีส่วนใดบกพร่องก็จะต้องรื้อแก้ไขตกแต่งใหม่จนกว่าจะพายแล้วแล่นได้ดีในที่สุด
12.ประเภทของเรือยาวประเพณี
  สามารถจำแนกโดยอาศัยจำนวนฝีพายเป็นตัวกำหนดขนาดในการแบ่งประเภทของการแข่งขันได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.เรือยาวใหญ่ ใช้ฝีพายตั้งแต่ 41-55 คน 2.เรือยาวกลาง ใช้ฝีพายตั้งแต่ 31-40 คน 3.เรือยาวเล็ก ใช้ฝีพายไม่เกิน 30 คน 4.เรือยาวจิ๋ว ใช้ฝีพายไม่เกิน 12 คน หมายเหตุ เรือยาวจิ๋ว จำแนกเป็น 3 ประเภทคือ เรือจิ๋วใหญ่ ฝีพาย 12 คน เรือจิ๋วกลาง ฝีพาย 10 คน เรือจิ๋วเล็ก ฝีพาย 7-8 คน
13.การบรรยายการแข่งขัน
  เรือยาวประเพณีเป็นกีฬาชาวบ้านในฤดูน้ำหลากเทศกาลบุญประเพณีออกพรรษา นอกจากจะสนุกสนานกับการประลองความแข็งแกร่งของฝีพายชิงเจ้าความเร็วแห่งสายน้ำสยามประเทศแล้วการบรรยายการแข่งขัน (พากย์เรือ) ยังเป็นอีกอรรถรสหนึ่งที่เพิ่มสีสันให้การแข่งขันเป็นได้ด้วยความดุเดือด เร้าใจเป็นยิ่งนัก หลักการบรรยายการแข่งขันเรือยาวประเพณี มีหลักการง่าย ๆ กล่าวคือ 1.ต้องรู้ดี ในที่นี้หมายถึง 3 รู้ คือ -รู้เรือ คือ ประวัติความเป็นมา และการแข่งขัน -รู้พาย คือ รู้ความสมบูรณ์แข็งแกร่งของฝีพายแต่ละทีมและแม่นในกติกา -รู้สายน้ำ คือ รู้ล่องน้ำในแต่ละสนามว่าล่องไหนได้เปรียบเสียเปรียบจุดไหนอย่างไร 2.มีโวหาร ในที่นี้หมายถึง -มีศิลปในการพูดดี -มีเสียงดังก้องกังวาล -มีลวดลายลีลาการพากย์ รวดเร็ว ดุเดือด เร้าใจ -เป็นผู้มีอารมณ์ คารม คำขำ ฟังแล้วเพลินหู 3.ปฏิภาณว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณว่องไวสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสนามไปสู่จุด หรือประเด็นที่จะชี้นำสาระคุณค่ามวลประสบการณ์อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ชม ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี
14.วิวัฒนาการเรือยาวไทย

  เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำเป็นกีฬาชาวบ้านอันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันดีงาม ความผูกพันระหว่างสายน้ำกับชีวิต เรือกับวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความศรัทธาเสื่อมใสในคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันนำมาซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของบวร ซึ่งแปลว่า ประเสริฐ อันได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานของชุมชนชนบทไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชาติ เรือยาวประเพณีไทยได้มีวิวัฒนาการจากวิถีชีวิตมาสู่ประเพณี และวิวัฒนาการไปสู่ระบบการแข่งขันนานาชาติในปี พ.ศ.2531 อันเป็นทรัพยากรด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญจนเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่ว กระทั่งพัฒนาไปสู่การกีฬาในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และระดับประเทศสามารถจำแนกวิวัฒนาการได้เป็น 

1.ยุคอดีต แต่ละคุ้มบ้าน คุ้มวัด ในทุกลุ่มน้ำสยามประเทศนิยมหาไม้ตะเคียนนำมาขุดเป็นเรือยาวร่วมการแข่งขันอันแสดงออกถึงความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ เพื่อสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่คุ้มบ้าน คุ้มวัดของตนเอง ช่างขุดเรือที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยที่ควรจารึกไว้ในความทรงจำตลอดไปว่าเป็นบรมครูแห่งภูมิปัญญาช่างไทยในการขุดเรือยาว อาทิตย์ 1.ช่างเสริม เชตวัน บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์ 2.ช่างมา นคร บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์ 3.ช่างเลิศ โพธิ์นามาศ บ้านหัวดง จ.พิจิตร 4.ช่างวัน มีทิม บ้านแหลมทราย อ.หลังสวน จ.ชุมพร
2.ยุคทำสาว เป็นคำฮิตในยุทธจักรเรือยาวทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐมีนโยบายปิดป่าเพื่อคืนความสมดุลย์สู่ธรรมชาติ จึงเริ่มนำเรือเก่าเรือแก่มาซ่อมแซมปรับปรุง ตกแต่ง แก้ไขกันใหม่ เรียกว่าทำสาวใหม่ให้มีรูปร่างที่ทันสมัยขึ้น และประสบชัยชนะจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งช่างทำสาวเรืออันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ได้แก่ พระอธิการสมศักดิ์ สุวณโณ วัดสุวรรณราชหงส์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง, ช่างสงวน สูญนภา บ้านเฉลิมอาสน์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือช่างเกียรติศักดิ์ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น ในด้านทีมเรือก็มีมิติใหม่เกิดขึ้น คือ หน่วยราชการที่มีกำลังพลที่ 4 เหล่าทัพส่งกำลังพลมาเล่นเรือเพื่อร่วมรักษาประเพณีชาวบ้าน รวมทั้งเป็นการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของหน่วยงาน
3.ยุคเรือลาว นำมาทำสาวไทยภายหลังการแข่งขันเรือยาวเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลแห่งโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเห็นความสำคัญของกีฬาชาวบ้าน มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำสยามประเทศ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดสดในสนามต่าง ๆ จึงมีภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐตระหนักถึงความสำคัญส่งทีมเรือเข้าร่วมการชิงชัย และธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำนี้ไว้ จึงมีการแสวงหาเรือโบราณจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) เข้ามาทำการตกแต่งแก้ไขทำสาวใหม่ด้วยฝีมือของชาวไทยเพราะราคาถูกกว่าเรือไทยเป็นยิ่งนัก
4.ก้าวสู่นานาชาติ และกีฬาแห่งชาติ ปัจจุบันเรือยาวประเพณีเป็นกีฬาทางน้ำบนพื้นฐานของวัฒนธรรมประเพณีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจนก้าวสู่การแข่งขันเรือนานาชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และฝีพายแห่งสยามประเทศก็ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในการแข่งขันในน่านน้ำสากลทั่วโลก ประการสำคัญวงการเรือยาวประเพณีได้รับการยอมรับจากวงการกีฬาระดับชาติบรรจุเข้าชิงชัยเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติโดยการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ได้มาตรฐานกีฬาสากลทั่วไป
5.ยุคฝีพายมืออาชีพ พาณิชย์แทรกแซง สังคมไทยยุคปัจจุบันเงิน หรือวัตถุดิบ เจริญรุดหน้ากว่าจิตใจตลอดจนภาระกิจในการยังชีพในเศรษฐกิจยุคปัจจุบันส่งผลกระทบก่อให้เกิดความสับสนต่อวิถีชีวิตอันดีงามเป็นยิ่งนัก แต่เดิมการแข่งขันเรือยาวประเพณีจากวิถีชีวิตอันดีงามเพื่อความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดจนเพื่อนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศแห่งคุ้มบ้านคุ้มวัดก่อให้เกิดฝีพายมืออาชีพรับจ้างพายเรือด้วยค่าตัวที่สูงส่ง และด้วยอำนาจของเงินตรา บางครั้งทำให้หลงลืมคำว่าประเพณี และวิถีชีวิตอันดีงามของบรรพชนไปอย่างน่าเสียดาย หรือเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ผิดจากการจัดการแข่งขันเป็นสิ่งที่พึงสังวรระวังเป็นยิ่งนัก หรือเกิดการเบี่ยงเบนจากคุณงามความดีอันเป็นภูมิรู้ภูมิธรรมของบรรพชนอย่างแท้จริง นำเสนอโดย… “(ขุนโจ้) พิษณุโลก” อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ เลขานุการชมรมเรือยาวจังหวัดพิษณุโลก กรรมการบริหารสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก
เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก rcat.or.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีแข่งเรือ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

หลายๆคนก็อยากรู้ประเพณีแข่งเรือที่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า หัวหิน วันนี้ผมก็มานำเสนอประวัติย่อๆของการแข่งเรือครั้งนี้ ปีนั้นผมก็อยู่แล้วก็ปลื้มใจมากที่ได้เจอและพบในหลวงเสด็จมาดูการแข่งเรือครั้งแรกที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ในปีนี้ก็จะแข่งกัน 8-9 ธันวาคม ซึ่งจะจัดทุกปี


ผลการจับสลากแบ่งสายเรือยาวประเพณี
ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
ณ โครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2555
................................

ประเภทไม่เกิน 55 ฝีพาย
สาย A  เจ้าแม่ประดู่ทอง, สิงห์อีสาน, เทพสุริยะ, ศรีสุราษฎร์
สาย B  พรพระแก้ว, เจ้าขุนเณร, สาวสวยสุภาพร, เทพจินดา

ประเภทไม่เกิน 30 ฝีพาย
สาย A  สาวเมืองเพชร-กระทิงแดง, แม่พรายทองทิพย์, ย่าบุญโฮม
สาย B  หมื่นวัยวรนารถ, ขุนพญา, พรแม่บุปผา
สาย C  ธิดาท่าจีน, ชลเทพ, นางพญา31
สาย D  ดอกประดู่, เทพวารินทร์, หนุ่มโพหัก

ประเภทไม่เกิน 23 ฝีพาย
สาย A  ศรีนาครินทร์, กระจกเพชร, ศรนารายณ์-เข็มทอง
สาย B  ชาดมังกร, แม่พรายทองทิพย์, เพชรนางพญา


ผลการแข่งขันอ้างอิงจาก thailongboat.com

ประวัติความเป็นมา



ในหลวง เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขันเรือยาวประเพณี ของเทศบาลเมืองหัวหินที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พสกนิกร นักท่องเที่ยวต่างปลาบปลื้มจากการได้เข้าเฝ้าใกล้ชิด
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.30 น. วานนี้ (28 ธ.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์จากพระตำ หนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล มายังอ่างเก็บน้ำเขาเต่า โครงการพระราชดำริ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยคุณทองแดง เพื่อทอดพระเนตร การแข่งเรือยาวประเพณี ของเทศบาลเมืองหัวหิน โดยพระองค์ทรงสูทสีน้ำตาล สะพายกล้องถ่ายรูป มี นายปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ถวายการต้อนรับ



       
       โดยบรรยากาศบริเวณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า มีข้าราชการทุกหน่วยงาน องค์กรปกครองประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงเสด็จทอดพระเนตร การแข่งเรือยาวประเพณีในครั้งนี้ ต่างเดินทางมาเฝ้ารอนับหมื่นคน และเมื่อเสด็จมาถึง ทุกคนได้เปล่งเสียงถวายพระพร ทรงพระเจริญดังกึกก้อง
       
       นอกจากนั้น เมื่อได้เวลาเริ่มทำการแข่งขัน ซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศ เรือที่เข้าร่วม แข่งขันจากจังหวัดต่างๆ ต่างทยอยนำเรือมาบริเวรหน้าพระที่นั่ง และเรือทั้งหมดได้ทยอย พายออกไป โดยมีการก้มหมอบแสดงความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       สำหรับบรรยากาศในการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปการแข่งขันเรือยาว ตลอดเวลา และมีพระพักตร์ที่ทรงยิ้ม โดยมีคุณทองแดง นั่งอยู่ไม่ห่างกายของพระองค์
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การแข่งขันเรือยาวประเพณี ครั้งนี้ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางเทศบาลเมืองหัวหิน ได้จัดแข่งขันมาแล้วครั้ง 1 แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกของการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยในครั้งนี้ยังมีการถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากจบการแข่งขันเรือยาวประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขัน ให้กับทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 2 รุ่น ทั้งประเภท 55 ฝีพาย และ 30 ฝีพาย ทำให้ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันต่างรู้สึกซาบซึ้ง จนหาที่เปรียบไม่ได้ และถือเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงส่ง ของผู้เข้าร่วมแข่งขันเรือยาวประเพณีในครั้งนี้ ขณะที่พระองค์ยังได้ทรงถ่ายรูปอย่างต่อเนื่อง อีกด้วย
       
       หลังจากนั้นพระองค์ ยังเสด็จลงไปยังบริเวณท่าน้ำที่เรือยาวทั้งหมดจอดอยู่ และทรงทอดพระเนตร อ่างเก็บน้ำเขาเต่าโดยรอบ พระองค์ได้ทรงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ขณะที่พสกนิกร ต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญ อย่างกึกก้องต่อเนื่อง และทรงโบกพระหัตถ์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อเวลา 16.10 น.
       
       นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเดินทางมาชมการแข่งขัน กล่าวว่าทางสถานีมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันเรือยาว ตามจังหวัดต่างๆปกติอยู่แล้ว โดยครั้งนี้ก็ไม่ทราบล่วงหน้าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์ ทีมงานทุกคนรู้สึกซาบซึ้ง เป็นอย่างยิ่ง และ เชื่อว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการอนุรักษ์ประเพณี สืบสานการแข่งเรือยาวประเพณี
       
       นอกจากนั้นทางรายการศึกษาทรรศน์ ของโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน สถานีโทรทัศน์ไทยคม ยังได้เดินทางมาติดตามบันทึกเทปการแข่งขันเรือยาวประเพณี ตามพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯด้วย
       
       นายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เปิดเผยว่า รู้สึกปลื้มเป็นปีติ อย่างล้นพ้น ต่อพสกนิกรชาวอำเภอหัวหิน เป็นอย่างมากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรการแข่งขันเรือยาวประเพณี ในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งถือเป็นอ่างเก็บน้ำโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่งการแข่งขันเมื่อวานนี้เป็นวันเปิดการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้ทรงมาก่อนล่วงหน้า ทราบเมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) โดยทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสำนักพระราชวังแจ้งให้ทราบ ตอนนั้นรู้สึกดีใจเป็นพิเศษที่สุดสำหรับชีวิต ตลอดทั้งคืนทางทุกฝ่ายได้เข้ามาจัดเตรียมสถานที่อย่างสมพระเกียรติ
       
       นายจิระ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่เพราะ ได้รับพระราชทานถ้วยแข่งขันจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยการแข่งขันครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีทางวัฒนธรรมของไทยและยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ของอำเภอหัวหิน อีกทางหนึ่งด้วย
       
       ด้านนายแล สังข์สุข อดีตครูใหญ่โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า (ระหว่างปีพ.ศ. 2487-2451)ด้วยวัยที่ล่วงเลยมากว่า 60 ปี ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่รู้สึกประทับใจสำหรับวันนี้ที่พระองค์เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาเรือพายประเพณี ในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า
       
       "ยอมรับรู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูก เพราะทราบจากเพื่อนบ้านเมื่อเย็นวานนี้ว่า ในหลวง จะมาดูการแข่งขันเรือพายครั้งนี้ ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นเสมือนของขวัญปีใหม่ ที่พ่อมีให้กับลูกจริงๆ เพราะเหลืออีกไม่กี่วันแล้วจะถึงปีใหม่ ในหลวงก็เสด็จมา"
       
       นายแล กล่าวว่า ในอดีตเริ่มแรกนั้นพระองค์เสด็จมาเมื่อปี 2501 สมัยนั้นยังไม่มีความเจริญเข้ามา ปัจจุบันนี้คนที่นี่ยังรู้สึกซาบซึ้งต่อพระองค์ท่านที่ได้ทรงดำเนินการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า เป็นแหล่งน้ำจืด ที่ให้ประชาชนได้ดื่มกิน และใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน
       
       คุณป้ากมลวรรณ เอี่ยมสำองค์ วัย 59 ปี ชาวบ้านเขาเต่า กล่าวว่า วันนี้ได้เห็นพ่อหลวง มีสีหน้าแจ่มใสแล้วรู้สึกดีใจอย่างที่จะหาอะไรมาเปรียบไม่ได้ และรู้สึกดีใจที่สุดเป็นอีกครั้งหนึ่งของชีวิต ที่มีโอกาสได้มีโอกาสได้มาเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครั้งนี้ พระองค์ท่านยิ้มแย้มเป็นอย่างมาก
       
       "ป้าทราบข่าวเมื่อค่ำวานนี้คนในหมู่บ้านก็รู้สึกดีใจเหมือนกัน จะจดจำไว้ตลอดชั่วชีวิตในหลวงท่านเคยเสด็จมาดูอ่างเก็บน้ำของพระองค์ท่าน ตอนเปิดประตูระบายน้ำ ป้าก็ได้รอรับเสด็จ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว วันนี้ได้ถวายผ้าฝ้ายทอสีชมพูอมฟ้า ให้พระองค์ท่านยิ่งรู้สึกเป็นความภาคภูใจเหมือนกัน เพราะหมู่บ้านเขาเต่า มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าเขาเต่า และเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ"


ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}