ประเพณีไทย พิธีสืบชะตา


   พิธีสืบชะตาของชาวล้านนามีมาแต่โบราณกาลแล้วและมีการประกอบพิธีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้าสู่อาณาจักรล้านนา   เนื่องจากแต่เดิมนั้นพิธีสืบชะตาถือเป็นพิธีพราหมณ์  โดยมีอาจารย์ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นฆราวาสที่มีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมพื้นบ้านและถือเป็นตัวแทนของพราหมณ์    เป็นผู้ประกอบพิธี  ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจนมีความเจริญรุ่งเรือง  พิธีสืบชะตาจึงมีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธกับพิธีพราหมณ์  โดยมีพระสงฆ์มาทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีสืบชะตาแทนอาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาสจวบจนถึงปัจจุบัน


ในการสืบชะตานั้นจะแต่งดาเครื่องสืบชะตาหลายอย่างซึ่งถือเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่งตามพิธีที่สืบทอดกันมา

ประกอบด้วย

  1.  ไม้ค้ำ มีลักษณะเป็นไม้ง่าม  ๓  อัน สำหรับนำมาประกอบกันเป็นซุ้ม  เรียกว่า  ไม้ค้ำชะตา  แต่ด้วยลักษณะไม้ค้ำที่มีขนาดใหญ่และยาวพอประมาณจึงเรียกว่า  ไม้ค้ำหลวง  บางแห่งก็มีขนาดยาว บางแห่งก็มีขนาดสั้นพอประมาณแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น   แต่ส่วนมากนิยมใช้ขนาดยาวเท่ากับวาแขนหรือความสูงของเจ้าของชะตา ไม้ค้ำมีความหมายว่าเพื่อให้เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาวเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ใกล้จะล้ม  หากมีไม้มาค้ำไว้ก็จะทำให้เจริญงอกงามต่อไป  เหมือนชีวิตคนเราที่ได้รับการค้ำชูย่อมจะมีความสุขความเจริญต่อไปฉันใดก็ฉันนั้น


  สมัยก่อน  ไม้ค้ำ  เป็นชื่อของต้นไม้ประเภทหนึ่ง  หากนำมาตัดกิ่งออกแล้วขุดดินฝังสำหรับใช้เป็นไม้ค้ำต้นไม้ประจำหมู่บ้านหรือไม้หมายเมือง  ไม้ค้ำนี้จะไม่เหี่ยวแห้งเพราะจะมีรากออกมา   ปัจจุบันยังมีต้นไม้ค้ำอยู่ที่บ้านแม่ไทย  อำเภอแม่ทะ  จังหวัดลำปาง     ซึ่งชาวบ้านที่นั้นก็ยังนิยมเอาต้นไม้ค้ำมาใช้ในพิธีสืบชะตาอยู่  คนปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักต้นไม้ชนิดนี้แล้ว  จึงเอาต้นไม้ชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมาทำเป็นไม้ค้ำแทน

  2. กระบอกน้ำ  กระบอกทราย  กระบอกข้าวเปลือก  กระบอกข้าวสาร หมายถึง  ธาตุ  ๔  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้คนเรามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

  3.  สะพาน (ขัว)  หมายถึง  สะพานแห่งชีวิตที่ทอดให้เดินข้ามจากฝั่งที่เลวร้ายไปสู่ฝั่งที่ดีงามกว่า

  4.  บันได (ขั้นได)  หมายถึง  บันไดแห่งชีวิต  สำหรับพาดให้เราปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง  เสมือนคนเราตกบ่อน้ำแล้วต้องปีนป่ายด้วยบันไดออกจากบ่อน้ำ

  5.  ลวดเงิน  ลวดคำ  ลวดหมาก  ลวดเหมี้ยง หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทองและอาหารการกิน

  6.  ไม้ค้ำขนาดเล็ก ไม้ค้ำขนาดเล็กยาวเท่าศอกของเจ้าของชะตาต่างกับไม้ค้ำหลวงที่มีขนาดเท่าวาหรือความสูง  ไม้ค้ำเล็กมีจำนวนเท่าอายุของเจ้าของชะตา  แต่นิยมให้มีจำนวนเกินอายุไปประมาณ  ๒-๓  อัน  เพื่อให้มีอายุยืนยาวขึ้นไปอีก

  7. ช่อ ทำจากกระดาษสีขาวจำนวน  ๑๐๘  อัน

  8.  ตุงค่าคิง หรือตุงชะตา  มีขนาดความยาวเท่าความสูงของเจ้าของชะตา

  9.  เทียนค่าคิง หรือเทียนชะตา  มีขนาดความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของชะตาเหมือนกัน  แต่ต่อมาภายหลังเห็นว่า  เทียนมีขนาดยาว   เมื่อจุดไฟจะทำให้งอ  ก็เลยสีด้วยขี้ผึ้งประมาณคืบหนึ่ง    ส่วนฝ้ายที่เป็นไส้เทียนนั้นยังมีขนาดยาวเท่าความสูงผู้สืบชะตาอยู่

  10.  พระเจ้าไม้ หรือพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้  สำหรับนำมาประดิษฐานที่ยอดไม้ค้ำ  แต่เดิมไม่มีพระพุทธรูป  ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาสู่ล้านนาจนมีความเจริญรุ่งเรืองก็มีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์  จึงนำพระพุทธรูปไม้มาประดิษฐานบนยอดไม้ค้ำเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

  11.  หน่อกล้วย  หน่อยอ้อย  หน่อหมาก  หน่อมะพร้าว มีความหมายว่า  คนที่ได้รับการสืบชะตาจะมีชีวิตที่เหมือนกับได้เกิดใหม่แล้วจะมีความหอมหวาน  มีความเจริญงอกงาม  เหมือนต้นกล้วย  ต้นอ้อย  ต้นหมาก  ต้นมะพร้าวที่พร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป

  12.  สื่อใหม่  (สาด) หมอนใหม่ มีความหมายว่า   ผู้ที่สืบชะตาแล้วจะมีความสุขสบายและนอนหลับฝันดี

    เครื่องสืบชะตาทั้งหมดนี้เมื่อนำมาประกอบกันจัดให้เป็นระเบียบตามแบบโบราณพิธีเรียกว่า  โขงชะตา ถือเป็นบริเวณพิธีหรือเขตศักดิ์สิทธิ์สำหรับสืบชะตาให้มีความสุขความเจริญต่อไป


   ส่วนพิธีส่งนพเคราะห์นั้น  ถือเป็นพิธีพราหมณ์อีกประการหนึ่ง  เมื่อจะทำพิธีส่งก็ต้องจัดเตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม  ประกอบด้วย  สะตวง (กะบะ)  ทำจากกาบกล้วยดิบมีขนาดความกว้างเท่ากับศอกของเจ้าของชะตา  ๑  ศอก  แล้วแบ่งเป็น  ๙  ห้อง หรือ  ๙  ช่อง  ด้วยกาบกล้วยดิบเช่นกัน  แต่ละห้องให้ใส่เครื่องบูชาชนิดต่างๆ ตามกำหนด  ได้แก่  ข้าว  อาหาร   ผลไม้  พริก  เกลือ  ขนม  น้ำ  หมาก  เหมี้ยง  บุหรี่  ดอกไม้  ธูป  เทียน  และช่อ  เครื่องบูชาเหล่านี้นำใส่แต่ละห้องจำนวนไม่เหมือนกัน  แต่ขึ้นอยู่กับกำลังวันของดาวนพเคราะห์   ๙  ดวง  ได้แก่  พระอาทิตย์   พระจันทร์    พระอังคาร     พระพุธ    พระพฤหัสบดี    พระศุกร์     พระเสาร์    พระราหู    และพระเกตุ

   การประกอบพิธีสืบชะตานั้น  อันดับแรกอาจารย์จะทำพิธีปัดเคราะห์  ส่งเคราะห์ก่อนแล้วจึงทำพิธีสืบชะตาทีหลัง  เพื่อให้เคราะห์ภัยที่มีอยู่ในตัวเราสูญไป  แล้วจึงทำพิธีสืบชะตาให้มีความสุขความเจริญ  เมื่อทำพิธีสืบชะตาเสร็จแล้ว  เครื่องบูชาทั้งหลายจะนำไปใช้สาธารณะประโยชน์ต่อไป   กล่าวคือ

ไม้ค้ำ นำไปค้ำต้นไม้ประจำหมู่บ้าน  หรือไม้หมายเมือง  แต่ปัจจุบันคนสมัยใหม่ไม่เข้าใจวิถีปฏิบัติตามแบบโบราณ  มักจะนำไม้ค้ำไปวางไว้ที่ใต้ต้นสรี  (ต้นศรีมหาโพธิ์)

สะพาน นำไปพาดร่องน้ำหรือลำเหมืองเล็ก  เพื่อเป็นสะพานให้ผู้คนเดินข้ามลำเหมืองนั้น

หน่อกล้วย  หน่อยอ้อย  หน่อหมาก  หน่อมะพร้าว นำไปปลูกในที่สาธารณะของหมู่บ้านหรือป่าหมู่บ้าน  บางคนอาจจะปลูกริมร่องน้ำสาธารณะก็ได้  เมื่อผลิดอกออกผล  ใครจะเก็บไปกินไปใช้ก็ไม่มีใครว่า  เพราะถือเป็นของสาธารณะ


การประกอบพิธีสืบชะตาของพ่อหนานศรีเลา   เกษพรหม  แต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือชุดสุภาพพร้อมกับมีผ้าพาด  การประกอบพิธีแต่ครั้งจะเป็นผู้กำหนดวัน  เวลา  และเครื่องประกอบพิธีตามที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลอย่างเคร่งครัด  เพื่อให้การประกอบพิธีมีความถูกต้องและสมบูรณ์  อันจะทำให้เจ้าของชะตามีความสุขความเจริญต่อไป


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก folklore.culture.go.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง

ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง
ในประเทศไทย พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยประเพณีนี้มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยจัดเป็นงาน "วันอัฏฐมีบูชารำลีก เมืองทุ่งยั้ง" ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานในวันวิสาขบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 รวม 9 วัน กิจกรรมภายในงานมีการแสดง แสง สี เสียง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน จนถึงพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า(จำลอง) มีประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมเป็นจำนวนมาก
 วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง หรือ วัดพระบรมธาตุ
 ตั้งอยู่ที่กลางเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นวัดโบราณประดิษฐานพระมหาธาตุประจำเมืองทุ่งยั้ง เมืองโบราณตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย
ตามตำนานการสร้างพระบรมธาตุกล่าว ว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ผู้ครองเมืองสุโขทัย ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดินโดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุไว้ โดยลักษณะเดิมของพระบรมธาตุเมืองทุ่งยั้งคงเป็นรูปเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ต่อมามีการบูรณะเพิ่มเติมโดยพญาตะก่าพ่อค้าไม้ชาวพม่าในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2444 เป็นลักษณะเจดีย์อย่างพม่า จนใน พ.ศ. 2451 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ยอดพระบรมธาตุเจดีย์หักพังลงมา หลวงพ่อแก้วสมภารวัดพระบรมธาตุในขณะนั้นได้เป็นหัวหน้าปฏิสังขรณ์ซ่อมเพิ่ม เติมดังรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งในปัจจุบันได้ รับการบูรณะซ่อมแซมบำรุงอยู่เสมอใน ฐานะวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้ง ซึ่งเมืองทุ่งยั้งในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยติดต่อกันมา อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยซึ่ง พิจารณาได้จากสำเนียงการพูดของคนทุ่งยั้งเทียบกับกลุ่มคนในชุมชนชาวสุโขทัย เดิม ที่อาศัยอยู่ในแถว หมู่ที่ 10 และหลายๆ หมู่บ้านในเขตตำบลทุ่งยั้ง ที่มีประวัติชุมชนว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพไปตั้งบ้านเรือนที่อื่นได้
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จะมีการจัดให้มีงานประเพณีสลากภัต ซึ่งเป็นประเพณีของชาว ล้านนา ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในวันนี้มีการจัดแสดงพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพด้วย หรือที่เรีกยว่า วัน อัฐมีบูชา โดยทางวัดจะจัดให้มีการจำลองเหตุการณ์ย้อนไปเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย โดนจะมีการสร้างพระบรมศพจำลอง ประทับนอนในปางปรินิพพาน อยู่ในโลงแก้ว โดยจะจัดประดิษฐานไว้บนศาลาการเปริยญ ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมถวายสักการะพระบรมศพ จนถึงวัน แรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงได้จัดพิธีจำลองเหตุการณ์ การถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระ จำลอง จัดสร้างจิตกาธาน พระเมรุมาศ เหมือนจริง และมีการถวายพระเพลิงจริง ซึ่งพุทธศาสนิกชนหลายๆ คนที่เข้าร่วมพิธี ต่างก็ร้องให้เสียใจกับการจากไปของพระบรมศาสดา ดุจเหมือนได้เข้าเฝ้าพระบรมศพของพระบรมศาสดาจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และมีการจัดพิธีแบบนี้แห่งเดียวในโลก
พระวิหารหลวง ก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะแบบ เชียงแสนล้านนา เนื่องจากเมืองทุ่งยั้งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ล้านนาในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช นั่นเอง ลักษณะพระวิหารมีทรงหลังคาซ้อนสามชั้น ลาดต่ำ และด้านในพระวิหารหลวง มีภาพวาดตำนานเรื่องพระสังข์ทอง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงสถานที่ศักดิ์สืทธิ์ คือ เวียงเจ้าเงาะ และบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่เยื้องไปทางใต้ตรงกันข้ามกับตัววัด และลักษณะของพระวิหารหลวงนี้ มีการก่อสร้างแบบศิลปะ ล้านนา อย่างชัดเจน คือ ที่ตัวพระวิหารหลวงมีประตูด้านหลังสามารถเดินทะลุออกไปแล้วพบกับ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งจะพบเห็นศิลปะการสร้างพระวิหารแบบนี้ได้ในเขต ล้านนา ทั่วไป
  • พระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายของพระวิหารหลวง เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบ ล้านนา คือ มีทรงหลังคาซ้อนสามชั้น ลาดต่ำลงมา และไม่มีประตูออกด้านหลังของพระอุโบสถ
  • หลวงพ่อประธานเฒ่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน เป็นที่เคารพและศรัทธา ชาวอุตรดิตถ์นับถือกันมาก ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูล wikipedia
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย จีน ถือศีลกินผักภูเก็ต


ภูเก็ต... เกาะศักดิ์สิทธิ์แผ่นดินนี้ ทุก ๆ ปี ที่นี่จะมีประเพณีใหญ่ยิ่งระดับที่โลกต้องจดจารอยู่ประเพณีหนึ่ง 

     คนภูเก็ตเรียกกันว่า ‘ประเพณีถือศีลกินผัก’ หรือ ‘เจียะฉ่าย’ ซึ่งก็คือ ‘เทศกาลกินเจ’ ของคนเชื้อสายจีนทั่วโลกนั่นเอง ปีนี้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระ ในระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 5 ตุลาคม 2554 อันยิ่งใหญ่... ท้องทะเลอันงามงด และชายหาดอันเลอค่าของเกาะนี้อาจไร้ความหมายไปโดยปริยาย 

    เพราะจุดสนใจสูงสุดจะถูกย้ายมาอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต ...แน่นอนถนนสายสำคัญ ๆ จะเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คน และนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ที่นุ่งขาวห่มขาว ธงเหลืองสะบัดพลิ้วปลิวไสว ประทัดสีแดงฉานถูกจุดก้องไกรดารดาษไปทั่วทุกท้องถนน


    ประเพณีไทยจีนถือศีลกินผัก มีหลากหลายตำนาน ที่น่าสนใจยิ่งจากประเทศจีน แต่สำหรับเกาะสวรรค์แห่งนี้แล้ว มีหลักฐานว่า เริ่มต้นพิธีครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ เมื่อ 184 ปี ที่ผ่านมา 

    ใน พ.ศ. 2368 มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ...พระยาถลาง ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่ตอนนั้นยังเป็นป่าทึบ ชุมชุกด้วยไข้มาเลเรีย ต่อมามีคณะงิ้วปั่วฮี่ จากเมืองจีนมาเปิดการแสดง ชาวคณะได้เกิดล้มป่วยลง คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า ‘กิ๋วฮ๋องไต่เต่’ และ ‘ยกอ๋องซ่งเต่’ การณ์ปรากฏว่า โรคภัยไข้เจ็บได้หายไปหมดสิ้น จากนั้นมา ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาสูงสุด จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน มาเป็นประจำทุกปี จนถึงทุกวันนี้ 



    ตลอด 9 วันสำคัญดังกล่าว ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี จะต้องงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งน้ำนมและน้ำมัน ที่มาจากสัตว์ รักษาศีลห้า ทำบุญทำทาน รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์แต่งกายสีขาว งดบริโภคผักที่มีกลิ่นแรงทุกชนิด 

    เย็นวันที่ 17 ตุลาคม ถือว่าเป็นวันสุกดิบ ก่อนเริ่มเทศกาล... ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะเริ่มทำพิธียกเสา ‘โก้เต้ง’ สัญลักษณ์ของเทศกาลการกินผักขึ้น โดยบนยอดเสา จะมีตะเกียง 9 ดวง ประดับไว้เพื่อบูชาเทพเจ้า 9 องค์ ตามความเชื่อตามตำนาน และต้องจุดไว้ตลอด 9 วัน จนกว่าพิธีจะจบสิ้น 

    ทุก ๆ วันต่อ ๆ มา จะมีขบวนแห่จากม้าทรงและพี่เลี้ยง จัดขบวนออกมาให้ชื่นชม และสักการะ กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว แต่ละองค์จะสำแดงอิทธิฤทธิ์แตกต่างกันไป โดยทุกองค์เน้นที่การทรมานตนเอง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่า ‘กิ้วอ๋องไต่เต่’ (ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) จะเป็นผู้รับเคราะห์แทน 

    แต่ละคืน ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะจัดให้มีพิธีการลุยไฟบนกองถ่าน ปีนบันไดมีด ...ฯลฯ และพิธี ‘โก๊ยห่าน’ หรือการสะเดาะเคราะห์ด้วยการเดินข้ามสะพาน และจัดพิธีแห่พระส่งกลับสวรรค์ในตอนใกล้เที่ยงคืน โดยการเชิญ ‘หยกอ๋องซ่งเต่’ หรือพระอิศวร ซึ่งถูกอัญเชิญมาเป็นประธาน ในพิธีตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน ให้เสด็จกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ 

    งานยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น หลายคนที่ไม่ใช่คนภูเก็ตอาจยังไม่ทราบ... เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น วันที่ 17 ตุลาคม ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะสั่งลาเทศกาลถือศีลกินผักด้วยพิธีกรรมสุดท้าย คือการอันเชิญเสาโกเต้งลง และดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง 
    ตามด้วยพิธีเลี้ยงอาหารแก่บรรดาทหาร ที่เรียกกันว่า ‘โข้กุ้น’ ตามทิศต่าง ๆ ที่ท่านได้เดินทางลงมารักษาการ ทั้งใน และนอกศาลเจ้า ให้กลับไปยังเบื้องบน หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนที่นำพระที่บ้าน มาร่วมพิธีที่ศาลเจ้า จะอัญเชิญพระกลับไปยังบ้านของตนเอง ถือเป็นการเสร็จพิธี เป็นอันสิ้นสุดภารกิจกินเจอันยิ่งใหญ่ในวาระนี้ 

    ที่ร่ายยาวมาทั้งหมด คนภูเก็ตอ่านแล้ว อย่าเพิ่งส่ายหน้าหัวเราะแบบเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ นะครับว่า เรื่องแบบนี้ เรารู้กันมาแต่อ้อนแต่ออกแล้ว 

     พี่น้องพ้องเพื่อนในจังหวัดอื่น ๆ อาจจะไม่ทราบ ขั้นตอนแห่งวาระอันสำคัญนี้ 
     บางคนอาจจะกำลังตัดสินใจเดินทางมาภูเก็ต เพื่อมาร่วมเทศกาลสำคัญที่ว่า 
     ลองมาสัมผัสดูสักครั้งสิครับ 
     รับรองได้ว่า... นี่คือประเพณีเก่ากาลเกือบ 200 ปี อันทรงคุณค่าของชาวภูเก็ต ที่จะดำรงอยู่ในความทรงจำ...และความประทับใจอันงดงามของคุณ ไปจนชั่วชีวิต
 


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงเนื้อหาจาก phuketbulletin.co.th ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

"กวนกะละแม เล่นสะบ้า แห่หงส์ธงตะขาบ" สงกรานต์วิถีมอญ

สงกรานต์ ตรุษสงกรานต์ หรือที่ต่างชาติรู้จักกันในนาม "Water Festival" ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า เพราะถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามประเพณีโบราณ ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

และเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 13 เมษายน คราใด หลายพื้นที่ก็มักจะเตรียมพร้อมเล่นสาดน้ำกับเพื่อนฝูง ครอบครัว เผื่อแผ่ไปยังข้างบ้าน ข้ามเขต และข้ามจังหวัด ให้คลายร้อนในฤดูที่แสงแดดแผดเผา แต่หนึ่งพื้นที่ที่จะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันในวันนี้คือ อ.พระประแดงเนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะมีเชื้อสายมอญ หรือที่บางคนเรียกว่า ชาวมอญปากลัด (ปาก-ลัด) ซึ่งจะไม่มีการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ แต่จะใช้เวลาย่างเข้าปีใหม่นี้ทำความสะอาดบ้าน และช่วยกันกวนกะละแม หรือข้าวเหนียวแดง หรือที่คนโบราณเรียกว่า กวันฮะกอ เพื่อที่จะนำไปทำบุญที่วัด และแจกจ่ายให้ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้าน เหมือนเป็นการแสดงไมตรีจิต จะเรียกว่าเป็นกุศโลบายของคนโบราณก็ได้ ที่อยากให้คนในครอบครัว มาร่วมกันกวนกะละแม กวนไปคุยไป ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน


นอกจากนี้ ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะสังเกตว่ามีการปลูกศาลเพียงตาไว้ และเมื่อถึงวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ เจ้าของบ้าน จะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาล พร้อมด้วยข้าวแช่ เพื่อสักการะพระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์ ซึ่งจะทำพิธีกัน 3 วันด้วยกันคือ 13-15 เมษายน

หลังจากที่ทำบุญกันแล้ว ชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมประเพณีแห่งหงส์ ธงตะขาบ ตามความเชื่อที่ว่า หงส์ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญ ส่วน ตะขาบ นั้น เปรียบถึงการที่ชาวมอญ ไม่หวั่นเกรงศัตรู เหมือนตะขาบที่มีลำตัวยาว  มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ นอกจากนั้น อวัยวะทุกส่วนในตัวของตะขาบ ชาวมอญยังจะนำมาขยายความเป็นคติทางธรรมได้ทั้งสิ้น กล่าวคือ หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง ขันติ โสรัจจะ เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5  อิทธิบาท 4 นั่นหมายความว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลราษฎรของตนได้เหมือนตะขาบแล้ว ก็จะเจริญรุ่งเรือง และสงบสุขไปอีกนานแสนนาน

ทั้งนี้ ขบวนแห่ธงตะขาบจะเป็นการรวมตัวของชุมชนชาวมอญจากวัดต่างๆ รวม 8 วัด โดยในปีนี้ (2555) จะตั้งต้นที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ เคลื่อนขบวนทั้งหมดไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ก่อนที่แต่ละขบวนของแต่ละวัดจะมุ่งหน้าไปยังวัดของตัวเอง เพื่อเอาธงตะขาบไปเปลี่ยนที่เสาหงส์ (ธงตะขาบจะมีการเปลี่ยนปีละครั้ง) ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ พร้อมทั้งจะมีการสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบนี้ จะมีการแห่กันในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

พอตกกลางคืน หนุ่มสาวชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะไปรวมตัวกันที่บ่อน แต่ไม่ได้หมายถึงไปเล่นไพ่ ไฮโล หรือการพนันขันต่อ แต่เป็น บ่อนสะบ้า ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จเนรมิตใต้ถุนบ้านของตัวเอง ด้วยการเกลี่ยพื้นให้เรียบ แล้วจัดให้ชายหญิงได้อยู่คนละฝั่งกัน และใช้ลูกสะบ้าเป็นสื่อในการพูดคุย เรียนรู้อุปนิสัยใจคอ แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นการเล่นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมเท่านั้น



อย่าเพิ่งสงสัย ว่าตกลงชาวมอญ เขาไม่เล่นสาดน้ำสงกรานต์กันหรือ?? ตอบให้ว่า "เล่น" แต่จะเล่นถัดจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ไปอีกหนึ่งอาทิตย์ แต่ก่อนที่จะมีการสาดน้ำ ทุกหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชายจากหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งแห่นก แห่ปลา ไปยังพระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม เพื่อนำไปปล่อย ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ก็มีจะมีหนุ่มสาวออกมาเล่นสาดน้ำ ประแป้งกันพอหอมปากหอมคอ

แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมก็มีอันต้องเปลี่ยนไป การเล่นสาดน้ำพอหอมปากหอมคอ ประพรมอย่างแต่ก่อนคงไม่มี แต่หากเปลี่ยนมาเป็นการนั่งรถกระบะ สาดน้ำเย็น ประแป้งสี แต่กระนั้น ชาวมอญพระประแดง ก็จะเล่นน้ำกันหลังจากที่ทำบุญที่วัดเสร็จแล้ว


เมื่อ อ.พระประแดง กำหนดเล่นสาดน้ำกันหลังจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้นักท่องเที่ยว คนพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางเข้าไปร่วมเล่นกันอย่างล้นหลามไม่แพ้พื้นที่ท่องเที่ยวอย่างพัทยา บางแสน เชียงใหม่ ฯลฯ


แต่ปีนี้อาจจะแตกต่างกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะงานสงกรานต์พระประแดง จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27-29 เมษายน 2555 ส่งท้ายเดือนหรรษากันเลยทีเดียว เอ๊า!!ใครยังไม่มีแพลนไปเที่ยวไหน ก็แวะไปสนุกสนานกันได้ งานนี้ไม่เกี่ยงว่าเป็นไทยหรือมอญ สนุกกันได้แบบไม่แบ่งแยก.

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากเว็บไซต์ ไทยรัฐ > thairath.co.th
เป็นการอ้างอิงเชิง อนุรักษ์วัฒนธรรม
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ช่วงเวลา
ประมาณเดือนหกของทุกปี

ความสำคัญ
เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่แสดงถึงการเริ่มต้นฤดูทำนา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและเสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจ รวมทั้งสิริมงคลแก่เกษตรกรไทย

พิธีกรรม
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประกอบด้วย ๒ พิธีรวมกัน คือ
๑. พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ กระทำกันในวันแรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีขั้นตอนพิธีที่สำคัญดังต่อไปนี้


๑.๑ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังอัญเชิญพระพุทธรูปประจำรัชกาลต่าง ๆ รวมทั้งรัชกาลปัจจุบัน และเทวรูปองค์สำคัญมาตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลา หน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบกพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาเป็นกระบุงเงิน กระบุงทองอย่างละคู่ ซึ่งบรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดี และถุงบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เช่น ผักกาด ข้าวโพด แตงกวา ถั่ว ฯลฯ


๑.๒ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาแรกนา แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไทย ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งที่เก้าอี้เฝ้า


๑.๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชาแก่พระพุทธคันธารราษฏร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย


๑.๔ หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์


๑.๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมพระราชทานธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่พระยาแรกนา ส่วนเทพีทั้ง ๔ ทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม พนักงานประโคมฆ้องชัย


๑.๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก


๒. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ กระทำกันในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง ซึ่งจัดตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหม ระนารายณ์ ฯลฯ มีขั้นตอนพิธีสำคัญตามลำดับดังนี้


๒.๑ พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีทั้งแต่งกายตามแบบประเพณีโบราณ เดินทางออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังมณฑลพิธีสนามหลวง


๒.๒ พระยาแรกนาเข้าสู่โรงพิธี จุดธูปเทียนบูชาเทวรูปสำคัญ หัวหน้าพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์ที่มือ และให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔


๒.๓ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายหรือเสี่ยงทายผ้านุ่ง โดยการสอดมือหยิบผ้านุ่งที่วางเรียงรายอยู่ใต้ผ้าคลุม ซึ่งมีผ้านุ่งรวม ๓ ผืน คือ ขนาดกว้าง ๔ คืบ ๕ คืบ และ ๖ คืบ เมื่อพระยาแรกนาหยิบได้ผ้านุ่งผืนใด จะสวมผ้าผืนนั้นทับลงบนผ้านุ่งเดิม คำพยากรณ์ของผ้านุ่งเสี่ยงทายมีดังนี้


ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก นาที่ดอนสมบูรณ์ นาที่ลุ่มเสียหายบ้าง
ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำมีปริมาณพอดี นาที่ดอนเสียหายบ้าง นาที่ลุ่มสมบูรณ์
ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำน้อย นาที่ดอนเสียหายบ้าง นาที่ลุ่มสมบูรณ์


๒.๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพระราชพิธี พระยาแรกนาเข้ากราบถวายบังคม ๓ ครั้ง และเดินเข้าสู่ลานแรกนาเพื่อเจิมคันไถ เจิมพระโค


๒.๕ ถึงเวลามงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เชิญเทวรูปเดินนำหน้าพระโค ตามด้วยพระยาแรกนาเดินไถดะโดยรี ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ พร้อมทั้งหว่านธัญญพืชจากกระบุงเงิน กระบุงทองของเทพีทั้ง ๔ ลงบนดิน จากนั้นไถกลบอีก ๓ รอบ


๒.๕ พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ เดินกลับไปที่โรงพิธีพราหมณ์ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พราหมณ์จัดวางอาหารเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า เมื่อพระโคกินสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์


๒.๖ เจ้าหน้าที่อ่านรายชื่อเกษตรกรผู้ชนะเลิศการประกวดข้าว เพื่อเบิกตัวเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ


๒.๗ พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ ขึ้นรถยนต์หลวงจากมณฑลพิธีสนามหลวง ไปยังแปลงนาทดลองในพระราชฐานสวนจิตรลดา หว่านพืชพันธุ์ธัญญหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลงในแปลงนาทดลอง สำหรับนำไปใช้ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของปีต่อไป


ความรู้
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ว่างเว้นไประยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง และทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรประจำปี
ในสมัยโบราณพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลเป็นพิธีเฉพาะทางพราหมณ์เท่านั้น ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เพิ่มพิธีทางสงฆ์ด้วย ปัจจุบันยังคงยึดถือตามแบบธรรมเนียมการปฏิบัติโบราณ มีการดัดแปลงบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับสมัยนิยม เช่น พระราชพิธีพืชมงคลเพื่อทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยพิธีทางสงฆ์ จะทำกันที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกเขตพระนครหรือที่อื่น ๆ บ้าง แต่ในปัจจุบันพระราชพิธีพืชมงคลทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ท้องสนามหลวง เป็นต้น


เป้าหมายสำคัญของการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นการทำขวัญและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และเกษตรกรรมก็เป็นอาชีพหลักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นประเพณีไทยหลายอย่างมักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงถือว่าเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกประจำปี


กำหนดเวลาการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำกันประมาณเดือนหกของทุกปี เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำนาในประเทศไทย แต่ไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน เนื่องจากต้องพิจารณาฤกษ์ยามที่เหมาะสมในแต่ละปี


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}