ประเพณีไทย กำฟ้า


ประวัติความเป็นมา ประเพณีไทย กำฟ้า
ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวน ที่อาศัยกระจายไปอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี อุดรธานี หนองคาย แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิจิตร เป็นต้น
แม้การรวมตัวในแต่ละถิ่นไม่มากนัก แต่ทุกแห่งต่างก็สามารถรักษาวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี
กำ หมายถึง การสักการบูชา (ภาษาพวน)
กำฟ้า หมายถึง การสักการบูชาฟ้า
วันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 เป็นวันกำฟ้า ก่อนวันกำฟ้า 1 วัน คือวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 จะถือเป็นวันสุกดิบแต่ละบ้านจะทำข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน พร้อมทั้งน้ำยา และน้ำพริกไว้เลี้ยงดูกัน มีการทำข้าวหลามเผาไว้ในกระบอกข้าวหลามอ่อน มีการทำข้าวจี่ ข้าวจี่ทำโดยนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ อาจจะใส่ใส้หวานหรือใส่ใส้เค็มหรือไม่ใส่ใส้เลย ก็ได้ เสียบเข้ากับไม้ทาโดยรอบด้วยไข่ แล้วนำไปปิ้งไฟจนสุกหอม ข้าวจี่จะนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้าและแบ่งกันกินในหมู่ญาติพี่น้อง พอถึงวันกำฟ้าทุกคนในบ้านจะไปทำบุญที่วัด มีการใส่บาตรด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ ตกตอนบ่ายจะมีการละเล่นไปจน ถึงกลางคืน การละเล่นที่นยมได้แก่ ช่วงชัย มอญซ่อนผ้า นางด้ง ฯลฯ

สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า

ชาวพวนมีความสามารถในด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา สมัยก่อนต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงเกรงกลัวต่อฟ้ามาก จึงมีการเซ่นไว้ สักการบูชา ซึ่งชาวบ้านรู้สึกสำนึกบุญคุณของฟ้าที่ให้น้ำฝน ทำให้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น
แต่เดิม ถือเอาวันที่มีผู้ที่ได้ยินฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน ๓ เป็นวันเริ่มประเพณี แต่ทุกคนไม่สามารถได้ยินได้ทุกคน ภายหลังจึงกำหนดให้วันกำฟ้า คือ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี

คำทำนายเกี่ยวกับฟ้าร้อง

  • ทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์และงานอาชีพ
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะดี ทำนาได้ข้าวงาม
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวจะเสียหาย
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย ทำนาไม่ได้ผล
  • ทำนายเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือ ทำนายว่าชาวบ้านจะอดข้าว
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ทำนายว่าชาวบ้านจะอดเกลือ
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็ยสุข
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันตก ทำนายว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน
ตามประเพณี "วันสุกดิบ" เป็นวันเตรียมงาน ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญจะทำในวัด เรียกว่า "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งใครได้กินเชื่อว่าจะไม่ถูกฟ้าผ่า
วันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงาน ๑ วัน จึงมีเวลา สำหรับการต้อนรับญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือนได้อย่างเต็มที่
หลังจากวันกำฟ้าไป ๗ วัน ก็จะเกิดวันกำฟ้าอีกครึ่งวัน ต่อจากครึ่งวันนี้ไปอีก ๕ วันถือว่าเสร์จสิ้น ชาวบ้านจะจัดอาหารคาวหวานไปที่วัดอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นจะเอาดุ้นฟืนที่ติดไฟ ๑ ดุ้น ไปทำพิธีตามลำน้ำ เรียกว่า การเสียแล้งตามแม่น้ำลำคลอง
โดยจะทิ้งดุ้นไปตามสายน้ำ เป็นการบอกกล่าวเทวดาว่า หมดเขตกำฟ้าแล้ว
ในปัจจุบันยังคงถือประเพณีกันทุกปี แต่บรรยากาศในอดีตมีแต่จะหายไป โดยความสนุกท่ามกลางเสียงแคน การละเล่นพื้นบ้าน มาแทนที่ จึงกลายมาเป็น ราตรีกำฟ้า
ประเพณีกำฟ้าในแต่ละท้องถิ่นอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่ชาวไทยพวนก็ยังรักษาคติดั้งเดิมไว้ได้อย่างมั่นคงตลอดมา

เรื่องเล่าจากประเพณีกำฟ้า

 เมื่อย่างเข้าเดือนสาม หากมีใครสักคนได้ยินเสียงฟ้าร้องเป็นครั้งแรก ผู้เฒ่าชาวไทยพวนจะพูดกับลูกหลานว่า "ฟ้าฮ้องแล้ว พวกเจ้าได้ยินไหม วันฮ่งต้องกำฟ้าเน้อ ถ้าไม่มีผีฟ้าจะลงโทษเจ้ามิให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใดบ่เชื่อฟัง ฟ้าจะผ่าถึงตายเน้อ"
          ประเพณีกำฟ้า หรือประเพณีเดือน 3 เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 200 ปีแล้ว กำฟ้า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือ และสักการะเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนฟ้า หรือที่เรียกว่า ผีฟ้า ซึ่งชาวไทยพวนในจังหวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ หากปีใดชาวไทยพวนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดความแห้งแล้งอดอยากหรือมีเหตุทำให้ฟ้าผ่าคนตายซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษอย่างร้ายแรงของผีฟ้า ทำให้ชาวไทยพวนทั้งหลายเกรงกลัวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
          จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีกำฟ้าอยู่ที่การให้โอกาสแก่ชาวไทยพวน ซึ่งทำไร่ไถนาเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด ได้มีโอกาสพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ถึงสามระยะในหนึ่งปี ถ้าไม่มีประเพณีนี้ชาวไทยพวนก็อาจจะพักผ่อนกันเอง หรือบางคนอาจจะไม่พักผ่อนก็ได้ การกำหนดให้มีพิธีกำฟ้าจึงเป็นการบังคับทุกคนให้หยุดงานพร้อม ๆ กัน ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์รื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจสมัครสมานสามัคคีกัน นอกจากนี้ในระหว่างพิธีก็จะมีการละเล่นอย่างสนุกสนานทำให้ได้พักผ่อนหย่อนใจอีกทางหนึ่งด้วย เปรียบได้กับประเพณีตรุษไทยและตรุษจีนซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกับพิธีกำฟ้าของชาวไทยพวน แต่แตกต่างกันในวิธีการปฏิบัติเท่านั้น การเข้ากำฟ้า จะเข้ากำ 3 ครั้ง
          
พิธีกำฟ้าครั้งแรก จะกำหนดงานสองวันคือวันสุกดิบวันเเรก ตรงกับเดือนสาม ขึ้น 2 ค่ำ ถือว่าเป็นวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ หลังจากกินอาหารเช้าแล้ว บรรดาสาว ๆ และแม่บ้านทั้งหลายต่างพากันแต่งตัวอย่างวิจิตรบรรจงไปวัด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะนุ่งผ้าซิ่นรัดอก ถ้าเป็นหญิงสาวอายุ 15-16 ปีก็ไว้ผมยาวทรงตุ๊กตาไทยและใช้เชือกผูกผม สาว ๆ ที่อายุ17-19 ปี ก็ทำผมที่เรียกว่า "โค้งผม" ส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจะไว้ผมขมวดเป็นกระจุกไว้กลางหัวคล้าย ๆ จุกกระเทียม
          นับแต่ตอนสายของวันสุกดิบ ตามถนนหนทางจากหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยหญิงสาว คนเฒ่าคนแก่ เมื่อไปถึงวัดแล้วก็แยกกันไปทำงานตามที่ตัวเองถนัด บางคนก็เผาข้าวหลาม บางคนก็จี่ข้าว (ปิ้งข้าวเหนียว) ในขณะที่ทำงานก็พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟังอย่างสนุกสนาน ข้าวหลามที่ได้จากการเผาในงานนี้ชาวไทยพวนถือว่าเป็น "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งจะใช้ในพิธีบายศรี ที่เหลือก็แจกแบ่งปันกันกินด้วยความเชื่อกันว่า ใครก็ตามที่กินข้าวหลามจะไม่โดนฟ้าผ่า
          พอถึงเวลาสามโมงเย็น ชาวไทยพวนก็จะร่วมกันทำบุญ เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นลง เจ้าพิธีซึ่งเป็นผู้รู้ในหมู่บ้านก็จะทำหน้าที่สวดเบิกบายศรีบูชาผีฟ้าแล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องสังเวย เสร็จแล้วจึงเป็นการรำขอพรจากผีฟ้าเพื่อให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านของตน ตกดึกก่อนที่จะเข้านอนคนเฒ่าคนแก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วพูดในสิ่งที่เป็นมงคล เพื่อให้ผีฟ้าผีบ้าน ผีเรือน ได้ช่วยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้มีความสุข ทำมาหากินได้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
          วันที่สองเป็นวันกำฟ้า ตรงกับเดือนสามขึ้น 3 ค่ำ ชาวไทยพวนจะหยุดทำงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน และใครจะส่งเสียงอึกทึกครึกโครมไม่ได้ โดยเชื่อว่า ถ้าใครทำเสียงอึกทึกครึกโครมฟ้าจะผ่า ทำให้ความเงียบสงบครอบคลุมไปทั้งหมู่บ้าน เกิดบรรยากาศเยือกเย็นขรึมอย่างประหลาด ในวันกำฟ้านี้ ชาวบ้านจะพากันตื่นตั้งแต่เช้ามืด หุงหาอาหารทั้งคาวหวาน รวมทั้งข้าวหลามและข้าวจี่ใส่สำรับไปถวายพระที่วัด โดยใส่ตะกร้ามีสายสำหรับคล้องไม้คานแล้วเอาอาหารไปรวมกันที่กุฏิที่เรียกว่า "หอแม่ออก" คนเฒ่าคนแก่และญาติโยมซึ่งเรียกว่า "พ่อออกและแม่ออก" จะช่วยกันจัดสำรับภัตตาหารถวายพระ จากนั้นพระสงฆ์จะให้ศีลและแสดงธรรมสั้น ๆ เสร็จแล้วฉันภัตตาหาร ยถาสัพพีตามประเพณี ส่วนชาวบ้านก็จะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน และกลับถึงบ้านตอนสาย ๆ
          
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 2  การกำครั้งที่สองจะห่างจากการกำครั้งแรกเจ็ดวัน โดยเริ่มจากเดือนสามขึ้น 9 ค่ำ จะมีการกำฟ้าตั้งแต่ตะวันตกดินไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 10 ค่ำ เมื่อถึงเวลาเพลชาวบ้านจะนำอาหารเพลไปถวายพระที่วัดเรียกว่า "ไปเพล" วิธีการก็เช่นเดียวกับการถวายอาหารเช้า คือ การนำเอาอาหารไปรวมกันที่หอแม่ออกแล้วรับศีลและฟังธรรมต่อจากนั้นจึงถวายอาหาร พระฉันเสร็จแล้วจึงยถาสัพพี เป็นอันเสร็จการทำบุญ เมื่อกลับจากการไปเพลแล้ว ชาวไทยพวนเรียกว่า "คืนเพล" ถือว่าเลิกกำ ใครจะทำงานทำการอะไรก็ได้
         
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 3 จะห่างจากการกำครั้งที่สอง 5 วัน พอเดือนสามขึ้น 14 ค่ำ เมื่อตะวันตกดินแล้ว ชาวไทยพวนเริ่มจะกำอีกครั้งหนึ่ง และกำตลอดไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะรีบตื่นกันแต่เช้า จัดเตรียมข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานไปถวายพระเรียกว่า "ไปจังหัน" การกำครั้งนี้ถือว่า เป็นการกำครั้งสุดท้าย
          ในตอนเย็น เมื่อหุงข้าวเย็นรับประทานกันแล้ว ชาวไทยพวนทุกบ้านจะต้องเอาดุ้นฟืนเฉพาะดุ้นที่ไฟไหม้มากที่สุดไปดับที่แม่น้ำลำคลอง โดยการโยนทิ้งให้ไหลไปตามสายน้ำ หรืออาจนำไปโยนตรงหนทางที่บรรจบกัน แสงไฟจากดุ้นฟืนที่วาบไหวไปตามทางเดินในความมืดให้บรรยากาศสั่งลาพิธีกำฟ้าเป็นไปอย่างน่าศรัทธา การดับฟืนชาวไทยพวนจะใช้มือหนึ่งถือดุ้นฟืน อีกมือหนึ่งถือกะลามะพร้าวใส่น้ำสำหรับดับไฟ เมื่อไปถึงแม่น้ำลำคลองหรือทางที่มาบรรจบกันก็เทน้ำในกะลามะพร้าวดับไฟ จากนั้นจึงโยนทิ้งไปเรียกว่า 
"เสียแสงฟืนแสงไฟ" เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้าในปีนั้น


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ info.ru.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}