พิธีสืบชะตาของชาวล้านนามีมาแต่โบราณกาลแล้วและมีการประกอบพิธีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้าสู่อาณาจักรล้านนา เนื่องจากแต่เดิมนั้นพิธีสืบชะตาถือเป็นพิธีพราหมณ์ โดยมีอาจารย์ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นฆราวาสที่มีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมพื้นบ้านและถือเป็นตัวแทนของพราหมณ์ เป็นผู้ประกอบพิธี ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจนมีความเจริญรุ่งเรือง พิธีสืบชะตาจึงมีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธกับพิธีพราหมณ์ โดยมีพระสงฆ์มาทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีสืบชะตาแทนอาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาสจวบจนถึงปัจจุบัน
ในการสืบชะตานั้นจะแต่งดาเครื่องสืบชะตาหลายอย่างซึ่งถือเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่งตามพิธีที่สืบทอดกันมา
ประกอบด้วย
1.
ไม้ค้ำ มีลักษณะเป็นไม้ง่าม ๓ อัน สำหรับนำมาประกอบกันเป็นซุ้ม เรียกว่า
ไม้ค้ำชะตา แต่ด้วยลักษณะ
ไม้ค้ำที่มีขนาดใหญ่และยาวพอประมาณจึงเรียกว่า
ไม้ค้ำหลวง บางแห่งก็มีขนาดยาว บางแห่งก็มีขนาดสั้นพอประมาณแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่ส่วนมากนิยมใช้ขนาดยาวเท่ากับวาแขนหรือความสูงของเจ้าของชะตา
ไม้ค้ำมีความหมายว่าเพื่อให้เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาวเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ใกล้จะล้ม หากมีไม้มาค้ำไว้ก็จะทำให้เจริญงอกงามต่อไป เหมือนชีวิตคนเราที่ได้รับการค้ำชูย่อมจะมีความสุขความเจริญต่อไปฉันใดก็ฉันนั้น
สมัยก่อน ไม้ค้ำ เป็นชื่อของต้นไม้ประเภทหนึ่ง หากนำมาตัดกิ่งออกแล้วขุดดินฝังสำหรับใช้เป็น
ไม้ค้ำต้นไม้ประจำหมู่บ้านหรือไม้หมายเมือง
ไม้ค้ำนี้จะไม่เหี่ยวแห้งเพราะจะมีรากออกมา ปัจจุบันยังมีต้น
ไม้ค้ำอยู่ที่บ้านแม่ไทย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งชาวบ้านที่นั้นก็ยังนิยมเอาต้นไม้ค้ำมาใช้ในพิธีสืบชะตาอยู่ คนปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักต้นไม้ชนิดนี้แล้ว จึงเอาต้นไม้ชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมาทำเป็น
ไม้ค้ำแทน
2.
กระบอกน้ำ กระบอกทราย กระบอกข้าวเปลือก กระบอกข้าวสาร หมายถึง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้คนเรามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น
3.
สะพาน (ขัว) หมายถึง สะพานแห่งชีวิตที่ทอดให้เดินข้ามจากฝั่งที่เลวร้ายไปสู่ฝั่งที่ดีงามกว่า
4.
บันได (ขั้นได) หมายถึง บันไดแห่งชีวิต สำหรับพาดให้เราปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง เสมือนคนเราตกบ่อน้ำแล้วต้องปีนป่ายด้วยบันไดออกจากบ่อน้ำ
5.
ลวดเงิน ลวดคำ ลวดหมาก ลวดเหมี้ยง หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทองและอาหารการกิน
6.
ไม้ค้ำขนาดเล็ก ไม้ค้ำขนาดเล็กยาวเท่าศอกของเจ้าของชะตาต่างกับไม้ค้ำหลวงที่มีขนาดเท่าวาหรือความสูง ไม้ค้ำเล็กมีจำนวนเท่าอายุของเจ้าของชะตา แต่นิยมให้มีจำนวนเกินอายุไปประมาณ ๒-๓ อัน เพื่อให้มีอายุยืนยาวขึ้นไปอีก
7.
ช่อ ทำจากกระดาษสีขาวจำนวน ๑๐๘ อัน
8.
ตุงค่าคิง หรือตุงชะตา มีขนาดความยาวเท่าความสูงของเจ้าของชะตา
9.
เทียนค่าคิง หรือเทียนชะตา มีขนาดความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของชะตาเหมือนกัน แต่ต่อมาภายหลังเห็นว่า เทียนมีขนาดยาว เมื่อจุดไฟจะทำให้งอ ก็เลยสีด้วยขี้ผึ้งประมาณคืบหนึ่ง ส่วนฝ้ายที่เป็นไส้เทียนนั้นยังมีขนาดยาวเท่าความสูงผู้สืบชะตาอยู่
10.
พระเจ้าไม้ หรือพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้ สำหรับนำมาประดิษฐานที่ยอดไม้ค้ำ แต่เดิมไม่มีพระพุทธรูป ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาสู่ล้านนาจนมีความเจริญรุ่งเรืองก็มีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ จึงนำพระพุทธรูปไม้มาประดิษฐานบนยอดไม้ค้ำเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา
11.
หน่อกล้วย หน่อยอ้อย หน่อหมาก หน่อมะพร้าว มีความหมายว่า คนที่ได้รับการสืบชะตาจะมีชีวิตที่เหมือนกับได้เกิดใหม่แล้วจะมีความหอมหวาน มีความเจริญงอกงาม เหมือนต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นหมาก ต้นมะพร้าวที่พร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป
12.
สื่อใหม่ (สาด) หมอนใหม่ มีความหมายว่า ผู้ที่สืบชะตาแล้วจะมีความสุขสบายและนอนหลับฝันดี
เครื่องสืบชะตาทั้งหมดนี้เมื่อนำมาประกอบกันจัดให้เป็นระเบียบตามแบบโบราณพิธีเรียกว่า โขงชะตา ถือเป็นบริเวณพิธีหรือเขตศักดิ์สิทธิ์สำหรับสืบชะตาให้มีความสุขความเจริญต่อไป
ส่วนพิธีส่งนพเคราะห์นั้น ถือเป็นพิธีพราหมณ์อีกประการหนึ่ง เมื่อจะทำพิธีส่งก็ต้องจัดเตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม ประกอบด้วย สะตวง (กะบะ) ทำจากกาบกล้วยดิบมีขนาดความกว้างเท่ากับศอกของเจ้าของชะตา ๑ ศอก แล้วแบ่งเป็น ๙ ห้อง หรือ ๙ ช่อง ด้วยกาบกล้วยดิบเช่นกัน แต่ละห้องให้ใส่เครื่องบูชาชนิดต่างๆ ตามกำหนด ได้แก่ ข้าว อาหาร ผลไม้ พริก เกลือ ขนม น้ำ หมาก เหมี้ยง บุหรี่ ดอกไม้ ธูป เทียน และช่อ เครื่องบูชาเหล่านี้นำใส่แต่ละห้องจำนวนไม่เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับกำลังวันของดาวนพเคราะห์ ๙ ดวง ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ
การประกอบพิธีสืบชะตานั้น อันดับแรกอาจารย์จะทำพิธีปัดเคราะห์ ส่งเคราะห์ก่อนแล้วจึงทำพิธีสืบชะตาทีหลัง เพื่อให้เคราะห์ภัยที่มีอยู่ในตัวเราสูญไป แล้วจึงทำพิธีสืบชะตาให้มีความสุขความเจริญ เมื่อทำพิธีสืบชะตาเสร็จแล้ว เครื่องบูชาทั้งหลายจะนำไปใช้สาธารณะประโยชน์ต่อไป กล่าวคือ
ไม้ค้ำ นำไปค้ำต้นไม้ประจำหมู่บ้าน หรือไม้หมายเมือง แต่ปัจจุบันคนสมัยใหม่ไม่เข้าใจวิถีปฏิบัติตามแบบโบราณ มักจะนำไม้ค้ำไปวางไว้ที่ใต้ต้นสรี (ต้นศรีมหาโพธิ์)
สะพาน นำไปพาดร่องน้ำหรือลำเหมืองเล็ก เพื่อเป็นสะพานให้ผู้คนเดินข้ามลำเหมืองนั้น
หน่อกล้วย หน่อยอ้อย หน่อหมาก หน่อมะพร้าว นำไปปลูกในที่สาธารณะของหมู่บ้านหรือป่าหมู่บ้าน บางคนอาจจะปลูกริมร่องน้ำสาธารณะก็ได้ เมื่อผลิดอกออกผล ใครจะเก็บไปกินไปใช้ก็ไม่มีใครว่า เพราะถือเป็นของสาธารณะ
การประกอบพิธีสืบชะตาของพ่อหนานศรีเลา เกษพรหม แต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือชุดสุภาพพร้อมกับมีผ้าพาด การประกอบพิธีแต่ครั้งจะเป็นผู้กำหนดวัน เวลา และเครื่องประกอบพิธีตามที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การประกอบพิธีมีความถูกต้องและสมบูรณ์ อันจะทำให้เจ้าของชะตามีความสุขความเจริญต่อไป
เรียบเรียงใหม่โดย
http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก folklore.culture.go.th
ประเพณีภาคเหนือ,
พิธีกรรม,
พิธีชะตากรรม,
พิธีสืบชะตา,
วัฒนธรรม,
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['

']]}