ประเพณีไทย การทำบุญโคนไม้ จังหวัด.ตราด


ระยะเวลา ช่วงเดือนเมษายน และหลังจากวันเพ็ญเดือนสิบสอง

สาระสำคัญ
การทำบุญโคนไม้ เป็นประเพณีไทยพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดตราดที่ทำเป็นประจำทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านในชุมชน การทำบุญโคนไม้และการทำบุญตามสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน นอกจากจะให้ผลในการดำเนินชีวิตโดยตรงแก่ผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานของตนรู้จักรักป่า แผ่นดิน และพื้นน้ำ ไม่คิดทำลายธรรมชาติ ที่ตนต้องพึ่งพาอาศัย ในขณะเดียวกันยังสอดแทรกคุณธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณสืบทอดให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ให้รู้จักการทำบุญให้ทาน มีความเมตตาเอื้อเฟื้อ รู้จักรักผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมหลักของการอยู่ร่วมกัน


พิธีกรรม
ชาวบ้านจะนัดหมายกันหลังจากทำบุญสงกรานต์หรือหลังจากทำบุญทอดผ้าป่าคืนวันลอยกระทง แล้วมอบหน้าที่ให้แก่ไวยาวัจกรหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสม นิมนต์พระ เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ ธูปเทียน ไปยังสถานที่นัดหมาย ทำพิธีกรรมทางสงฆ์ ถวายทานแก่พระสงฆ์ กรวดน้ำเหมือนทำบุญถวายสังฆทาน หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะทำพิธีแห่เรือมีการตีไม้ล่อนำหน้าขบวนไปยังห้วยหนองคลองบึง เพื่อทำพิธีปล่อยเรือที่ทำด้วยกาบหมาก ขดหัวท้ายให้คล้ายเรือ ภายในบรรจุด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน หอม กระเทียม เกลือ พริก เป็นต้น น้อมจิตอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผีป่า ผีโป่ง ผีทุ่ง ผีนา พร้อมกับฝากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไปกับเรือ เสร็จพิธีแล้วจะกลับมายังสถานที่
บำเพ็ญบุญเพื่อรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี

คำบูชาและแผ่ส่วนกุศล
" บุญนี้ที่ข้าทำ ขอให้เป็นข้าวน้ำ เครื่องพิจารณาสู่วิมานทอง เรืองรองโสภา พบนางฟ้าวันหนึ่งประมาณ ศีลทานดังนี้ ขอศีลธรณี ถึงบิดามารดา ฝูงเปรตทั้งหลาย นรกอสูรกาย กุ้งเล็กปลาน้อย ปลาโตปูหอย ใหญ่น้อยเรืองรอง ให้ตั้งใจปอง รับเอาส่วนบุญ อินทร์กา เทวา ทุกชั้นพรหมา ท้าวเวสสุวัน พระอินทร์ พระศุกร์สาลี อีกทั้งพระกานต์ จตุโลกบาลทั้งสี่ ครุฑ นาค นาคี กินนรี คนพาลขออย่าได้พบ ขอจงประสบพบท่านผู้ดี มีปัญญา ทานของข้านี้ อย่าได้สิ้นที่ ความยากเข็ญใจ ขออย่าได้เกิดมี ขอให้เป็นเศรษฐี มนตรีเจ้าพระยา เดชะกุศล พ้นจตุรา ขอให้ตัวข้า ไปเกิดทันพระศรีอารย์ ยังมีสัตว์อีกหมู่เที่ยวอยู่เวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในวัฏสงสาร ได้ชื่อว่าห่า อย่ามาเบียดผลาญ ก่อความรำคาญ ระรานรบกวน วันนี้พวกข้า เจตนาร่วมกัน ได้นำอาหาร คาวหวานล้วน ๆ เชิญท่านมารับ ข้าวกับทั้งมวล ทุกสิ่งสมควร มารับเอาไป แล้วอย่ากังวล ทำให้คนวุ่นวาย ทั้งเด็กผู้ใหญ่ จงไปถิ่นฐาน บรรดาพวกข้า นายบ่าวทั้งนั้น เร็วพลันรนราน ซมซานรีบไป ผีทุ่ง ผีนา ผีป่า ผีโป่ง ทั้งผีตายโหง ทั้งสิ้นทั้งหลาย ต่าง ๆ อย่าช้า รับอาหารไป เร็ว ๆ ไว ๆ จงไปรีบไป ลงเรือนาวา จัดหาไว้ให้ เครื่องเสาเพลาใบ แต่งไว้หราหรู ให้ท่านทุกตนทุกผู้ ไต่ก๋งจุ้นจู้ วิ่งอู้ออกไป คะชาอะโมมะหิ โอกาเสติ ตะถามิ อับเปหิไป สุขสบายทั่วกัน พวกข้าอยู่หลัง มุ่งหวังสุขสันต์ กุศลสรรสร้าง สู่ทางนิพพาน ให้พ้นสงสาร เป็นสุขเกษมใจ อันตัวข้านี้ มีศรัทธาเลื่อมใส ได้สร้างกุศลไว้ ในการวันนี้ โดยมีมโนนัย หวังเป็นปัจจัย แห่งพระนิพพาน แม้ยังไม่สำเร็จ ข้าขอเข้าเขต พระเมตตรัยญาณ เกิดชาติต่อไป ขอให้
เกิดในพุทธกาล ขอถึงซึ่งนิพพาน นะปัจจะโยโหตุ

สาระ
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ภูตผีที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ ผีทุ่ง ผีนา ที่ช่วยคุ้มครองรักษาให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก prapayneethai.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}