ประเพณีไทย บวชนาค ประเพณีลูกผู้ชาย



ตามประเพณีไทยชายอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ถือว่าเป็นอายุที่ครบบวช พ่อ แม่ ทุกคนจัดพิธีบวชให้ ชาวบ้านศรัทธาการบวชมาก เพราะถือว่าการบวชได้กุศลแรง มีความ เชื่อว่าบวชลูกได้ 3 คน พ่อแม่ไม่ต้องตกนรก และถือว่าการบวชเต็มพรรษา ซึ่งหมายถึงการบวชตั้งเข้าพรรษาย่อมได้บุญกุศลมากกว่าระยะเวลาสั้น 7 วัน 15 วัน หรือ 30 วัน เพราะถือว่าในระหว่างเข้าพรรษา พระบวชใหม่จะได้เรียนพระธรรมวินัยและได้บำเพ็ญภาวนามากกว่าบวชระยะสั้น

การบวชนั้น ผู้ชายสมัยนี้อาจไม่ศรัทธา แต่ก็ไม่มีผู้ใดขัดข้องที่จะบวชให้พ่อแม่ เพราะถือว่าเป็นการทดแทนพระคุณ และการบวชจะทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เรียกว่าเป็น “บัณฑิต หรือ ฑิต” ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้บวชเรียนเรียกว่าเป็น “คนดิบ”

ค่านิยมของชาวบ้านในการบวชพระแต่เดิมนั้น ชายที่บวชเรียนแล้วจะมีสถานสูงกว่าผู้ที่ยังไม่ได้บวชเรียน การกระทำที่สนับสนุนค่านิยมนี้ได้แก่ การแต่งงาน การเลือกคู่ครอง บิดา มารดาฝ่ายหญิงจะพิจารณาเลือกผู้ที่บวชเรียนก่อน

ก่อนบวช เจ้าภาพ หรือบิดา มารดา ผู้ที่จะบวชอาจจะดูฤกษ์ยามวันดี ทั้งจะต้องนิมนต์พระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวดไว้ล่วงหน้า

การจัดงานแบ่งออกเป็น 2-3 วัน แล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร วันแรกเรียกว่าวันสุกดิบ เป็นวันเตรียมอาหารคาว หวาน และเครื่องใช้ต่างๆ ให้พร้อม ตอนเย็นจะรับนาค (ผู้ที่จะบวช) ซึ่งปลงผมมาจากวัดแล้วเพื่อทําพิธีทำขวัญนาค วันรุ่งขึ้นเป็น วันทำพิธีอุปสมบท ถ้าหากจัดงาน 2 วัน จะทำพิธีอุปสมบทในตอนเช้าและทำพิธี ฉลองพระที่บวชใหม่ในตอนเพลเป็นเสร็จพิธี แต่ถ้าจัดงาน 3 วัน จะมีพิธีฉลองพระ บวชใหม่ บางบ้านมีพิธีสวดมนต์เย็นอีกด้วย




การทำขวัญนาคเป็นความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์ พิธีนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานไปแล้ว จุดประสงค์ของการทำ ขวัญนาคก็เพื่อที่จะให้ผู้อุปสมบทมีสมาธิและทำจิตใจให้สะอาด ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทั้งยังเป็นการเตือนให้ผู้จะบวชระลึถถึงคุณบิดามารดาที่ชุบเลี้ยงตนมา

วัสดุที่ใช้ในการประกอบพิธี

1. เทียน 11 เล่ม แยกเป็นเทียนสำหรับทำน้ำมนต์ 1 เล่ม เทียนชัยปักอยู่ยอดบายศรี 1 เล่ม เขียนสำหรับใช้เวียนเทียน แว่นเวียนเทียนใช้ 3 อัน ใช้เทียนแว่นละ 3 เล่ม (รวม 9 เล่ม)
2. บายศรี 3 ชั้นหรือ 5 ชั้น
3. ไม้ขนาบบายศรี 3 อัน
4. ใบตองหุ้มบายศรี 3 ยอด
5. ผ้าสำหรับห่มบายศรี
6. ไข่ต้น 1 ฟอง วางไว้บนยอดบายศรี (หลังพิธีมักให้หญิงมีครรภ์รับประทานเชื่อว่าน่าจะทำให้คลอดลูกได้ง่าย)
7. ขนมต้มขาว ขนมต้มเเดง
8. เครื่องสังเวยเป็นขนมต้มต่างๆ วางตามชั้นบายศรี
9. มะพร้าวอ่อน 1 ผล
10. กล้วย 1 หวี
11. พลู 7 ใบ
12. ขันใส่ข้าวสาร
13. เครื่องกระแจะจันทน์ (แป้งหอม น้ำมันหอม สำหรับไว้เจิมนาค)

ก่อนเริ่มพิธีต้องนำเครื่องอัฐบริขารทั้งหมดมาวางเรียงไว้หน้าบายศรี ผู้ทำพิธีแต่งตัวแบบพราหมณ์ คือนุ่งขาวห่มขาว เริ่มพิธีผู้ประกอบพิธีจะสวดนะโม 3 จบ แล้วกล่าวอัญเชิญเทพยดามาเป็นสักขีพยาน กล่าวนามนาคแล้วกล่าวคำปฎิสนธิ ให้นาคระลึกถึงคุณบิดามารดา หลังจากนั้นจะเป็นการสอนนาคให้รู้จักเพศบรรพชิต กล่าวเสร็จรดน้ำมนต์แล้วเปิดบายศรี ผู้ประกอบพิธีเอาผ้าม้วนใบตอง ระหว่างนั้นจะมีการ ร้องเพลงนางนาค ผู้ประกอบพิธีจะมอบผ้าม้วนใบตองให้นาค นาคส่งให้บิดา มารดานำไปเก็บไว้ในเรือน ถือเป็นมิ่งขวัญ กล่าวกันว่ามิ่งขวัญอยู่ที่ยอดตอง หลังจากเปิดบายศรีแล้ว ผู้ทำพิธีจะจุดเทียน 9 เล่ม ทำพิธีทักษิณาวรรตรอบบายศรี 3 รอบ เมื่อ เวียนเทียนเสร็จแล้ว ผู้ประกอบพิธีนำไข่ กล้วย ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ใส่ลงไปในมะพร้าวอ่อน แล้วป้อนนาค 3 ช้อน นำแป้ง เครื่อง หอม พลู ใส่รวมกันเจิมที่หน้านาคเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี


ตอนเช้าจะมีขบวนแห่นาคไปวัด และเวียนทักษิณาวรรตรอบโบสถ์ 3 รอบ เสร็จแล้วนาคจะต้องสักการะเสมาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เป็นการขอขมาและแสดงความเคารพแล้วจึงเข้าโบสถ์ได้

ต่อจากนั้นนาคจะเข้าไปสักการะพระอุปัชฌาย์และขอบรรพชาเป็นเณรก่อนแล้วจึงกล่าวคำขออุปสมบทด้วยคำภาษาบาลี พระคู่จะถามข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับ ตัวนาค เช่น เป็นหนี้ผู้ใดหรือไม่ เป็นโรคติดต่อหรือไม่ เป็นต้น หลังจากนั้นจะให้นาคไปครองผ้ากาสาวพัสตร์ รับศีล 227 ข้อ ซึ่งแสดงว่าเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง ilwc.aru.ac.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}