แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เล่นสะบ้า แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เล่นสะบ้า แสดงบทความทั้งหมด

"กวนกะละแม เล่นสะบ้า แห่หงส์ธงตะขาบ" สงกรานต์วิถีมอญ

สงกรานต์ ตรุษสงกรานต์ หรือที่ต่างชาติรู้จักกันในนาม "Water Festival" ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า เพราะถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามประเพณีโบราณ ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

และเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 13 เมษายน คราใด หลายพื้นที่ก็มักจะเตรียมพร้อมเล่นสาดน้ำกับเพื่อนฝูง ครอบครัว เผื่อแผ่ไปยังข้างบ้าน ข้ามเขต และข้ามจังหวัด ให้คลายร้อนในฤดูที่แสงแดดแผดเผา แต่หนึ่งพื้นที่ที่จะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันในวันนี้คือ อ.พระประแดงเนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะมีเชื้อสายมอญ หรือที่บางคนเรียกว่า ชาวมอญปากลัด (ปาก-ลัด) ซึ่งจะไม่มีการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ แต่จะใช้เวลาย่างเข้าปีใหม่นี้ทำความสะอาดบ้าน และช่วยกันกวนกะละแม หรือข้าวเหนียวแดง หรือที่คนโบราณเรียกว่า กวันฮะกอ เพื่อที่จะนำไปทำบุญที่วัด และแจกจ่ายให้ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้าน เหมือนเป็นการแสดงไมตรีจิต จะเรียกว่าเป็นกุศโลบายของคนโบราณก็ได้ ที่อยากให้คนในครอบครัว มาร่วมกันกวนกะละแม กวนไปคุยไป ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน


นอกจากนี้ ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะสังเกตว่ามีการปลูกศาลเพียงตาไว้ และเมื่อถึงวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ เจ้าของบ้าน จะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาล พร้อมด้วยข้าวแช่ เพื่อสักการะพระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์ ซึ่งจะทำพิธีกัน 3 วันด้วยกันคือ 13-15 เมษายน

หลังจากที่ทำบุญกันแล้ว ชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมประเพณีแห่งหงส์ ธงตะขาบ ตามความเชื่อที่ว่า หงส์ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญ ส่วน ตะขาบ นั้น เปรียบถึงการที่ชาวมอญ ไม่หวั่นเกรงศัตรู เหมือนตะขาบที่มีลำตัวยาว  มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ นอกจากนั้น อวัยวะทุกส่วนในตัวของตะขาบ ชาวมอญยังจะนำมาขยายความเป็นคติทางธรรมได้ทั้งสิ้น กล่าวคือ หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง ขันติ โสรัจจะ เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5  อิทธิบาท 4 นั่นหมายความว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลราษฎรของตนได้เหมือนตะขาบแล้ว ก็จะเจริญรุ่งเรือง และสงบสุขไปอีกนานแสนนาน

ทั้งนี้ ขบวนแห่ธงตะขาบจะเป็นการรวมตัวของชุมชนชาวมอญจากวัดต่างๆ รวม 8 วัด โดยในปีนี้ (2555) จะตั้งต้นที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ เคลื่อนขบวนทั้งหมดไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ก่อนที่แต่ละขบวนของแต่ละวัดจะมุ่งหน้าไปยังวัดของตัวเอง เพื่อเอาธงตะขาบไปเปลี่ยนที่เสาหงส์ (ธงตะขาบจะมีการเปลี่ยนปีละครั้ง) ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ พร้อมทั้งจะมีการสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบนี้ จะมีการแห่กันในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

พอตกกลางคืน หนุ่มสาวชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะไปรวมตัวกันที่บ่อน แต่ไม่ได้หมายถึงไปเล่นไพ่ ไฮโล หรือการพนันขันต่อ แต่เป็น บ่อนสะบ้า ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จเนรมิตใต้ถุนบ้านของตัวเอง ด้วยการเกลี่ยพื้นให้เรียบ แล้วจัดให้ชายหญิงได้อยู่คนละฝั่งกัน และใช้ลูกสะบ้าเป็นสื่อในการพูดคุย เรียนรู้อุปนิสัยใจคอ แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นการเล่นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมเท่านั้น



อย่าเพิ่งสงสัย ว่าตกลงชาวมอญ เขาไม่เล่นสาดน้ำสงกรานต์กันหรือ?? ตอบให้ว่า "เล่น" แต่จะเล่นถัดจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ไปอีกหนึ่งอาทิตย์ แต่ก่อนที่จะมีการสาดน้ำ ทุกหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชายจากหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งแห่นก แห่ปลา ไปยังพระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม เพื่อนำไปปล่อย ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ก็มีจะมีหนุ่มสาวออกมาเล่นสาดน้ำ ประแป้งกันพอหอมปากหอมคอ

แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมก็มีอันต้องเปลี่ยนไป การเล่นสาดน้ำพอหอมปากหอมคอ ประพรมอย่างแต่ก่อนคงไม่มี แต่หากเปลี่ยนมาเป็นการนั่งรถกระบะ สาดน้ำเย็น ประแป้งสี แต่กระนั้น ชาวมอญพระประแดง ก็จะเล่นน้ำกันหลังจากที่ทำบุญที่วัดเสร็จแล้ว


เมื่อ อ.พระประแดง กำหนดเล่นสาดน้ำกันหลังจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้นักท่องเที่ยว คนพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางเข้าไปร่วมเล่นกันอย่างล้นหลามไม่แพ้พื้นที่ท่องเที่ยวอย่างพัทยา บางแสน เชียงใหม่ ฯลฯ


แต่ปีนี้อาจจะแตกต่างกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะงานสงกรานต์พระประแดง จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27-29 เมษายน 2555 ส่งท้ายเดือนหรรษากันเลยทีเดียว เอ๊า!!ใครยังไม่มีแพลนไปเที่ยวไหน ก็แวะไปสนุกสนานกันได้ งานนี้ไม่เกี่ยงว่าเป็นไทยหรือมอญ สนุกกันได้แบบไม่แบ่งแยก.

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากเว็บไซต์ ไทยรัฐ > thairath.co.th
เป็นการอ้างอิงเชิง อนุรักษ์วัฒนธรรม
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}