แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณี แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณี แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย พิธีสืบชะตาแม่น้ำ


ในยามที่เห็นว่าแม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาหมายถึง การต่ออายุให้ยืนยาวออกไป

ในกรณีของทางภาคเหนือนั้น การต่อชะตามีหลายอย่าง และนิยมทำในหลายกรณี ชาวบ้านบางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำ ชาวบ้านก็นิยมจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ เพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับแม่น้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้กับแม่น้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ

พิธีสืบชะตาแม่น้ำประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน มีความสำคัญดังนี้ 
๑. ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน
๒. ทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำ
๓. เกิดความรักหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร



พิธีกรรม
๑. ก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้าน
๒. ในวันกระทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ
๓. เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข ๙ เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร)


อย่างไรก็ดีการสืบชะตาถ้าพูดง่ายๆ ก็คือการต่ออายุให้มีอายุยืนยาวขึ้นนั่นเอง เราคงเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับคำพูด  สืบชะตาเมือง    

จากโหร หรือนักโหราศาสตร์ในช่วงบ้านเมืองเกิดวิกฤต  โดยพิธีสืบชะตาแม่น้ำนี้  จัดขึ้นเพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับแม่น้ำ  และเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำ สายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำและเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
บทความ : อ. สิริชัย พยากรณ์

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ค้ำโพธิ์ค้ำไทร


  ความเชื่อเรื่องประเพณีค้ำโพธิ์ ค้ำไทร เมื่อคนป่วย มีอาการนอนไม่หลับ ผอมเหลือง ทำงานไม่ได้ ปวดหัวตัวร้อนตลอดเวลาต้องพึ่งพระ ให้จัดหาไม้คูณ ไม้ยอ ถากกลบเท่า ประมาณขาของคนป่วย ยาวประมาณ 1-2 วา

  เมื่อถึงวันพระ 15 ค่ำ กลางเดือน นำดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ข้าวตอกดอกไม้ นำผู้ป่วยไปจัดเพื่อประกอบพิธี นิมนต์เจ้า อาวาส พร้อมลูกวัด 4 รูป ร่วมพิธีรับศีล ชุมนุมเทวดา

  ประกาศรุกขเทวดารักษาต้นโพธิ์ ต้นไทร ขอให้อาการป่วย บรรเทาต่ออายุให้ยืนยาว แล้วนำไม้เสานั้นค้ำโพธิ์ ค้ำไทร พระสงฆ์สวดอนุโมทนา ผู้ป่วยกรวดน้ำ

  ความเชื่อเรื่องประเพณีสูตรธาตุ-ชะตา เมื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย นอนอาการหนักจนผู้มีความรู้เห็นว่าชะตาถึงฆาต ดวงชะตาขาด ควรสูตรชะตา ซึ่งใช้ภาชนะสองอัน ภาชนะ อันหนึ่งใช้ดินเหนียวทำเป็นเจดีย์เล็ก ๆ สูงแค่ศอกคนป่วย

  รอบเจดีย์บนภาชนะนั้น เจดีย์เล็ก ๆ อีก 9 อัน รอบเจดีย์ใหญ่นำไม้ไผ่ยาวแค่ศอกเท่าอายุคนป่วย กรรไกรตัดกระดาษ เป็นธงสามเหลี่ยมติดปลาย ไม้ไผ่ มัดเรียงที่ยอดเจดีย์ ทำธงเล็กเท่าอายุ

  ภาชนะอันที่สองนั้นเอามัดธงกระดาษ และมัดธงเหล็กนั้นเอาตั้งไว้บนภาชนะ ตัดกระบอกไม้ไผ่ยาวเท่านิ้วชี้มีรูหลวมนิ้วชี้ผู้ป่วย 5 อัน อันหนึ่งเอาถ่านไฟใส่ให้เต็ม อัน ที่สองยัดนุ่นให้เต็ม อันที่สามใส่ดินให้เต็ม อันที่สี่ใส่น้ำให้เต็มเป็นเครื่องหมายธาตุ คือ

  น้ำ ไฟ ลม มัดติดกับเสาธงกระดาษและธงเหล็กบนภาชนะ กระบอกไม้ไผ่อันที่ 5 ใช้ตวงข้าวสารเท่าอายุผู้ป่วย ใส่ขันหรือกะละมังไว้แล้วเย็บกระทงตองกล้วยเท่ากำมือผู้ป่วย 5 อัน ใส่ข้าวตอกกระทงหนึ่ง ใส่ดอกบานไม่รู้โรยกระทงหนึ่ง ใส่ข้าวเปลือกกระทงหนึ่ง ใส่ถั่วงากระทงหนึ่งใส่เมี่ยงหมากกระทงหนึ่ง วางบนภาชนะรอบเสาธง เทียนยาวรอบหัว เทียนสูงแค่หัว วัดจากสะดือผู้ป่วยถึงลูกกระเดือก เทียนเล่มบาท 1 คู่ ขัน 5-8 ปัจจัยเท่าอายุ

  พอถึงตอนเย็นแบกไปที่วัดถวายเจ้าอาวาส พระสงฆ์ 4 รูป จะนำไปสวดในพระอุโบสถสวดเสี่ยงทายอยู่ 3 วัน 3 คืน หลังทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว ผู้ป่วยชะตาขาดธาตุ สูญตวงข้าวสารในกระบอกไม้ไผ่เท่าอายุ ชะตาผู้ป่วยยังไม่ขาดธาตุยังไม่สูญ ข้าวสารที่ตวงเท่าอายุนั้นเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยต้องหายแน่

  ถ้าข้าวสารในกระบอกขาดไปจัดแจงสวด ตามกำลังวัน ตวงดูยังขาดอย่างเดิม ผู้ป่วยไปไม่รอดแน่ คืนที่สองสวดอีกตวงข้าวสารแล้วมีข้าวสารเพิ่มขึ้นเหนือกระบอกโดยลำดับผู้ป่วยหายแน่ เช่น

  พิธีตัดกรรม-ตัดเวร คนไข้เจ็บป่วย อัมพาต ป่วยมานานจนลุกเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ชาวอีสาน เกิดจากกรรมเวรในชาติก่อนหรือชาตินี้ตามสนอง จึงต้องได้รับ ความทุกข์ทรมาน ผู้ที่มีความรู้ก็จะจัดแจงแต่งเครื่องตัดกรรมตัดเวร มีหม้อแกง 4 หม้อ เครื่องหมายธาตุ 4 มีคาวหวาน ห่อพริก ห่อเกลือ ห่อปลาร้า ปลาเค็ม บุหรี่ตัว หมากคำ เงินสตางค์ห่ออันละนิดใส่ลงในหม้อ ทั้งสี่หม้อเหมือนกันหมด ด้ายสายสิญจน์ 4 เส้นยาว 2 วามีดน้อย 4 ดวง ขัน 5-8 หมาก พลู บุหรี่ถวายพระ

  พอถึงตอนเย็นนำไปที่วัดพร้อมเชิญคนป่วยไปด้วย คนป่วยใส่ล้อหรือนั่งเก้าอี้หามไปที่ต้นโพธิ์ นิมนต์พระสงฆ์นั่งทิศตะวันออกต้นโพธิ์ ให้คนป่วยนั่งหรือนอนอยู่ตรงกลาง ตั้ง หม้อในทิศทั้ง 4 ด้วยสายสิญจน์ผูกปากหม้อ พระสงฆ์ทั้ง 4 รูป จับด้ายสายสิญจน์ ไหว้พระรับศีลอาราธนาพระสงฆ์สวดตัดกรรม-ตัดเวร สวดตามกำลังวัน


  พิธีการแต่งบูชาพระเคราะห์แห่งปี ชาวอีสานถือเป็นประเพณีประจำครอบครัว ในเรื่องการประกอบสัมมาอาชีพ การป่วยไข้ หมอชาวบ้านจะแนะนำให้แต่งบูชา พระเคราะห์ ประเภทแก้พระเคราะห์บูชาโรค การบูชาพระเคราะห์ในบ้านเรือนครอบครัวจะมีความสุข เจ็บไข้ได้ป่วยป้องกันอันตราย ความเดือดร้อนในการครองเรือน โชค ร้ายจะหายไป จะได้โชคลาภ ป้องกันอันตราย ความเดือดร้อนในการครองเรือนโชคร้ายจะหายไปจะได้โชคลาภ

  หมอแต่งบูชานพเคราะห์นุ่งขาวห่มขาว จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยชุมนุมเทวดา ใช้ใบตองกล้วยสดปู จึงเอากระทงบูชานพเคราะห์วางบน เจ้าชะตามานั่งตรงหน้า ประกาศบอกเทวดา บอกชื่อเจ้าชะตามีความเคารพพรหมชาติชะตาของตน แต่งเครื่องบูชาพระนพเคราะห์บูชาพระเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะ

  ขอเชิญพระนพเคราะห์คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุทธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหูและพระเกตุ จงมารับเครื่องสักการะของเจ้าชะตา อันมีมา ในทักษาและมหาทักษา อีกทั้งพระมฤตยูผู้เป็นใหญ่ใน 12 ราศี อันเจ้าชะตานี้สักการะบูชาพระรัตนตรัยได้จัดลงใส่ในกระทงคาวหวานเป็นอเนกประการ

  ขอความสวัสดีมีชัยในลาภข้าวของเงินทองอันเนืองนอง จงมีแก่เจ้าชะตาเจริญรุ่งเรืองทุกเมื่อเทอญ พิธีสูตรขวัญก่อง การเจ็บป่วยของชาวอีสานได้ใช้พระพุทธศาสนาเข้าช่วย ผู้ป่วยที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ฝันร้ายตลอดเวลาขวัญหนีดีฝ่อ ร่างกายผอมเหลือง

  ซึ่งญาติพี่น้องจะนิมนต์ให้พระสงฆ์ สอดขวัญก่องให้ด้วยการหาก่องข้าวสูงแค่ศอก ผู้ป่วย ผู้ป่วยเป็นผู้ชายจัดเอาหวี แป้งหอม น้ำหอม ผ้าเช็ดหน้า แหวน กระจกเงา เครื่องแต่ง ตัว ของผู้ชายใส่ลงในก่องข้าว พร้อมทั้งเขียนชื่อผู้ป่วยและปัจจัยเท่าอายุ เทียนรอบหัว เทียนยาวแค่ตัววัดแค่สะดือถึงลูกกระเดือก ผ้านุ่ง ผ้าอาบของผู้ป่วยใส่ภาชนะขัน 5-8 ดอก ไม้ธูปเทียนข้าวตอก หมากพลู บุหรี่

นำไปถวายเจ้าอาวาส ถ้าเป็นผู้หญิงป่วยให้แต่งเครื่องผู้หญิง มีช่องหวี สร้อยคอ กำไลมือ กระจอนหู ต่างหู แป้งหอม น้ำหอม และ เขียนชื่อผู้ป่วยใส่ลงในก่องข้าว

  นอกนั้นเหมือนกันกับของผู้ชาย พอถึงเวลาเย็นนำไปวัดเจ้าอาวาสรู้แล้วพอถึงเย็นทำวัตรสวดมนต์ก่อนจำวัตรเจริญภาวนา จะนำก่องข้าวมาตรวจดู วางภาชนะเสื้อผ้าชิดก่อง ข้าว จุดธูปเทียน ชุมนุมเทวดาประกาศให้รู้ว่าคนป่วยชื่อนั้น ไม่สบายเป็นไข้ นำก่องข้าวมาให้ข้าสวดมงคลเรียกขวัญ ขวัญคนชื่อนี้ไปเที่ยวที่ใด จงมาลงในก่องข้าวนี้

  ขณะที่สวดให้เปิดฝาก่องข้าวไว้ ห้ามพูดกับใคร จำวัตรเลย คืนแรกฝันดีห้ามเอาคืนที่สองสวดอีกเหมือนเดิมห้ามพูด จำวัตรเลย มีนิมิตดีฝันดีไม่ต้องเอา คืนที่สามให้ สวดเหมือนเดิม คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย สุบินนิมิตจะฝันดีเหมือนคืนที่แล้วมา เวลาประมาณตี 4 หรือตี 5. ลุกขึ้นให้ปิดฝาก่องข้าว ปิดให้แน่นห้ามเปิด

  พอถึงตอนเย็นพระผู้สวดนั้นถือก่องข้าวและภาชนะผ้าเข้าไปในบ้านเรือนของคนป่วย ห้ามใช้พระรูปอื่นแทน ทำพิธีเอาก่องข้าวและภาชนะไว้ใต้แขนประมาณ 30-40 นาที

  จึงเอาด้ายผูกข้อมือคนป่วยและลูกเมียในครอบครัว ฮายความส่งบัตรพลี กระทงหน้าวัว กระทงกาบกล้วยพร้อมทั้งบัตรพลี เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะนำไปไว้ที่ต้นโพธิ์หรือทาง 4 แพร่ง คนป่วยจะจัดสิ่งของบูชาหมอตามประเพณี

  ความเชื่อเป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจ อาจจะมีเหตุผลหรือไม่มีซึ่งเกิดจากการยอมรับภายในจิตสำนึกของมนุษย์ในด้านนั้น ๆ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม แต่ความเชื่อก็ยังสืบต่อกันมาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอีสาน

  ความเชื่อก็ได้เกิดขวัญกำลังใจในภาระหน้าที่การงาน ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะ ความร่วมมือร่วมใจทำงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดปัญญา ความคิดค้นหาเหตุผล

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก kku.ac.th ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ตานก๋วยสลาก ภาคเหนือ

 

วัน เดือน ปีที่จัดกิจกรรมนิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
สถานที่จัดกิจกรรม- วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน
- วัดบุญยืน ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา
- วัดพงษ์ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น
- วัดนาทะนุง ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น
- วัดปิงหลวง ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น

ประวัติความเป็นมา 

ตานก๋วยสลาก ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก  ล้วนแต่เป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการ อาจจะแตกต่างกันไปบ้านในเรื่องรายละเอียด ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่า “ สลากภัต”ของชาวล้านนา  คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือสังฆทาน มีประวัติความเป็นมาเล่ากันว่า “ ครั้งพุทธกาลพระบรมโพธิสัตว์พร้อมพระสาวกำด้เดินทางจาริกแสวงบุญ เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาได้มีศรัทธา ญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวาย ในบรรดาญาติโยมเหล่านั้น แต่ละคนมีฐานะแตกต่างกัน คนที่มีฐานะดีก็นำอาหารอย่าดี จำนวนมากมาถวาย ส่วนคนที่มีฐานะยากจน แต่มีจิตศรัทธาใคร่ทำบุญก็นำอาหารเท่าที่หามาได้มาทำบุญ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สงฆ์ที่รับถวาย  พระพุทธองค์พิจารณาเห็นดังนั้น จึงบัญญัติวิธีการให้พระสงฆ์จับสลารับถวายอาหารจากญาติโยม ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุติธรรม และความพอใจให้แก่ทุกฝ่าย และได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

ความมุ่งหมายของประเพณี 
ประเพณีตานก๋วยสลาก ปฏิบัติในช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่นลำไย พระสงฆ์ ส้มโอ เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจี ชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตเริ่มขัดสน เมื่อข้าวในยุ้งหมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้ จึงเท่ากับได้สงเคราะห์คนยาก คนจนเป็นสังฆทานได้กุศลเอง 

 

ขั้นตอนปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม
วันดา  หรือวันสุกดิบ หรือวันเตรียม ก่อนจะถึงวัดตานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่าวันดา  หรือวันสุกดิบ วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ  เริ่มจากเตรียมก๋วยสลาก บรรจุลงในก๋วย  (ชะลอมสานจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก ) แล้วนำอาหารคาวหวาน อาหารแห้งและของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ  กะปิ   น้ำปลา  หมาก พลู น้ำดื่ม ขนม ข้าวต้ม  กล้วย ส้ม สมุด  ดินสอ  สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และยารักษาโรค ที่จำเป็น ฯลฯ   เท่าที่หาได้พร้อมอาหารคาว หวาน และข้าวสุกที่พระสงฆ์จะนำไปฉัน  สำหรับจะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก และวันนี้มักจะมีญาติมิตรสหาย ที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดา สลากด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรบที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตองหรือกระดาษก็ได้ เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นเล็กๆ สำหรับเสียบเงินที่เป็นธนบัตร เพื่อทำยอดก๋วยสลาก จะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ  คณะศรัทธาใดที่จะจัดงานประเพณีสลากจะต้องจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดบ้าน จัดเตรียมสถานที่ จัดหาข้าวของใช้ อาหาร หรือวัสดุในการทำอาหารความหวานไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดสถานที่ ที่จะจัดเตรียมก๋วยสลากที่วัด  วันนี้มักเรียกว่า วันเตรียมหรือวันสีเตียน


วันตานสลาก ผู้จะถวายสลากภัต จะนำก๋วยสลาก พร้อมก้านตานสลาก ดอกไม้ ธูปเทียน ไปวางไว้ ณ สถานที่ในบริเวณวัดจัดไว้ เพื่อทำพิธีทางศาสนา และถวายก๋วยสลากแด่พระสงฆ์ตามหมายเลขที่พระสงฆ์จับได้   การตานสลากภัต จะเขียนคำอุทิศถวาย ที่เรียกว่า ด้านสลาก หรือก้านตาน หรือใบสลาก มักทำด้วยกระดาษแข็งหรือใบลาน เพื่อให้พระสงฆ์กรวดน้ำ ในสมัยก่อนนั้น จะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาบางสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์ จากจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้น บ้างแล้วแต่  กรณีส่วนหนึ่งแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อน จะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเส้นสลากไปอ่าน  โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อน  โดยจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธี

ก๋วยสลากถูกแกะเอาข้าวปลาอาหาร ออกมากิน จะกลายเป็นอาหารมื้อเที่ยงสำหรับชาวบ้านที่มารอรับ  สำหรับของใช้และอาหารแห้งต่างๆ ชาวล้านจะเป็นเอาไว้ใช้ประโยชน์

ก๋วยสลากจะมี ๒ ลักษณะ 
๑.ก๋วยฉลาก เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ  ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้น อาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น  ช้าง  ม้า  วัว ควาย และสุนัข  เป็นต้น  หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ในภายหน้า

๒.ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี  เป็นพลวปัจจัย นับว่าได้กุศลแรงสิ่งที่นำมาบรรจุใส่ในก๋วยสลาก เพื่อจะนำไปถวาย  ได้แก่ ข้าวสาร บุหรี่ กะปิ  น้ำปลา เกลือ กระเทียม หอม น้ำ ขนม ข้าวต้ม ข้าวนึ่งจิ้นทอด เมี่ยง พริกแห้ง ไม้ขีดไฟเทียนไข สบู่ ยาสีฟัน สมุด แปรงสีฟัน ดินสอ ผลไม้ต่างๆ และที่สำคัญ คือ เงินสำหรับ ที่จะทำยอดของก๋วยสลาก

สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ อีกอย่างหนึ่งคือ  สลากโชค  มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะระดับเศรษฐี (บางคน)  ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน   สลากโชค มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่นผ้าห่ม ที่นอนหมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่มห่ม อาหารแห้งต่างๆ และเงินธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด  ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่าง เช่น “ ศรัทธาหมายมีนายบุญมีนางคำมา ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยตาแม่อุ้ยเฟยผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ”  เป็นต้น


แหล่งข้อมูล
๑. หนังสือโครงการสืบค้นวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน รวบรวมโดยนายบรรเจิด   ติ๊บตุ้ย  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

๒. หนังสือข้อมูลด้านการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน(อำเภอเวียงสา)  รวบรวมโดยนางอารีย์วรรณ์ ปันสอน  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

บทความดีๆจาก http://www.m-culture.go.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

"กวนกะละแม เล่นสะบ้า แห่หงส์ธงตะขาบ" สงกรานต์วิถีมอญ

สงกรานต์ ตรุษสงกรานต์ หรือที่ต่างชาติรู้จักกันในนาม "Water Festival" ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า เพราะถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามประเพณีโบราณ ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

และเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 13 เมษายน คราใด หลายพื้นที่ก็มักจะเตรียมพร้อมเล่นสาดน้ำกับเพื่อนฝูง ครอบครัว เผื่อแผ่ไปยังข้างบ้าน ข้ามเขต และข้ามจังหวัด ให้คลายร้อนในฤดูที่แสงแดดแผดเผา แต่หนึ่งพื้นที่ที่จะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันในวันนี้คือ อ.พระประแดงเนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะมีเชื้อสายมอญ หรือที่บางคนเรียกว่า ชาวมอญปากลัด (ปาก-ลัด) ซึ่งจะไม่มีการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ แต่จะใช้เวลาย่างเข้าปีใหม่นี้ทำความสะอาดบ้าน และช่วยกันกวนกะละแม หรือข้าวเหนียวแดง หรือที่คนโบราณเรียกว่า กวันฮะกอ เพื่อที่จะนำไปทำบุญที่วัด และแจกจ่ายให้ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้าน เหมือนเป็นการแสดงไมตรีจิต จะเรียกว่าเป็นกุศโลบายของคนโบราณก็ได้ ที่อยากให้คนในครอบครัว มาร่วมกันกวนกะละแม กวนไปคุยไป ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน


นอกจากนี้ ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะสังเกตว่ามีการปลูกศาลเพียงตาไว้ และเมื่อถึงวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ เจ้าของบ้าน จะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาล พร้อมด้วยข้าวแช่ เพื่อสักการะพระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์ ซึ่งจะทำพิธีกัน 3 วันด้วยกันคือ 13-15 เมษายน

หลังจากที่ทำบุญกันแล้ว ชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมประเพณีแห่งหงส์ ธงตะขาบ ตามความเชื่อที่ว่า หงส์ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญ ส่วน ตะขาบ นั้น เปรียบถึงการที่ชาวมอญ ไม่หวั่นเกรงศัตรู เหมือนตะขาบที่มีลำตัวยาว  มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ นอกจากนั้น อวัยวะทุกส่วนในตัวของตะขาบ ชาวมอญยังจะนำมาขยายความเป็นคติทางธรรมได้ทั้งสิ้น กล่าวคือ หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง ขันติ โสรัจจะ เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5  อิทธิบาท 4 นั่นหมายความว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลราษฎรของตนได้เหมือนตะขาบแล้ว ก็จะเจริญรุ่งเรือง และสงบสุขไปอีกนานแสนนาน

ทั้งนี้ ขบวนแห่ธงตะขาบจะเป็นการรวมตัวของชุมชนชาวมอญจากวัดต่างๆ รวม 8 วัด โดยในปีนี้ (2555) จะตั้งต้นที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ เคลื่อนขบวนทั้งหมดไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ก่อนที่แต่ละขบวนของแต่ละวัดจะมุ่งหน้าไปยังวัดของตัวเอง เพื่อเอาธงตะขาบไปเปลี่ยนที่เสาหงส์ (ธงตะขาบจะมีการเปลี่ยนปีละครั้ง) ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ พร้อมทั้งจะมีการสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบนี้ จะมีการแห่กันในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

พอตกกลางคืน หนุ่มสาวชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะไปรวมตัวกันที่บ่อน แต่ไม่ได้หมายถึงไปเล่นไพ่ ไฮโล หรือการพนันขันต่อ แต่เป็น บ่อนสะบ้า ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จเนรมิตใต้ถุนบ้านของตัวเอง ด้วยการเกลี่ยพื้นให้เรียบ แล้วจัดให้ชายหญิงได้อยู่คนละฝั่งกัน และใช้ลูกสะบ้าเป็นสื่อในการพูดคุย เรียนรู้อุปนิสัยใจคอ แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นการเล่นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมเท่านั้น



อย่าเพิ่งสงสัย ว่าตกลงชาวมอญ เขาไม่เล่นสาดน้ำสงกรานต์กันหรือ?? ตอบให้ว่า "เล่น" แต่จะเล่นถัดจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ไปอีกหนึ่งอาทิตย์ แต่ก่อนที่จะมีการสาดน้ำ ทุกหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชายจากหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งแห่นก แห่ปลา ไปยังพระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม เพื่อนำไปปล่อย ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ก็มีจะมีหนุ่มสาวออกมาเล่นสาดน้ำ ประแป้งกันพอหอมปากหอมคอ

แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมก็มีอันต้องเปลี่ยนไป การเล่นสาดน้ำพอหอมปากหอมคอ ประพรมอย่างแต่ก่อนคงไม่มี แต่หากเปลี่ยนมาเป็นการนั่งรถกระบะ สาดน้ำเย็น ประแป้งสี แต่กระนั้น ชาวมอญพระประแดง ก็จะเล่นน้ำกันหลังจากที่ทำบุญที่วัดเสร็จแล้ว


เมื่อ อ.พระประแดง กำหนดเล่นสาดน้ำกันหลังจากวันสงกรานต์ (13 เมษายน) ประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้นักท่องเที่ยว คนพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางเข้าไปร่วมเล่นกันอย่างล้นหลามไม่แพ้พื้นที่ท่องเที่ยวอย่างพัทยา บางแสน เชียงใหม่ ฯลฯ


แต่ปีนี้อาจจะแตกต่างกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะงานสงกรานต์พระประแดง จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27-29 เมษายน 2555 ส่งท้ายเดือนหรรษากันเลยทีเดียว เอ๊า!!ใครยังไม่มีแพลนไปเที่ยวไหน ก็แวะไปสนุกสนานกันได้ งานนี้ไม่เกี่ยงว่าเป็นไทยหรือมอญ สนุกกันได้แบบไม่แบ่งแยก.

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากเว็บไซต์ ไทยรัฐ > thairath.co.th
เป็นการอ้างอิงเชิง อนุรักษ์วัฒนธรรม
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ประเพณีทอดกฐิน



กฐิน หมายถึง ชื่อพิธีทำบุญทางพระพุทธศาสนาหลังจากออกพรรษาภายในกำหนด 1 เดือน มีข้อควรทราบดังนี้
         1.เขตกฐิน ระยะเวลาให้พระรับกฐินได้คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
         2.ผ้ากฐินเป็นผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งใน 3 ผืนนี้
    กฐิน หมายถึง ไม้สะดึงผ้าที่ยกนำมาถวายแด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาแล้วที่เรียกเช่นนี้เพราะเวลาจะตัดใช้สะดึงทาบ การที่นำผ้าไปถวายเรียกว่า ทอดกฐิน
    การทอดกฐิน คือ การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่วัดใดวัดหนึ่งหรือสถานที่ใดที่หนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อให้พระได้มีผ้าเปลี่ยนใหม่การทอดกฐินจึงถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ ให้อานิสงส์แรง เพราะในปีหนึ่งแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องทำภายในเวลาที่กำหนดในการทอดกฐิน คือ 1 เดือนเท่านั้น โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษา
         ก่อนการทอดกฐินจะต้องมีการจองกฐินก่อนโดยจะต้องไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสแล้วเขียนปิดประกาศให้ทราบ และเมื่อจองเรียบร้อยและได้หมายกำหนดการเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมเครื่องกฐินซึ่งได้แก่ ผ้าจีวรหรือผ้าสบงหรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง และเครื่องบริขาร บริวารกฐิน ซึ่งอาจจะถวายเป็นปัจจัยสี่หรือถวายเป็นส่วนกลางเพื่อเป็นประโยชน์กับสงฆ์
         วันก่อนการทำพิธีทอดกฐิน 1 วันเรียกว่า วันสุกดิบ ทุกคนจะมาช่วยกันเตรียมสถานที่ ปักธงเตรียมเครื่องใช้สำหรับถวายพระและของที่จะต้องใช้ในพิธีในวันงานทอดกฐินนิยมจัดงาน 2 วันคือ วันแรกจะเป็นวันตั้งองค์พระกฐินซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านเจ้าภาพหรือที่วัดก็ได้ ตอนกลางคืนก้จะมีมหรสพ ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่สองก็จะเป็นวันทอด ซึ่งจะมีการแห่ไปตอนเช้าและเลี้ยงพระเพล หรืออาจจะทอดในตอนเพลก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพซึ่งแยกกันตั้งองค์กฐินตามบ้านของตนเอง ให้แห่มาทอดรวมกันในวันรุ่งขึ้นเพราะแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
พิธีทอดกฐิน จะมีพิธีสำคัญ 2 ขั้นตอน คือ
         1.การถวายผ้ากฐิน เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพก็จะอุ้มผ้ากฐินนั่งตรงต่อหน้าพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ หันมาทางพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ เช่นกัน เมื่อพระสงฆ์กล่าวรับ เจ้าภาพก็จะประเคนผ้าไตรกฐิน และเครื่องปัจจัยต่างๆ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะลงความเห็นว่าพระรูปใดมีจีวรเก่าก็จะพร้อมในกันถวายให้พระรูปนั้นแล้วพระสงฆ์ก็จะสวด อนุโมทนา และเจ้าภาพก็จะกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี
คำถวายผ้ากฐิน (กล่าวนะโม 3 จบแล้วตามด้วย)
         “อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะ ระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง ปะฏิคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”
   สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 โดยเพิ่มคำว่า ทุติยัมปิ นำหน้าแล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม สวดซ้ำเป็นครั้งที่สามโดยเพิ่มคำว่า ตะติยัมปิ นำหน้าแล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม คำแปล “ข้าแต่พระสงฆ์ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ”
         2.พิธีกรานกฐิน เป็นพิธีทางฝ่ายสงฆ์ โดยเฉพาะภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน จะมีการกล่าววาจากรานกฐินตามลักษณะของผ้าที่กราน
อานิสงส์ของกฐินที่ได้กับพระสงฆ์
         -พระสงฆ์สามารถออกไปนอกวัดได้โดยไม่ต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
         -พระสงฆ์ขาดจากผ้าสังฆาฏิ หรือผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรได้ เอาจีวรไปไม่ครบสำรับได้
         -พระสงฆ์สามารถฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
         -พระสงฆ์สามารถเก็บจีวรได้ตามปรารถนา
         -พระสงฆ์ได้ลาภต่างๆ ที่เกิดขึ้น
อานิสงส์ของกฐินสำหรับผู้ทอด
         ผู้ทอดกฐินมีความเชื่อว่าการทอดกฐินเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว และสามารถบริจาคได้ทั้งสมบัติและยังเป็นการบอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมทำบุญ ทำกุศลในครั้งนี้ด้วย
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

วันสงกรานต์ 2556 ประเพณีวันสงกรานต์ และข้อมูลความเป็นมา



พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน



ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"


ความหมายวันมหาสงกรานต์ของแต่ละวัน
    ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล วันจันทร์เป็นวันมหา สงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย
 วันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์  จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บ ไข้นักแล วันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล
 วันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล
 วันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล 

ความสำคัญของวันสงกรานต์ 
        พิธีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติ มาแต่โบราณช่วงวัน สงกรานต์จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อส่วนนั้นไปและ ในความเชื่อดั้งเดิมที่ใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น และขอพรจาก บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ได้แก่ การร่วมกันทำบุญให้ทาน การก่อพระเจดีย์ทรายและเป็น การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังสร้างความรู้สึกผูก พันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน และสร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนอาคารสถานที่สถานที่ต่างๆ

เรียบเรียงย่อโดย ที่นี่ประเพณีไทย
อ้างอิ้งจาก www.dmc.tv
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทยวิ่งควาย


ภาพ:วิ่งควาย.jpg
        วิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดชลบุรีมีอยู่แห่งเดียวในเมืองไทย เมื่อใกล้เทศกาลออกพรรษาครั้งใดก็แสดงว่าช่วงเวลาแห่งการไถหว่านได้ผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลาที่บรรดาชาวไร่ชาวนาจะได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน เพื่อรอคอยเวลาที่ผลผลิตจะตกดอกออกรวงและก็เป็นเวลาที่วัวควายจะได้พักเหนื่อยเสียทีหลังจากที่ถูกใช้งานมาอย่างหนัก ในวันงาน ชาวไร่ชาวนาจะหยุดงานทั้งหมดและจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงามด้วยผ้าแพรพรรณ และลูกปัดสีต่างๆ และนำควายมาชุมนุมกันที่ตลาด พร้อมกันนั้นก็จะนำผลิตผลของตนบรรทุกเกวียนมาขายให้ชาวบ้านร้านตลาดไปพร้อมๆ กัน เมื่อจับจ่ายขายสินค้าซื้อหาของต้องประสงค์เสร็จแล้ว ต่างคนต่างก็ถือโอกาสมาพบปะสนทนากัน บ้างก็จูงควายเข้าเที่ยวตลาดจนกลายมาเป็นการแข่งขันวิ่งควายกันขึ้น และจากการที่ชาวไร่ชาวนาต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาควายของตนอย่างสวยงามนี่เอง ทำให้เกิดการประกวดประชันความสวยงามของควายกันขึ้น พร้อมๆ ไปกับการแข่งขันวิ่งควาย
        ปัจจุบัน ประเพณีวิ่งควายในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จะจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 อำเภอบ้านบึงจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง จัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จัดวิ่งควายในวันทอดกฐินประจำปีของวัด
        ในวันนี้นอกจากจะจัดให้มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดความงามของควาย และประกวดสุขภาพของควายแล้วยังมีการ "สู่ขวัญควาย" หรือทำขวัญควายไปในตัวอีกด้วยแม้ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศจะหันมาใช้เครื่องจักรกลหรือที่เรียกว่าควายเหล็กช่วยผ่อนแรงในการทำนาแล้วก็ตาม แต่ชาวชลบุรีก็ยังคงอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นอันแปลกนี้อยู่ เพราะนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีของชาวชลบุรีอีกด้วย
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}