แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตักบาตร แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตักบาตร แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน


การตักบาตร
  
    การทำบุญตักบาตร คือ การนำอาหารคาวหวานที่เตรียมไว้ นำไปใส่บาตรพระหรือเณรที่ออกมาบิณฑบาตในตอนเช้า คือ เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ถึงเวลาประมาณ 7 โมงครึ่ง อาหารที่เตรียมมาใส่บาตรคือข้าวที่หุงสุกใหม่และกับข้าว อาหารคาว รวมถึงของหวาน หรือผลไม้ อาจจะเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ด้วยก็ได้
         
               เมื่อพระมาถึงก็นิมนต์ท่านให้หยุด และท่านก็จะเปิดฝาบาตรให้ใส่อาหารหรือของที่เตรียมมาลงในบาตร ดอกไม้ ธูป เทียน จะถวายวางลงบนฝาบาตรที่ปิดแล้วหรืออาจจะใส่ในย่ามก็ได้ พระจะกล่าวให้ศีล ให้พรเป็นอันเสร็จ


         
      การถวายสังฆทาน เป็น " ประเพณีไทย " ที่ทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึง ณ วันนี้
        
              สังฆทาน คือ การถวายของแก่พระโดยไม่เจาะจงพระ การถวายสังฆทานหลักสำคัญอยู่ที่การไม่เจาะจงผู้รับว่าชื่อนั้นชื่อนี้ เพียงแจ้งความจำนงแก่ทางวัด ว่าต้องการ ถวายทานแก่พระสงฆ์ 1 รูป 4 รูป หรือกี่รูปก็ได้ จากนั้นทางวัดจะจัดพระมาให้หรือถ้าพระเดินผ่านมาก็สามารถนิมนต์พระมารับสังฆทานได้เลย
            พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การถวายสังฆทาน เป็นการทำทานที่ได้บุญมากเพราะเป็นการถวายทานที่ไม่มีการระบุเฉพาะว่าเป็นพระสงฆ์รูปใด ดังนั้นหากผู้ที่ต้องการถวายสังฆทาน แต่กำหนดว่าจะถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ถือว่าการทำทานนั้นก็ไม่เป็นสังฆทาน
         
           ของที่จะต้องเตรียมในการถวายสังฆทานได่แก่ อาหาร และ ของใช้ที่จำเป็นสำหรับภิกษุ สามเณร เช่น สบง จีวร แปรงสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัว อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง นม ชา กาแฟ โอวัลติน เป็นต้น หรืออาจจะถวายเงินด้วยก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้ทำสังฆทาน
         
         ในการถวายสังฆทาน หากต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ใดก็จะต้องบอกชื่อ สกุล กับพระภิกษุด้วยเพื่อที่จะได้อุทิศส่วนกุศลไปยังผู้นั้น
         
   พิธีการถวายสังฆทาน เป็นพิธีที่เรียบง่าย เมื่อบอกความประสงค์แก่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะจุดธูป เทียน กล่าว นโม 3 จบ แล้วตามด้วยการกล่าวคำถวายสังฆทาน
         
      คำถวายสังฆทานที่เป็นภาษาบาลี มีดังนี้
         อิมานิ มยังภันเต ภัตตานิ สปริวารานิ ภิกขุสังคัสส โอโณชยาม สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สปริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ฑีฆรัตตัง หิตาย สุขาย
         
     คำแปล
         ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
         เมื่อกล่าวคำถวายสังฆทานเรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ก็จะจบ เสร็จแล้วสาธุ ถวายของให้ท่าน แล้วท่านก็จะกล่าวให้ศีลให้พร ผูถวายสังฆทาน กรวดน้ำ แผ่ส่วนบุญ ส่วนกุศล ซึ่งเป็นอันจบพิธีการถวายสังฆทาน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง 9ddn.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ตักบาตรเทโว


"ตักบาตรเทโว"  มาจากคำเต็มว่า "ตักบาตรเทโวโรหณะ" คือ การตักบาตร แดพระุพุทธเจ้า เมื่อคราวเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

     เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เทศนาโปรดประชาชน ในแคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีปตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติ ทั้งหลายและพระพุทธบิดา แล้วทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดา ซึ่งหลังจาก ประสูติพระองค์แล้วได้ 7 วัน ทรงสิ้นพระชนม์และได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ ชั้นดุสิต ในพรรษาที่ 7  หลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎก โปรดพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง (เหตุที่ทรงใช้ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่แสดงพระธรรมเทศนา ด้วยทรงพระประสงค์ จะโปรดเทวดา ชั้นต่ำด้วย หากพระองค์เสด็จไปชั้นดุสิต เทวดาชั้นดาวดึงส์ จะขึ้นไปชั้นดุสิตไม่ได้ เหมือนประชาชนจะเข้าวังได้ยาก แต่ราชสกุลออกมาฟังกับประชาชนได้) พอถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงมาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น การทำบุญตักบาตรในวันที่พระพุทธองค์ เสด็จลงจากเทวโลก จึงเรียกว่า "การตักบาตรเทโวโรหนะ" หรือ "ตักบาตรเทโวฯ" และพุทธศาสนิกชนได้ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีการทำบุญ ตักบาตรเทโว เป็นประเพณีที่ปฏิบัติคล้ายคลึงกันในทุกวัดทั่วประเทศ ดังจะเห็นได้จาก   



พระพุทธเจ้า ทรงโปรดพุทธมารดา
พระพุทธเจ้า เสด็จลงจากดาวดึงส์
พระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก
  
ที่จังหวัดกาญจนบุรี
     
    วัดบ้านถ้ำจัดประเพณีตักบาตรเทโวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จนถึงปัจจุบัน โดยทำ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุึกปี ชาวบ้านจะถือเป็นเทศกาลพิเศษที่มาร่วมกัน ตักบาตรเทโวอย่างพร้อมเพรียงกัน เนื่องจากวัดบ้านถ้ำ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขา พระครูกาญจโนภาส (หลวงพ่ออุ่น ป.ธ. 4) เป็นผู้ริเริ่มจัดถ้ำใหญ่ให้สมมติ เป็นสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากอารามต่าง ๆ  มารับอาหาร บิณฑบาต โดยมีผู้แต่งกายเป็นเทวบุตรเดินลงมาจากถ้ำคูหามังกรสวรรค์ (ถ้ำนางบัวคลี่) เป็นแถวมาตามขั้นบันได ซึ่งประดับประดาไปด้วยธงทิว ทั้งสองข้างทาง มีขบวนตามมาข้างหลัง ประกอบด้วย พระอินทร์ พระพรหม เหล่าเทพบุตรเทพธิดา เหล่าฝูงเปรตอสูรกายเดินลงตามพระสงฆ์ลงมาเป็นแถว ๆ  เป็นการจำลองตอนพระเจ้าเปิดโลก อาหารที่ชาวบ้านนิยมนำมาตักบาตรเทโว นอกจากจะเป็นข้าวปลาอาหารธรรมดาแล้ว จะมีข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยน หรือข้าวต้มผัดหรือที่เรียกว่า "ข้าวต้มมัด"

 การที่ชาวบ้านถือเป็นประเพณีที่จะต้องมีข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มลูกโยน ในการตักบาตรเทโว เนื่องจากชาวบ้านพากันมาจากท้องถิ่นไกล ๆ เพื่อมาใส่บาตร ฉะนั้นอาหารหรือเสบียงกรังที่ติดตัวมา จึงเป็นอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย แบ่งปันกันสะดวก อยู่ไกลก็โยนให้กันได้ เมื่อมีเสบียงประเภทนี้ติดตัวมา จึงใส่บาตรพระด้วยเสบียงดังกล่าว




พุทธศาสนิกชนทำบุญตักเทโวโรหนะในวันออกพรรษา

     เมื่อเสร็จสิ้นพิธีตักบาตรเทโวแล้ว จะมีเทศน์พิเศษให้ชาวบ้านฟัง เรียกว่า เทศน์เรื่อง เทโว คือเทศน์เรื่องพระพุทธเจ้าเปิดโลก ที่จังหวัดอุทัยธานี

     ประเพณีตักบาตรเทโวที่วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี เป็นงานประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด และจัดได้สอดคล้องกับตำนานมาก โดยสมมติ ให้มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง เป็น "สิริมหามายากุฎาคาร" มีบันไดทอดยาวจากมณฑปลงสู่บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่ทอดยาวจากสวรรค์ดาวดึงส์ สู่เมืองสังกัสนคร

ประเพณีไทยการตักบาตรเทโวของวัดสังกัสรัตนคีรี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี จะตีระฆังที่หน้ามณฑป บนยอดเขาสะแกกรัง เสียงระฆังจะดังกังวานไปไหลเป็น สัญญาณว่า เทศกาลงานตักบาตรเทโวเริ่มขึ้นแล้ว และพระสงฆ์ 9 รูป จะเจริญพระพุทธมนต์บนยอดเขา มีการแสดงปาฐกถาธรรม จุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง สวยงาม วันรุ่งขึ้น (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) ตอนสาย ๆ จะอัญเชิญพระพุทธรูปปางเปิดโลก ขึ้นเสลี่ยงคานหาม โดยมีผู้แต่งชุดนุ่งขาวห่มขาวสมมติเป็นเทวดาหามเสลี่ยง ลงมาจากยอดเขา ตามด้วยขบวนพระภิกษุสงฆ์ทุกรูป ที่จำพรรษาในเขตอำเภอเมือง อุ้มบาตรลงมาจากยอดเขา เดินลงมาตามบันได สู่บริเวณเชิงเขาด้านล่าง

    ส่วนชาวพุทะทางจังหวัดภาคใต้ของไทย นิยมจัดงานประเพณีชักพระหรือขบวนแห่พระพุทธรูปทั้งทางบก และทางน้ำแทนประเพณีตักบาตรเทโว

     ประเพณีการตักบาตรเทโว นับว่าเป็นประเพณี ที่สืบเนื่องพุทธศาสนาอันเป็นพิธีมงคลที่สมควรอนุรักษ์ไว้ เพราะประเพณีนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนิกชนยังมีความเลื่อมใสศรัทธา  ในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีคุณค่าด้านอื่นอีก ได้แก่


พิธีตักบาตรเทโว ที่ขึ้นของวัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี


     จากตำนานความเป็นมาของการตักบาตรเทโว ที่กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงพระคุณ ของพระราชชนนี จึงเสด็จไปเทวโลก เพื่อแสดงธรรม ให้พระราชชนนีบรรลุโลกุตตรธรรม  แสดงให้เห็น ถึงความกตัญญูกตเวทีที่ลูกมีต่อแม่

     ประชาชนจำนวนมากจากต่างถิ่นที่อยู่กัน มากระทำพิธี ตักบาตรร่วมกัน แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในอันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีความสมัครสมาน สามัคคีกันระหว่างบ้านกับวัด
     ในวันสำคัญเช่นนี้ พระสงฆ์ก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจ ตามหน้าที่ของสงฆ์ได้แผ่เมตตา โปรดสัตว์ ได้แสดง พระธรรมเทศนาสั่งสอนให้ประชาชนกระทำความดี การปฏิบัติต่าง ๆ  เหล่านี้ของพระสงฆ์นับได้ว่า เป็นการเผยแพร่ศาสนาโดยตรง

     การที่ประชาชนยังยึดมั่นในประเพณีและปฏิบัติศาสนกิจ ในวันสำคัญทางศาสนาเช่นนี้ นับว่าเป็นการทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาโดยตรง

     ประเพณีการทำบุญตักบาตรเทโว จึงเป็นประเพณี ที่สมควรอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหายไป เพราะประเพณีที่ดี บ่งบอกให้เห็นถึงความศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา จากความเป็นมาของประเพณีก็มีส่วนทำให้ผู้มาทำบุญ ตักบาตรเทโวในวันนี้ มีจิตใจระลึกถึงพระคุณของมารดา ผู้ให้กำเนิด  ดังนั้น เพื่อให้ประเพณีการทำบุญ ตักบาตรเทโว ยังคงอยู่กับพระพุทธศาสนาตลอดไป จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พุทธศาสนิกชนทุกคน รวมทั้งทางวัด จะต้องร่วมมือร่วมใจกันโดยสืบทอดประเพณีและจัดให้มี ประเพณีการทำบุญตักบาตรเทโวทุกปีอย่างสม่ำเสมอ

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com


ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}