แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วัฒนธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วัฒนธรรม แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย พิธีสืบชะตา


   พิธีสืบชะตาของชาวล้านนามีมาแต่โบราณกาลแล้วและมีการประกอบพิธีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้าสู่อาณาจักรล้านนา   เนื่องจากแต่เดิมนั้นพิธีสืบชะตาถือเป็นพิธีพราหมณ์  โดยมีอาจารย์ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นฆราวาสที่มีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมพื้นบ้านและถือเป็นตัวแทนของพราหมณ์    เป็นผู้ประกอบพิธี  ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจนมีความเจริญรุ่งเรือง  พิธีสืบชะตาจึงมีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธกับพิธีพราหมณ์  โดยมีพระสงฆ์มาทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีสืบชะตาแทนอาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาสจวบจนถึงปัจจุบัน


ในการสืบชะตานั้นจะแต่งดาเครื่องสืบชะตาหลายอย่างซึ่งถือเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่งตามพิธีที่สืบทอดกันมา

ประกอบด้วย

  1.  ไม้ค้ำ มีลักษณะเป็นไม้ง่าม  ๓  อัน สำหรับนำมาประกอบกันเป็นซุ้ม  เรียกว่า  ไม้ค้ำชะตา  แต่ด้วยลักษณะไม้ค้ำที่มีขนาดใหญ่และยาวพอประมาณจึงเรียกว่า  ไม้ค้ำหลวง  บางแห่งก็มีขนาดยาว บางแห่งก็มีขนาดสั้นพอประมาณแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น   แต่ส่วนมากนิยมใช้ขนาดยาวเท่ากับวาแขนหรือความสูงของเจ้าของชะตา ไม้ค้ำมีความหมายว่าเพื่อให้เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาวเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ใกล้จะล้ม  หากมีไม้มาค้ำไว้ก็จะทำให้เจริญงอกงามต่อไป  เหมือนชีวิตคนเราที่ได้รับการค้ำชูย่อมจะมีความสุขความเจริญต่อไปฉันใดก็ฉันนั้น


  สมัยก่อน  ไม้ค้ำ  เป็นชื่อของต้นไม้ประเภทหนึ่ง  หากนำมาตัดกิ่งออกแล้วขุดดินฝังสำหรับใช้เป็นไม้ค้ำต้นไม้ประจำหมู่บ้านหรือไม้หมายเมือง  ไม้ค้ำนี้จะไม่เหี่ยวแห้งเพราะจะมีรากออกมา   ปัจจุบันยังมีต้นไม้ค้ำอยู่ที่บ้านแม่ไทย  อำเภอแม่ทะ  จังหวัดลำปาง     ซึ่งชาวบ้านที่นั้นก็ยังนิยมเอาต้นไม้ค้ำมาใช้ในพิธีสืบชะตาอยู่  คนปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักต้นไม้ชนิดนี้แล้ว  จึงเอาต้นไม้ชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมาทำเป็นไม้ค้ำแทน

  2. กระบอกน้ำ  กระบอกทราย  กระบอกข้าวเปลือก  กระบอกข้าวสาร หมายถึง  ธาตุ  ๔  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้คนเรามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

  3.  สะพาน (ขัว)  หมายถึง  สะพานแห่งชีวิตที่ทอดให้เดินข้ามจากฝั่งที่เลวร้ายไปสู่ฝั่งที่ดีงามกว่า

  4.  บันได (ขั้นได)  หมายถึง  บันไดแห่งชีวิต  สำหรับพาดให้เราปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง  เสมือนคนเราตกบ่อน้ำแล้วต้องปีนป่ายด้วยบันไดออกจากบ่อน้ำ

  5.  ลวดเงิน  ลวดคำ  ลวดหมาก  ลวดเหมี้ยง หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทองและอาหารการกิน

  6.  ไม้ค้ำขนาดเล็ก ไม้ค้ำขนาดเล็กยาวเท่าศอกของเจ้าของชะตาต่างกับไม้ค้ำหลวงที่มีขนาดเท่าวาหรือความสูง  ไม้ค้ำเล็กมีจำนวนเท่าอายุของเจ้าของชะตา  แต่นิยมให้มีจำนวนเกินอายุไปประมาณ  ๒-๓  อัน  เพื่อให้มีอายุยืนยาวขึ้นไปอีก

  7. ช่อ ทำจากกระดาษสีขาวจำนวน  ๑๐๘  อัน

  8.  ตุงค่าคิง หรือตุงชะตา  มีขนาดความยาวเท่าความสูงของเจ้าของชะตา

  9.  เทียนค่าคิง หรือเทียนชะตา  มีขนาดความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของชะตาเหมือนกัน  แต่ต่อมาภายหลังเห็นว่า  เทียนมีขนาดยาว   เมื่อจุดไฟจะทำให้งอ  ก็เลยสีด้วยขี้ผึ้งประมาณคืบหนึ่ง    ส่วนฝ้ายที่เป็นไส้เทียนนั้นยังมีขนาดยาวเท่าความสูงผู้สืบชะตาอยู่

  10.  พระเจ้าไม้ หรือพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้  สำหรับนำมาประดิษฐานที่ยอดไม้ค้ำ  แต่เดิมไม่มีพระพุทธรูป  ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาสู่ล้านนาจนมีความเจริญรุ่งเรืองก็มีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์  จึงนำพระพุทธรูปไม้มาประดิษฐานบนยอดไม้ค้ำเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

  11.  หน่อกล้วย  หน่อยอ้อย  หน่อหมาก  หน่อมะพร้าว มีความหมายว่า  คนที่ได้รับการสืบชะตาจะมีชีวิตที่เหมือนกับได้เกิดใหม่แล้วจะมีความหอมหวาน  มีความเจริญงอกงาม  เหมือนต้นกล้วย  ต้นอ้อย  ต้นหมาก  ต้นมะพร้าวที่พร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป

  12.  สื่อใหม่  (สาด) หมอนใหม่ มีความหมายว่า   ผู้ที่สืบชะตาแล้วจะมีความสุขสบายและนอนหลับฝันดี

    เครื่องสืบชะตาทั้งหมดนี้เมื่อนำมาประกอบกันจัดให้เป็นระเบียบตามแบบโบราณพิธีเรียกว่า  โขงชะตา ถือเป็นบริเวณพิธีหรือเขตศักดิ์สิทธิ์สำหรับสืบชะตาให้มีความสุขความเจริญต่อไป


   ส่วนพิธีส่งนพเคราะห์นั้น  ถือเป็นพิธีพราหมณ์อีกประการหนึ่ง  เมื่อจะทำพิธีส่งก็ต้องจัดเตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม  ประกอบด้วย  สะตวง (กะบะ)  ทำจากกาบกล้วยดิบมีขนาดความกว้างเท่ากับศอกของเจ้าของชะตา  ๑  ศอก  แล้วแบ่งเป็น  ๙  ห้อง หรือ  ๙  ช่อง  ด้วยกาบกล้วยดิบเช่นกัน  แต่ละห้องให้ใส่เครื่องบูชาชนิดต่างๆ ตามกำหนด  ได้แก่  ข้าว  อาหาร   ผลไม้  พริก  เกลือ  ขนม  น้ำ  หมาก  เหมี้ยง  บุหรี่  ดอกไม้  ธูป  เทียน  และช่อ  เครื่องบูชาเหล่านี้นำใส่แต่ละห้องจำนวนไม่เหมือนกัน  แต่ขึ้นอยู่กับกำลังวันของดาวนพเคราะห์   ๙  ดวง  ได้แก่  พระอาทิตย์   พระจันทร์    พระอังคาร     พระพุธ    พระพฤหัสบดี    พระศุกร์     พระเสาร์    พระราหู    และพระเกตุ

   การประกอบพิธีสืบชะตานั้น  อันดับแรกอาจารย์จะทำพิธีปัดเคราะห์  ส่งเคราะห์ก่อนแล้วจึงทำพิธีสืบชะตาทีหลัง  เพื่อให้เคราะห์ภัยที่มีอยู่ในตัวเราสูญไป  แล้วจึงทำพิธีสืบชะตาให้มีความสุขความเจริญ  เมื่อทำพิธีสืบชะตาเสร็จแล้ว  เครื่องบูชาทั้งหลายจะนำไปใช้สาธารณะประโยชน์ต่อไป   กล่าวคือ

ไม้ค้ำ นำไปค้ำต้นไม้ประจำหมู่บ้าน  หรือไม้หมายเมือง  แต่ปัจจุบันคนสมัยใหม่ไม่เข้าใจวิถีปฏิบัติตามแบบโบราณ  มักจะนำไม้ค้ำไปวางไว้ที่ใต้ต้นสรี  (ต้นศรีมหาโพธิ์)

สะพาน นำไปพาดร่องน้ำหรือลำเหมืองเล็ก  เพื่อเป็นสะพานให้ผู้คนเดินข้ามลำเหมืองนั้น

หน่อกล้วย  หน่อยอ้อย  หน่อหมาก  หน่อมะพร้าว นำไปปลูกในที่สาธารณะของหมู่บ้านหรือป่าหมู่บ้าน  บางคนอาจจะปลูกริมร่องน้ำสาธารณะก็ได้  เมื่อผลิดอกออกผล  ใครจะเก็บไปกินไปใช้ก็ไม่มีใครว่า  เพราะถือเป็นของสาธารณะ


การประกอบพิธีสืบชะตาของพ่อหนานศรีเลา   เกษพรหม  แต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือชุดสุภาพพร้อมกับมีผ้าพาด  การประกอบพิธีแต่ครั้งจะเป็นผู้กำหนดวัน  เวลา  และเครื่องประกอบพิธีตามที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลอย่างเคร่งครัด  เพื่อให้การประกอบพิธีมีความถูกต้องและสมบูรณ์  อันจะทำให้เจ้าของชะตามีความสุขความเจริญต่อไป


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก folklore.culture.go.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

"กวนกะละแม เล่นสะบ้า แห่หงส์ธงตะขาบ" สงกรานต์วิถีมอญ

สงกรานต์ ตรุษสงกรานต์ หรือที่ต่างชาติรู้จักกันในนาม "Water Festival" ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า เพราะถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามประเพณีโบราณ ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

และเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 13 เมษายน คราใด หลายพื้นที่ก็มักจะเตรียมพร้อมเล่นสาดน้ำกับเพื่อนฝูง ครอบครัว เผื่อแผ่ไปยังข้างบ้าน ข้ามเขต และข้ามจังหวัด ให้คลายร้อนในฤดูที่แสงแดดแผดเผา แต่หนึ่งพื้นที่ที่จะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันในวันนี้คือ อ.พระประแดงเนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะมีเชื้อสายมอญ หรือที่บางคนเรียกว่า ชาวมอญปากลัด (ปาก-ลัด) ซึ่งจะไม่มีการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ แต่จะใช้เวลาย่างเข้าปีใหม่นี้ทำความสะอาดบ้าน และช่วยกันกวนกะละแม หรือข้าวเหนียวแดง หรือที่คนโบราณเรียกว่า กวันฮะกอ เพื่อที่จะนำไปทำบุญที่วัด และแจกจ่ายให้ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้าน เหมือนเป็นการแสดงไมตรีจิต จะเรียกว่าเป็นกุศโลบายของคนโบราณก็ได้ ที่อยากให้คนในครอบครัว มาร่วมกันกวนกะละแม กวนไปคุยไป ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน


นอกจากนี้ ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะสังเกตว่ามีการปลูกศาลเพียงตาไว้ และเมื่อถึงวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ เจ้าของบ้าน จะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาล พร้อมด้วยข้าวแช่ เพื่อสักการะพระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์ ซึ่งจะทำพิธีกัน 3 วันด้วยกันคือ 13-15 เมษายน

หลังจากที่ทำบุญกันแล้ว ชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมประเพณีแห่งหงส์ ธงตะขาบ ตามความเชื่อที่ว่า หงส์ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญ ส่วน ตะขาบ นั้น เปรียบถึงการที่ชาวมอญ ไม่หวั่นเกรงศัตรู เหมือนตะขาบที่มีลำตัวยาว  มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ นอกจากนั้น อวัยวะทุกส่วนในตัวของตะขาบ ชาวมอญยังจะนำมาขยายความเป็นคติทางธรรมได้ทั้งสิ้น กล่าวคือ หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง ขันติ โสรัจจะ เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5  อิทธิบาท 4 นั่นหมายความว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลราษฎรของตนได้เหมือนตะขาบแล้ว ก็จะเจริญรุ่งเรือง และสงบสุขไปอีกนานแสนนาน

ทั้งนี้ ขบวนแห่ธงตะขาบจะเป็นการรวมตัวของชุมชนชาวมอญจากวัดต่างๆ รวม 8 วัด โดยในปีนี้ (2555) จะตั้งต้นที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ เคลื่อนขบวนทั้งหมดไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ก่อนที่แต่ละขบวนของแต่ละวัดจะมุ่งหน้าไปยังวัดของตัวเอง เพื่อเอาธงตะขาบไปเปลี่ยนที่เสาหงส์ (ธงตะขาบจะมีการเปลี่ยนปีละครั้ง) ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ พร้อมทั้งจะมีการสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบนี้ จะมีการแห่กันในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

พอตกกลางคืน หนุ่มสาวชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะไปรวมตัวกันที่บ่อน แต่ไม่ได้หมายถึงไปเล่นไพ่ ไฮโล หรือการพนันขันต่อ แต่เป็น บ่อนสะบ้า ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จเนรมิตใต้ถุนบ้านของตัวเอง ด้วยการเกลี่ยพื้นให้เรียบ แล้วจัดให้ชายหญิงได้อยู่คนละฝั่งกัน และใช้ลูกสะบ้าเป็นสื่อในการพูดคุย เรียนรู้อุปนิสัยใจคอ แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นการเล่นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมเท่านั้น



อย่าเพิ่งสงสัย ว่าตกลงชาวมอญ เขาไม่เล่นสาดน้ำสงกรานต์กันหรือ?? ตอบให้ว่า "เล่น" แต่จะเล่นถัดจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ไปอีกหนึ่งอาทิตย์ แต่ก่อนที่จะมีการสาดน้ำ ทุกหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชายจากหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งแห่นก แห่ปลา ไปยังพระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม เพื่อนำไปปล่อย ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ก็มีจะมีหนุ่มสาวออกมาเล่นสาดน้ำ ประแป้งกันพอหอมปากหอมคอ

แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมก็มีอันต้องเปลี่ยนไป การเล่นสาดน้ำพอหอมปากหอมคอ ประพรมอย่างแต่ก่อนคงไม่มี แต่หากเปลี่ยนมาเป็นการนั่งรถกระบะ สาดน้ำเย็น ประแป้งสี แต่กระนั้น ชาวมอญพระประแดง ก็จะเล่นน้ำกันหลังจากที่ทำบุญที่วัดเสร็จแล้ว


เมื่อ อ.พระประแดง กำหนดเล่นสาดน้ำกันหลังจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้นักท่องเที่ยว คนพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางเข้าไปร่วมเล่นกันอย่างล้นหลามไม่แพ้พื้นที่ท่องเที่ยวอย่างพัทยา บางแสน เชียงใหม่ ฯลฯ


แต่ปีนี้อาจจะแตกต่างกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะงานสงกรานต์พระประแดง จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27-29 เมษายน 2555 ส่งท้ายเดือนหรรษากันเลยทีเดียว เอ๊า!!ใครยังไม่มีแพลนไปเที่ยวไหน ก็แวะไปสนุกสนานกันได้ งานนี้ไม่เกี่ยงว่าเป็นไทยหรือมอญ สนุกกันได้แบบไม่แบ่งแยก.

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากเว็บไซต์ ไทยรัฐ > thairath.co.th
เป็นการอ้างอิงเชิง อนุรักษ์วัฒนธรรม
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}