ประเพณีไทย ทิ้งกระจาด


 งานทิ้งกระจาด เป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีแนวคิดคล้าย พิธีกงเต้ก เป็นการ เจริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ตาย และของใช้อื่นๆ มาแจกจ่ายแก่ผู้ยากจน ตาม ตำนานพระสูตร กล่าวว่า "สมัยหนึ่งพระอานนท์กำลังบำเพ็ญสมาธิ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ เกิดมีอสุรกาย ตนหนึ่ง สำแดงร่างเป็นเปรต รูปร่างผอมสูง มีแต่หนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม เปรตนั้นได้กล่าวแก่พระ อานนท์ว่า อีก 3 วัน พระเถระจะถึงแก่มรณภาพ พระอานนท์จึงถามว่าจะแก้ไขอย่างไร เปรตตอบว่า ต้องทำ พิธีอุทิศเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นไทยทานแก่ฝูงเปรตทั้งหลายจึงจะรอดพ้น และพระเถระก็จะมีอายุมั่นขวัญ ยืน พระอานนท์จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็โปรดให้ประกอบพิธีเมตตาธรรมตามที่พระอานนท์ กราบทูล พิธีนี้จึงเกิดขึ้นและสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และเรียกกันว่า งานทิ้งกระจาด งานทิ้งกระจาดของสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว แต่จะจัดติดต่อ กันมาตลอดหรือขาดหายไปในระยะใดบ้างนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เท่าที่มีหลักฐานปรากฏว่า ในสมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2487) งานทิ้งกระจาดมีสืบเนื่องมาทุกปีไม่เคยเว้น

ความสำคัญ
        งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้ เป็นงานที่รวมกันของประชาชน ในวันที่จะทำบุญให้ทาน เป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เป็นการสร้างความเอื้ออาทรกันในหมู่สมาชิกของสังคมส่วนใหญ่ โดยถือว่าการทำบุญให้ทานนี้เป็นเครื่องลดความเห็นแก่ตัวลง

พิธีกรรม

        งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้จะเริ่มหลัง วันสารทจีน 3 วัน วันเพ็ญเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ประมาณปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ตามปฏิทินไทย อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาตั้งเป็นประธานในพิธี ซึ่งจะสร้างเป็นโรงกงเต็ก ที่หน้าสมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง และศาลมูลนิธิท่งเอี้ยะเซี่ยงตึ้ง ถนนพันคำ ภายในโรงกงเต็กนี้มีการอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาสิงสถิตในโรงกงเต็กชั่วคราว ติดกับบริเวณโรงพิธีจะมีร้านปลูกไว้สูง 4-5 เมตร บนร้านมีกระจาดใส่สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิดที่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านร้านตลาด ในวันที่สามของงานจะเป็นวันทิ้งกระจาด ทำเป็น ติ้ว ติดหมายเลขทิ้งลงมาจากร้านสูงนั้น ใครเก็บได้ก็นำไปแลกสิ่งของตามหมายเลขนั้น ๆ
        นอกจากนี้งานประเพณีทิ้งกระจาดยังมีรูปพญายมที่ชาวจีนเรียกว่า ไต้ซื้อ ทำด้วยกระดาษ โครงร่างสานด้วยไม้ไผ่ เขียนด้วยสีน้ำเงิน ขาว และแดง สูงในราว 4-5 เมตร ยืนชี้นิ้วหน้าตาถมึงทึงน่ากลัวมาก บนศีรษะไต้ซื้อมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมอยู่องค์หนึ่ง คอยดูแลพวกภูติผีปีศาจแย่งชิงสิ่งของกัน หน้าโรงกงเต็กมีงิ้วแต้จิ๋วประชันกัน 2 โรง ในสมัยก่อนเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงเต็มไม่หยุด 3 วันสามคืน พอบ่ายวันที่สาม งิ้วทั้งสองจะวิ่งมาชิงธงกัน ใครเอาไปปักก่อนเป็นฝ่ายชนะ

ประวัติความเป็นมา

        ประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีน ว่าสืบเนื่องมาจากมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชาย ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีนามว่า พระอรหันต์ "มู้เหลี่ยง" (หรือ หมกเลี้ยง)
        บิดาของท่านเป็นผู้ที่ชอบปฏิบัติธรรม มีใจเป็นกุศล ชอบทำบุญทำทาน และเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ทว่ามารดาของท่านกลับตรงข้าม ไม่ชอบเรื่องเหล่านี้ และไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ
        ในเวลาต่อมา บิดาของท่านถึงแก่กรรมลง พระมู้เหลี่ยงก็จัดพิธีงานศพ ตลอดจนพิธีกงเต็กให้บิดา โดยท่านนิมนต์พระคณาจารย์จีน ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ฉันแต่อาหารเจ ในขณะเดียวกัน เทพจี้กง จำพรรษาอยู่ในวัดที่พระมู้เหลี่ยงไปนิมนต์มาในพิธีงานศพของบิดา
        ครั้นก่อนถึงวันที่จะทำ พิธีกงเต็ก คืนนั้นเทพเจ้าจี้กงเตือนให้พระที่ได้รับกิจนิมนต์ว่า ในพิธีกงเต็กที่ได้รับนิมนต์จะพบกับ คนใจดำอำมหิตเป็นมาร จะมากลั่นแกล้งพระที่ได้รับนิมนต์ไปในงานนี้ ให้ระวังให้ดี
        พระที่ได้รับนิมนต์ไปเรียนถามว่า จะมีวิธีป้องกันอย่างไร เทพจี้กง แนะนำว่า สิ่งที่มองไม่เห็น อย่าได้ฉัน ให้ฉันแต่สิ่งที่มองเห็นก็พอ
        ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันทำพิธีกงเต็ก มารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยง ต้องการ แกล้งพระ และต้องการทดสอบ ปฏิปทาของพระไปในตัว เพราะตลอดเวลาตนก็ไม่มีใจศรัทธาอยู่แล้ว จึงสั่งให้คนครัวนำเอาสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปฆ่า แล้วนำเนื้อสุนัขมาหมักรวมกับต้นหอม ผักชี และกระเทียม แล้วนำมาทำเป็นไส้ซาลาเปา
        พอถึงเวลาฉันเพล จึงให้คนนำ ซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ทำไว้ออกมาถวายพระ เมื่อพระที่ได้รับนิมนต์เหล่านั้นเห็น ซาลาเปา ทุกรูปก็จำคำเตือนของเทพจี้กง จึงหยิบซาลาเปา แล้วซ่อนไว้โดยไม่ยอมฉัน พอได้เวลาพักผ่อน พระได้ชมบ้าน และสวนดอกไม้ทางหลังบ้านของเศรษฐี
        ในขณะที่ชมสวนอยู่นั้น พระท่านนำเอาซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ซ่อนไว้ออกมาหักดู ก็เห็นไส้ซาลาเปามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ จึงโยนทิ้งลงในบริเวณสวนดอกไม้นั้น
        ทันใดก็เกิดอาเพศ ฝนฟ้าคะนอง และตกลงมาอย่างหนัก
        หลังจากที่พระทำพิธีกงเต็กเสร็จแล้ว มารดาของพระมู้เหลี่ยงจึงถามพระที่ทำพิธีว่า ต้องการฉันอาหารเนื้อสัตว์อะไร (หมู เห็ด เป็ด ไก่) ตนจะได้จัดถวายให้
        พระท่านบอกว่า โยม อาตมาฉันแต่อาหารเจ ไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ มารดาของพระมู้เหลี่ยงได้ยินดังนั้นก็หัวเราะเยาะเย้ยหยัน พร้อมกล่าวว่า ซาลาเปาที่ท่านฉันตอนเพลนั้น มันเป็นไส้เนื้อสุนัข ท่านฉันแล้วไม่รู้หรือว่ามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ ไม่เห็นท่านว่ากล่าวอะไรออกมาเลย
        เมื่อได้ฟังดังนั้นพระก็บอกว่า โยม อาตมาไม่ได้ฉันซาลาเปานั้นเลย ตามอาตมาไปที่สวนหลังบ้านดูสิ
        เมื่อมารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยงไปถึง ก็เห็น ต้นหอม ต้นผักชี และ ต้นกระเทียม งอกขึ้นมาในสวน เป็นที่แปลกและอัศจรรย์ใจมาก จึงเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็น บาปอันมหันต์ และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อถึง เทศกาลกินเจเดือนเก้า ชาวจีนนอกจากจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังไม่รับประทานผัก ๓ ชนิดนี้ด้วย
        ต่อมามารดาของพระมู้เหลี่ยงถึงแก่กรรม ขณะเดียวกัน พระลูกชายก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ลงไปท่องเที่ยวยังเมืองนรก ได้พบกับวิญญาณของมารดา ซึ่งถูกล่ามโซ่ตรวนไว้ และกำลังจะถูกนำไปเกิดใหม่
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ได้ถาม ท้าวเวสสุวรรณ ว่า จะนำวิญญาณดวงนี้ไปไหน ? ท้าวเวสสุวรรณ ตอบว่า จะนำไปเกิดเป็น สุนัข เพราะตอนมีชีวิตอยู่ทำบาปไว้มาก เคยสั่งให้คนฆ่าสุนัข แล้วนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยงมีความกตัญญูต่อมารดามาก คิดที่จะช่วยมารดา จึงกล่าวขอท้าวเวสสุวรณไว้ ท้าวเวสสุวรรณก็ไม่ยอม เพราะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม กฎแห่งกรรม ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำให้เกิดการประลองฝีมือกันขึ้น ระหว่างพระอรหันต์มู้เหลี่ยงกับท้าวเวสสุวรรณ
        ความได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จลงมายังเมืองนรก และตรัสห้ามพระอรหันต์มู้เหลี่ยงว่า อย่ากระทำเช่นนั้นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตาม กฎแห่งกรรม
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยงตรัสพ้อว่า ตนบวชเป็นพระจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณของมารดาได้ รู้สึกบั่นทอนจิตใจเหลือเกิน
        พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านสามารถที่จะช่วยปลดปล่อยทุกดวงวิญญาณในขุมนรกนี้ทั้งหมดไหม ?
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยงตอบว่า ได้ แล้วจึงได้กำหนด พิธีทิ้งกระจาด ขึ้น เพื่อที่จะช่วยดวงวิญญาณในขุมนรกนั้น โดยในพิธีนี้จัดให้มีการสวดพระคาถา และบริจาคสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ เช่น หับ เสื้อผ้า ภูเขาเงิน ภูเขาทอง เป็นต้น โดยกำหนดให้เริ่มพิธีตั้งแต่ วันที่ 1 เดือน 7 ถึงวันที่ 30เดือน 7 ของจีน (ชิกหง้วย) เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อให้ดวงวิญญาณที่อยู่ในนรกออกมารับกุศลผลบุญต่างๆ และเป็นอานิสงส์ส่งไปเกิดในภพต่อไป
        ชาวจีนจึงถือปฏิบัติเป็น ประเพณีงานทิ้งกระจาด ตามสถานปฏิบัติธรรม (โรงเจ) และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งในเมืองไทย เพราะถือเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์สูงส่ง รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนอีกด้วย

ประเพณีนี้ยังเกี่ยวข้องกับ
ประเพณีไทยชิงเปรต
ประเพณีไทย การชิงเปรต


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก panyathai.or.th/wiki

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ความหมายประเพณีไทยและการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย



ความสำคัญของประเพณีไทย


พจนานุกรมภาษาไทยฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายของคำว่า ประเพณีไทย ไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่างๆ ออกได้เป็น ขนบ มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง ธรรมเนียมมีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่า ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแบบแผน และได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อๆไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป ซึ่ง
เราอาจสรุปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ประเพณีไทย หมายถึง กิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ เป็นกฎระเบียบในการประพฤติปฏิบัติตน และมีความสำคัญต่อสังคมจนส่งอิทธิพลต่อสังคมในด้านต่างๆเช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ ฯลฯ
ประเพณีของไทยนั้นให้ความสำคัญในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันเช่น มารยาทในห้องรับประทานอาหาร การให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส ผู้น้อยต้องรู้จักสัมมาคารวะให้ความเคารพผู้ใหญ่ ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม ที่รับเอาอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทยและชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยการสร้างศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล อย่างไรก็ดีอิทธิพลจากศาสนาอื่นเช่น ศาสนาพราหมณ์ และ การอพยพของชาวต่างชาติเช่น คนจีนก็มีอิทธิพลของประเพณีไทย
ประเพณีไทยนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่คือ ภาษา, ศิลปะ และประเพณี
  1. ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติของคนไทย ตัวอักษรของภาษาไทยถูกสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงใน พ.ศ.1826 ตัวอักษรของภาษาไทยได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี และสันสกฤต อีกทั้งยังได้รับได้รับอิทธพลมาจากภาษาต่างๆ ทั่วโลกเช่น บาลี, ขอม, มาเล, ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน ทำให้ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยจนถึงปัจจุบัน
  2. ศิลปะไทย นั้นได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากพระราชาและชาววังครั้งแต่โบราณ และส่วนมากจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น ศิลปะการสร้างภาพวาดฝาหนังที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และพิธีกรรมทางศาสนา การสร่างสิ่งก่อสร้างในทางพระพุทธศาสนาเช่น เจดีย์, วัด, หรือสถูป ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่นการจัดงานประจำปี นอกจากนี้แล้ววัดยังเป็นสถานที่เรียนหนังสือกับเยาวชนและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนสถูป และเจดีย์ ถูกสร้างขึ้นขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระพุทธรูป หากบรรจุพระบรมสารีริกธาตของ พระพุทธเจ้าหรือของพระมหากษัตริย์นั้นก็จะเรียกว่าธาตุเจดีย์ และยังเป็นคติให้รำลึกถึงความเชื่อใน ศาสนาพุทธที่ว่าสังขารของคนนั้นไม่เที่ยงแท้ เมื่อมีการเกิดก็ย่อมต้องมีวันแตกดับได้เป็นไปตามปัจจัยของโลก คนไทยมีประเพณีสร้างเจดีย์เอาไว้ในวัดมาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อเตือนใจคนในสังคมไม่ให้ทำความชั่ว และหมั่นสร้างความดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมในภพนี้และภพหน้า
  3. ประเพณีไทย แสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตที่สอดประสานกับฤดูกาลและธรรมชาติอย่างชาญฉลาดของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ทั่วแผ่นดินไทย และความผูกพันกับความเชื่อและ พุทธศาสนาเช่น
ภาคเหนือ ประเพณีบวชลูกแก้วของคนไตหรือชาวไทยใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภาคอีสาน ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวจังหวัดยโสธร
ภาคกลาง ประเพณีทำขวัญข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคใต้ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

วัฒนธรรมประเพณีไทยของชาติล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมของไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงแนวความคิด ความเชื่อ และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดําเนินชีวิตความเป็นมาในอดีต ซึ่งมีความสําคัญพอสรุปเป็นสังเกตได้ดังต่อไปนี้


  1. พระพุทธศาสนา และพราหมณ์รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานั้น มีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ในด้านความเชื่อในเรื่องของความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
  2. เป็นเครื่องเตือนจิตใจ ให้รู้จักเป็นผู้มีความเสียสละ และความรักความสามัคคี ซึ่งจะเห็นได้จากงานบุญต่างๆ ที่ต้องใช้การร่วมมือ  ร่วมแรงร่วมใจกันจึงจะประสบผลสำเร็จเช่น พิธีขนทรายเข้าวัด การก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น
  3. มารยาทไทย เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันเป็นเอกลักษ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน และการมีสัมมาคารวะ
  4. ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยทำหน้าที่เป็นเครื่องกำหนดควบคุมพฤติกรรมให้คนไทยอยู่ในกรอบที่ดีงาม
  5. ขนบธรรมเนียมประเพณี สามารถบ่งบอกถึงความเป็นมาของชาติ ถึงแม้ประเพณีจะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นชนชาติเดียวกัน
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและประเพณีไทย


การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้ดำรงอยู่สืบไปจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทุกคน ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกัน ดังนี้
  • การรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งจากคนในท้องถิ่น และเอกสารที่ได้มีการบึนทึกไว้ เพื่อนำมาศึกษา วิจัยให้เข้าใจถึงแก่นแท้ เอกลักษณ์ และคุณประโยชน์ของวัฒนธรรมนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดการยอมรับ และนำไปปรับใช้กับชีวิตยุคปัจจุบันได้
  • ส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของประเพณีไทย โดยเฉพาะประเพณีในท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงเอกลักษ์ทางวัฒธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงจากวัฒธรรมอื่นๆที่เข้ามาได้
  • การรณรงค์เพิ่อปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบในการอนุรักษ์วัฒนธรรมให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ ของวัฒนธรรมว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน รวมทั้งภาคเอกชนต้องร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมให้กับชุมชน
  • ส่งเสริมให้ใช้ศิลปะวัฒนธรรมเป็นซื่อกลาง ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งวัฒนธรรมภายในประเทศ ระหว่างท้องถิ่นต่างๆและระหว่างประเทศ
  • ปลูกฝังทัศนคติว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง ฟื้นฟู และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติให้ทุกคนเกิดความเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
  • สร้างศูนย์กลางในเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานทางด้านวัฒนธรรม ด้วยระบบเครื่อข่ายสารสนเทศ เช่นเวบไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตได้ง่าย อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
เรียบโรงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก ประเพณีไทย.ebst.info
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย นบพระเล่นเพลง จ.กำแพงเพชร


ความเป็นมาของงานประเพณีนบพระ – เล่นเพลง
    ตั้งแต่สมัยโบราณ บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นที่ตั้งของเมืองต่างๆ หลายเมือง เช่น เมืองนครชุม เมืองชากังราว เมืองคณฑี เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร และเมืองพาน ต่อมาในภายหลังเมืองต่างๆ ได้ล่มสลายไปตามความเปลี่ยนแปลงของระบบการปกครองและกาลเวลาจนกระทั่งเหลือแต่เมืองชากังราวและกลายเป็นจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน


ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าลิไทหรือพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงสุโขทัย เป็นสมัยที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองมาก มีการประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกหัวระแหง จากศิลาจาลึกนครชุมที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ทราบว่าได้มีการอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุเจดียาราม ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมทั้งได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกไว้ที่ด้านหลังองค์เจดีย์ด้วย ซึ่งปรากฏให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้

  เป็นประเพณีไทยของชาวไทยสมัยโบราณ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามหรือวันมาฆบูชา เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินก็จะนำผู้ครองนครเจ้าเมืองน้อยใหญ่ พร้อมทั้งเหล่าไพร่ฟ้าข้าราชบริพารและประชาชน จัดตกแต่งขบวนเป็นพยุหยาตรา พากันไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระบรมธาตุ เป็นประจำ เรียกสั้นๆ ว่าพากันไป “นบพระ

  และเนื่องจากการเดินทางติดต่อคมนาคมในสมัยก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางด้วยเท้า พาหนะก็มีแต่ช้าง ม้า วัว ควาย และเกวียนเท่านั้น กว่าจะเดินทางไปถึงและนมัสการพระบรมธาตุเสร็จเรียบร้อยก็มืดค่ำ จึงจำเป็นต้องค้างพักแรมกันในบริเวณวัดต่อจนรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่งจะได้กลับ

เป็นธรรมดาของชาวไทยทั่วไป ซึ่งมีอารมณ์ศิลปินประจำใจ เมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากต่างท้องถิ่นกันด้วย จึงจัดการแสดงการละเล่นต่างๆ ประกวดประชันแข่งขันกันตามขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละหมู่บ้านเรียกกันว่า “เล่นเพลง


   งานประเพณีนบพระ - เล่นเพลง จ.กำแพงเพชร จัดขึ้นในระหว่างวันมาฆบูชาหรือวันเพ็ญเดือนสาม ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการฟื้นฟูงานประเพณีดั้งเดิมตามหลักฐานในศิลาจารึกเมืองพระชุม หรือเมืองนครชุม ที่กล่าวถึงการจัดขบวนแห่ไปนบพระมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ขบวนจะข้ามแม่น้ำปิงไปนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ที่ฝั่งนครชุม มีการแสดงมหรสพ ศิลปวัฒนธรรมไทย และการออกร้านของส่วนราชการและเอกชน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก knowledge.eduzones.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ตานขันข้าวชาวลำปาง



ประเพณีทานขันข้าวหรือประเพณีตานขันข้าว ของชาวเหนือจะจัดขึ้นในช่วงนี้เนื่องในโอกาสวันเทศกาลออกพรรษา ซึ่งเราจะพบว่าแต่ละภาคจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องหรือนิยมจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาอยู่มากมายในประเทศไทยของเรา “ประเพณีทานขันข้าว” หรือตานขันข้าวก็เป็นอีกประเพณีหนึ่งของชาวเหนือที่จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ถือเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงาม ความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนคนรุ่นก่อนที่เคยสร้างคุณงามความดีไว้ “ประเพณีทานขันข้าว” ชาวลำปางจะจัดงานนี้ขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษา และเทศกาลออกพรรษาตามหมู่บ้านในแต่ละท้องถิ่นของตน


ประเพณีทานขันข้าวหรือตานขันข้าวเป็นประเพณีไทยการทำบุญเพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูอีกแบบหนึ่งของชาวไทยเหนือ โดยการนำสำรับกับข้าวไปถวายพระที่วัด ในวันเทศกาลที่สำคัญต่างๆ ได้หลายวัน เช่น เทศกาลวันสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษา และเทศกาลออกพรรษา และเป็นการถือโอกาสในการทำบุญในโอกาสวาระอื่นๆ ไปด้วย สำหรับพิธีกรรมที่จัดขึ้นในประเพณีทานขันข้าวนั้น เริ่มขึ้นโดยก่อนวันทำบุญ ชาวบ้านจะมีการจัดเตรียมอาหาร คาว หวานต่างๆ ไว้ให้พร้อม และจะมีการนำเอาใบตองมาเย็บทำกรวยหรือเรียกกันว่า สวย เพื่อใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ขวดน้ำ สำหรับรอการหยาดน้ำ และในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันทำบุญ เวลาประมาณ 06.30 น. ทุกครัวเรือนจะเตรียมอุ่นอาหารและบรรจุใส่ปิ่นโต พร้อมทั้งสวยดอกไม้และน้ำหยาด บางบ้านอาจเขียนชื่อผู้ที่ตนต้องการจะทานไปหา (อุทิศส่วนกุศลไปให้) ลงในกระดาษ จากนั้นคนในครอบครัวจะช่วยกันหิ้วปิ่นโตไปวัด โดยทางวัดจะจัดเตรียมสถานที่สำหรับให้ศรัทธานำปิ่นโตมาถวาย ก่อนจะประเคนปิ่นโตถวายพระสงฆ์ญาติพี่น้องผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะเอาสวยดอกไม้เสียบไปพร้อมกับปิ่นโต บางคนมีกระดาษจดรายชื่อผู้ที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็จะเอากระดาษเหน็บติดไปกับปิ่นโตด้วย พร้อมกันนั้นก็เทน้ำหยาดจากขวดใส่ลงในขันที่วางอยู่หน้าพระสงฆ์


เมื่อศรัทธาชาวบ้านมากันพอสมควรแล้ว พระสงฆ์ก็จะกล่าวสัมโมนียกถานำการทำบุญ และให้พรดังนี้ อันดับแรกเป็นการแสดงความชื่นชมที่ศรัทธาชาวบ้านได้ช่วยกันรักษาจารีตประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล กล่าวถึงผู้รับของทาน พระสงฆ์อ่านชื่อผู้วายชนม์ตามที่ศรัทธาชาวบ้านเขียนมาในแผ่นกระดาษ ส่วนบางคนที่ไม่ได้เขียนมา ก็จะเอ่ยว่าการทานครั้งนี้มีไปถึงบรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร เทวะบุตร เทวดา แม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทาง สรรพสัตว์ ฯลฯ ให้มารับของทาน และการรับเอาทานครั้งนี้ หากผู้ที่ล่วงลับมารับไม่ได้ ก็ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้นำไปให้ แล้วให้พรแก่ผู้มาทำบุญ ทานขันข้าว และอนุโมทนาอุทิศส่วนกุศล สวดยถา สัพพี อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายหลังจากจบคำว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ศรัทธาชาวบ้านจะกล่าวสาธุพร้อมกัน จากนั้นจึงรับเอาปิ่นโตไปให้สามเณรหรือเจ้าหน้าที่จัดการเทอาหารออก เป็นอันเสร็จพิธีทานขันข้าวครั้งนี้


การทานขันข้าว นอกจากจะเป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว การประกอบอาหารก็ดี การไปทำบุญร่วมกันที่วัดก็ดี เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก ความอบอุ่น ประการสำคัญ การพาเด็กๆ ไปทานขันข้าวที่วัด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมการทำบุญแล้ว ยังเป็นการสืบทอดในเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องใช้วิธีอบรมสั่งสอน แต่เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นวิธีสืบทอดหรือการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง รวมทั้งเป็นการที่ทำให้พระสงฆ์ได้มีสิ่งของสำหรับอุปโภคและบริโภค เป็นการช่วยกันจรรโลงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วกาลนานด้วย

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างจาก banmuang.co.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

เก็บตกขอบสนามประเพณีไทยแข่งเรือ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า เมืองหัวหิน


วันนี้ผมไปชมการแข่งเรือยาวประเพณีไทยมาอีกวันครับสนุกมากเลยเก็บตกขอบสนามมาฝาก :D



สรุปผลการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานฯ
ณ โครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2555
จัดโดย เทศบาลเมืองหัวหิน
......................................

ประเภทต่างๆ ดังนี้
-ประเภทเรือยาว 55 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
-ประเภทเรือยาว 30 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
-ประเภทเรือยาว 23 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
-ประเภทเรือยาว 7 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
        
       นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ เรือหัวใบ้ท้ายบอด ประกวดเรือตกแต่งขบขัน และมวยทะเล ซึ่งจะทำการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันแข่งขันคู่ชิงชนะเลิศแต่ละประเภท ซึ่งจะมีเรือชื่อดังจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมแข่งขันมากมาย อาทิ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดชลบุรี และเรือจากประชาชนชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน

ประเภทไม่เกิน 23 ฝีพาย
อันดับ 1  ชาดมังกร จ.เพชรบุรี ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
อันดับ 2  กระจกเพชร จ.เพชรบุรี
อันดับ 3  แม่พรายทองทิพย์ จ.เพชรบุรี
อันดับ 4  ศรนารายณ์ จ.เพชรบุรี

ประเภทไม่เกิน 30 ฝีพาย (ภายใน)
อันดับ 1  
อันดับ 2  
อันดับ 3  
อันดับ 4  

ประเภทไม่เกิน 30 ฝีพาย ก
อันดับ 1  เทพวารินทร์ ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติย์ พระบรมราชินีนาถ
อันดับ 2  สาวเมืองเพชร-กระทิงแดง จ.เพชรบุรี
อันดับ 3  ธิดาท่าจีน จ.นครปฐม
อันดับ 4  หมื่นวัยวรนารถ จ.นครสวรรค์

ประเภทไม่เกิน 30 ฝีพาย ข
อันดับ 1  พรแม่บุปผา จ.ราชบุรี
อันดับ 2  แม่พรายทองทิพย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
อันดับ 3  ดอกประดู่ หน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ
อันดับ 4  นางพญา 31 จ.เพชรบุรี

ประเภทไม่เกิน 55 ฝีพาย ก
อันดับ 1  เจ้าแม่ประดู่ทอง หน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
อันดับ 2  เทพไพฑูรย์ กองบิน 46 จ.พิษณุโลก
อันดับ 3  สาวสวยสุภาพร จ.ร้อยเอ็ด
อันดับ 4  เทพสุริยะ จ.สุรินทร์

ประเภทไม่เกิน 55 ฝีพาย ข
อันดับ 1  เทพจินดา จ.อุบลราชธานี
อันดับ 2  พรพระแก้ว จ.สิงห์บุรี
อันดับ 3  เจ้าแม่วังทอง จ.ราชบุรี


ขอบคุณผลการแข่งขันจาก thailongboat.com

วิดีโอการแข่งขัน ศึกเรือยาวชิงจ้าวสายน้ำปี 5 : สนามที่ 13 อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (09 ธ.ค. 2555)


ภาพเก็บตกจากขอบสนามที่เพื่อนๆชาว เขาเต่าแหละแฟนๆ ที่นี่ประเพณีไทย เก็บมาฝากครับ
@copyright ลิขสิทธิ์รูปภาพเป็นผลงานของ ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com

ภาพอาจจะไม่ชัดนะครับมือสมัครเล่น
ภาพประเพณีแข่งเรือเขาเต่า ภาพถ่ายจาก คุณนุ่นหัวหิน

ภาพถ่ายประเพณีแข่งเรือยาว คุณ มาร์ค เขาเต่า เป็นผู้ถ่าย



ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}