ประเพณีไทย ลอยเรือ


งานประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีของชาวเลเผ่ามอแกน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเกาะสุรินทร์ จัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคมของทุกปี ที่บริเวณหมู่บ้านชาวเลบนเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นประเพณีการประกอบพีธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ (เหนียะเอนหล่อโปง) ในระหว่างนี้ชาวเผ่ามอแกนจะหยุดการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในงาน ในวันงานจะมีการเข้าทรง การเซ่นไว้วิญญาณบรรพบุรุษ การเสี่ยงทาย การเล่นดนตรี การร่ายรำและการลอย “ก่าบาง” ซึ่งถือว่าเป็นการลอยความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บให้พ้นไปจากครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ยังมีชาวเผ่ามอแกนจากที่อื่นๆ ในแถบใกล้เคียงเดินทางมาร่วมงานด้วย เพื่อมาทำพิธีเซ่นสรวงบูชาวิญญาณบรรพบุรุษให้ช่วยปกป้องคุ้มครองพวกตน

ชาวเล ถือว่าการลอยเรือเป็นประเพณีสำคัญที่สุดในรอบปี นิยมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งๆ ละ 3 วัน คือในวันขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือน 6 กับเดือน 11 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ส่วนวันลอยเรือชาวเลบางแห่งจะพากันไปเซ่นไหว้ผีหมู่บ้านก่อนเพื่อความเป็น สิริมงคล ส่วนในการต่อเรือพิธี หรือ ปลาจั๊ก ซึ่งทั้งหมู่บ้านจะต่อกันเพียงลำเดียว ไม้ที่ใช้ต่อเรือจะเป็นไม้เนื้ออ่อน ส่วนมากนิยมใช้ไม้ระกำ โดยเรือปลาจั๊กจะมีขนาดกว้าง 2 ฟุต ยาวประมาณ 6 ฟุต ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ใบเรือทำจากผ้าดิบ และยังมีการแกะสลักไม้ระกำ เป็นนายท้ายเรือ พายนำเครื่องใช้ประจำวัน อาทิ มีด ครก เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ใส่ไปในเรือด้วย จากนั้นเมื่อทำการต่อเรือเสร็จแล้ว ในตอนค่ำ ผู้นำครอบครัวจะนำตุ๊กตาที่แกะสลักเป็นรูปคนโดยแกะจากไม้ระกำ ตามจำนวนสมาชิกของครอบครัว พร้อมทั้งตัดเล็บมือ เล็บเท้า เส้นผมของทุกคนในบ้าน ตลอดจนของแห้ง เช่น กะปิ เกลือ หมาก พลู ที่เตรียมมาใส่ลงไปในเรือด้วย
สำหรับการลอยเรือนั้น ในตอนค่ำจะมีหนุ่มสาวชาวเล ร่วมกันเต้นรำวง ร้องรำรองแง็งกันอย่างครึกครื้นสนุกสนานจนกระทั่งถึงรุ่งสางของวันใหม่ จากนั้นก็จะมีการนำรือปลาจั๊กปล่อยลงกลางทะเล เมื่อแน่ใจว่าเรือได้ลอยหายลับไปแล้ว จึงเป็นอันว่าเสร็จพิธีกรรมหลัก
หลังจากนั้นพวกผู้ชายจะเข้าป่าไปหาไม้มาทำเป็นรูป ไม้กางเขนจำนวน 7 อัน ที่ปลายไม้ทั้งสองด้านติดใบกะพ้อ นำไปปักเรียงเป็นแถวตามแนวตั้งจากบกออกสู่ทะเลตรงบริเวณที่วางเรือพิธี ไม้นี้ชาวเล เรียกว่า กายู่ฮาปัด เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ คอยปัดรังควานไม่ให้สิ่งอัปมงคลกลับเข้ามาในหมู่บ้านอีก ชาวบ้านจะปักไม้นี้ไว้จนถึงเช้าวันพรุ่ง จึงถอนออกไปปักใหม่เป็นแนวนอนยาวตลอดตั้งแต่หัวหมู่บ้านจนถึงท้ายหมู่บ้าน เป็นอันเสร็จพิธีลอยเรือ บรรดาพี่น้องชาวเลจากที่ต่างๆที่สนุกสนานรื่นเริงกันมาหลายวันก็ถึงคราวต้อง เลิกรา รอจนกว่าพิธีลอยเรือในครั้งหน้าจะเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งจึงถอนไม้กายู่ปา ฮัดท่อนเก่าออก เพื่อนำท่อนใหม่มาปักแทน
ไม่ทราบที่มา
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}