ประเพณีไทย แห่ผ้าขึ้นธาตุ



สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง



ในช่วงวันมาฆบูชาอันเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม นอกจากบรรดาพุทธศาสนิกชนจะพากันไปทำบุญปฏิบัติธรรมเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัน โดยทั่วไปแล้ว จังหวัดนครศรีธรรมราชยังจัดให้มีงานแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประจำทุกปี

งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของจังหวัดนครศรีธรรมราชนี้เป็นประเพณีที่น่าสนใจมาก ด้วยเหตุที่เป็นประเพณีเก่าแก่มากของชาวภาคใต้ จากหลักฐานปรากฏว่าเป็นประเพณีที่เกิดจากตำนานพระบรมธาตุสมัยพระยาสามพี่น้องเป็นใหญ่อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช คือ พระยาศรีธรรมาโศกราช จันทรภาณุและพงหะสุระ ซึ่งพญาทั้ง ๓ ที่กล่าวนี้ ประกอบพิธีสมโภชพระบรมธาตุอันเป็นหลักบ้านหลักเมืองในสมัยนั้น ก่อนกำหนดวันสมโภชพระบรมธาตุไม่กี่วัน คลื่นได้ซัดผ้าแดงผืนหนึ่งมีลายเขียนเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติเรียกว่า “พระบฏ”ขึ้นที่หาดปากพนัง ต่อมาชาวบ้านปากพนังได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อได้รับผ้าพระบฏ พญาศรีธรรมโศกราชก็โปรดให้เจ้าพนักงานทำความสะอาด แต่น่าประหลาดที่ลวดลายในผืนผ้ายังเด่นชัดสวยงาม มิได้ลบเลือน เมื่อซักแล้วได้ประกาศหาเจ้าของ ต่อมาก็ได้ทราบว่าพระบฏนั้นเป็นของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งที่ลงเรือรอนแรมมาจากเมืองอินทรปัต ซึ่งกล่าวกันว่าอยู่แถบริมแม่น้ำโขงฝั่งเขมรในปัจจุบัน เพื่อจะนำไปถวายเป็นพุทธบูชาพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกา แต่เรือโดนมรสุมล่มในทะเลหน้าเมืองนครศรีธรรมราช หัวหน้ากลุ่ม ๆ นั้นได้พากันจมน้ำตาย เหลือแต่บริวารรอดตายมาได้เพียง ๑๐ คน และพระบฏผืนนั้นก็ถูกซัดเข้าฝั่งที่หาดปากพนัง

พระยาศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าพระบฏไม่มีเจ้าของ ประกอบกับบริวารที่รอดชีวิตมาก็ขอถวายพระบฏผืนนั้น จึงโปรดให้แห่แหนพระบฏขึ้นห่มเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพุทธบูชาในครั้งนั้น และได้กลายเป็นประเพณีประจำเมืองทุกยุคทุกสมัย ในวันที่จะต้องจัดให้มีการสมโภชพระบรมธาตุ และแห่แหนพระบฏขึ้นห่มองค์เจดีย์เป็นพุทธบูชา ในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองและพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งชาวเมืองผู้เป็นพุทธศาสนิกชนก็นิยมมาร่วมงานอย่างคับคั่งทุกปี
พิธีและกิจกรรม

เมื่อถึงกำหนดงาน ชาวบ้านจะสละทรัพย์ตามกำลังมาซื้อผ้าซึ่งมักนิยมเป็นสีเหลืองหรือสีขาว แล้วนำมาต่อกันเป็นแถบยาว แล้วตั้งแถวจับชายผ้าทั้งสองด้านแห่เป็นขบวนพร้อมดอกไม้ ธูป เทียน และเครื่องประโคม ไปพันโอบฐานเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สมัยก่อนแถบผ้าที่นำขึ้นไปโอบพันฐานเจดีย์พระบรมธาตุ จะต้องนำไปให้ช่างเขียนรูปภาพเรื่องราวในพระพุทธประวัติเสียก่อน โดยเขียนเป็นภาพ ๆ ไปตามความยาวของผืนผ้า เริ่มตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และเหตุการณ์ที่สำคัญอื่น ๆ ไปจนถึงปรินิพพาน เรียงกันไปเป็นลำดับเรื่องราวตามแบบอย่างตำนานพระบฏในสมัยโบราณ

เมื่อเขียนแถบผ้าเสร็จแล้วก็นิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระพุทธมนต์ทำพิธีฉลองสมโภชกัน ๑ วัน รุ่งขึ้นได้เวลากำหนดซึ่งจะเป็นเวลาก่อนเพล ก็ตั้งขบวนแห่แหนผ้าไปยังวัดพระบรมธาตุ เคลื่อนขบวนทักษิณาวรรตองค์พระบรมธาตุ ๓ รอบก่อน แล้วจึงนำผ้าขึ้นไปโอบพันองค์พระบรมธาตุ พร้อม ๆ กันนั้น พระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มา ซึ่งรออยู่ที่พระวิหารฐานพระธาตุก็จะสวด “อภยปริตร”และ “ชยปริตร”เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมู่คณะผู้ศรัทธา และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง จากนั้นก็ถวายอาหารเพล ปัจจัยและบริขารอื่น ๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ในที่นั้นด้วย

นอกจากงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในงานวันมาฆบูชาของจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ยังมีงานสำคัญเกี่ยวเนื่องกับวันมาฆบูชาที่จังหวัดปราจีนบุรี คืองานเทศกาลมาฆปุรมีศรีปราจีน ซึ่งเป็นงานที่บรรดาพุทธศาสนิกชนจะแต่งชุดขาวปฏิบัติธรรม และฝึกสมาธิการจัดขบวนแห่โคมประทีป ฟังเทศน์โอวาทปาฏิโมกข์ จุดธูป เทียน และดอกไม้ ร่วมพิธีเวียนเทียนรอบรอยพระพุทธบาทคู่ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งการจุดตะคันตามประทีป และปล่อยโคมสวรรค์เพื่อเป็นพุทธบูชา และร่วมตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์

ส่วนที่จังหวัดยโสธรจะจัดงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกในวันมาฆบูชา อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชนลุ่มน้ำชีแห่งบ้านฟ้าหยาด ซึ่งจะนำข้าวตอกมาร้อยเป็นมาลัยสายยาวแทนดอกมณฑารพ อันเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์ แล้วจัดขบวนแห่ไปถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา

อ้างอิงจาก highlightthailand.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}