ประเพณีไทย แห่ปลา


   
ช่วงเวลา
    ช่วงเวลาที่จัดงาน คือ หลังจากงานสงกรานต์ ๑๓ เมษายน ไปแล้วประมาณ ๑ สัปดาห์
ความสำคัญ
    ประเพณีแห่ปลา ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างประเทศรู้จักประเพณีนี้และไปชมกันปีละไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นคนความเป็นมาของประเพณีนี้ก็สืบเนื่องมาจากตำนานของมอญที่เล่าต่อๆ กันมาว่า
มีพระอาจารย์องค์หนึ่งมีลูกศิษย์อยู่หลายคน พระอาจารย์องค์นี้มีความเชี่ยวชาญในการทำนายโชคชะตาเป็นยิ่ง วันหนึ่งพระอาจารย์ได้ตรวจดูดวงชะตาของลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ ปรากฏว่าสามเณรองค์นั้นอยู่ในเกณฑ์ชะตาขาด จะต้องถึงแก่ความตายในไม่ช้า พระอาจารย์มีความสงสารเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่อาจจะช่วยเหลือได้ จึงบอกให้สามเณรกลับไปเยี่ยมญาติโยมที่บ้านเพื่อที่จะได้มีโอกาสพบปะกันก่อนตาย สามเณรเข้าอำลาพระอาจารย์แล้วเดินทางกลับไปบ้าน ระหว่างทางเดินผ่านไปตามทุ่งนาจนถึงหนองน้ำแห่งหนึ่งน้ำแห้งขอด มีปลาตกปลักจมอยู่ในโคลนรังแต่จะรอความตาย สามเณรเกิดความสงสารจึงได้จับปลาไปปล่อยในลำคลองแล้วเดินทางต่อไปจนถึงบ้าน เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วก็เดินทางกลับวัด ฝ่าย
พระอาจารย์เมื่อเห็นสามเณรกลับมาก็แปลกใจเพราะยังเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองอยู่ จึงสอบถามจนได้ความว่าขณะที่เดินทางกลับบ้านนั้นได้ช่วยเหลือปลาที่รอความตายให้กลับมีชีวิตยืนยาวต่อไป พระอาจารย์จึงเข้าใจว่ากุศลที่สามเณรสร้างในครั้งนี้กลับเป็นผลานิสงส์หนุนนำให้สามเณรมีชีวิตยืนยาวต่อไป
จากตำนานดังกล่าวทำให้ชาวรามัญยึดถือเป็นตัวอย่างและปฏิบัติกันอยู่เสมอมา ส่วนประเพณีแห่นกที่ทำควบคู่กับแห่ปลาในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นทีหลัง
     
    ขอกล่าวย้อนถึงสาเหตุที่จะกลายมาเป็นประเพณีแห่ปลาว่าเมื่อประมาณ ๕๐ ปีล่วงแล้วคุณย่าพ่วง พงษ์เวช ชาวมอญตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง เป็นผู้ที่ชอบทำบุญทำกุศลอย่างมาก ท่านจึงได้บอกให้ อาจารย์คล้าย พงษ์เวช ซึ่งเป็นบุตรชายให้จัดงานทำบุญเลี้ยงพระแล้วปล่อยปลาจำนวนมากๆ ท่านอาจารย์คล้าย พงษ์เวช จึงได้จัดให้ตามความประสงค์ทุกประการ แต่วิวัฒนาการจากการปล่อยปลาตามปกติมาเป็นการเชิญสาวๆในหมู่บ้านมาเข้าขบวนถือโหลปลา นำด้วยดุริยางค์แล้วนำไปปล่อยที่วัดทรงธรรมวรวิหาร ในปีรุ่งขึ้นท่านอาจารย์คล้าย พงษ์เวช เห็นว่าน่าจะกระทำเช่นนี้อีกต่อไป จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้น โดยใช้โรงเรียนอำนวยวิทย์ อำเภอพระประแดง ซึ่งท่านเป็นเจ้าของอยู่เป็นสถานที่จัดงานและได้เชิญสาวๆจากหมู่บ้านต่างๆ (หมู่บ้านมอญ) รวม ๑๔ หมู่บ้าน มาร่วมในขบวนแห่ และในปีต่อมาท่านได้เชิญสาวมอญจากบางกระดี่ ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน จากบางขันหมาก จังหวัดลพบุรี จากปากเกล็ด จังหวัดนนทบุรี มาร่วมขบวนด้วย นับว่าเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่และตระการตา เนื่องจากสาวมอญแต่ละแห่งนั้นแต่งกายตามประเพณีในท้องถิ่นของตน ทำให้เกิดความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และปิดท้ายขบวนด้วยกลองยาวที่สร้างความครึกครื้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนการแห่นกนั้นท่านอาจารย์ได้ผนวกเข้าทีหลังจนกลายเป็นประเพณีแห่นกแห่ปลาในที่สุด
    พ.ศ. ๒๔๙๘ รูปขบวนก็ได้เปลี่ยนไปอีก กล่าวคือมีขบวนนางสงกรานต์เพิ่มขึ้น ส่วนนางสงกรานต์นั้น ไม่มีการประกวด เพียงแต่เสาะหาสาวที่มีความงามที่สุดมาเป็นนางสงกรานต์ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านอาจารย์คล้าย พงษ์เวช ย่างเข้าสู่วัยชราจึงต้องการพักผ่อน แต่ทางราชการเห็นว่าประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ดี สมควรจะอนุรักษ์ไว้จึงได้รับการปฏิบัติกันต่อๆ มา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้มีการประกวดนางสงกรานต์พระประแดงขึ้นและต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน

สาระ
     ขบวนแห่ปลา แห่นกในปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากตำบลต่างๆ ในอำเภอพระประแดง จึงทำให้รูปขบวนวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ มีสาวงามจำนวนมากขึ้น มีขบวนรถจากตำบลต่างๆ ตกแต่งอย่างสวยงามขั้นขบวนสาวงามอยู่เป็นระยะๆ มีวงดุริยางค์ของโรงเรียนต่างๆ นำแต่ละขบวนเป็นที่ครึกครื้นแล้วปิดท้ายด้วยขบวนกลองยาวอย่างเคย

ข้อมูลอ้างอิงจาก thaigoodview.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}