แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทำบุญ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทำบุญ แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย ทำบุญ


 

     ทำบุญ หมายถึง การกระทำดีตามหลักคำสอนในศาสนา วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายคุ้นเคยกับการทำบุญ และถือว่า ควรทำบุญอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ชีวิตมีความสงบสุข ได้พบแต่สิ่งดี ๆ แม้มีอุปสรรคหรือประสบชะตากรรม การทำบุญก็ช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ การทำบุญมาก ๆ แม้ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ได้อยู่ในที่ที่มีแต่ความสุข ทำบุญมากจะทำให้สามารถไปถึงนิพพานได้
    
  คนไทยมีความเชื่อตามแนวทางพุทธศาสนา คือ ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ซึ่งหมายถึงผลแห่งกรรม หรือผลแห่งการกระทำ ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น
     
   หลักง่ายในการทำบุญแล้วได้บุญ คือ ต้องมีจิตใจพร้อม ยินดี มีใจบริสุทธิ์ที่จะทำบุญ การทำบุญต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและผู้อื่น
     
  การทำบุญ ทำได้ 3 วิธีคือ การให้ทาน การรักษาศีล และ การภาวนา ถ้าปฏิบัติได้ครบ 3 วิธี ถือว่าทำบุญได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การทำทาน เป็นการทำบุญ ซึ่งก็ถูก เพราะเป็นขั้นต้นของการทำบุญ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง ทาน เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ทำกันสม่ำเสมอ
     
การทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

     การทำบุญตักบาตร คือ การนำอาหารไปใส่บาตรพระเณรที่ออกจากวัดมาบิณฑบาตในตอนเช้า คือ เวลาประมาณ 6.00-7.30 น. พระเณรจะออกมาบบิณฑบาต หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาโปรดสัตว อันหมายถึง การมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำทาน หรือได้ทำบุญ นั่นเอง
ทำบุญตักบาตรริมคลอง ที่หนองจอก

     อาหารที่จะนำมาใส่บาตร มักจะจัดเตรียมอย่างดี คือ ข้าวที่หุงสุกใหม่ กับข้าวก็จัดเตรียมให้พร้อม รวมทั้งของหวานและผลไม้ด้วย บางคนก็เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ด้วย เมื่อพระเณรมาถึง ชาวบ้านก็นิมนต์ให้ท่านหยุดและเปิดฝาบาตรออก ชาวบ้านก็จะใส่ข้าว กับข้าว ขนม และผลไม้ลงไป ส่วนดอกไม้ ธูป เทียน ก็จะถวายบนฝาบาตรที่ปิดบาตรแล้ว หรือใส่ย่ามที่พระเณรเตรียมมา พระก็จะให้ศีล ให้พร เป็นเสร็จ ถ้าจะให้ดี ควรหลั่งน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวร หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีการทำบุญตักบาตรด้วยการทำทาน

     เรื่องการทำบุญ โดยวิธีการทำทานนี้ คนไทยประพฤติปฏิบัติกันมานานเป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว การทำทานในพระพุทธประวัติกล่าวไว้ 2 ตอน คือ ครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ เสด็จไปประทับ ณ ควงไม้เกด พ่อค้าชื่อ ตะปุสสะ และภัลลิกะ ผ่านมาก็เลื่อมใส นำข้าวสัตตุผงสัตตุก้อนที่เป็นเสบียงมาถวาย พระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาหารด้วยบาตร ครั้งที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังป่ามะม่วง ตำบลอนุปิยะ แคว้นมคธ ได้เสด็จออกบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ ของพระเจ้าพิมพสาร ชาวเมืองเห็นพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตครั้งแรก ก็ชวนกันนำอาหารมาใส่บาตร เลยถือปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้นในตอนเช้าเราจึงเห็นพระเณรออกบิณฑบาต และเห็นชาวบ้านทุกเพศทุกวัยออกมาทำบุญ คือ มาทำทาน โดยนำอาหารมาตักบาตแด่พระสงฆ์และสามเณร

ข้อมูลอ้างอิง thaifolk.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน


การตักบาตร
  
    การทำบุญตักบาตร คือ การนำอาหารคาวหวานที่เตรียมไว้ นำไปใส่บาตรพระหรือเณรที่ออกมาบิณฑบาตในตอนเช้า คือ เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ถึงเวลาประมาณ 7 โมงครึ่ง อาหารที่เตรียมมาใส่บาตรคือข้าวที่หุงสุกใหม่และกับข้าว อาหารคาว รวมถึงของหวาน หรือผลไม้ อาจจะเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ด้วยก็ได้
         
               เมื่อพระมาถึงก็นิมนต์ท่านให้หยุด และท่านก็จะเปิดฝาบาตรให้ใส่อาหารหรือของที่เตรียมมาลงในบาตร ดอกไม้ ธูป เทียน จะถวายวางลงบนฝาบาตรที่ปิดแล้วหรืออาจจะใส่ในย่ามก็ได้ พระจะกล่าวให้ศีล ให้พรเป็นอันเสร็จ


         
      การถวายสังฆทาน เป็น " ประเพณีไทย " ที่ทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึง ณ วันนี้
        
              สังฆทาน คือ การถวายของแก่พระโดยไม่เจาะจงพระ การถวายสังฆทานหลักสำคัญอยู่ที่การไม่เจาะจงผู้รับว่าชื่อนั้นชื่อนี้ เพียงแจ้งความจำนงแก่ทางวัด ว่าต้องการ ถวายทานแก่พระสงฆ์ 1 รูป 4 รูป หรือกี่รูปก็ได้ จากนั้นทางวัดจะจัดพระมาให้หรือถ้าพระเดินผ่านมาก็สามารถนิมนต์พระมารับสังฆทานได้เลย
            พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การถวายสังฆทาน เป็นการทำทานที่ได้บุญมากเพราะเป็นการถวายทานที่ไม่มีการระบุเฉพาะว่าเป็นพระสงฆ์รูปใด ดังนั้นหากผู้ที่ต้องการถวายสังฆทาน แต่กำหนดว่าจะถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ถือว่าการทำทานนั้นก็ไม่เป็นสังฆทาน
         
           ของที่จะต้องเตรียมในการถวายสังฆทานได่แก่ อาหาร และ ของใช้ที่จำเป็นสำหรับภิกษุ สามเณร เช่น สบง จีวร แปรงสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัว อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง นม ชา กาแฟ โอวัลติน เป็นต้น หรืออาจจะถวายเงินด้วยก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้ทำสังฆทาน
         
         ในการถวายสังฆทาน หากต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ใดก็จะต้องบอกชื่อ สกุล กับพระภิกษุด้วยเพื่อที่จะได้อุทิศส่วนกุศลไปยังผู้นั้น
         
   พิธีการถวายสังฆทาน เป็นพิธีที่เรียบง่าย เมื่อบอกความประสงค์แก่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะจุดธูป เทียน กล่าว นโม 3 จบ แล้วตามด้วยการกล่าวคำถวายสังฆทาน
         
      คำถวายสังฆทานที่เป็นภาษาบาลี มีดังนี้
         อิมานิ มยังภันเต ภัตตานิ สปริวารานิ ภิกขุสังคัสส โอโณชยาม สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สปริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ฑีฆรัตตัง หิตาย สุขาย
         
     คำแปล
         ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
         เมื่อกล่าวคำถวายสังฆทานเรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ก็จะจบ เสร็จแล้วสาธุ ถวายของให้ท่าน แล้วท่านก็จะกล่าวให้ศีลให้พร ผูถวายสังฆทาน กรวดน้ำ แผ่ส่วนบุญ ส่วนกุศล ซึ่งเป็นอันจบพิธีการถวายสังฆทาน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง 9ddn.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}