ประเพณีไทย ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน


การตักบาตร
  
    การทำบุญตักบาตร คือ การนำอาหารคาวหวานที่เตรียมไว้ นำไปใส่บาตรพระหรือเณรที่ออกมาบิณฑบาตในตอนเช้า คือ เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ถึงเวลาประมาณ 7 โมงครึ่ง อาหารที่เตรียมมาใส่บาตรคือข้าวที่หุงสุกใหม่และกับข้าว อาหารคาว รวมถึงของหวาน หรือผลไม้ อาจจะเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ด้วยก็ได้
         
               เมื่อพระมาถึงก็นิมนต์ท่านให้หยุด และท่านก็จะเปิดฝาบาตรให้ใส่อาหารหรือของที่เตรียมมาลงในบาตร ดอกไม้ ธูป เทียน จะถวายวางลงบนฝาบาตรที่ปิดแล้วหรืออาจจะใส่ในย่ามก็ได้ พระจะกล่าวให้ศีล ให้พรเป็นอันเสร็จ


         
      การถวายสังฆทาน เป็น " ประเพณีไทย " ที่ทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึง ณ วันนี้
        
              สังฆทาน คือ การถวายของแก่พระโดยไม่เจาะจงพระ การถวายสังฆทานหลักสำคัญอยู่ที่การไม่เจาะจงผู้รับว่าชื่อนั้นชื่อนี้ เพียงแจ้งความจำนงแก่ทางวัด ว่าต้องการ ถวายทานแก่พระสงฆ์ 1 รูป 4 รูป หรือกี่รูปก็ได้ จากนั้นทางวัดจะจัดพระมาให้หรือถ้าพระเดินผ่านมาก็สามารถนิมนต์พระมารับสังฆทานได้เลย
            พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การถวายสังฆทาน เป็นการทำทานที่ได้บุญมากเพราะเป็นการถวายทานที่ไม่มีการระบุเฉพาะว่าเป็นพระสงฆ์รูปใด ดังนั้นหากผู้ที่ต้องการถวายสังฆทาน แต่กำหนดว่าจะถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ถือว่าการทำทานนั้นก็ไม่เป็นสังฆทาน
         
           ของที่จะต้องเตรียมในการถวายสังฆทานได่แก่ อาหาร และ ของใช้ที่จำเป็นสำหรับภิกษุ สามเณร เช่น สบง จีวร แปรงสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัว อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง นม ชา กาแฟ โอวัลติน เป็นต้น หรืออาจจะถวายเงินด้วยก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้ทำสังฆทาน
         
         ในการถวายสังฆทาน หากต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ใดก็จะต้องบอกชื่อ สกุล กับพระภิกษุด้วยเพื่อที่จะได้อุทิศส่วนกุศลไปยังผู้นั้น
         
   พิธีการถวายสังฆทาน เป็นพิธีที่เรียบง่าย เมื่อบอกความประสงค์แก่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะจุดธูป เทียน กล่าว นโม 3 จบ แล้วตามด้วยการกล่าวคำถวายสังฆทาน
         
      คำถวายสังฆทานที่เป็นภาษาบาลี มีดังนี้
         อิมานิ มยังภันเต ภัตตานิ สปริวารานิ ภิกขุสังคัสส โอโณชยาม สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สปริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ฑีฆรัตตัง หิตาย สุขาย
         
     คำแปล
         ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
         เมื่อกล่าวคำถวายสังฆทานเรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ก็จะจบ เสร็จแล้วสาธุ ถวายของให้ท่าน แล้วท่านก็จะกล่าวให้ศีลให้พร ผูถวายสังฆทาน กรวดน้ำ แผ่ส่วนบุญ ส่วนกุศล ซึ่งเป็นอันจบพิธีการถวายสังฆทาน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง 9ddn.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}