ประเพณีไทย มวยโบราณของไทยเรา

สวัสดีครับเจอกับผมอีกเช่นเคย วันนี้ผมก็มานำเสนอมวยโบราณประเพณีไทยตั้งแต่เรายังไม่เกิดเลยก็ว่าได้ประเพณีนี้ใครๆทั่วโลกก็รู้ว่าเราเป็นที่หนึ่งในการต่อสู้มวย หากเพื่อนๆอยากศึกษาประวัติความเป็นมาเชิญติดตามอ่านข้างล่างต่อไปนี้ได้เลยครับ...


มวยโบราณ ประวัติ / ความเป็นมา

          “มวย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการต่อสู้ด้วยพละกำลัง ใช้อวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก รวมทั้งหัวด้วย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในสมัยก่อนนิยมฝึกหัดกันในหมู่นักรบโบราณ เป็นที่นิยมชมชอบของชนทุกชั้น แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีปรากฏในพงศาวดาร ครั้งกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม พระเจ้าเสือ ทรงนิยมชมชอบมวยมาก ถึงกับปลอมพระองค์ไปชกมวยตามหัวเมืองบ่อยครั้ง”

          ข้อความเบื้องต้นมาจากหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี (เป็นครูมวยโบราณของสกลนคร เป็นผู้ที่สืบสานศิลปะการร่ายรำมวยโบราณ)  ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ อาจารย์จำลอง นวลมณีได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ…. เมื่อปี พ.ศ.2331 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนักมวยฝรั่งสองพี่น้อง ล่องเรือกำปั่นท้าพนันชกมวยมาหลายหัวเมือง และชกชนะมาทั้งสิ้น ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาท้าพนันชกมวยกับคนไทย พระยาพระคลัง กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงทราบ จึงรับสั่งให้รับท้าพนัน วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง หรือ 4,000 บาท (สมัยนั้นก็มากแล้ว) สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา จึงจัดหานักมวย ชื่อ หมื่นผลาญ ซึ่งมีความรู้ทั้งมวยต่อยและมวยปล้ำและดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประทับทอดพระเนตร ผลการชกปรากฏว่า นักมวยฝรั่งแพ้ไม้เป็นท่า เป็นที่น่าอับอายมาก


นางศาสตร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เขียนไว้ในหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ว่า
“ในสมัย 50 ปีมาแล้ว จะมีงานแห่ต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณีที่เรียกว่า งานบุญพระเวส ชาวสกลนคร 10 คุ้ม ก็มีการแห่กัณฑ์เทศน์ และแห่บั้งไฟไปตามถนสายต่างๆ เพื่อทอดถวายองค์พระธาตุเชิงชุมโดยมีคณะนักมวยรำมวยออกหน้า มีปี่ ฆ้อง กลองประโคม เป็นเครื่องประกอบ เมื่อขบวนไปพบกันจะไม่มีใครหลีกทางให้กัน จึงมีการต่อสู้กันขึ้น”


ดังนั้น มวยโบราณจึงเป็นการต่อสู้ด้วยมือ เท้า เข่า ศอก มีมาก่อนมวยคาดเชือก (มวยคาดเชือกใช้ผ้าดิบ หรือบางครั้งใช้เชือกพันมือ สันนิษฐานว่า มีขึ้นในสมัยอยุธยา)
พ.ศ.2472 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจเกิดขึ้น เมื่อนายเจีย แขกเขมร ขอขึ้นทาบรัศมีกับ นายแพ เสียงประเสริฐ และผลการต่อสู้ในครั้งนั้น นายเจีย ถูกนายแพ ต่อยถึงแก่ความตายที่สนามมวย หลักเมือง ของพลโท พระยาเทพหัสดิน ตั้งแต่นั้นมวยคาดเชือกจึงต้องเลิกไป





กิจกรรม / พิธี
          ท่ารำของมวยโบราณ เป็นที่อ่อนช้อยแต่เข้มแข็งทะมัดทะแมงอยู่ในที การรำมวยโบราณเช่นนี้มิได้มีแต่เฉพาะภาคอีสานเท่านั้น แต่ทางภาคเหนือก็มีศิลปะการต่อสู้แบบโบราณที่เรียกว่า “ฟ้อนเจิง” ภาคใต้ก็มีการรำมวยโบราณที่เรียกว่า “ชีละ” ท่ารำมวยโบราณนั้นทั้งหมดมี 14 ท่า คือ..


  1.  ท่าเสือออกจากเหล่า (หมายถึง เสือออกจากถ้ำหรือออกจากป่า) เป็นท่าเริ่มต้น
  2.  ท่าย่างสามขุม คือ การเหยาะย่างอย่างทะมัดทะแมง
  3.  ท่ากุมภัณฑ์ถอยทัพ ลีลาท่าทางในเชิงถอย
  4.  ท่าลับหอกโมกขศักดิ์  ท่าแสดงจินตนาการเหมือนกุมภัณฑ์ลับหอกโมกขศักดิ์
  5.  ท่าดาบยามปราบมาร แสดงความเข้มแข็งให้เป็นที่ยำเกรงของคู่ต่อสู้
  6.  ท่าทะยานเหยื่อเสือลากหาง เป็นท่าที่แสดงจินตนาการวาดท่าของลูกเสือที่หยอกล้อกัน
  7.  ท่าเหยียบไก่เล้า เป็นท่าเลียนแบบการเลาะเลียบของไก่ที่จะเข้าเล้า
  8.  ท่าน้าวคันศร เป็นท่าพระรามน้าวคันศร
  9.  ท่ากินนรเข้าถ้ำ
10.  ท่าเตี้ยต่ำเสือหมอบ 
11.  ท่าทรพีชนพ่อ เป็นลีลาแสดงความดุดันของทรพีที่โหดร้ายต่อทรพาผู้เป็นพ่อ
12.  ท่าล่อแก้วเมขลา เมขลาล่อแก้วให้รามสูรขว้างขวาน
13.  ท่าม้ากระทืบโรง
14.  ท่าโขลงทะยานป่า  เป็นท่าที่มีลีลาเหมือนช้างป่าเมามัน รุกไล่ศัตรูอย่างฮึกเหิม


นอกจากนั้นยังมีท่ารำมวยโบราณแบบที่รำเป็นขบวนแห่อีก 9 ท่า คือ
  1.  ท่ากาเต้นก้อนไถ
  2.  ท่าหวะพราย
  3.  ท่าย้ายสามเสา
  4.  ท่าน้าวเฮียวไผ่
  5.  ท่าไล่ลูกแตก
  6.  ท่าช้างม้วนงวง
  7.  ท่าทวงฮัก กวักชู้
  8.  ท่าแหวกถลา ถาถากปีก
  9.  ท่าเลาะเลียบตูบ





    การแต่งกายของมวยโบราณ
มวยโบราณนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คือ ดึงชายกระเบนให้สูงขึ้น เพื่อให้เห็นลายสักที่ขา สีของผ้าโจงกระเบนนิยมสีแดงหรือสีน้ำเงิน ปล่อยชายหางกระเบน ห้อยลงมาพองาม มีผ้าคาดเอวสีแดงหรือ น้ำเงิน (ใส่สลับกับผ้านุ่ง คือ ถ้าผ้านุ่งสีแดง ผ้าคาดเอวก็สีน้ำเงิน)  ผ้าคาดเอวนี้จะช่วยรัดให้ผ้าโจงกระเบนแน่นกระชับ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ มีผ้าประเจียดโพกศีรษะ (ผ้าประเจียดคือ ผ้าลงยันต์ บรรจุมนต์ขลังของเกจิอาจารย์) นอกจากนั้นก็มีผ้ารัดต้นแขนทั้งสองข้าง เป็นผ้าสีแดง มีตะกรุดหรือเครื่องรางของขลังอยู่ข้างใน


การสักหรือการเขียนลาย จุดเด่นของมวยโบราณนิยมสักลวดลายตามตัวทั่วร่างกาย ทั้งแขน ขา สมัยก่อนสักด้วยน้ำว่าน น้ำยาศักดิ์สิทธิ์สักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เลื่อมใสว่ามีกำลังอำนาจ นอกจากนั้นยังสักเป็นลวดลายและลงอักษรโบราณที่เป็นคาถาอาคม


เล่ากันว่า ในสมัยโบราณผู้ชายที่ไม่สักลายผู้หญิงจะไม่รัก และไม่แต่งงานด้วย ถึงกับมีคำพังเพยว่า “ขาบ่ลายบ่ให้ก่าย” ก่ายก็หมายถึง กอดก่าย การสักนี้มีจุดมุ่งหมายเหมือนกับมีเครื่องรางของขลังติดตัวไปด้วย ทำให้อยู่ยงคงกะพันแคล้วคลาดและเป็นมหาเสน่ห์ สมัยก่อนการสักลงยันต์ทำกันเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องสักลงไปบนผิวหนัง ฝังลงไปในเนื้อโดยให้เหล็กแหลมเหมือนปากกา สักด้วยหมึกดำ หมึกแดง ผสมกับรงและว่าน รอยสักนี้จะติดไปบนผิวหนังตลอดชีวิต


ในปัจจุบันนี้ ไม่มีผู้นิยมสักลาย นักมวยโบราณจึงได้พัฒนาการสักลายมาเป็นการเขียนลายแทน และเขียนด้วยปากกาเมจิก หรือสีเคมีแห้งเร็ว เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ใช้แป้งผงที่ทาตัวเด็ก โรยลงไปให้ทั่วเพื่อไม่ให้สีที่เขียนเลอะเทอะเมื่อเหงื่อออก


ดนตรีประกอบการแสดง เป็นสิ่งจำเป็นมากในการแสดงมวยโบราณ เพราะจะช่วยสร้างอารมณ์ให้เกิดความคึกคักให้กับนักมวย และผู้ชมยิ่งเป็นดนตรีพื้นเมืองของอีสานด้วยแล้วยิ่งสนุก คึกคัก เร้าใจ นักมวยโบราณได้ฟังเสียงแล้วก็ฮึกเหิม ร่ายรำได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย คนดูก็สนุกไปด้วย


เครื่องดนตรีของมวยโบราณ เป็นดนตรีพื้นบ้านทั้งสิ้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

1.  เครื่องดีด ได้แก่  กระจับปี่ (พิณ) เป็นเครื่องดนตรีหลัก
2.  เครื่องสี    ได้แก่  ซอกระบอกไม้ไผ่
3.  เครื่องตี    ได้แก่  กลองตุ้ม (กลองสองหน้า) หมากกระโหล่ง โปงลาง ฆ้อง ฯลฯ
4.  เครื่องเป่า ได้แก่  แคน อาจเพิ่มโหวตเข้าไปด้วย


ส่วนเพลงที่ใช้ตีประกอบนั้น มวยโบราณจะอาศัยจังหวะจากเสียงกลองและเครื่องตีประกอบ จังหวะอื่นๆ เป็นตัวทำจังหวะให้นักมวยเต้นเหยาะย่างตามลีลาท่ารำ สำหรับบทเพลงที่เหมาะที่สุด คือ เพลงขารเลงลายผู้ไทย ซึ่งอาจเป็นผู้ไทยน้อยสำหรับเสียงสูง หรือผู้ไทยใหญ่สำหรับเสียงต่ำ



เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ไม่ทราบข้อมูลอ้างอิงที่แน่ชัด ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}