ประเพณีไทย แห่พระแข่งเรือ ขึ้นโขนชิงธง


ช่วงเวลาที่จัด
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

เอกลักษณ์ของประเพณี 
เป็นการแห่พระและจัดแข่งเรือโดยผู้ชนะการแข่งขันต้องขึ้นโขนชิงธงขณะเรือเข้าเส้นชัย

พิธีกรรม
การแข่งเรือ ของอำเภอหลังสวน เป็นประเพณีที่ดำเนินการสืบทอดมายาวนาน ซึ่งเริ่มมาจากการแข่งเรือระหว่างวัดต่าง ๆ ในงานออกพรรษาของทุกปี โดยมีการวางกติกา สำหรับเรือที่ชนะว่า ก่อนการเข้าเส้นชัย นายหัวเรือต้องปีนขึ้นหัวเรือ ซึ่งเรียกว่า โขนเรือ เพื่อไปหยิบธงที่ผูกไว้ ณ เส้นชัย การผูกธงจะใช้เรือโป๊ะลอยลำกลางแม่น้ำ และใช้สมอช่วยในการทรงตัวของเรือให้นิ่ง ธงชัยนั้นจะมีการนำท่อเป๊ปสอดที่ข้างเรือให้มีความยาวเสมอกัน จุดต่อของท่อจะผูกด้วยด้าย ซึ่งผู้แข่งขันต้องกระชากธงให้ขาด ถ้าเรือถึงเส้นชัยโดยไม่ได้ธงจะถือว่าแพ้ หรือ นายหัวเรือขึ้นชิงธงแต่ตกน้ำก็ถูกจับแพ้เช่นกันแม้ว่าเรือจะถึงเส้นชัยก่อน จากกติกาที่กำหนดให้เรือที่ชนะต้องปีนขึ้นหัวเรือทำให้เรือที่เข้า แข่งขันต้องใช้ไม้ที่เบาและเหนียว หัวเรือที่นิยมทำจะใช้ไม้กำจัด เพื่อไม่ให้หัวเรือหนักเวลาต้องวิ่งขึ้นไปกระตุกธงขณะเข้าเส้นชัย เรือที่ใช้ในการแข่งขัน ไม่จำกัดความยาวของเรือ แต่กำหนดจำนวนฝีพายไม่เกิน ๓๒ ฝีพาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือจากวัดต่าง ๆ ในการจัดแข่งขันกรรมการจัดงานจะต้องติดต่อมาที่วัด เพื่อเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน และเปิดรับสมัครจากภายนอกเช่นเดียวกับการรับสมัครแข่งขันกีฬาทั่ว ๆ ไป 



ประเภทของการแข่งเรือมี ๒ ประเภทคือ ประเภท ก เป็นการแข่งเรือจากทุกจังหวัดเพื่อชิงรางวัลคือโล่ห์พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนประเภท ข เป็นการแข่งขันเฉพาะเรือในจังหวัดชุมพร เพื่อชิงรางวัลเป็นขันน้ำพานรองจากนายกรัฐมนตรี การถือครองรางวัลมีเงื่อนไขว่า เรือที่ชนะเลิศสามารถครอบครองโล่ห์หรือถ้วยรางวัลเป็นเวลา ๑ ปี และต้องส่งคืนในวันงานของปีต่อไป แต่ถ้าสามารถชนะเลิศได้ ๓ ปีซ้อน ผู้จัดงานจะมอบโล่ห์จำลองให้ไปครอบครองแทน โดยไม่ต้องส่งคืน ที่มาของโล่ห์รางวัล ได้มาจากการขุนชัด รัตนราช ขณะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (เคยเป็นข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เมื่อเสด็จประทับที่ภาคใต้) ขอพระราชทานรางวัลในงานดังกล่าว
ส่วนการประกวดเรือประเภทสวยงาม รางวัลที่ได้คือโล่ห์พระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ นอกจากโล่ห์แล้วยังมีการมอบเงินสดเป็นรางวัล และเงินช่วยเหลือเรือที่ร่วมแข่งขัน ซึ่งได้จากการประมูลให้เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้า ระหว่างการจัดงาน


ผู้ประกอบพิธี ประกอบด้วย
(๑)คณะกรรมการผู้จัดการ เดิมเป็นความรับผิดชอบของนายอำเภอ ต่อมาได้มอบให้เทศบาลเป็นผู้จัดและมีคณะกรรมการร่วมดำเนินการ ปัจจุบันผู้รับผิดชอบในการจัดประเพณีนี้ คือ จังหวัด โดยให้อำเภอหลังสวนเป็นผู้รับผิดชอบ 
(๒) ผู้เข้าร่วมแข่งขัน 
(๓) ผู้ชมการแข่งขัน 

สถานที่จัด
ในระยะแรก ๆ จัดกันที่วัดขันเงิน โดยเริ่มจากการแห่พระคือการลากพระ ชักพระ เป็นการใช้เรือขนาดเล็ก ร่วมพิธีเพื่อพายแข่งกันชิงข้าวต้ม (ข้าวเหนียวห่อ) และปรับเปลี่ยนใช้เรือพายขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมทั้งเคลื่อนย้ายไปจัดที่แม่น้ำหลังสวนบริ
เวณหน้าเทศบาล ซึ่งมีร่องน้ำลึก และสายน้ำตรง จุดปล่อยเรือจะอยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำ ส่วนเรือตัดสิน หรือ เรือชิงธง อยู่ห่างจากจุดปล่อยประมาณ ๕๐๐ เมตร ลงไปทางใต้ สำหรับเวลาจัดงาน หรือ ระยะการแข่งขัน ปัจจุบันใช้เวลา ๔ วัน

การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
มีการเปลี่ยนแปลงกติกาบางประการโดยผลการประชุมของคณะกรรมการจัดงาน ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้แก่ การห้ามเรือเล็กเข้าใกล้บริเวณเรือแข่งขัน จากเดิมที่เคยมีการอนุญาต ให้ร่วมเพื่อสังสรรค์ร่วมกันได้ และมีการกำหนดจำนวนฝีพายให้มีจำนวนไม่เกิน ๓๒ ฝีพาย เพิ่มจากเดิมที่ใช้ฝีพายจำนวน ๑๙ คน ในตำบลหาดยายมีเรือดังกล่าว ๒ ลำ คือเรือนางยวน และเรือมะเขือยำ (ปัจจุบันใช้เป็นเรือนำขบวนพาเหรด เพราะเป็นเรือเก่าแก่ของอำเภอหลังสวนที่ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)

รูปแบบของการแข่งเรือ จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการจัดงาน ดำเนินงานหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเปิดรับสมัครเรือที่เข้าแข่งขัน และมีขบวนแห่ที่มีทั้งพาเหรดทางบก และพาเหรดทางน้ำ ขบวนแห่จะอัญเชิญโล่ห์พระราชทานเป็นต้นขบวน ลักษณะของขบวนพาเหรดทางน้ำ ประกอบด้วยขบวนที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม จัดให้มีการประกวดเรือประเภทต่าง ๆ เช่น ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด ประเภทตลกขบขัน และมีการประกวดมารยาทเรือ ซึ่งพิจารณาจากการเข้าร่วมแข่งขันตลอดรายการ
 

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดนายหัวเรือดีเด่น เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติลุกได้เร็ว ขึ้นโขนเร็ว ไม่ผิดพลาด และไม่ใช่กลอุบายหลอกเรือคู่แข่ง
งานประเพณีแข่งเรือหลังสวน เป็นกิจกรรมที่ต้องจัดขึ้นในทุกปี




บอกเล่าเรื่องราวโดย
ชื่อ นายสมเจตน์ เขียวสม 
เกิด วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ 
ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๖ หมู่ ๔ ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 
การศึกษา มัธยมปีที่ ๖ วิชาชีพครู ครูพิเศษมัธยม 
อาชีพ ทำสวน 
สถานภาพ แต่งงาน 
ชาติพันธุ์ ไทย 
ภาษา ไทย (ท้องถิ่นใต้) 
วันที่ให้สัมภาษณ์ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

ข้อมูลอ้างอิงจาก culture.go.th/pculture/chumphon


ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}