ประเพณีไทย การเดินเต่า


ประเพณีไทยการเดินเต่า คือการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ซึ่งแหล่งที่มีการเดินเต่าทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่ง แถวฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีความยาวโดยตลอดร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร ซึ่งในบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น จะมีเต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เมื่อถึงฤดูวางไข่ ชนิดของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ตามชายฝั่งตะวันตกนี้มีหลายชนิด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อได้แก่ เต่ากระ เต่าเฟือง เต่าเล็ก เต่าหางยาว เป็นต้น

ในแต่ละปีเต่าทะเลแต่ละชนิดจะขึ้นมาวางไข่ ๔ ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่าเต่าทะเลตัวใด ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป เป็นประจำทุกปี อาจยกเว้นว่าบางครั้งมันอาจขึ้นมาพบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่น บริเวณใกล้ ๆ กัน

เนื่องจากลักษณะของเต่าทะเลพิศดารอย่างนี้ ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงสามารถเก็บไข่เต่าได้ โดยอาศัยความทรงจำของเต่าให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเต่าทะเลแต่ละตัวหากขึ้นวางไข่ที่ใดแล้ว หลังจากนั้นไปเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ หรือ ๒ สัปดาห์ เต่าตัวเดิมนี้ จะขึ้นมาวางไข่อีกที่หาดเดิม แต่ตำแหน่งที่คลานขึ้นมาวางไข่จะห่างจากที่เคยขึ้นวางไข่ครั้งก่อนราว ๑๐-๒๐ เมตร อาจเป็นเพราะว่ามันกลัวจะไปขุดถูกหลุมไข่ที่เคยวางไว้แล้ว ก็เป็นได้ ส่วนเวลาไหนนั้นชาวบ้านจะต้องคำนวณโดยการนับน้ำว่าวันที่ครบกำหนดวางไข่ นั้นเป็นวันข้างขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ ก็พอรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรที่น้ำขึ้นครึ่งฝั่งน้ำลงครึ่งฝั่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เต่าขึ้นวางไข่ 


จากนั้นก็สามารถเอาตะกร้าไปรอรับไข่เต่าได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเดินไปเดินมา และไม่ต้องเสียเวลาหาหลุมไข่เต่าในตอนหลัง เช่นครั้งที่ ๑ ขึ้นมาวางไข่ในแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ครั้งต่อไปก็จะขึ้นวางอีกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากครั้งก่อน ๗ วัน) หรืออาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในวันดังกล่าวนี้ ก็จะขึ้นมาวางไข่ในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๑๒ (หลังจากครั้งก่อน ๑๔ วัน) จากปากคำของชาวบ้านที่เคยได้สัมปทานไข่เต่าหรือเรียกกันในภาษาเดิมว่า "ผูกเต่า" บอกว่าใช้วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเดินให้เมื่อยเลย อาจจนอนอยู่ที่บ้านแล้วพอถึงเวลาที่คำนวณไว้ก็ค่อยเดินไปนั่งรอที่จุดนั้น ๆได้ และมักจะถูกต้องเสมอทุกคราวไป

ช่วงเวลา เวลาที่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาด เมื่อถึงฤดูวางไข่คือประมาณ เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน ๔ ราว ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนก่อนหรือหลังเวลาที่ว่ามานี้มีบ้างเล็กน้อย

แต่ในปัจจุบันนี้ ประเพณีการเดินเต่าไม่มีแล้ว เพราะว่าประชาชนในท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเล อันดามัน ได้แก่ เต่าทะเล เป็นต้น ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนใน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้




ประเพณีการเดินเต่าจะทำกันในตอนกลางคืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นหากไม่ค่อยมีความรู้ ก็อาจเดินหาตามความยาวของหาดทราย ระยะทางหลายกิโลเมตร โดยไม่เจอไข่เต่า แม้แต่หลุมเดียว (หลุมรัง) ก็เป็นได้ แต่สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ นั้นมีเคล็ดในการหาไข่เต่าหลายอย่าง อย่างแรก คือเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ เต่าจะขึ้นมาวางไข่เมื่อไหร่นั้นให้ดูได้คือ

๑. ให้ดูดาวเต่า ดาวเต่านี้จะประกอบด้วยดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า ตำแหน่งที่ดาวเต่าเริ่มหันหัวลงทางทิศตะวันตก คือดาวเต่าเริ่มคล้อยลง (คล้าย ๆ กับดวงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป) เมื่อดาวเต่าหันหัวลงทะเลก็เป็นเวลาที่เดินเต่าได้ คนโบราณเชื่อว่าเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้


๒. ให้ดูน้ำ หมายถึงน้ำทะเลขึ้นลงนั่นเอง หากว่าน้ำขึ้นครึ่งฝั่ง หรือน้ำลงครึ่งฝั่ง ก็เป็นเวลาที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ ไม่ปรากฏว่าเต่าทะเลขึ้นมาขณะน้ำลดน้ำขึ้นมา
ดังนั้น เต่าทะเลก็มีกำหนดเวลาขึ้นวางไข่ในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม กี่ค่ำที่ทำให้น้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

ประเพณีการเดินเต่า ชาวบ้านในท้องถิ่นพบเต่าทะเลที่กำลังขึ้นมาวางไข่ก็รู้ได้จากรอยคลานของ เต่าที่ปรากฏ อยู่บนหาดทราย ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน เพราะมันจะใช้ทั้ง ๒ คู่สับลงบนพื้นทรายแล้วลากตัวขึ้นมา จึงปรากฏรอยในลักษณะที่คล้ายรอยของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก โดยปรากฏเป็นทาง ๒ ทาง คือทางขึ้น ๑ ทาง ทางลงอีก ๑ ทาง จากรอยนี้ก็บอกได้ว่าต้องมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ แต่การหาหลุมที่เต่าวางไข่นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่าหาดทรายกว้าง ชาวบ้านในสมัยก่อนที่มีความรู้ มีวิธีสังเกตเพื่อหาหลุมไข่เต่าหลายวิธี ได้แก่


๑. ดูปลายทราย หมายถึงให้สังเกตทรายที่เต่าขุดขึ้นมาแล้วสาดไปโดยรอบลำตัวขณะที่ขุดหลุม วางไข่ จะปรากฏให้เห็นเป็นแนวโดยรอบ ๆ หลุมในระยะพอสมควร ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่าบริเวณที่อยู่จากถัดจากปลายทรายเข้าไปนั้น ต้องเป็นหลุมไข่เต่า แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนเพราะเต่ามักมีการพรางหรือหลอกโดยการสาดทราย หลาย ๆ จุด แต่ไม่ได้วางไข่จริง ๆ จะดูว่าเต่ามันหลอกเราหรือไม่นั้นก็ดูทรายที่สาด หากเป็นทรายเปียกหรือจับเป็นก้อนเล็ก ๆ แสดงว่าเป็นบริเวณหลุมที่วางไข่จริง เพราะเป็นทรายที่ขุดจากทรายชั้นล่าง หรือจากก้นหลุม


๒. ใช้ไม้ปลายแหลมแทงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "สัก" ลงไปตามพื้นทรายให้ลึกประมาณ ๒ ฟุต แล้วสังเกตว่า ไม้ที่แทงนั้นผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ เช่น แทงลงโดยง่าย ทันทีอาจแทงบนหลุมเต่าก็ได้ อาจทดสอบได้ด้วยการดมปลายไม้ดู หากแทงถูกหลุมวางไข่จะมีกลิ่นคาวของไข่เต่าติดปลายไม้ขึ้นมา

๓. ถ้าเป็นเวลากลางวันให้ดูแมลงวันว่าไปตอมบริเวณใด เพราะแมงวันจะไปตอมบริเวณที่วางไข่ ซึ่งมีคาวเมือกขณะที่เต่าทะเลวางไข่ตกอยู่

หากทั้ง ๓ วิธีไม่สามารถหาหลุมวางไข่ ชาวบ้านสมัยก่อนใช้วิธีสุดท้าย คือสังเกตพื้นทรายบริเวณที่มีรอยของเต่าในเวลาประมาณ ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ นาฬิกา จะพบว่าบริเวณที่เป็นหลุมไข่เต่าจะมีลักษณะเป็นไอหรือควันขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเมื่อไข่มีอุณหภูมิสูง เมื่อมาถูกกับความเย็นของทรายชั้นล่างก็เกิดการคายความร้อน และเกิดไอขึ้นเหนือทรายได้


ไข่เต่าในแต่ละหลุมหรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า "รัง" จะมีจำนวนแตกต่างกันตามชนิดของเต่า และลำดับครั้งที่วางไข่ เช่น เต่ากระ ครั้งแรกอาจไข่รังละ ๘๐ ฟอง ครั้งต่อไป ก็อาจถึง ๑๒๐ ฟอง แล้วลดลงมาจนครั้งสุดท้ายอาจมีราว ๓-๔ ฟอง นอกนั้นเป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง ซึ่งเรียกว่า "ไข่ลม" เต่าเล็กจะไข่ครั้งแรกประมาณ ๑๐๐ ฟอง ครั้งต่อไปราว ๑๕๐ ฟอง ครั้งสุดท้ายก็ลดลงเหลือไม่กี่ฟอง เต่ามะเฟืองราว ๑๒๕ ฟอง ส่วนเต่าหางยาวมีจำนวนมากที่สุดราว ๑๕๐ ฟอง



ข้อมูลอ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย แห่นก ชายแดนใต้จังหวัด ปัตตานี


    เป็นประเพณีไทยพื้นเมือง ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นประเพณีที่แสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัด หรือที่เรียกว่า มาโซะยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว
   จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกว่าเริ่มที่ยาวอ (ชวา) กล่าวคือ มีเจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอพระองค์หนึ่ง มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการเอาอกเอาใจทั้งจากพระบิดาและข้าราชบริพาร ต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่นมาบำเรอ ในจำนวนสิ่งเหล่านี้มีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วมีขบวนแห่แหนไปรอบ ๆ ลานพระที่นั่ง เป็นที่พอพระทัยของพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดฯ ให้มีการจัดแห่นกถวายทุก  7 วัน
   อีกตำนานหนึ่งว่า ชาวประมงได้นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามา เล่าว่า พวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่างมหัศจรรย์ ผุดขึ้นมาจากท้องทะเลแล้วบินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปสู่ท้องฟ้า พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปร่างลักษณะของนกประหลาดตัวนั้น ต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันตามสายตาของแต่ละคน พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก ลูกชายคนสุดท้องก็รบเร้าจะใคร่ได้ชม พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำ บอกเล่าของชาวประมงซึ่งได้เห็นรูปที่แตกต่างกันนั้น ช่างทั้งหลายประดิษฐ์รูปนกขึ้นรวม 4 ลักษณะ คือ
1.นกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามการสันนิษฐานน่าจะเป็น “นกการเวก” เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ การประดิษฐ์มักจะตกแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็นสี่แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาดเวลาเข้าขบวนแห่ ทำเป็นกนกลวดลายสวยงามมาก มักนำไม้ทั้งท่อนมาแกะสลักตานก แล้วประดับด้วยลูกแก้วสี ทำให้กลอกกลิ่งได้ มีงายื่นออกมาจากปากคล้ายงาช้างเล็ก ๆ พอสมกับขนาดของนก
2.นกกรุดาหรือนกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑที่เห็นโดยทั่วไป
3.นกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะซูรอมาก การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น ต้องทำกันอย่างประณีตถี่ถ้วน และใช้เวลามาก 
4.นกบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์ ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ และดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม

   ในการประดิษฐ์นกนิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งไม่เปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง ทั้งยังทนทานใช้การได้นานปี สำหรับตัวนกจะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง ติดคานหาม แล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขน ประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันแลดูเด่นขึ้น
ไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่มาที่แน่ชัด
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย กำฟ้า


ประวัติความเป็นมา ประเพณีไทย กำฟ้า
ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวน ที่อาศัยกระจายไปอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี อุดรธานี หนองคาย แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิจิตร เป็นต้น
แม้การรวมตัวในแต่ละถิ่นไม่มากนัก แต่ทุกแห่งต่างก็สามารถรักษาวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี
กำ หมายถึง การสักการบูชา (ภาษาพวน)
กำฟ้า หมายถึง การสักการบูชาฟ้า
วันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 เป็นวันกำฟ้า ก่อนวันกำฟ้า 1 วัน คือวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 จะถือเป็นวันสุกดิบแต่ละบ้านจะทำข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน พร้อมทั้งน้ำยา และน้ำพริกไว้เลี้ยงดูกัน มีการทำข้าวหลามเผาไว้ในกระบอกข้าวหลามอ่อน มีการทำข้าวจี่ ข้าวจี่ทำโดยนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ อาจจะใส่ใส้หวานหรือใส่ใส้เค็มหรือไม่ใส่ใส้เลย ก็ได้ เสียบเข้ากับไม้ทาโดยรอบด้วยไข่ แล้วนำไปปิ้งไฟจนสุกหอม ข้าวจี่จะนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้าและแบ่งกันกินในหมู่ญาติพี่น้อง พอถึงวันกำฟ้าทุกคนในบ้านจะไปทำบุญที่วัด มีการใส่บาตรด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ ตกตอนบ่ายจะมีการละเล่นไปจน ถึงกลางคืน การละเล่นที่นยมได้แก่ ช่วงชัย มอญซ่อนผ้า นางด้ง ฯลฯ

สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า

ชาวพวนมีความสามารถในด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา สมัยก่อนต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงเกรงกลัวต่อฟ้ามาก จึงมีการเซ่นไว้ สักการบูชา ซึ่งชาวบ้านรู้สึกสำนึกบุญคุณของฟ้าที่ให้น้ำฝน ทำให้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น
แต่เดิม ถือเอาวันที่มีผู้ที่ได้ยินฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน ๓ เป็นวันเริ่มประเพณี แต่ทุกคนไม่สามารถได้ยินได้ทุกคน ภายหลังจึงกำหนดให้วันกำฟ้า คือ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี

คำทำนายเกี่ยวกับฟ้าร้อง

  • ทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์และงานอาชีพ
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะดี ทำนาได้ข้าวงาม
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวจะเสียหาย
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย ทำนาไม่ได้ผล
  • ทำนายเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือ ทำนายว่าชาวบ้านจะอดข้าว
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ทำนายว่าชาวบ้านจะอดเกลือ
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็ยสุข
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันตก ทำนายว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน
ตามประเพณี "วันสุกดิบ" เป็นวันเตรียมงาน ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญจะทำในวัด เรียกว่า "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งใครได้กินเชื่อว่าจะไม่ถูกฟ้าผ่า
วันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงาน ๑ วัน จึงมีเวลา สำหรับการต้อนรับญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือนได้อย่างเต็มที่
หลังจากวันกำฟ้าไป ๗ วัน ก็จะเกิดวันกำฟ้าอีกครึ่งวัน ต่อจากครึ่งวันนี้ไปอีก ๕ วันถือว่าเสร์จสิ้น ชาวบ้านจะจัดอาหารคาวหวานไปที่วัดอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นจะเอาดุ้นฟืนที่ติดไฟ ๑ ดุ้น ไปทำพิธีตามลำน้ำ เรียกว่า การเสียแล้งตามแม่น้ำลำคลอง
โดยจะทิ้งดุ้นไปตามสายน้ำ เป็นการบอกกล่าวเทวดาว่า หมดเขตกำฟ้าแล้ว
ในปัจจุบันยังคงถือประเพณีกันทุกปี แต่บรรยากาศในอดีตมีแต่จะหายไป โดยความสนุกท่ามกลางเสียงแคน การละเล่นพื้นบ้าน มาแทนที่ จึงกลายมาเป็น ราตรีกำฟ้า
ประเพณีกำฟ้าในแต่ละท้องถิ่นอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่ชาวไทยพวนก็ยังรักษาคติดั้งเดิมไว้ได้อย่างมั่นคงตลอดมา

เรื่องเล่าจากประเพณีกำฟ้า

 เมื่อย่างเข้าเดือนสาม หากมีใครสักคนได้ยินเสียงฟ้าร้องเป็นครั้งแรก ผู้เฒ่าชาวไทยพวนจะพูดกับลูกหลานว่า "ฟ้าฮ้องแล้ว พวกเจ้าได้ยินไหม วันฮ่งต้องกำฟ้าเน้อ ถ้าไม่มีผีฟ้าจะลงโทษเจ้ามิให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใดบ่เชื่อฟัง ฟ้าจะผ่าถึงตายเน้อ"
          ประเพณีกำฟ้า หรือประเพณีเดือน 3 เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 200 ปีแล้ว กำฟ้า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือ และสักการะเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนฟ้า หรือที่เรียกว่า ผีฟ้า ซึ่งชาวไทยพวนในจังหวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ หากปีใดชาวไทยพวนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดความแห้งแล้งอดอยากหรือมีเหตุทำให้ฟ้าผ่าคนตายซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษอย่างร้ายแรงของผีฟ้า ทำให้ชาวไทยพวนทั้งหลายเกรงกลัวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
          จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีกำฟ้าอยู่ที่การให้โอกาสแก่ชาวไทยพวน ซึ่งทำไร่ไถนาเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด ได้มีโอกาสพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ถึงสามระยะในหนึ่งปี ถ้าไม่มีประเพณีนี้ชาวไทยพวนก็อาจจะพักผ่อนกันเอง หรือบางคนอาจจะไม่พักผ่อนก็ได้ การกำหนดให้มีพิธีกำฟ้าจึงเป็นการบังคับทุกคนให้หยุดงานพร้อม ๆ กัน ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์รื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจสมัครสมานสามัคคีกัน นอกจากนี้ในระหว่างพิธีก็จะมีการละเล่นอย่างสนุกสนานทำให้ได้พักผ่อนหย่อนใจอีกทางหนึ่งด้วย เปรียบได้กับประเพณีตรุษไทยและตรุษจีนซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกับพิธีกำฟ้าของชาวไทยพวน แต่แตกต่างกันในวิธีการปฏิบัติเท่านั้น การเข้ากำฟ้า จะเข้ากำ 3 ครั้ง
          
พิธีกำฟ้าครั้งแรก จะกำหนดงานสองวันคือวันสุกดิบวันเเรก ตรงกับเดือนสาม ขึ้น 2 ค่ำ ถือว่าเป็นวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ หลังจากกินอาหารเช้าแล้ว บรรดาสาว ๆ และแม่บ้านทั้งหลายต่างพากันแต่งตัวอย่างวิจิตรบรรจงไปวัด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะนุ่งผ้าซิ่นรัดอก ถ้าเป็นหญิงสาวอายุ 15-16 ปีก็ไว้ผมยาวทรงตุ๊กตาไทยและใช้เชือกผูกผม สาว ๆ ที่อายุ17-19 ปี ก็ทำผมที่เรียกว่า "โค้งผม" ส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจะไว้ผมขมวดเป็นกระจุกไว้กลางหัวคล้าย ๆ จุกกระเทียม
          นับแต่ตอนสายของวันสุกดิบ ตามถนนหนทางจากหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยหญิงสาว คนเฒ่าคนแก่ เมื่อไปถึงวัดแล้วก็แยกกันไปทำงานตามที่ตัวเองถนัด บางคนก็เผาข้าวหลาม บางคนก็จี่ข้าว (ปิ้งข้าวเหนียว) ในขณะที่ทำงานก็พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟังอย่างสนุกสนาน ข้าวหลามที่ได้จากการเผาในงานนี้ชาวไทยพวนถือว่าเป็น "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งจะใช้ในพิธีบายศรี ที่เหลือก็แจกแบ่งปันกันกินด้วยความเชื่อกันว่า ใครก็ตามที่กินข้าวหลามจะไม่โดนฟ้าผ่า
          พอถึงเวลาสามโมงเย็น ชาวไทยพวนก็จะร่วมกันทำบุญ เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นลง เจ้าพิธีซึ่งเป็นผู้รู้ในหมู่บ้านก็จะทำหน้าที่สวดเบิกบายศรีบูชาผีฟ้าแล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องสังเวย เสร็จแล้วจึงเป็นการรำขอพรจากผีฟ้าเพื่อให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านของตน ตกดึกก่อนที่จะเข้านอนคนเฒ่าคนแก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วพูดในสิ่งที่เป็นมงคล เพื่อให้ผีฟ้าผีบ้าน ผีเรือน ได้ช่วยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้มีความสุข ทำมาหากินได้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
          วันที่สองเป็นวันกำฟ้า ตรงกับเดือนสามขึ้น 3 ค่ำ ชาวไทยพวนจะหยุดทำงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน และใครจะส่งเสียงอึกทึกครึกโครมไม่ได้ โดยเชื่อว่า ถ้าใครทำเสียงอึกทึกครึกโครมฟ้าจะผ่า ทำให้ความเงียบสงบครอบคลุมไปทั้งหมู่บ้าน เกิดบรรยากาศเยือกเย็นขรึมอย่างประหลาด ในวันกำฟ้านี้ ชาวบ้านจะพากันตื่นตั้งแต่เช้ามืด หุงหาอาหารทั้งคาวหวาน รวมทั้งข้าวหลามและข้าวจี่ใส่สำรับไปถวายพระที่วัด โดยใส่ตะกร้ามีสายสำหรับคล้องไม้คานแล้วเอาอาหารไปรวมกันที่กุฏิที่เรียกว่า "หอแม่ออก" คนเฒ่าคนแก่และญาติโยมซึ่งเรียกว่า "พ่อออกและแม่ออก" จะช่วยกันจัดสำรับภัตตาหารถวายพระ จากนั้นพระสงฆ์จะให้ศีลและแสดงธรรมสั้น ๆ เสร็จแล้วฉันภัตตาหาร ยถาสัพพีตามประเพณี ส่วนชาวบ้านก็จะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน และกลับถึงบ้านตอนสาย ๆ
          
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 2  การกำครั้งที่สองจะห่างจากการกำครั้งแรกเจ็ดวัน โดยเริ่มจากเดือนสามขึ้น 9 ค่ำ จะมีการกำฟ้าตั้งแต่ตะวันตกดินไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 10 ค่ำ เมื่อถึงเวลาเพลชาวบ้านจะนำอาหารเพลไปถวายพระที่วัดเรียกว่า "ไปเพล" วิธีการก็เช่นเดียวกับการถวายอาหารเช้า คือ การนำเอาอาหารไปรวมกันที่หอแม่ออกแล้วรับศีลและฟังธรรมต่อจากนั้นจึงถวายอาหาร พระฉันเสร็จแล้วจึงยถาสัพพี เป็นอันเสร็จการทำบุญ เมื่อกลับจากการไปเพลแล้ว ชาวไทยพวนเรียกว่า "คืนเพล" ถือว่าเลิกกำ ใครจะทำงานทำการอะไรก็ได้
         
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 3 จะห่างจากการกำครั้งที่สอง 5 วัน พอเดือนสามขึ้น 14 ค่ำ เมื่อตะวันตกดินแล้ว ชาวไทยพวนเริ่มจะกำอีกครั้งหนึ่ง และกำตลอดไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะรีบตื่นกันแต่เช้า จัดเตรียมข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานไปถวายพระเรียกว่า "ไปจังหัน" การกำครั้งนี้ถือว่า เป็นการกำครั้งสุดท้าย
          ในตอนเย็น เมื่อหุงข้าวเย็นรับประทานกันแล้ว ชาวไทยพวนทุกบ้านจะต้องเอาดุ้นฟืนเฉพาะดุ้นที่ไฟไหม้มากที่สุดไปดับที่แม่น้ำลำคลอง โดยการโยนทิ้งให้ไหลไปตามสายน้ำ หรืออาจนำไปโยนตรงหนทางที่บรรจบกัน แสงไฟจากดุ้นฟืนที่วาบไหวไปตามทางเดินในความมืดให้บรรยากาศสั่งลาพิธีกำฟ้าเป็นไปอย่างน่าศรัทธา การดับฟืนชาวไทยพวนจะใช้มือหนึ่งถือดุ้นฟืน อีกมือหนึ่งถือกะลามะพร้าวใส่น้ำสำหรับดับไฟ เมื่อไปถึงแม่น้ำลำคลองหรือทางที่มาบรรจบกันก็เทน้ำในกะลามะพร้าวดับไฟ จากนั้นจึงโยนทิ้งไปเรียกว่า 
"เสียแสงฟืนแสงไฟ" เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้าในปีนั้น


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ info.ru.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บายศรีสู่ขวัญข้าว

ช่วงเวลา
ประเพณีไทยสู่ขวัญข้าว (ทั่วไป) บุญสู่ขวัญข้าว (หมู่บ้านเนินใหม่ ตำบลโคกกรวด) เรียกขวัญข้าว (หมู่บ้านท่าด่าน) กระทำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓

ความสำคัญ
เพื่อเรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง บูชาพระแม่โพสพ ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทำลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากในปีต่อไป

พิธีกรรม
โดยทั่วไปชาวนาต่างก็ทำพิธีโดยให้เจ้าของนาฝ่ายหญิงนุ่งขาว ห่มขาวเป็นผู้ทำพิธีตอนเช้าตรู่โดยเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ข้าวต้ม เผือก มัน ไข่ ขันธ์ ๕ ขวดน้ำ แก้วแหวนเงินทอง แป้ง หวี กระจก ผ้าสไบ (อาจมีเพิ่มเติมหรือแตกต่างตามท้องถิ่น) นำสิ่งของเหล่านี้ห่อด้วยผ้าขาว ใส่กระบุงหรือบางท้องที่ปิดกระบุงด้วยผ้าขาว นำขอฉายคอนกระบุง (บางหมู่บ้านใช้ผ้าสีผูกให้สวยงาม) เดินไปตามท้องนา เจตนาของตน ร้องเรียกแม่โพสพ ใจความคือเชิญแม่โพสพที่ตกหล่นอยู่ให้มาอยู่ในยุ้ง ฉาง บางหมู่บ้าน เพื่อนบ้านขานรับจนถึงบ้าน นำกระบุงไปไว้ในยุ้งข้าว บางหมู่บ้านมีพราหมณ์ทำพิธีเรียกขวัญเข้ายุ้ง โดยมีการตั้งบายศรี และเครื่องไหว้ในยุ้ง การสู่ขวัญด้วยสำนวนหรือภาษาถิ่นที่แตกต่างกันออกไป
ในปัจจุบันประเพณีสู่ขวัญข้าวยังคงกระทำอยู่ในหมู่บ้านทั้งสี่อำเภอ เช่น หมู่บ้านหนองโพธิ์ ตำบลศรีนาวา สู่ขวัญข้าวร่วมกันและทำบุญเลี้ยงพระด้วย

สาระ
เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและความเชื่อของชาวนา รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ข้าวในปีหน้าได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น



ประวัติเพิ่มเติม
   
   เป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม้หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย วันที่ทำพิธีโดยปกติถือเอาวันที่ขนข้าวขึ้นยุ้งเสร็จแล้ว หากไม่ทันก็อาจทำในวันรุ่งขึ้นก็ได้

การเรียกขวันข้าวนั้นอาจทำได้ทั้งแบบเรียบง่ายและแบบใหญ่โตโดยขึ้นกับความนิยมในท้องถิ่นหรือความพร้อมของเจ้าของนา หากทำพิธีแบบใหญ่โตแล้วก็จะมีเครื่องบูชามากมาย โดยทั่วไปเครื่องพิธีจะมีไก่และเหล้าและเครื่องใช้ของผู้หญิงเช่นกระจก หวี แป้ง นำเครื่องพิธีดังกล่าวไปวางไว้ที่แท่นพิธีบริเวณที่เคยทำพิธีแรกนา แล้วก็มีคำโอกาสราธนาคือคำสังเวยที่เป็นคำขอบคุณแก่พระแม่โพสพ ที่ช่วยให้ได้ผลผลิตเป็นข้าวมากมาย ถ้าเป็นพิธีใหญ่ส่วนมากเจ้าของนาจะกล่าวคำโอกาสด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องขออาจารย์ประจำหมู่บ้านเป็นผู้โอกาสให้

ในการทำพิธีแบบง่ายนั้น เครื่องบูชา มีข้าว ไข่ต้ม กล้วย ๑ ผลขนมต่าง ๆ ดอกไม้ ธูปเทียน จัดใส่กระทงหรือพานเล็ก ๆ ผู้ที่เป็นพ่อนาจะเอาไม้ไผ่เฮี้ยยาวประมาณ ๒ เมตร ปล้องของไม้บนสุดทุบให้แตกแป็นซีก ๆ แล้วดุนให้ถ่างออกป่องตรงกลาง คล้ายกับที่เรียกกันว่ารังมดส้ม (มดแดง) 

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะพากันขนเครื่องบูชาและเครื่องประกอบพิธี มีกระทงใส่เครื่องบูชาและทับพี ๑ อัน ไม้รังมดแดง และนำไม้นะโมตาบอด พร้อมด้วยรวงข้าวที่เก็บไว้ก่อนนั้นแล้ว ออกไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงพ่อนาจะฝังหรือปักไม้เฮี้ยที่เป็นรังมดแดงนั้นที่กลางตาลางคือลานนวดข้าว เอากระทงเครื่องบูชาใส่ปลายไม้เฮี้ยที่เป็นรูปรังมดแดง ผูกรวงข้าวให้แขวนลงในกระทงนั้น ปักไม้นะโมตาบอดซึ่งเป็นเครื่องป้องกันมิให้ผีมาขโมยข้าวไว้ที่ ๔ มุมของลาน แล้วจุดธูปเทียน ผู้หญิงก็จะใช้ทัพพีกวักไปรอบ ๆ ในบริเวณนั้น เพื่อกวักเอาขวัญข้าวให้มาอยู่รวมกัน ด้วยการพูดเป็นโวหารเอาเอง ด้วยคำที่เป็นมงคลเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ตกแถวนั้นสัก ๒-๓ เม็ด หรือจะหยิบเอาเศษฟางก็ได้สมมุติว่าเป็นขวัญของข้าวใส่ในกระทง นำเอากระทง และไม้นะโมตาบอดกลับบ้าน ปักไม้นะโมตาบอดไว้ที่ ๔ มุม ในยุ้งข้าวแล้วเอากระทงขวัญข้าววางไว้จุดใดจุดหนึ่งในหรือยุ้งข้าว แล้วเอากระดองเต่า หรือฟักหม่น คือฟักเขียว วางไว้ข้างบนข้าว เพื่อให้เต่าหรือฟักคอยกกฟักให้ข้าวอยู่นาน ๆ เหมือนกับเต่าฟักไข่ พร้อมกับกล่าวออกเสียงเบา ๆ ว่า "ขอให้ข้าวจงอยู่ในนี้เน่อ อย่าได้ออกไปทางใด เพราะว่าเดือน ๔ เพิ่นจักปล่อยช้างปล่อยม้า เดือน ๕ เพิ่นจักปล่อยงัวปล่อยควาย" ดูเป็นการสอนเตือนข้าวไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่นเกรงว่าจะถูกช้างม้าวัวควายเหยียบเอา

เมื่อนำข้าวเข้าเก็บแล้ว ที่ประตูยุ้งข้าวจะมี ปักขทืนกระด้าง หรือปักขทืนวันจกเข้า คือปฏิทินกำกับวันข้างขึ้นข้างแรมที่ควรหรือไม่ควรตักข้าวออกจากยุ้ง เชื่อกันว่าหากมิได้ปฏิบัติตามพิธีดังกล่าวมาข้างต้น ข้าวจะเปลือง หรือหมดเร็ว เพราะมีผีมาขโมยเอาไปกิน เล่ากันว่าที่ในถ้ำแกลบ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว ในถ้ำจะมีแกลบอยู่


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก prapayneethai.com และ lannaworld.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การทำบุญโคนไม้ จังหวัด.ตราด


ระยะเวลา ช่วงเดือนเมษายน และหลังจากวันเพ็ญเดือนสิบสอง

สาระสำคัญ
การทำบุญโคนไม้ เป็นประเพณีไทยพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดตราดที่ทำเป็นประจำทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านในชุมชน การทำบุญโคนไม้และการทำบุญตามสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน นอกจากจะให้ผลในการดำเนินชีวิตโดยตรงแก่ผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานของตนรู้จักรักป่า แผ่นดิน และพื้นน้ำ ไม่คิดทำลายธรรมชาติ ที่ตนต้องพึ่งพาอาศัย ในขณะเดียวกันยังสอดแทรกคุณธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณสืบทอดให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ให้รู้จักการทำบุญให้ทาน มีความเมตตาเอื้อเฟื้อ รู้จักรักผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมหลักของการอยู่ร่วมกัน


พิธีกรรม
ชาวบ้านจะนัดหมายกันหลังจากทำบุญสงกรานต์หรือหลังจากทำบุญทอดผ้าป่าคืนวันลอยกระทง แล้วมอบหน้าที่ให้แก่ไวยาวัจกรหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสม นิมนต์พระ เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ ธูปเทียน ไปยังสถานที่นัดหมาย ทำพิธีกรรมทางสงฆ์ ถวายทานแก่พระสงฆ์ กรวดน้ำเหมือนทำบุญถวายสังฆทาน หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะทำพิธีแห่เรือมีการตีไม้ล่อนำหน้าขบวนไปยังห้วยหนองคลองบึง เพื่อทำพิธีปล่อยเรือที่ทำด้วยกาบหมาก ขดหัวท้ายให้คล้ายเรือ ภายในบรรจุด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน หอม กระเทียม เกลือ พริก เป็นต้น น้อมจิตอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผีป่า ผีโป่ง ผีทุ่ง ผีนา พร้อมกับฝากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไปกับเรือ เสร็จพิธีแล้วจะกลับมายังสถานที่
บำเพ็ญบุญเพื่อรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี

คำบูชาและแผ่ส่วนกุศล
" บุญนี้ที่ข้าทำ ขอให้เป็นข้าวน้ำ เครื่องพิจารณาสู่วิมานทอง เรืองรองโสภา พบนางฟ้าวันหนึ่งประมาณ ศีลทานดังนี้ ขอศีลธรณี ถึงบิดามารดา ฝูงเปรตทั้งหลาย นรกอสูรกาย กุ้งเล็กปลาน้อย ปลาโตปูหอย ใหญ่น้อยเรืองรอง ให้ตั้งใจปอง รับเอาส่วนบุญ อินทร์กา เทวา ทุกชั้นพรหมา ท้าวเวสสุวัน พระอินทร์ พระศุกร์สาลี อีกทั้งพระกานต์ จตุโลกบาลทั้งสี่ ครุฑ นาค นาคี กินนรี คนพาลขออย่าได้พบ ขอจงประสบพบท่านผู้ดี มีปัญญา ทานของข้านี้ อย่าได้สิ้นที่ ความยากเข็ญใจ ขออย่าได้เกิดมี ขอให้เป็นเศรษฐี มนตรีเจ้าพระยา เดชะกุศล พ้นจตุรา ขอให้ตัวข้า ไปเกิดทันพระศรีอารย์ ยังมีสัตว์อีกหมู่เที่ยวอยู่เวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในวัฏสงสาร ได้ชื่อว่าห่า อย่ามาเบียดผลาญ ก่อความรำคาญ ระรานรบกวน วันนี้พวกข้า เจตนาร่วมกัน ได้นำอาหาร คาวหวานล้วน ๆ เชิญท่านมารับ ข้าวกับทั้งมวล ทุกสิ่งสมควร มารับเอาไป แล้วอย่ากังวล ทำให้คนวุ่นวาย ทั้งเด็กผู้ใหญ่ จงไปถิ่นฐาน บรรดาพวกข้า นายบ่าวทั้งนั้น เร็วพลันรนราน ซมซานรีบไป ผีทุ่ง ผีนา ผีป่า ผีโป่ง ทั้งผีตายโหง ทั้งสิ้นทั้งหลาย ต่าง ๆ อย่าช้า รับอาหารไป เร็ว ๆ ไว ๆ จงไปรีบไป ลงเรือนาวา จัดหาไว้ให้ เครื่องเสาเพลาใบ แต่งไว้หราหรู ให้ท่านทุกตนทุกผู้ ไต่ก๋งจุ้นจู้ วิ่งอู้ออกไป คะชาอะโมมะหิ โอกาเสติ ตะถามิ อับเปหิไป สุขสบายทั่วกัน พวกข้าอยู่หลัง มุ่งหวังสุขสันต์ กุศลสรรสร้าง สู่ทางนิพพาน ให้พ้นสงสาร เป็นสุขเกษมใจ อันตัวข้านี้ มีศรัทธาเลื่อมใส ได้สร้างกุศลไว้ ในการวันนี้ โดยมีมโนนัย หวังเป็นปัจจัย แห่งพระนิพพาน แม้ยังไม่สำเร็จ ข้าขอเข้าเขต พระเมตตรัยญาณ เกิดชาติต่อไป ขอให้
เกิดในพุทธกาล ขอถึงซึ่งนิพพาน นะปัจจะโยโหตุ

สาระ
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ภูตผีที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ ผีทุ่ง ผีนา ที่ช่วยคุ้มครองรักษาให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก prapayneethai.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}