ประเพณีไทย บายศรีสู่ขวัญข้าว

ช่วงเวลา
ประเพณีไทยสู่ขวัญข้าว (ทั่วไป) บุญสู่ขวัญข้าว (หมู่บ้านเนินใหม่ ตำบลโคกกรวด) เรียกขวัญข้าว (หมู่บ้านท่าด่าน) กระทำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓

ความสำคัญ
เพื่อเรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง บูชาพระแม่โพสพ ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทำลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากในปีต่อไป

พิธีกรรม
โดยทั่วไปชาวนาต่างก็ทำพิธีโดยให้เจ้าของนาฝ่ายหญิงนุ่งขาว ห่มขาวเป็นผู้ทำพิธีตอนเช้าตรู่โดยเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ข้าวต้ม เผือก มัน ไข่ ขันธ์ ๕ ขวดน้ำ แก้วแหวนเงินทอง แป้ง หวี กระจก ผ้าสไบ (อาจมีเพิ่มเติมหรือแตกต่างตามท้องถิ่น) นำสิ่งของเหล่านี้ห่อด้วยผ้าขาว ใส่กระบุงหรือบางท้องที่ปิดกระบุงด้วยผ้าขาว นำขอฉายคอนกระบุง (บางหมู่บ้านใช้ผ้าสีผูกให้สวยงาม) เดินไปตามท้องนา เจตนาของตน ร้องเรียกแม่โพสพ ใจความคือเชิญแม่โพสพที่ตกหล่นอยู่ให้มาอยู่ในยุ้ง ฉาง บางหมู่บ้าน เพื่อนบ้านขานรับจนถึงบ้าน นำกระบุงไปไว้ในยุ้งข้าว บางหมู่บ้านมีพราหมณ์ทำพิธีเรียกขวัญเข้ายุ้ง โดยมีการตั้งบายศรี และเครื่องไหว้ในยุ้ง การสู่ขวัญด้วยสำนวนหรือภาษาถิ่นที่แตกต่างกันออกไป
ในปัจจุบันประเพณีสู่ขวัญข้าวยังคงกระทำอยู่ในหมู่บ้านทั้งสี่อำเภอ เช่น หมู่บ้านหนองโพธิ์ ตำบลศรีนาวา สู่ขวัญข้าวร่วมกันและทำบุญเลี้ยงพระด้วย

สาระ
เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและความเชื่อของชาวนา รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ข้าวในปีหน้าได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น



ประวัติเพิ่มเติม
   
   เป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม้หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย วันที่ทำพิธีโดยปกติถือเอาวันที่ขนข้าวขึ้นยุ้งเสร็จแล้ว หากไม่ทันก็อาจทำในวันรุ่งขึ้นก็ได้

การเรียกขวันข้าวนั้นอาจทำได้ทั้งแบบเรียบง่ายและแบบใหญ่โตโดยขึ้นกับความนิยมในท้องถิ่นหรือความพร้อมของเจ้าของนา หากทำพิธีแบบใหญ่โตแล้วก็จะมีเครื่องบูชามากมาย โดยทั่วไปเครื่องพิธีจะมีไก่และเหล้าและเครื่องใช้ของผู้หญิงเช่นกระจก หวี แป้ง นำเครื่องพิธีดังกล่าวไปวางไว้ที่แท่นพิธีบริเวณที่เคยทำพิธีแรกนา แล้วก็มีคำโอกาสราธนาคือคำสังเวยที่เป็นคำขอบคุณแก่พระแม่โพสพ ที่ช่วยให้ได้ผลผลิตเป็นข้าวมากมาย ถ้าเป็นพิธีใหญ่ส่วนมากเจ้าของนาจะกล่าวคำโอกาสด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องขออาจารย์ประจำหมู่บ้านเป็นผู้โอกาสให้

ในการทำพิธีแบบง่ายนั้น เครื่องบูชา มีข้าว ไข่ต้ม กล้วย ๑ ผลขนมต่าง ๆ ดอกไม้ ธูปเทียน จัดใส่กระทงหรือพานเล็ก ๆ ผู้ที่เป็นพ่อนาจะเอาไม้ไผ่เฮี้ยยาวประมาณ ๒ เมตร ปล้องของไม้บนสุดทุบให้แตกแป็นซีก ๆ แล้วดุนให้ถ่างออกป่องตรงกลาง คล้ายกับที่เรียกกันว่ารังมดส้ม (มดแดง) 

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะพากันขนเครื่องบูชาและเครื่องประกอบพิธี มีกระทงใส่เครื่องบูชาและทับพี ๑ อัน ไม้รังมดแดง และนำไม้นะโมตาบอด พร้อมด้วยรวงข้าวที่เก็บไว้ก่อนนั้นแล้ว ออกไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงพ่อนาจะฝังหรือปักไม้เฮี้ยที่เป็นรังมดแดงนั้นที่กลางตาลางคือลานนวดข้าว เอากระทงเครื่องบูชาใส่ปลายไม้เฮี้ยที่เป็นรูปรังมดแดง ผูกรวงข้าวให้แขวนลงในกระทงนั้น ปักไม้นะโมตาบอดซึ่งเป็นเครื่องป้องกันมิให้ผีมาขโมยข้าวไว้ที่ ๔ มุมของลาน แล้วจุดธูปเทียน ผู้หญิงก็จะใช้ทัพพีกวักไปรอบ ๆ ในบริเวณนั้น เพื่อกวักเอาขวัญข้าวให้มาอยู่รวมกัน ด้วยการพูดเป็นโวหารเอาเอง ด้วยคำที่เป็นมงคลเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ตกแถวนั้นสัก ๒-๓ เม็ด หรือจะหยิบเอาเศษฟางก็ได้สมมุติว่าเป็นขวัญของข้าวใส่ในกระทง นำเอากระทง และไม้นะโมตาบอดกลับบ้าน ปักไม้นะโมตาบอดไว้ที่ ๔ มุม ในยุ้งข้าวแล้วเอากระทงขวัญข้าววางไว้จุดใดจุดหนึ่งในหรือยุ้งข้าว แล้วเอากระดองเต่า หรือฟักหม่น คือฟักเขียว วางไว้ข้างบนข้าว เพื่อให้เต่าหรือฟักคอยกกฟักให้ข้าวอยู่นาน ๆ เหมือนกับเต่าฟักไข่ พร้อมกับกล่าวออกเสียงเบา ๆ ว่า "ขอให้ข้าวจงอยู่ในนี้เน่อ อย่าได้ออกไปทางใด เพราะว่าเดือน ๔ เพิ่นจักปล่อยช้างปล่อยม้า เดือน ๕ เพิ่นจักปล่อยงัวปล่อยควาย" ดูเป็นการสอนเตือนข้าวไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่นเกรงว่าจะถูกช้างม้าวัวควายเหยียบเอา

เมื่อนำข้าวเข้าเก็บแล้ว ที่ประตูยุ้งข้าวจะมี ปักขทืนกระด้าง หรือปักขทืนวันจกเข้า คือปฏิทินกำกับวันข้างขึ้นข้างแรมที่ควรหรือไม่ควรตักข้าวออกจากยุ้ง เชื่อกันว่าหากมิได้ปฏิบัติตามพิธีดังกล่าวมาข้างต้น ข้าวจะเปลือง หรือหมดเร็ว เพราะมีผีมาขโมยเอาไปกิน เล่ากันว่าที่ในถ้ำแกลบ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว ในถ้ำจะมีแกลบอยู่


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก prapayneethai.com และ lannaworld.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}