ประเพณีไทย เดินวิ่ง ห้วยมงคล...ถนนของพ่อ




จ.ประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับ อ.หัวหิน และวัดห้วยมงคล (หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก) จัดงาน “ห้วยมงคล...ถนนของพ่อ” ระหว่างวันที่ 2 - 10 ธันวาคม 2555 ณ วัดห้วยมงคล ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา (5 ธ.ค. 55) เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผลงานด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ซึ่งกิจกรรมที่สำคัญในงานมากมาย เช่นกิจกรรมเดิน – วิ่ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา (5 ธ.ค. 55) ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2555 ณ วัดห้วยมงคล ต.ทับใต้ อ.หัวหิน โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งเส้นทางการแข่งขันเริ่มตั้งแต่ จุดปล่อยตัวหน้าวัดห้วยมงคล กลับตัวที่ป้ายตลาดน้ำสามพันนาม ระยะทาง 2.5 กม. เพื่อเข้าเส้นชัยที่องค์พระหลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล รวมระยะทางทั้งสิ้น 5 กม. ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรม จะได้รับหลวงพ่อทวดไว้บูชา 1 องค์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน

ผู้ใดสนใจร่วมกิจกรรมสามารถติดต่อขอลงทะเบียนได้ภายในงานห้วยมงคล...ถนนของพ่อ ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2555 รายงานตัวเวลา 04.00 น. ปล่อยตัวนักกีฬาเวลา 06.30 น. หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สนามกีฬากลางจังหวัดประจวบคีรีขัน์ ถ.เทิดพระเกียรติ อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77000 หมายเลขโทรศัพท์ 032 – 611543 , 032 - 604777


ประวัติความเป็นมา ของ ถนนของพ่อ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานถนนสายห้วยมงคล แก่ชาวบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อพุทธศักราช 2495 แล้ว ในเวลาต่อมาตราบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆอีกหลายพันโครงการ เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะที่หมู่บ้านห้วยมงคลนั้น นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานถนนสายห้วยมงคลเข้าสู่หมู่บ้าน อันเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรก เมื่อพุทธศักราช 2495 แล้ว ถนนสายนี้ได้นำความสุขมาสู่ราษฎรในหมู่บ้าน เนื่องด้วยสามารถนำผลิตผลจากอาชีพเกษตรกรรมออกไปจำหน่ายได้เป็นผลดี การประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ มีความสะดวกเนื่องด้วยมีถนนเป็นทางสัญจรที่อำนวยประโยชน์นานัปการ ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ท้องถิ่นได้รับการพัฒนา และมีความเจริญติดตามมาหลายด้าน ดังปรากฏข้อมูลจากบทความเรื่องชีวิตใหม่ ที่บ้านห้วยมงคล ในวารสารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค.2547 ตอนหนึ่ง กล่าวว่า
ลุงเทียนจิ้น เซี่ยงฉิน วัย 92 ปี ชาวบ้านห้วยมงคล ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ อาชีพทำสวน ทำไร่ อยู่ที่บ้านห้วยมงคล ตั้งแต่ยังเป็นถิ่นทุรกันดาร ไม่มีถนน บอกว่า อดีตลำบากยากเข็ญมากการเดินทางจากหมู่บ้านห้วยมงคลเข้าไปในตัวเมืองหัวหิน ถึงแม้ระยะทางจะไม่ไกล แต่การเดินทางก็ทุลักทุเลเต็มที ชาวบ้านต้องบรรทุกกล้วย ข้าวโพด และพืชผักใส่เกวียน ไปขายในเมืองหัวหิน บ้านไหนพอมีอันจะกิน ก็ใช้รถจิ๊ปเก่าๆ ถ้าไม่ปั่นจักรยานก็เดิน ต้องใช้เวลาเดินทาง 2 วัน 2 คืน ด้วยพระบารมีของในหลวงเรา ที่มาสร้างถนนสายห้วยมงคล การขนส่งสินค้าเกษตรดีขึ้น
ปัจจุบัน วัดห้วยมงคล ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของหัวหิน เนื่องจากวัดได้พัฒนาสิ่งก่อสร้างต่างๆ และพระครูปภัสสรวรพินิจ (ไพโรจน์ ปภัสสโร) เจ้าอาวาสได้ร่วมมือกับพลเอกพิเศษ คงอุทัยกุล รองสมุหราชองครักษ์ ก่อสร้างหลวงพ่อทวด องค์ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อน้อมเกล้าถวายพระราชกุศลอด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลทรงเจริญทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเททองหล่อองค์หลวงพ่อทวด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 และพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการจัดสร้างอัญเชิญ อักษรย่อพระนามาภิไธย ส.ก. ประดิษฐานที่หน้าองค์พระหลวงพ่อทวดหล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 9.9 เมตร สูง 11.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสูง 3 ชั้น ชั้นล่าง กว้างและยาว 70 เมตร มีผู้มีจิตศรัทธาและนักท่องเที่ยวไปนมัสการ และชมหลวงพ่อทวด องค์ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลวงพ่อทวดเป้นที่เคารพสักการะ และเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยพุทธมาช้านานแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาพเก็บตกงานประเพณี เดินวิ่งถนนของพ่อ ถวายให้ในหลวง
ประเพณีไทย วันพ่อแห่งชาติ
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

วิธีทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ

สวัสดีครับก่อนจะถึงลอยกระทงวันนี้ผมก็เลยมาหาบทความจากเว็บอื่นๆมาอัพเดทซะหน่อย วิธีทำกระทงไปลอยกับ สาวๆ หนุ่มๆ



วิธีการทำกระทงโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรูปดอกบัวที่บาน ซึ่งถือตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา เพราะถือเป็นการขอขมาแม่น้ำคงคา ที่พวกเราได้ล่วงเกิน
ส่วนในกระทงของเราก็จะประกอบไปด้วย การปักธูปเทียน ตามความเชื่อของคนโบราณก็จะตัดเล็บ เส้นผม เพราะเชื่อกันว่าเป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ จากชีวิตเรา ให้ลอยไปกับแม่น้ำ หรือจะใส่เหรียญกษาปณ์ เหรียญบาทลงไปในกระทงด้วย
สำหรับท่านที่มีความสามารถในการทำกระทงด้วยตัวเอง..ถือเป็นเรื่องที่ดีมากเนื่องจากจะได้สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
ส่วนวิธีทำกระทงที่นำมาให้ดูก็มีสามแบบด้วยกัน…

แบบที่ 1 กลีบผกา


วิธีทำ

1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ
2. พับตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาวางซ้อนให้ลดหลั่นกันไปตามภาพ ซึ่งจะนับเป็น 1 ตับ
3. นำไปติดโดยรอบที่ขอบของฐานกระทง ซึ่งเป็นต้นกล้วยตัดเป็นแว่น ความหนา 1.5 – 2 นิ้ว โดยประมาณ ทั้งนี้ปริมาณของกลีบกระทงที่ใช้จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตัว ฐาน
4. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ

แบบที่ 2 กลีบกุหลาบ


วิธีทำ
1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ
2. พับเป็นกลีบกุหลาบตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาสวมเีัรียงกันให้มีระยะห่างพองามตามความชอบ ควรจัดให้ยอดของกลีบ และลอนของกลีบตรงเสมอเป็นแนวเดียว ซึ่งจะทำให้ผลงานออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. ใช้ด้ายสีเขียวใกล้เคียงกับใบตอง หรือสีดำมาเย็บติดกันด้วยด้นถอยหลังให้เป็นแนวตรงเสมอกันโดยตลอด
4. พับกลีบใบตองแล้วเย็บต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถหุ้มขอบของฐานกระทงได้โดยรอบ ตรึงกลับใบตองกับฐานของกระทงด้วยหมุด แล้วขลิบส่วนที่เลยพ้นฐานลงมาให้เรียบร้อยเสมอกับฐาน เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับมงกุฏสวมศีรษะ
5. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ

แบบที่ 3 หัวขวาน

กระทงใบตอง

วิธีทำ
1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ
2. พับตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาสวมเรียงกันให้มีระยะห่างพองามตามความชอบ เพื่อให้ผลงานออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ควรพับแต่ละกลีบให้ได้ขนาดเท่ากันทุกจุด
3. ใช้ด้ายสีเขียวใกล้เคียงกับใบตอง หรือสีดำมาเย็บติดกันด้วยด้นถอยหลังให้เป็นแนวตรงเสมอกันโดยตลอด
4. พับกลีบใบตองแล้วเย็บต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถหุ้มขอบของฐานกระทงได้โดยรอบ ตรึงกลับใบตองกับฐานของกระทงด้วยหมุด แล้วขลิบส่วนที่เลยพ้นฐานลงมาให้เรียบร้อยเสมอกับฐาน เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายอ่างน้ำ
5. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ
สามารถนำการพับใบตองรูปแบบนี้ไปใช้ร่วมกับการพับรูปแบบอื่นๆ ในผลงานชิ้นเดียวกันได้ตามความชอบ และความคิดดัดแปลง
ส่วนตอนที่จะนำไปลอยนั้น บางคนอาจจะตัดเล็บ และผมใส่ลงไปด้วย ตามความเชื่อว่าเป็นการขจัดสิ่งร้ายๆ ให้ออกไปจากตัวเรา หรือจะใส่เหรียญลงไปด้วย เพื่อนำมาซึ่งความมั่งคั่งตามความเชื่อก็ได้นะคะ
ส่วนของตัวกระทง ใช้หยวกกล้วย หรือวัตถุที่ย่อยสลายได้ตัดให้เป็นวงโดยสูงประมาณ1-2.5 นิ้ว ส่วนขนาดแล้วแต่ความพอใจ ขั้นตอนต่อคือการนำเอาใบตองมาพับเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อประดิษฐ์เป็นกระทง
ข้อมูลอ้างอิงจาก baanmaha.com
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
  1. ไอเดียกระทงสวยๆ
  2. ประเพณีไทย ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัด.สุโขทัย
  3. ประเพณีไทย ลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง
  4. ประเพณีไทย วันลอยกระทง
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย รับตายาย ส่งตายาย สารทเดือนสิบ


ประเพณีไทยรับ-ส่งตายาย ประเพณีท้องถิ่นของคนใต้ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่โบราณ มีขึ้นในช่วงกลางเดือนสิบ ประมาณเดือนกันยายน  ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ-วันแรม 15 ค่ำ ของทุกปี หรือที่เรียกกันว่าประเพณีสารทเดือนสิบ  คำว่า "สารท" เป็นภาษาบาลีแปลว่า ฤดูอับลม หรือฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า "ศารท" ฤดูสารท หรือฤดูศารท ตรงกับเดือน 11 และเดือน 12 แต่การทำบุญวันสารทของไทยอยู่ในราวปลายเดือน 1 อาจเป็นเพราะการนับเดือนสมัยโบราณ เริ่มนับจากข้างแรม ถ้านับเริ่มจากเดือน 5 ปลายเดือน 10 จะเป็นวันครบครึ่งปี ดังนั้น คำว่า "สารท" ตามคติไทยอาจถือเป็นวันทำบุญครบครึ่งปีก็ได้ อันที่จริงประเพณีสารทเดือนสิบนี้เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในทุกท้องถิ่นทั่วไทย แต่เรียกชื่อต่างกันไปตามพิธีกรรม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประจำในถิ่นนั้นๆ
  • ภาคเหนือ เรียก กินก๋วยสลาก /ทานก๋วยสลาก/ตานก๋วยสลาก/ตานสลาก/ กิ๋นข้าวสลาก/กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก
  • ในภาคอีสาน เรียกบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก
  • ภาคกลาง เรียก สลากภัตรและสลากกระยาสารท
  • ภาคใต้ เรียก ประเพณีทำบุญเดือนสิบ หรือรับ-ส่งตายาย

การทำบุญสารทเดือนสิบ หรือทำบุญตายาย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ โดยในช่วงปลายเดือนสิบของแต่ละปี ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นได้รับผล คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลแรกแก่ ผีสาง เทวดาเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อได้รับศาสนาพราหมณ์และพุทธ พิธีกรรมดังกล่าวจึงเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า "ปรทัตตูปชีวีเปรต" จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลูกหลานที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น ?การชิงเปรต? ในเวลาต่อมา

วิถีพุทธของคนไทยมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเปิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศกุศลไปให้ในแต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน แล้วจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
วันรับตายาย จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับมาจากยมโลก วันนี้จะมีการจัดอาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน ไปทำบุญที่วัด เพื่อเป็นการอุทิศ ส่วนกุศลให้แด่ท่านผู้ล่วงลับ เรียกวันทำบุญวันนี้ว่าวัน 'หมฺรับเล็ก'คนที่ไปทำงานหรือไปอาศัยที่อื่นๆก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมงานบุญนี้กับครอบครัว เป็นวันรวมญาติกันอีกวันหนึ่ง

วันส่งตายาย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะต้องกลับยมโลกดังเดิม เป็นพิธีใหญ่ของงานบุญสารทเดือนสิบ เริ่มทำกันตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ โดยแต่ละบ้านจะเตรียมจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ เตรียมทำขนมที่ใช้ในพิธี รุ่งขึ้นวันแรม 14 ค่ำ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้ การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเครื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี 5 อย่าง (บางแห่งมี 6 อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา และตั้งร้านเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้  มีการชิงเปรต และแจกจ่ายขนมในหฺมฺรับ ที่เหลือจากถวายพระแบ่งให้ลูกหลานนำกลับไปกินกัน
ประเพณีรับตายาย-ส่งตายาย ในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบของชาวใต้ มีทั้งพิธีกรรมทางประเพณี และพิธีทางพุทธศาสนา งานนี้จึงจัดขึ้นที่วัดทุกแห่งในภาคใต้ แต่ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นงานประจำปีของจังหวัด คืองานเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากประเพณีท้องถิ่นที่ทำกันทุกหมู่บ้าน มาเป็นงานประจำปีของจังหวัด เริ่มจัดงานครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังจึงถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า กลายเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งความสำคัญและความยิ่งใหญ่ ของการจัดงานทำให้งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป ในภาคใต้ รวมทั้งภาคอื่นๆ ของประเทศด้วย

เรียเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก siamfreestyle.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญผะเหวด ภาคอีสาน




ความเป็นมา บุญผะเหวด เป็นประเพณีไทยอีสาน

    "บุญผะเหวด" เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า "บุญพระเวส"หรือ พระเวสสันดร เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา ตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว ภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย โดยบุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน

     วันแรก เป็นวันเตรียม ในวันแรกนี้ ชาวบ้าน จะช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญ

     วันที่สอง เป็นวันโฮม เป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร  ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธีมี ทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด(ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย  ในเรื่องพระมาลัยนี้ จะแสดงให้เห็นถึงที่มาของประเพณีบุญผะเหวด

     ส่วนวันที่สาม เป็นงานบุญพิธี  เป็นวันที่มีเทศน์เวสสันดรชาดก ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงราย นำกัณฑ์เทศน์ กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน มาถวายพระ พระสงฆ์จะเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกจนจบ และเทศน์อานิสงส์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี


มูลเหตุของพิธีกรรม 

      จากเรื่องในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบปะสนทนากับพระศรีอริยเมตไตย ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เนื้อความตอนหนึ่งว่า....

“..   ลำดับนั้น สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตยใคร่จักทราบถึงวิธีการทำบุญของเหล่าชาวชมพูทวีป จึงขอให้พระมาลัยวิสัชนา พระมาลัยจึงกล่าวว่า  “มนุษย์บางพวกก็ให้ทานรักษาศีล บางพวกก็จัดให้มีพระธรรมเทศนาพร้อมกับป่าวประกาศให้ชาวประชามารับฟัง บ้างก็สร้างวัดวาอารามศาลากุฎี บ้างก็สร้างสถูปเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ในพระศาสนา บ้างก็ถวายเสนาสนะคิลานเภสัชแด่พระภิกษุสงฆ์ บ้างก็มีเจตจำนงถวายภัตตาหารบิณฑบาตตลอดจนสบงจีวรแด่พระภิกษุ บ้างก็เป็นบุตรกตัญญูเลี้ยงดูบำรุงบิดามารดา บ้างก็สร้างพระคัมภีร์ไตรปิฎก สุดแท้แต่กำลังแห่งทรัพย์แลปัญญาของตน มหาบพิตร”

     เมื่อสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตยได้ทราบถึงวิธีการทำบุญกุศลของชาวชมพูทวีปแล้ว พระองค์จึงถามถึงมโนปนิธานในการทำบุญนั้นว่าหวังผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติ พระมาลัยตอบว่า “ดูกรมหาบพิตร อันมนุษย์ทั้งหลายที่หมายทำบุญกุศลด้วยมิได้หวังผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติแต่อย่างใด กลับมุ่งหมายให้ได้เกิดทันศาสนาของพระองค์ทั้งนั้นเป็นส่วนใหญ่ ที่หมายใจเป็นอย่างอื่นกลับมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง”

     เมื่อพระศรีอาริยเมตไตยทรงสดับเช่นนั้นก็มีพระดำรัสตรัสฝากพระมาลัยไว้ว่า “ถ้าพวกเขาเหล่านั้นอยากเกิดทันศาสนาของข้าพระองค์ ก็จงอุตส่าห์ฟังธรรมมหาเวสสันดรชาดกให้จบทั้งหมดในวันเดียว แล้วบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้อย่างละพันฉัตร อันประกอบด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวเขียว ดอกบัวขาว ดอกสามหาวอย่างละพัน ถ้าทำได้ดังนั้นก็จะพบกับศาสนาของข้าพระองค์ ส่วนคนบาปหยาบช้าหนาหนัก เช่นกระทำปิตุฆาต มาตุฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า แลทำสังฆเภทให้หมู่สงฆ์เกิดการแตกแยกแตกความคิดไม่สามัคคี ทำลายพระเจดีย์แลพระพุทธรูป ตลอดจนคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวไม่รู้จักทำบุญให้ทาน ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ดำรงตนอยู่ในความประมาท คนพวกนี้มิได้มีโอกาสพบศาสนาของข้าพระองค์เป็นแน่แท้”

     เมื่อพระมาลัยได้ฟังดังนั้น ก็กำหนดจดจำไว้ในใจ เพื่อว่าจะได้นำไปเทศนาสั่งสอนชาวประชาทั้งหลายให้ได้ปฏิบัติ…”
     ด้วยมูลเหตุนี้ ชาวอีสานต้องการจะได้พบพระศรีอริยเมตไตย และเกิดร่วมศาสนาของพระองค์ จึงมีการทำบุญผะเหวด เป็นประจำทุกปี

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก isan.clubs.chula.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ปีใหม่โบราณ



แต่เดิมนั้น เราถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่
          ครั้งภายหลัง เมื่อทางราชการนิยมใช้วันทางสุริยคติ จึงได้ถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันปีใหม่ มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ และเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ทางราชการก็ได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลง ให้เอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดาอารยะประเทศ

          บางทีอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า แต่ก่อนเราถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ วันสงกรานต์นั้นจะตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ของทุกปี  จนในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ วันสงกรานต์นี้ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕จึงประกาศให้ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมา สาเหตุก็เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ คือในปีนั้น ตรงกันทั้งวันสงกรานต์และวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕

          ได้มีการใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่นั้นเรื่อยมา แม้ว่าในปีต่อไปจะไม่ตรงกับวันสงกรานต์ ทั้งนี้เพื่อให้มีกำหนดวันทางสุริยคติที่แน่นอนตายตัวลงไป

          จันทรคติ คือ การนับวันเดือนปี โดยใช้การโคจรของพระจันทร์เป็นเกณฑ์ คือ นับขึ้นแรม นับเดือนอ้าย ยี่ สาม สี่ ฯลฯ นับปีชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ เรียกว่า การนับทางจันทรคติ

          สุริยคติ คือ การนับวันเดือนปี โดยใช้การโคจรของพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ คือวิธีการนับอย่างในปัจจุบัน เช่น วันจันทร์ อังคาร พุธ เดือน มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และปี พ.ศ. ปี ค.ศ. ต่างๆ ฯลฯ
          ต่อมาในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เป็นสากลทั่วโลก และใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ ================
        เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญๆ

        ครั้นถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ไปวัดเพื่อประกอบกิจกุศลต่างๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฎิบัติธรรม แต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงเป็นที่ครื้นเครงสนุกสนาน  เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 

       เช้าวันที่ ๑ มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน

        สำหรับในต่างจังหวัด จะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับ กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้าน หรือจัดมหรสพมาฉลอง

คติข้อคิดในวันปีใหม่
================
        เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไปครบ ๑ ปี เราได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ขอให้ลองมองย้อนหลังกลับไปคิดดูว่า วันเวลาที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือเปล่า  และได้กระทำคุณงามความดีอันใดไว้บ้าง ควรหาโอกาสกระทำให้ยิ่งขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันเราได้กระทำความผิดหรือสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องไว้หรือไม่ หากมีต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงต้นฉบับหาย

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}