แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย การเบิกน่านน้ำ


ช่วงเวลา กระทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในเทศกาลออกพรรษา ก่อนจะมีการแข่งขันเรือพาย

ความสำคัญ
เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงมีประเพณีการแข่งขันเรือพายขึ้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า งานออกพรรษา ประเพณีการแข่งเรือถือว่าเป็นการบูชาพญานาค ๗ ตระกูล และเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างชาวมุกดาหารกับชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

พิธีกรรม
ก่อนจะมีการแข่งขันเรือ จะต้องทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าฟ้ามุงเมือง และศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง โดยจะมีขบวนแห่จากชาวคุ้มวัดต่าง ๆ เพื่ออัญเชิญเจ้าฟ้ามุงเมืองลงเรือลำแรก (ชื่อเรือมุกดาสวรรค์) โดยเจ้าฟ้ามุงเมืองในร่างของจ้ำหรือคนทรงจะประทับนั่งที่หัวเรือ เพื่อเป็นการเบิกน่านน้ำ ให้การแข่งขันเรือพายในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดผลดี เป็นสิริมงคล เกิดความสนุกสนานแก่ปวงชนปราศจากอุปสรรคทั้งปวง ต่อจากเรือมุกดาสวรรค์จะเป็นขบวนเรือประเพณี ประกอบด้วยฝีพายที่เป็นหญิง แต่งกายสีสันตามแบบพื้นเมือง หัวเรือ ๒ คน และท้ายเรือ ๓ คน จะเป็นชาย หลังจากล่องเรือแข่งกันแล้วจะเริ่มพายทวนน้ำจากหน้าวัดศรีบุญเรืองไปสิ้นสุดที่หน้าวัดศรีมงคลใต้ ระหว่างทางจะหยุดรับเครื่องสักการะจากชาวบ้าน มีเหล้า ดอกไม้ ธูป เทียน และดอกดาวเรือง ส่วนเรือประเพณีที่ตามหลังจะมีสาวงาม ๑ คน ฟ้อนหางนกยูงอย่างสวยงามที่หัวเรือ พร้อมกับฝีพายจะร้องเล่น เซิ้งและผญาอย่างสนุกสนาน

สาระ
เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณ เชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างพี่น้องสองฝั่งโขงไทย-ลาว แสดงถึงความสามัคคีของชาวจังหวัดมุกดาหารและชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า


  คำว่า “ ข้าวประดับดิน ” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538 ได้ให้ ความหมายไว้ว่า “ ข้าวประดับดิน (ถิ่นอีสาน) ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์และพระเจดีย์เวลาเช้ามืดเดือน 9 ” ความหมายตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคนะวันออกเฉียงเหนือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ที่ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

“ ข้าวประดับดิน ชื่อของบุญเดือน 9 บุญข้าวสากน้อยที่เรียกว่า : ชื่ออาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ที่จัดใส่กระทง วางไว้ตามพื้นดินหรือโคนต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ”


   เนื่องจากคนลาวและไทอีสานมีความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ว่ากลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรมสิบสี่ค่ำเดือน เก้า) เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากัน จัดห่อข้าว ไว้ให้ญาติที่น้องที่ตายไปแล้ว ผู้ล่วงรับไปแล้ว

   ครั้งพระพุทธกาลบรรดาญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์แล้ว ตายไปเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระ พุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้ว จึงได้ทรงอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้บรรดาเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น เมื่อเปรตมิได้รับผลบุญ ถึง เวลากลางคืนพากันมาส่งเสียงน่ากลัว เพื่อขอส่วนบุญอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชนิเวศน์ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้ยินเช่นนั้น พอรุ่งเช้าจึง เสด็จไปทูลถามสาเหตุจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแจ้งสาเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารททรงทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารนั้นทรง ทราบแล้ว จึงถวายทานและอุทิศส่วนกุศลซึ่งได้ทำให้เปรต ตั้งแต่นั้นมาบรรดาเปรตเหล่านั้นก็ไม่มารบกวนอีก เพราะเปรตที่เป็น ญาติได้รับผลบุญแล้ว ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ทำบุญข้าวประดับดินติต่อกันมา


   พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหารมีทั้งคาวหวาน แก่ เนื้อปลาเผือกมัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลูบุหรี่ไว้ให้พร้อมเพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสมเณรบ้าง ส่วน สำหรับอุทิศให้ญาติที่ตายใช้ห่อด้วยใบตองกล้ายคาวห่อหนึ่ง หวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่งเย็บหุ้มปลายแต่บางคนใส่ ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มีหรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้

   พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหารหมากพลู บุหรี่ที่ห่อหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลาวัดตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ใน บริเวณวัด พร้อมพับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาของและผลบุญด้วย

เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปตักบาตรและถวายทานแต่พระภิกษุสามเณร มีการ สมาทานศีลฟังเทศน์และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป

การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว หวานหมากพลูบุหรี่ไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญ ข้าวประดับดิน


คำถวายสังฆทาน (ข้าวประดับดิน)

   อิมานิ มะยัง ภันเต ปิณฑะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยะมะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปิณฑะ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

   ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวและอาหาร (ข้าวประดับดิน) กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวและอาหาร(ข้าวประดับดิน) พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และ ความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.


   การห่อข้าวปลาอาหารและของขบเคี้ยวต่างๆ เป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายทานบ้าง แขวนไว้ตามต้นไม้บ้าง ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) เรียกว่าข้าวประดับดิน การทำบุญด้วย การให้ทาน รักษาศีล ด้วยอาศัยข้าวประดับดินเป็นมูลเหตุเรียกว่า "ข้าวประดับดิน" นักปราชญ์อีสานโบราณได้ กล่าวไว้เป็นบทผญา โดยได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์และประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า...

เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว 
เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน 
กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน 
ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว 
เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน 
เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้ 
เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น 
คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย

อ้างอิงจาก www.phibun.com/thai_tradition ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ค้ำโพธิ์ค้ำไทร


  ความเชื่อเรื่องประเพณีค้ำโพธิ์ ค้ำไทร เมื่อคนป่วย มีอาการนอนไม่หลับ ผอมเหลือง ทำงานไม่ได้ ปวดหัวตัวร้อนตลอดเวลาต้องพึ่งพระ ให้จัดหาไม้คูณ ไม้ยอ ถากกลบเท่า ประมาณขาของคนป่วย ยาวประมาณ 1-2 วา

  เมื่อถึงวันพระ 15 ค่ำ กลางเดือน นำดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ข้าวตอกดอกไม้ นำผู้ป่วยไปจัดเพื่อประกอบพิธี นิมนต์เจ้า อาวาส พร้อมลูกวัด 4 รูป ร่วมพิธีรับศีล ชุมนุมเทวดา

  ประกาศรุกขเทวดารักษาต้นโพธิ์ ต้นไทร ขอให้อาการป่วย บรรเทาต่ออายุให้ยืนยาว แล้วนำไม้เสานั้นค้ำโพธิ์ ค้ำไทร พระสงฆ์สวดอนุโมทนา ผู้ป่วยกรวดน้ำ

  ความเชื่อเรื่องประเพณีสูตรธาตุ-ชะตา เมื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย นอนอาการหนักจนผู้มีความรู้เห็นว่าชะตาถึงฆาต ดวงชะตาขาด ควรสูตรชะตา ซึ่งใช้ภาชนะสองอัน ภาชนะ อันหนึ่งใช้ดินเหนียวทำเป็นเจดีย์เล็ก ๆ สูงแค่ศอกคนป่วย

  รอบเจดีย์บนภาชนะนั้น เจดีย์เล็ก ๆ อีก 9 อัน รอบเจดีย์ใหญ่นำไม้ไผ่ยาวแค่ศอกเท่าอายุคนป่วย กรรไกรตัดกระดาษ เป็นธงสามเหลี่ยมติดปลาย ไม้ไผ่ มัดเรียงที่ยอดเจดีย์ ทำธงเล็กเท่าอายุ

  ภาชนะอันที่สองนั้นเอามัดธงกระดาษ และมัดธงเหล็กนั้นเอาตั้งไว้บนภาชนะ ตัดกระบอกไม้ไผ่ยาวเท่านิ้วชี้มีรูหลวมนิ้วชี้ผู้ป่วย 5 อัน อันหนึ่งเอาถ่านไฟใส่ให้เต็ม อัน ที่สองยัดนุ่นให้เต็ม อันที่สามใส่ดินให้เต็ม อันที่สี่ใส่น้ำให้เต็มเป็นเครื่องหมายธาตุ คือ

  น้ำ ไฟ ลม มัดติดกับเสาธงกระดาษและธงเหล็กบนภาชนะ กระบอกไม้ไผ่อันที่ 5 ใช้ตวงข้าวสารเท่าอายุผู้ป่วย ใส่ขันหรือกะละมังไว้แล้วเย็บกระทงตองกล้วยเท่ากำมือผู้ป่วย 5 อัน ใส่ข้าวตอกกระทงหนึ่ง ใส่ดอกบานไม่รู้โรยกระทงหนึ่ง ใส่ข้าวเปลือกกระทงหนึ่ง ใส่ถั่วงากระทงหนึ่งใส่เมี่ยงหมากกระทงหนึ่ง วางบนภาชนะรอบเสาธง เทียนยาวรอบหัว เทียนสูงแค่หัว วัดจากสะดือผู้ป่วยถึงลูกกระเดือก เทียนเล่มบาท 1 คู่ ขัน 5-8 ปัจจัยเท่าอายุ

  พอถึงตอนเย็นแบกไปที่วัดถวายเจ้าอาวาส พระสงฆ์ 4 รูป จะนำไปสวดในพระอุโบสถสวดเสี่ยงทายอยู่ 3 วัน 3 คืน หลังทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว ผู้ป่วยชะตาขาดธาตุ สูญตวงข้าวสารในกระบอกไม้ไผ่เท่าอายุ ชะตาผู้ป่วยยังไม่ขาดธาตุยังไม่สูญ ข้าวสารที่ตวงเท่าอายุนั้นเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยต้องหายแน่

  ถ้าข้าวสารในกระบอกขาดไปจัดแจงสวด ตามกำลังวัน ตวงดูยังขาดอย่างเดิม ผู้ป่วยไปไม่รอดแน่ คืนที่สองสวดอีกตวงข้าวสารแล้วมีข้าวสารเพิ่มขึ้นเหนือกระบอกโดยลำดับผู้ป่วยหายแน่ เช่น

  พิธีตัดกรรม-ตัดเวร คนไข้เจ็บป่วย อัมพาต ป่วยมานานจนลุกเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ชาวอีสาน เกิดจากกรรมเวรในชาติก่อนหรือชาตินี้ตามสนอง จึงต้องได้รับ ความทุกข์ทรมาน ผู้ที่มีความรู้ก็จะจัดแจงแต่งเครื่องตัดกรรมตัดเวร มีหม้อแกง 4 หม้อ เครื่องหมายธาตุ 4 มีคาวหวาน ห่อพริก ห่อเกลือ ห่อปลาร้า ปลาเค็ม บุหรี่ตัว หมากคำ เงินสตางค์ห่ออันละนิดใส่ลงในหม้อ ทั้งสี่หม้อเหมือนกันหมด ด้ายสายสิญจน์ 4 เส้นยาว 2 วามีดน้อย 4 ดวง ขัน 5-8 หมาก พลู บุหรี่ถวายพระ

  พอถึงตอนเย็นนำไปที่วัดพร้อมเชิญคนป่วยไปด้วย คนป่วยใส่ล้อหรือนั่งเก้าอี้หามไปที่ต้นโพธิ์ นิมนต์พระสงฆ์นั่งทิศตะวันออกต้นโพธิ์ ให้คนป่วยนั่งหรือนอนอยู่ตรงกลาง ตั้ง หม้อในทิศทั้ง 4 ด้วยสายสิญจน์ผูกปากหม้อ พระสงฆ์ทั้ง 4 รูป จับด้ายสายสิญจน์ ไหว้พระรับศีลอาราธนาพระสงฆ์สวดตัดกรรม-ตัดเวร สวดตามกำลังวัน


  พิธีการแต่งบูชาพระเคราะห์แห่งปี ชาวอีสานถือเป็นประเพณีประจำครอบครัว ในเรื่องการประกอบสัมมาอาชีพ การป่วยไข้ หมอชาวบ้านจะแนะนำให้แต่งบูชา พระเคราะห์ ประเภทแก้พระเคราะห์บูชาโรค การบูชาพระเคราะห์ในบ้านเรือนครอบครัวจะมีความสุข เจ็บไข้ได้ป่วยป้องกันอันตราย ความเดือดร้อนในการครองเรือน โชค ร้ายจะหายไป จะได้โชคลาภ ป้องกันอันตราย ความเดือดร้อนในการครองเรือนโชคร้ายจะหายไปจะได้โชคลาภ

  หมอแต่งบูชานพเคราะห์นุ่งขาวห่มขาว จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยชุมนุมเทวดา ใช้ใบตองกล้วยสดปู จึงเอากระทงบูชานพเคราะห์วางบน เจ้าชะตามานั่งตรงหน้า ประกาศบอกเทวดา บอกชื่อเจ้าชะตามีความเคารพพรหมชาติชะตาของตน แต่งเครื่องบูชาพระนพเคราะห์บูชาพระเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะ

  ขอเชิญพระนพเคราะห์คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุทธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหูและพระเกตุ จงมารับเครื่องสักการะของเจ้าชะตา อันมีมา ในทักษาและมหาทักษา อีกทั้งพระมฤตยูผู้เป็นใหญ่ใน 12 ราศี อันเจ้าชะตานี้สักการะบูชาพระรัตนตรัยได้จัดลงใส่ในกระทงคาวหวานเป็นอเนกประการ

  ขอความสวัสดีมีชัยในลาภข้าวของเงินทองอันเนืองนอง จงมีแก่เจ้าชะตาเจริญรุ่งเรืองทุกเมื่อเทอญ พิธีสูตรขวัญก่อง การเจ็บป่วยของชาวอีสานได้ใช้พระพุทธศาสนาเข้าช่วย ผู้ป่วยที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ฝันร้ายตลอดเวลาขวัญหนีดีฝ่อ ร่างกายผอมเหลือง

  ซึ่งญาติพี่น้องจะนิมนต์ให้พระสงฆ์ สอดขวัญก่องให้ด้วยการหาก่องข้าวสูงแค่ศอก ผู้ป่วย ผู้ป่วยเป็นผู้ชายจัดเอาหวี แป้งหอม น้ำหอม ผ้าเช็ดหน้า แหวน กระจกเงา เครื่องแต่ง ตัว ของผู้ชายใส่ลงในก่องข้าว พร้อมทั้งเขียนชื่อผู้ป่วยและปัจจัยเท่าอายุ เทียนรอบหัว เทียนยาวแค่ตัววัดแค่สะดือถึงลูกกระเดือก ผ้านุ่ง ผ้าอาบของผู้ป่วยใส่ภาชนะขัน 5-8 ดอก ไม้ธูปเทียนข้าวตอก หมากพลู บุหรี่

นำไปถวายเจ้าอาวาส ถ้าเป็นผู้หญิงป่วยให้แต่งเครื่องผู้หญิง มีช่องหวี สร้อยคอ กำไลมือ กระจอนหู ต่างหู แป้งหอม น้ำหอม และ เขียนชื่อผู้ป่วยใส่ลงในก่องข้าว

  นอกนั้นเหมือนกันกับของผู้ชาย พอถึงเวลาเย็นนำไปวัดเจ้าอาวาสรู้แล้วพอถึงเย็นทำวัตรสวดมนต์ก่อนจำวัตรเจริญภาวนา จะนำก่องข้าวมาตรวจดู วางภาชนะเสื้อผ้าชิดก่อง ข้าว จุดธูปเทียน ชุมนุมเทวดาประกาศให้รู้ว่าคนป่วยชื่อนั้น ไม่สบายเป็นไข้ นำก่องข้าวมาให้ข้าสวดมงคลเรียกขวัญ ขวัญคนชื่อนี้ไปเที่ยวที่ใด จงมาลงในก่องข้าวนี้

  ขณะที่สวดให้เปิดฝาก่องข้าวไว้ ห้ามพูดกับใคร จำวัตรเลย คืนแรกฝันดีห้ามเอาคืนที่สองสวดอีกเหมือนเดิมห้ามพูด จำวัตรเลย มีนิมิตดีฝันดีไม่ต้องเอา คืนที่สามให้ สวดเหมือนเดิม คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย สุบินนิมิตจะฝันดีเหมือนคืนที่แล้วมา เวลาประมาณตี 4 หรือตี 5. ลุกขึ้นให้ปิดฝาก่องข้าว ปิดให้แน่นห้ามเปิด

  พอถึงตอนเย็นพระผู้สวดนั้นถือก่องข้าวและภาชนะผ้าเข้าไปในบ้านเรือนของคนป่วย ห้ามใช้พระรูปอื่นแทน ทำพิธีเอาก่องข้าวและภาชนะไว้ใต้แขนประมาณ 30-40 นาที

  จึงเอาด้ายผูกข้อมือคนป่วยและลูกเมียในครอบครัว ฮายความส่งบัตรพลี กระทงหน้าวัว กระทงกาบกล้วยพร้อมทั้งบัตรพลี เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะนำไปไว้ที่ต้นโพธิ์หรือทาง 4 แพร่ง คนป่วยจะจัดสิ่งของบูชาหมอตามประเพณี

  ความเชื่อเป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจ อาจจะมีเหตุผลหรือไม่มีซึ่งเกิดจากการยอมรับภายในจิตสำนึกของมนุษย์ในด้านนั้น ๆ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม แต่ความเชื่อก็ยังสืบต่อกันมาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอีสาน

  ความเชื่อก็ได้เกิดขวัญกำลังใจในภาระหน้าที่การงาน ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะ ความร่วมมือร่วมใจทำงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดปัญญา ความคิดค้นหาเหตุผล

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก kku.ac.th ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย สรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย


พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งของจังหวัดลำพูน เป็นจอมเจดีย์องค์หนึ่งในจำนวน 8 แห่งของประเทศไทย เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชพระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป ประเพณีสรงน้ำธาตุ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง ประเพณีนี้ยึดถือและปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี


วัตถุประสงค์ของประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย มีดังนี้
1.เพื่อเป็นการสักการะพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ของวัดพระบรมธาตุหริภุญชัย และนับเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวลำพูนและชาวพุทธทั่วไป
2.เพื่อสักการะพระบรมอัฐิธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3.เพื่อเป็นการบูชาเสาหลักเมือง ทั้งนี้เพราะประชาชนลำพูนถือว่าเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมืองทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยจึงได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนด้วย


กิจกรรมสำคัญ ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย กำหนดจัดขึ้น ณ วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า " วันแปดเป็ง " (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของภาคกลาง) หรือ" วันวิสาขบูชา " กิจกรรมที่จัดขึ้น มีทั้งพิธีราษฎร์และพิธีหลวง มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

พิธีราษฎร์ เริ่มเวลาประมาณ 07.00 น. คณะศรัทธาประชาชนร่วมประกอบพิธีทำบุญตักบาตรเวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ประจำวิหารทั้งสี่ทิศ คือ พระวิหารหลวง วิหารพระละโว้ วิหารพระเจ้าทันใจและวิหารพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีราษฎร์

พิธีหลวง เริ่มเวลาประมาณ 13.00 น. คณะข้าราชการในจังหวัดลำพูนนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำขบวนแห่น้ำสรงพระราชทาน เครื่องสักการะ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ธูปเทียนของหลวง ผ้าห่มพระธาตุสีแดง ยาวประมาณ 1 เมตร และน้ำศักดิ์บนดอยคะม้อ เริ่มขบวนแห่จากศาลากลางจังหวัดเข้าสู่วัดพระบรมธาตุหริภุญชัยการประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเริ่มพิธีทางศาสนาอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน น้ำศักดิ์สิทธิ์จากดอยคะม้อชักรอกขึ้นสรงน้ำพระบรมธาตุ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา โดยมีพราหมณ์ 8 คน ประจำอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุ หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนำน้ำขมิ้นส้มป่อยขึ้นสรงน้ำโดยวิธีชักรอบเช่นกัน เวลาประมาณ 17.00 น. เป็นเสร็จพิธีหลวง


อนึ่ง หลังจากเสร็จพิธีสรงน้ำพระราชทานและน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะมีขบวน "ครัวทาน"จากหัววัดต่างๆ แห่เข้าสู่บริเวณพิธีเพื่อนมัสการและสักการะพระบรมธาตุ ทั้งนี้ขบวน " ครัวทาน" จะตกแต่งเป็นเรื่องทางพระพุทธประวัติหรือมหาชาติที่ให้ข้อคิดคติธรรม ในขบวนจะประกอบด้วยขบวนตุง ธงทิว การแสดงศิลปพื้นบ้าน การบรรเลงดนตรีพื้นเมืองที่ครึกครื้นสนุกสนานและให้ความบันเทิงแก่ผู้ร่วมพิธี

ในภาคกลางคืน เริ่มเวลาประมาณ 18.00 น. พระสงฆ์ประมาณ 20 รูป พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธีเวียนเทียนประทักษิณองค์พระบรมธาตุ 3 รอบและพระสงฆ์แยกย้ายเข้าประจำพระวิหารทั้ง 4 ทิศ เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์สวดเบิกวิหารละ 4 วาร (วาระ) เป็นเสร็จพิธี


คำบูชาพระบรมธาตุหริภุญชัย สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐรัง สะทะอังคุลีฏฐัง
กัจจายะเนนตินะ ปัตตะปูรัง สีเสนะมัยหัง ปาณะมามิธาตุง อะหังวันทามิสัพพะทา

ข้าพเจ้า ขอเอาเศียรเกล้าของข้าพเจ้า นอบน้อมพระธาตุ อันเป็นเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือ พระอัฏฐิเบื้องพระทรวงอันประเสริฐ กับทั้งพระอัฏฐิพระองคลี และพระธาตุย่อยเต็มบาตรหนึ่ง อันพระกัจจายะนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทาในกาละทุกเมื่อแล

ขอบคุณข้อมูลจาก  baanjomyut.com
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก facebook.com/tatchiangmai.fanpage

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ตานก๋วยสลาก ภาคเหนือ

 

วัน เดือน ปีที่จัดกิจกรรมนิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
สถานที่จัดกิจกรรม- วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน
- วัดบุญยืน ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา
- วัดพงษ์ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น
- วัดนาทะนุง ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น
- วัดปิงหลวง ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น

ประวัติความเป็นมา 

ตานก๋วยสลาก ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก  ล้วนแต่เป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการ อาจจะแตกต่างกันไปบ้านในเรื่องรายละเอียด ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่า “ สลากภัต”ของชาวล้านนา  คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือสังฆทาน มีประวัติความเป็นมาเล่ากันว่า “ ครั้งพุทธกาลพระบรมโพธิสัตว์พร้อมพระสาวกำด้เดินทางจาริกแสวงบุญ เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาได้มีศรัทธา ญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวาย ในบรรดาญาติโยมเหล่านั้น แต่ละคนมีฐานะแตกต่างกัน คนที่มีฐานะดีก็นำอาหารอย่าดี จำนวนมากมาถวาย ส่วนคนที่มีฐานะยากจน แต่มีจิตศรัทธาใคร่ทำบุญก็นำอาหารเท่าที่หามาได้มาทำบุญ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สงฆ์ที่รับถวาย  พระพุทธองค์พิจารณาเห็นดังนั้น จึงบัญญัติวิธีการให้พระสงฆ์จับสลารับถวายอาหารจากญาติโยม ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุติธรรม และความพอใจให้แก่ทุกฝ่าย และได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

ความมุ่งหมายของประเพณี 
ประเพณีตานก๋วยสลาก ปฏิบัติในช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่นลำไย พระสงฆ์ ส้มโอ เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจี ชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตเริ่มขัดสน เมื่อข้าวในยุ้งหมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้ จึงเท่ากับได้สงเคราะห์คนยาก คนจนเป็นสังฆทานได้กุศลเอง 

 

ขั้นตอนปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม
วันดา  หรือวันสุกดิบ หรือวันเตรียม ก่อนจะถึงวัดตานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่าวันดา  หรือวันสุกดิบ วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ  เริ่มจากเตรียมก๋วยสลาก บรรจุลงในก๋วย  (ชะลอมสานจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก ) แล้วนำอาหารคาวหวาน อาหารแห้งและของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ  กะปิ   น้ำปลา  หมาก พลู น้ำดื่ม ขนม ข้าวต้ม  กล้วย ส้ม สมุด  ดินสอ  สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และยารักษาโรค ที่จำเป็น ฯลฯ   เท่าที่หาได้พร้อมอาหารคาว หวาน และข้าวสุกที่พระสงฆ์จะนำไปฉัน  สำหรับจะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก และวันนี้มักจะมีญาติมิตรสหาย ที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดา สลากด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรบที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตองหรือกระดาษก็ได้ เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นเล็กๆ สำหรับเสียบเงินที่เป็นธนบัตร เพื่อทำยอดก๋วยสลาก จะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ  คณะศรัทธาใดที่จะจัดงานประเพณีสลากจะต้องจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดบ้าน จัดเตรียมสถานที่ จัดหาข้าวของใช้ อาหาร หรือวัสดุในการทำอาหารความหวานไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดสถานที่ ที่จะจัดเตรียมก๋วยสลากที่วัด  วันนี้มักเรียกว่า วันเตรียมหรือวันสีเตียน


วันตานสลาก ผู้จะถวายสลากภัต จะนำก๋วยสลาก พร้อมก้านตานสลาก ดอกไม้ ธูปเทียน ไปวางไว้ ณ สถานที่ในบริเวณวัดจัดไว้ เพื่อทำพิธีทางศาสนา และถวายก๋วยสลากแด่พระสงฆ์ตามหมายเลขที่พระสงฆ์จับได้   การตานสลากภัต จะเขียนคำอุทิศถวาย ที่เรียกว่า ด้านสลาก หรือก้านตาน หรือใบสลาก มักทำด้วยกระดาษแข็งหรือใบลาน เพื่อให้พระสงฆ์กรวดน้ำ ในสมัยก่อนนั้น จะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาบางสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์ จากจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้น บ้างแล้วแต่  กรณีส่วนหนึ่งแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อน จะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเส้นสลากไปอ่าน  โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อน  โดยจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธี

ก๋วยสลากถูกแกะเอาข้าวปลาอาหาร ออกมากิน จะกลายเป็นอาหารมื้อเที่ยงสำหรับชาวบ้านที่มารอรับ  สำหรับของใช้และอาหารแห้งต่างๆ ชาวล้านจะเป็นเอาไว้ใช้ประโยชน์

ก๋วยสลากจะมี ๒ ลักษณะ 
๑.ก๋วยฉลาก เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ  ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้น อาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น  ช้าง  ม้า  วัว ควาย และสุนัข  เป็นต้น  หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ในภายหน้า

๒.ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี  เป็นพลวปัจจัย นับว่าได้กุศลแรงสิ่งที่นำมาบรรจุใส่ในก๋วยสลาก เพื่อจะนำไปถวาย  ได้แก่ ข้าวสาร บุหรี่ กะปิ  น้ำปลา เกลือ กระเทียม หอม น้ำ ขนม ข้าวต้ม ข้าวนึ่งจิ้นทอด เมี่ยง พริกแห้ง ไม้ขีดไฟเทียนไข สบู่ ยาสีฟัน สมุด แปรงสีฟัน ดินสอ ผลไม้ต่างๆ และที่สำคัญ คือ เงินสำหรับ ที่จะทำยอดของก๋วยสลาก

สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ อีกอย่างหนึ่งคือ  สลากโชค  มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะระดับเศรษฐี (บางคน)  ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน   สลากโชค มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่นผ้าห่ม ที่นอนหมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่มห่ม อาหารแห้งต่างๆ และเงินธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด  ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่าง เช่น “ ศรัทธาหมายมีนายบุญมีนางคำมา ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยตาแม่อุ้ยเฟยผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ”  เป็นต้น


แหล่งข้อมูล
๑. หนังสือโครงการสืบค้นวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน รวบรวมโดยนายบรรเจิด   ติ๊บตุ้ย  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

๒. หนังสือข้อมูลด้านการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน(อำเภอเวียงสา)  รวบรวมโดยนางอารีย์วรรณ์ ปันสอน  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

บทความดีๆจาก http://www.m-culture.go.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การเลี้ยงขันโตก


  ประเพณีไทยการเลี้ยงขันโตก เป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่โบราณ การเลี้ยงแขกโดยการกินข้าวขันโตก ซึ่งอาจมีหลายชื่อทีใช้เรียก ขานกัน เช่น กิ๋นข้าวแลงขันโตก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ประเพณี ขันโตก หรือสะโตก 

    ขันโตกเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้ โดยนำมากลึงให้เป็นลักษณะกลมเหมือนถาด ขันโตกขนาดเล็กนั้น จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๔ นิ้ว และขนาดใหญ่ จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ ๒๐ นิ้ว หรือถ้าเป็น ขันโตกสำหรับ เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือคหบดีก็จะดัดแปลงให้หรูหราตามแต่ฐานะ บ้างก็ใช้เงินทำหรือ "ทองกาไหล่" หรือไม่ก็ลงรัก ปิดทอง 

    ในสมัยก่อน ชาวเหนือนิยมรับประทานอาหารกับพื้น เมื่อแม่บ้านทำกับข้าว เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะยกออกมาตั้งโตก โดยในขันโตกนั้นจะมีกับข้าวพร้อม และเมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้วก็ยก ไปเก็บทั้งโตก เป็นการประหยัดเวลา ในการจัดและเก็บ ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวเหนือที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งการเลี้ยงขันโตกก็ยังได้รับความนิยมและใช้เลี้ยงรับรองผู้มาเยือนอยู่เสมอๆ 

    จุดมุ่งหมายของการกินข้าว แบบขันโตกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้มีการพัฒนา มาจากสมัยก่อน โดยถือว่านอกจากจะ เพื่อเป็นการเลี้ยงรับรองแขกที่มาเยือน ให้หรูหรา สมเกียรติ และเพื่อให้เกิดความอบอุ่นประทับใจใน การต้อนรับแล้วยัง ไ้ด้มีการประยุกต์ เอาวิธีการเลี้ยงดูแขกให้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่ม สีสันของการจัดงาน ให้ยิ่งใหญ่ดูวิจิตรพิสดาร เพียบพร้อมไปด้วย บรรยากาศของ เมืองเหนือจริงๆ โดย ประดับประดาเวทีด้วย ดอกไม้ต้นไม้ให้ดูผสมผสานและดู กลมกลืนกันไป การตระเตรียมขั้นตอนการดำเนินงานเลี้ ยงขันโตก เพื่อให้พิธีการ หรูหรา ประณีต และงดงาม เหล่านี้เป็นการสร้างบรรยากาศเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อ เพื่อให้ประทับใจ และถือเป็นการให้ ความยกย่องแขกทั้งสิ้น 


    จะเห็นว่า การกินข้าวขันโตกของชาวเหนือนั้น นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อ แสดงน้ำใจในการต้อนรับแขก และเป็นการให้เกียรติแก่ผู้มาเยือนแล้วในปัจจุบัน ก็ยังได้มีจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่หลายประการ เช่น บาง ท้องถิ่นก็ได้จัดงานเลี้ยง ขันโตก เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีไทย ในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อฟื้นฟูการแต่งกายแบบพื้นเมือง เพื่อการทำอาหารพื้นเมืองเพื่อส่งเสริมการ ท่องเที่ยว ให้ชาวบ้านมีรายได้มีงานทำด้วย บางแห่งก็มีการจัดงาน เลี้ยงขันโตก เพื่อหารายได้สำหรับสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น 

    งานจะเริ่มจากการร่วมแรงร่วมใจกันตระเตรียมสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ ตลอด ไปจนสถานที่ โดยจะประดับเวที ฉาก และการแสดงบนเวที สำหรับสถานที่นิยม จัดในที่กลางแจ้ง เช่น สนามหญ้าต่างๆ แล้วนำเสื่อมาปู ส่วนมากเป็นเสื่อยาวๆ จะนั่งกันประมาณ ๕ ถึง ๖ คน มีขันโตกตั้งอยู่ตรงกลาง ในขันโตกส่วนมากก็จะมี อาหารประมาณ ๕ อย่าง ตัวอย่างเช่น แกงอ่อม แคบหมู แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ชิ้นปิ้ง ผักสด และที่ขาดไม่ได้ คือ ข้าวเหนียว หรือที่ชาวเหนือเรียกกันว่า ข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งของชาวเหนือ นั้นจะต้องอาศัยทักษะและ ความรู้ในการทำพอสมควร คือ เริ่มจากนำข้าวไปแช่น้ำ เรียกว่า การหม่าข้าวไว้ ๑ คืน ในหม้อข้าวหม่า (หม้อที่ ใช้สำหรับแช่ข้าวเหนียว) ซึ่งก่อนที่จะทำการนึ่งต้องซาวข้าวด้วยการใช้ ซ้าหวด (คือ ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่สำหรับ ใส่ข้าวเหนียวเอาไปล้างน้ำให้สะอาดก่อน ที่จะนำไปนึ่ง) การนึ่งจะต้องใช้ไหข้าวมีฝาปิดมิดชิดให้ข้าวสุกดีขึ้น แล้วยกลงมา นำไปวางในภาชนะที่เรียกว่า กั๊วะข้าว หรือถาด ต้องคอยคนให้ไอน้ำในข้าวระเหย ออกไปบ้าง และคอยระวังไม่ให้ข้าวแฉะ ข้าวแข็ง หรือสุกไม่ทั่วกัน เมื่อข้าวสุก ได้ที่แล้ว ก็นำข้าวไปใส่ กระติ๊บบ้าง หรือที่ทางเหนือเรียกว่า แอ๊บ หรือก่องข้าว ซึ่งนิยมสานด้วย 

    สำหรับงานเลี้ยงข้าวขันโตก จะมีกระติ๊บข้าวนึ่งที่มีขนาดใหญ่อีกกระติ๊บหนึ่ง เรียกว่า กระติ๊บหลวง มีลักษณะเหมือนกระติ๊บทั่วไปแต่มีขนาดใหญ่มาก อาจต้อง ใช้คนหามเข้าขบวนแห่นำขบวน ขันโตก โดยมีขบวนสาวงามช่างฟ้อนนำขบวน ขันโตกเข้ามาในงาน ผสมกับเสียงดนตรี และเสียงโห่ร้องเพื่อแสดงความยินดี เมื่อสาวงามช่างฟ้อนมาถึงงานเลี้ยงแล้ว ก็จะนำกระติ๊บหลวงไปวางไว้กลางงาน และนำข้าวนึ่ง ในกระติ๊บหลวง ออกแบ่งใส่กระติ๊บเล็กๆ แจกจ่ายไปตามโตกต่างๆ จนทั่วบริเวณงาน ซึ่งมีโตกกับข้าวเตรียมไว้ก่อนแล้ว 

    การนั่งรับประทานอาหารในงานขันโตก จะนั่งกับพื้นบนสาดเติ้ม (เสื่อไผ่สาน) หรือจะนั่ง รับประทานขันโตกบนพื้นไม้ที่ยกพื้นขึ้นมาในระดับเวทีก็ได้ 



    ผู้ที่มาร่วมงานทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวเหนือ ผู้ชายสวมเสื้อ ม่อฮ่อม มีผ้า ขาวม้าคาดเอว มีพวงมาลัยดอกมะลิคล้องคอ ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ยาวถึงตาตุ่ม สวมเสื้อแขนกระบอก ทัดดอกไม้ที่หู หรือคล้องพวงมาลัยดอกมะลิ 

    นอกจากอาหารคาวแล้ว ยังมีอาหารหวาน ที่นิยมเลี้ยงกันในงานขันโตก เช่น ขนมปาด ข้าวแตน ข้าวควบ มีน้ำต้นคนโท ขันน้ำสำหรับล้างมือก่อนหยิบข้าวนึ่ง มีกระโถนใส่เศษอาหาร และเมี่ยง บุหรี่ไว้สำหรับ แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน บุหรี่ที่ใช้ คือ บุหรี่ขี้โย เป็นบุหรี่ยาเส้น นำมามวนใบตอง ชาวบ้านนิยมสูบกันทั่วไป เมี่ยง คือ ใบชานำมาหมักให้ได้ที่ใช้อมกับเกลือ มีรสเปรี้ยว อมเรียกน้ำลายทำให้ชุ่มคอ

    สำหรับบรรยากาศที่น่าประทับใจของงาน คือ จะให้แสงสว่างบนเวทีจากไฟ ตะเกียง หรือแสงเทียน บนโตกมีการจุดเทียน ๒ - ๓ เล่ม ให้พอมองเห็นหน้ากัน บนเวทีมีการตกแต่งประดับประดาให้เข้าบรรยากาศเมืองเหนือ และมีวงดนตรีอยู่ที่ มุมหนึ่งของเวที ในขณะที่แขกเหรื่อกำลังรับประทานอาหารก็มีการบรรเลงดนตรี ขับกล่อมตลอดเวลาสลับกับการแสดงบนเวที และส่วนมากนิยมนำเอาศิลปะการ ฟ้อนรำแบบชาวเหนือมาแสดงบนเวที สลับกับการแสดงดนตรีพื้นเมือง เช่น ชุดการแสดงฟ้อนสาวไหม ฟ้อนตาว (ฟ้อนดาบ) ฟ้อนเทียน 

    การจัดงานประเพณีกินข้าวแลง ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้มีการนำเอาศิลปะ วัฒนธรรมของ ชาวเหนือเข้ามาผสมผสานเพื่อให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น เช่น จัดให้ มีการประกวดโคมลอย การประกวดจิบอกไฟ (จุดบอกไฟ) หรือจุดพลุในเวลา กลางคืนให้ดูสวยงาม เพิ่มสีสันให้แก่งานอย่างมาก 

    งานประเพณีต้อนรับแขกชาวเหนือ เป็นงานประเพณีที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ ของชาวไทยภาคเหนือ เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตั้งแต่ดั้งเดิมที่สืบมา จนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศ ในการต้อนรับให้อบอุ่น และสร้าง ความประทับใจแก่ผู้มาเยือน ยากที่จะลืมเลือน


บทความประเพณีขันโตก ศึกษาต่อเกี่ยวกับเรื่อง ฟ้อนรำ สถานที่ รายการอาหาร ได้ที่ http://ขันโตก.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ช่วงเวลา
ประมาณเดือนหกของทุกปี

ความสำคัญ
เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่แสดงถึงการเริ่มต้นฤดูทำนา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและเสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจ รวมทั้งสิริมงคลแก่เกษตรกรไทย

พิธีกรรม
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประกอบด้วย ๒ พิธีรวมกัน คือ
๑. พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ กระทำกันในวันแรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีขั้นตอนพิธีที่สำคัญดังต่อไปนี้


๑.๑ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังอัญเชิญพระพุทธรูปประจำรัชกาลต่าง ๆ รวมทั้งรัชกาลปัจจุบัน และเทวรูปองค์สำคัญมาตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลา หน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบกพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาเป็นกระบุงเงิน กระบุงทองอย่างละคู่ ซึ่งบรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดี และถุงบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เช่น ผักกาด ข้าวโพด แตงกวา ถั่ว ฯลฯ


๑.๒ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาแรกนา แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไทย ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งที่เก้าอี้เฝ้า


๑.๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชาแก่พระพุทธคันธารราษฏร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย


๑.๔ หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์


๑.๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมพระราชทานธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่พระยาแรกนา ส่วนเทพีทั้ง ๔ ทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม พนักงานประโคมฆ้องชัย


๑.๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก


๒. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ กระทำกันในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง ซึ่งจัดตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหม ระนารายณ์ ฯลฯ มีขั้นตอนพิธีสำคัญตามลำดับดังนี้


๒.๑ พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีทั้งแต่งกายตามแบบประเพณีโบราณ เดินทางออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังมณฑลพิธีสนามหลวง


๒.๒ พระยาแรกนาเข้าสู่โรงพิธี จุดธูปเทียนบูชาเทวรูปสำคัญ หัวหน้าพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์ที่มือ และให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔


๒.๓ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายหรือเสี่ยงทายผ้านุ่ง โดยการสอดมือหยิบผ้านุ่งที่วางเรียงรายอยู่ใต้ผ้าคลุม ซึ่งมีผ้านุ่งรวม ๓ ผืน คือ ขนาดกว้าง ๔ คืบ ๕ คืบ และ ๖ คืบ เมื่อพระยาแรกนาหยิบได้ผ้านุ่งผืนใด จะสวมผ้าผืนนั้นทับลงบนผ้านุ่งเดิม คำพยากรณ์ของผ้านุ่งเสี่ยงทายมีดังนี้


ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก นาที่ดอนสมบูรณ์ นาที่ลุ่มเสียหายบ้าง
ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำมีปริมาณพอดี นาที่ดอนเสียหายบ้าง นาที่ลุ่มสมบูรณ์
ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำน้อย นาที่ดอนเสียหายบ้าง นาที่ลุ่มสมบูรณ์


๒.๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพระราชพิธี พระยาแรกนาเข้ากราบถวายบังคม ๓ ครั้ง และเดินเข้าสู่ลานแรกนาเพื่อเจิมคันไถ เจิมพระโค


๒.๕ ถึงเวลามงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เชิญเทวรูปเดินนำหน้าพระโค ตามด้วยพระยาแรกนาเดินไถดะโดยรี ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ พร้อมทั้งหว่านธัญญพืชจากกระบุงเงิน กระบุงทองของเทพีทั้ง ๔ ลงบนดิน จากนั้นไถกลบอีก ๓ รอบ


๒.๕ พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ เดินกลับไปที่โรงพิธีพราหมณ์ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พราหมณ์จัดวางอาหารเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า เมื่อพระโคกินสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์


๒.๖ เจ้าหน้าที่อ่านรายชื่อเกษตรกรผู้ชนะเลิศการประกวดข้าว เพื่อเบิกตัวเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ


๒.๗ พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ ขึ้นรถยนต์หลวงจากมณฑลพิธีสนามหลวง ไปยังแปลงนาทดลองในพระราชฐานสวนจิตรลดา หว่านพืชพันธุ์ธัญญหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลงในแปลงนาทดลอง สำหรับนำไปใช้ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของปีต่อไป


ความรู้
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ว่างเว้นไประยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง และทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรประจำปี
ในสมัยโบราณพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลเป็นพิธีเฉพาะทางพราหมณ์เท่านั้น ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เพิ่มพิธีทางสงฆ์ด้วย ปัจจุบันยังคงยึดถือตามแบบธรรมเนียมการปฏิบัติโบราณ มีการดัดแปลงบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับสมัยนิยม เช่น พระราชพิธีพืชมงคลเพื่อทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยพิธีทางสงฆ์ จะทำกันที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกเขตพระนครหรือที่อื่น ๆ บ้าง แต่ในปัจจุบันพระราชพิธีพืชมงคลทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ท้องสนามหลวง เป็นต้น


เป้าหมายสำคัญของการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นการทำขวัญและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และเกษตรกรรมก็เป็นอาชีพหลักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นประเพณีไทยหลายอย่างมักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงถือว่าเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกประจำปี


กำหนดเวลาการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำกันประมาณเดือนหกของทุกปี เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำนาในประเทศไทย แต่ไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน เนื่องจากต้องพิจารณาฤกษ์ยามที่เหมาะสมในแต่ละปี


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การเดินเต่า


ประเพณีไทยการเดินเต่า คือการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ซึ่งแหล่งที่มีการเดินเต่าทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่ง แถวฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีความยาวโดยตลอดร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร ซึ่งในบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น จะมีเต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เมื่อถึงฤดูวางไข่ ชนิดของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ตามชายฝั่งตะวันตกนี้มีหลายชนิด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อได้แก่ เต่ากระ เต่าเฟือง เต่าเล็ก เต่าหางยาว เป็นต้น

ในแต่ละปีเต่าทะเลแต่ละชนิดจะขึ้นมาวางไข่ ๔ ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่าเต่าทะเลตัวใด ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป เป็นประจำทุกปี อาจยกเว้นว่าบางครั้งมันอาจขึ้นมาพบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่น บริเวณใกล้ ๆ กัน

เนื่องจากลักษณะของเต่าทะเลพิศดารอย่างนี้ ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงสามารถเก็บไข่เต่าได้ โดยอาศัยความทรงจำของเต่าให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเต่าทะเลแต่ละตัวหากขึ้นวางไข่ที่ใดแล้ว หลังจากนั้นไปเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ หรือ ๒ สัปดาห์ เต่าตัวเดิมนี้ จะขึ้นมาวางไข่อีกที่หาดเดิม แต่ตำแหน่งที่คลานขึ้นมาวางไข่จะห่างจากที่เคยขึ้นวางไข่ครั้งก่อนราว ๑๐-๒๐ เมตร อาจเป็นเพราะว่ามันกลัวจะไปขุดถูกหลุมไข่ที่เคยวางไว้แล้ว ก็เป็นได้ ส่วนเวลาไหนนั้นชาวบ้านจะต้องคำนวณโดยการนับน้ำว่าวันที่ครบกำหนดวางไข่ นั้นเป็นวันข้างขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ ก็พอรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรที่น้ำขึ้นครึ่งฝั่งน้ำลงครึ่งฝั่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เต่าขึ้นวางไข่ 


จากนั้นก็สามารถเอาตะกร้าไปรอรับไข่เต่าได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเดินไปเดินมา และไม่ต้องเสียเวลาหาหลุมไข่เต่าในตอนหลัง เช่นครั้งที่ ๑ ขึ้นมาวางไข่ในแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ครั้งต่อไปก็จะขึ้นวางอีกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากครั้งก่อน ๗ วัน) หรืออาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในวันดังกล่าวนี้ ก็จะขึ้นมาวางไข่ในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๑๒ (หลังจากครั้งก่อน ๑๔ วัน) จากปากคำของชาวบ้านที่เคยได้สัมปทานไข่เต่าหรือเรียกกันในภาษาเดิมว่า "ผูกเต่า" บอกว่าใช้วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเดินให้เมื่อยเลย อาจจนอนอยู่ที่บ้านแล้วพอถึงเวลาที่คำนวณไว้ก็ค่อยเดินไปนั่งรอที่จุดนั้น ๆได้ และมักจะถูกต้องเสมอทุกคราวไป

ช่วงเวลา เวลาที่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาด เมื่อถึงฤดูวางไข่คือประมาณ เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน ๔ ราว ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนก่อนหรือหลังเวลาที่ว่ามานี้มีบ้างเล็กน้อย

แต่ในปัจจุบันนี้ ประเพณีการเดินเต่าไม่มีแล้ว เพราะว่าประชาชนในท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเล อันดามัน ได้แก่ เต่าทะเล เป็นต้น ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนใน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้




ประเพณีการเดินเต่าจะทำกันในตอนกลางคืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นหากไม่ค่อยมีความรู้ ก็อาจเดินหาตามความยาวของหาดทราย ระยะทางหลายกิโลเมตร โดยไม่เจอไข่เต่า แม้แต่หลุมเดียว (หลุมรัง) ก็เป็นได้ แต่สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ นั้นมีเคล็ดในการหาไข่เต่าหลายอย่าง อย่างแรก คือเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ เต่าจะขึ้นมาวางไข่เมื่อไหร่นั้นให้ดูได้คือ

๑. ให้ดูดาวเต่า ดาวเต่านี้จะประกอบด้วยดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า ตำแหน่งที่ดาวเต่าเริ่มหันหัวลงทางทิศตะวันตก คือดาวเต่าเริ่มคล้อยลง (คล้าย ๆ กับดวงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป) เมื่อดาวเต่าหันหัวลงทะเลก็เป็นเวลาที่เดินเต่าได้ คนโบราณเชื่อว่าเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้


๒. ให้ดูน้ำ หมายถึงน้ำทะเลขึ้นลงนั่นเอง หากว่าน้ำขึ้นครึ่งฝั่ง หรือน้ำลงครึ่งฝั่ง ก็เป็นเวลาที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ ไม่ปรากฏว่าเต่าทะเลขึ้นมาขณะน้ำลดน้ำขึ้นมา
ดังนั้น เต่าทะเลก็มีกำหนดเวลาขึ้นวางไข่ในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม กี่ค่ำที่ทำให้น้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

ประเพณีการเดินเต่า ชาวบ้านในท้องถิ่นพบเต่าทะเลที่กำลังขึ้นมาวางไข่ก็รู้ได้จากรอยคลานของ เต่าที่ปรากฏ อยู่บนหาดทราย ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน เพราะมันจะใช้ทั้ง ๒ คู่สับลงบนพื้นทรายแล้วลากตัวขึ้นมา จึงปรากฏรอยในลักษณะที่คล้ายรอยของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก โดยปรากฏเป็นทาง ๒ ทาง คือทางขึ้น ๑ ทาง ทางลงอีก ๑ ทาง จากรอยนี้ก็บอกได้ว่าต้องมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ แต่การหาหลุมที่เต่าวางไข่นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่าหาดทรายกว้าง ชาวบ้านในสมัยก่อนที่มีความรู้ มีวิธีสังเกตเพื่อหาหลุมไข่เต่าหลายวิธี ได้แก่


๑. ดูปลายทราย หมายถึงให้สังเกตทรายที่เต่าขุดขึ้นมาแล้วสาดไปโดยรอบลำตัวขณะที่ขุดหลุม วางไข่ จะปรากฏให้เห็นเป็นแนวโดยรอบ ๆ หลุมในระยะพอสมควร ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่าบริเวณที่อยู่จากถัดจากปลายทรายเข้าไปนั้น ต้องเป็นหลุมไข่เต่า แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนเพราะเต่ามักมีการพรางหรือหลอกโดยการสาดทราย หลาย ๆ จุด แต่ไม่ได้วางไข่จริง ๆ จะดูว่าเต่ามันหลอกเราหรือไม่นั้นก็ดูทรายที่สาด หากเป็นทรายเปียกหรือจับเป็นก้อนเล็ก ๆ แสดงว่าเป็นบริเวณหลุมที่วางไข่จริง เพราะเป็นทรายที่ขุดจากทรายชั้นล่าง หรือจากก้นหลุม


๒. ใช้ไม้ปลายแหลมแทงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "สัก" ลงไปตามพื้นทรายให้ลึกประมาณ ๒ ฟุต แล้วสังเกตว่า ไม้ที่แทงนั้นผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ เช่น แทงลงโดยง่าย ทันทีอาจแทงบนหลุมเต่าก็ได้ อาจทดสอบได้ด้วยการดมปลายไม้ดู หากแทงถูกหลุมวางไข่จะมีกลิ่นคาวของไข่เต่าติดปลายไม้ขึ้นมา

๓. ถ้าเป็นเวลากลางวันให้ดูแมลงวันว่าไปตอมบริเวณใด เพราะแมงวันจะไปตอมบริเวณที่วางไข่ ซึ่งมีคาวเมือกขณะที่เต่าทะเลวางไข่ตกอยู่

หากทั้ง ๓ วิธีไม่สามารถหาหลุมวางไข่ ชาวบ้านสมัยก่อนใช้วิธีสุดท้าย คือสังเกตพื้นทรายบริเวณที่มีรอยของเต่าในเวลาประมาณ ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ นาฬิกา จะพบว่าบริเวณที่เป็นหลุมไข่เต่าจะมีลักษณะเป็นไอหรือควันขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเมื่อไข่มีอุณหภูมิสูง เมื่อมาถูกกับความเย็นของทรายชั้นล่างก็เกิดการคายความร้อน และเกิดไอขึ้นเหนือทรายได้


ไข่เต่าในแต่ละหลุมหรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า "รัง" จะมีจำนวนแตกต่างกันตามชนิดของเต่า และลำดับครั้งที่วางไข่ เช่น เต่ากระ ครั้งแรกอาจไข่รังละ ๘๐ ฟอง ครั้งต่อไป ก็อาจถึง ๑๒๐ ฟอง แล้วลดลงมาจนครั้งสุดท้ายอาจมีราว ๓-๔ ฟอง นอกนั้นเป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง ซึ่งเรียกว่า "ไข่ลม" เต่าเล็กจะไข่ครั้งแรกประมาณ ๑๐๐ ฟอง ครั้งต่อไปราว ๑๕๐ ฟอง ครั้งสุดท้ายก็ลดลงเหลือไม่กี่ฟอง เต่ามะเฟืองราว ๑๒๕ ฟอง ส่วนเต่าหางยาวมีจำนวนมากที่สุดราว ๑๕๐ ฟอง



ข้อมูลอ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย แห่นก ชายแดนใต้จังหวัด ปัตตานี


    เป็นประเพณีไทยพื้นเมือง ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นประเพณีที่แสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัด หรือที่เรียกว่า มาโซะยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว
   จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกว่าเริ่มที่ยาวอ (ชวา) กล่าวคือ มีเจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอพระองค์หนึ่ง มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการเอาอกเอาใจทั้งจากพระบิดาและข้าราชบริพาร ต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่นมาบำเรอ ในจำนวนสิ่งเหล่านี้มีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วมีขบวนแห่แหนไปรอบ ๆ ลานพระที่นั่ง เป็นที่พอพระทัยของพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดฯ ให้มีการจัดแห่นกถวายทุก  7 วัน
   อีกตำนานหนึ่งว่า ชาวประมงได้นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามา เล่าว่า พวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่างมหัศจรรย์ ผุดขึ้นมาจากท้องทะเลแล้วบินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปสู่ท้องฟ้า พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปร่างลักษณะของนกประหลาดตัวนั้น ต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันตามสายตาของแต่ละคน พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก ลูกชายคนสุดท้องก็รบเร้าจะใคร่ได้ชม พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำ บอกเล่าของชาวประมงซึ่งได้เห็นรูปที่แตกต่างกันนั้น ช่างทั้งหลายประดิษฐ์รูปนกขึ้นรวม 4 ลักษณะ คือ
1.นกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามการสันนิษฐานน่าจะเป็น “นกการเวก” เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ การประดิษฐ์มักจะตกแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็นสี่แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาดเวลาเข้าขบวนแห่ ทำเป็นกนกลวดลายสวยงามมาก มักนำไม้ทั้งท่อนมาแกะสลักตานก แล้วประดับด้วยลูกแก้วสี ทำให้กลอกกลิ่งได้ มีงายื่นออกมาจากปากคล้ายงาช้างเล็ก ๆ พอสมกับขนาดของนก
2.นกกรุดาหรือนกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑที่เห็นโดยทั่วไป
3.นกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะซูรอมาก การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น ต้องทำกันอย่างประณีตถี่ถ้วน และใช้เวลามาก 
4.นกบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์ ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ และดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม

   ในการประดิษฐ์นกนิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งไม่เปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง ทั้งยังทนทานใช้การได้นานปี สำหรับตัวนกจะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง ติดคานหาม แล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขน ประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันแลดูเด่นขึ้น
ไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่มาที่แน่ชัด
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย กำฟ้า


ประวัติความเป็นมา ประเพณีไทย กำฟ้า
ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวน ที่อาศัยกระจายไปอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี อุดรธานี หนองคาย แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิจิตร เป็นต้น
แม้การรวมตัวในแต่ละถิ่นไม่มากนัก แต่ทุกแห่งต่างก็สามารถรักษาวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี
กำ หมายถึง การสักการบูชา (ภาษาพวน)
กำฟ้า หมายถึง การสักการบูชาฟ้า
วันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 เป็นวันกำฟ้า ก่อนวันกำฟ้า 1 วัน คือวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 จะถือเป็นวันสุกดิบแต่ละบ้านจะทำข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน พร้อมทั้งน้ำยา และน้ำพริกไว้เลี้ยงดูกัน มีการทำข้าวหลามเผาไว้ในกระบอกข้าวหลามอ่อน มีการทำข้าวจี่ ข้าวจี่ทำโดยนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ อาจจะใส่ใส้หวานหรือใส่ใส้เค็มหรือไม่ใส่ใส้เลย ก็ได้ เสียบเข้ากับไม้ทาโดยรอบด้วยไข่ แล้วนำไปปิ้งไฟจนสุกหอม ข้าวจี่จะนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้าและแบ่งกันกินในหมู่ญาติพี่น้อง พอถึงวันกำฟ้าทุกคนในบ้านจะไปทำบุญที่วัด มีการใส่บาตรด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ ตกตอนบ่ายจะมีการละเล่นไปจน ถึงกลางคืน การละเล่นที่นยมได้แก่ ช่วงชัย มอญซ่อนผ้า นางด้ง ฯลฯ

สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า

ชาวพวนมีความสามารถในด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา สมัยก่อนต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงเกรงกลัวต่อฟ้ามาก จึงมีการเซ่นไว้ สักการบูชา ซึ่งชาวบ้านรู้สึกสำนึกบุญคุณของฟ้าที่ให้น้ำฝน ทำให้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น
แต่เดิม ถือเอาวันที่มีผู้ที่ได้ยินฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน ๓ เป็นวันเริ่มประเพณี แต่ทุกคนไม่สามารถได้ยินได้ทุกคน ภายหลังจึงกำหนดให้วันกำฟ้า คือ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี

คำทำนายเกี่ยวกับฟ้าร้อง

  • ทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์และงานอาชีพ
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะดี ทำนาได้ข้าวงาม
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวจะเสียหาย
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย ทำนาไม่ได้ผล
  • ทำนายเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือ ทำนายว่าชาวบ้านจะอดข้าว
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ทำนายว่าชาวบ้านจะอดเกลือ
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็ยสุข
    • ฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันตก ทำนายว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน
ตามประเพณี "วันสุกดิบ" เป็นวันเตรียมงาน ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญจะทำในวัด เรียกว่า "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งใครได้กินเชื่อว่าจะไม่ถูกฟ้าผ่า
วันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงาน ๑ วัน จึงมีเวลา สำหรับการต้อนรับญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือนได้อย่างเต็มที่
หลังจากวันกำฟ้าไป ๗ วัน ก็จะเกิดวันกำฟ้าอีกครึ่งวัน ต่อจากครึ่งวันนี้ไปอีก ๕ วันถือว่าเสร์จสิ้น ชาวบ้านจะจัดอาหารคาวหวานไปที่วัดอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นจะเอาดุ้นฟืนที่ติดไฟ ๑ ดุ้น ไปทำพิธีตามลำน้ำ เรียกว่า การเสียแล้งตามแม่น้ำลำคลอง
โดยจะทิ้งดุ้นไปตามสายน้ำ เป็นการบอกกล่าวเทวดาว่า หมดเขตกำฟ้าแล้ว
ในปัจจุบันยังคงถือประเพณีกันทุกปี แต่บรรยากาศในอดีตมีแต่จะหายไป โดยความสนุกท่ามกลางเสียงแคน การละเล่นพื้นบ้าน มาแทนที่ จึงกลายมาเป็น ราตรีกำฟ้า
ประเพณีกำฟ้าในแต่ละท้องถิ่นอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่ชาวไทยพวนก็ยังรักษาคติดั้งเดิมไว้ได้อย่างมั่นคงตลอดมา

เรื่องเล่าจากประเพณีกำฟ้า

 เมื่อย่างเข้าเดือนสาม หากมีใครสักคนได้ยินเสียงฟ้าร้องเป็นครั้งแรก ผู้เฒ่าชาวไทยพวนจะพูดกับลูกหลานว่า "ฟ้าฮ้องแล้ว พวกเจ้าได้ยินไหม วันฮ่งต้องกำฟ้าเน้อ ถ้าไม่มีผีฟ้าจะลงโทษเจ้ามิให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใดบ่เชื่อฟัง ฟ้าจะผ่าถึงตายเน้อ"
          ประเพณีกำฟ้า หรือประเพณีเดือน 3 เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 200 ปีแล้ว กำฟ้า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือ และสักการะเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนฟ้า หรือที่เรียกว่า ผีฟ้า ซึ่งชาวไทยพวนในจังหวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ หากปีใดชาวไทยพวนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดความแห้งแล้งอดอยากหรือมีเหตุทำให้ฟ้าผ่าคนตายซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษอย่างร้ายแรงของผีฟ้า ทำให้ชาวไทยพวนทั้งหลายเกรงกลัวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
          จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีกำฟ้าอยู่ที่การให้โอกาสแก่ชาวไทยพวน ซึ่งทำไร่ไถนาเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด ได้มีโอกาสพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ถึงสามระยะในหนึ่งปี ถ้าไม่มีประเพณีนี้ชาวไทยพวนก็อาจจะพักผ่อนกันเอง หรือบางคนอาจจะไม่พักผ่อนก็ได้ การกำหนดให้มีพิธีกำฟ้าจึงเป็นการบังคับทุกคนให้หยุดงานพร้อม ๆ กัน ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์รื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจสมัครสมานสามัคคีกัน นอกจากนี้ในระหว่างพิธีก็จะมีการละเล่นอย่างสนุกสนานทำให้ได้พักผ่อนหย่อนใจอีกทางหนึ่งด้วย เปรียบได้กับประเพณีตรุษไทยและตรุษจีนซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกับพิธีกำฟ้าของชาวไทยพวน แต่แตกต่างกันในวิธีการปฏิบัติเท่านั้น การเข้ากำฟ้า จะเข้ากำ 3 ครั้ง
          
พิธีกำฟ้าครั้งแรก จะกำหนดงานสองวันคือวันสุกดิบวันเเรก ตรงกับเดือนสาม ขึ้น 2 ค่ำ ถือว่าเป็นวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ หลังจากกินอาหารเช้าแล้ว บรรดาสาว ๆ และแม่บ้านทั้งหลายต่างพากันแต่งตัวอย่างวิจิตรบรรจงไปวัด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะนุ่งผ้าซิ่นรัดอก ถ้าเป็นหญิงสาวอายุ 15-16 ปีก็ไว้ผมยาวทรงตุ๊กตาไทยและใช้เชือกผูกผม สาว ๆ ที่อายุ17-19 ปี ก็ทำผมที่เรียกว่า "โค้งผม" ส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจะไว้ผมขมวดเป็นกระจุกไว้กลางหัวคล้าย ๆ จุกกระเทียม
          นับแต่ตอนสายของวันสุกดิบ ตามถนนหนทางจากหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยหญิงสาว คนเฒ่าคนแก่ เมื่อไปถึงวัดแล้วก็แยกกันไปทำงานตามที่ตัวเองถนัด บางคนก็เผาข้าวหลาม บางคนก็จี่ข้าว (ปิ้งข้าวเหนียว) ในขณะที่ทำงานก็พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟังอย่างสนุกสนาน ข้าวหลามที่ได้จากการเผาในงานนี้ชาวไทยพวนถือว่าเป็น "ข้าวหลามทิพย์" ซึ่งจะใช้ในพิธีบายศรี ที่เหลือก็แจกแบ่งปันกันกินด้วยความเชื่อกันว่า ใครก็ตามที่กินข้าวหลามจะไม่โดนฟ้าผ่า
          พอถึงเวลาสามโมงเย็น ชาวไทยพวนก็จะร่วมกันทำบุญ เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นลง เจ้าพิธีซึ่งเป็นผู้รู้ในหมู่บ้านก็จะทำหน้าที่สวดเบิกบายศรีบูชาผีฟ้าแล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องสังเวย เสร็จแล้วจึงเป็นการรำขอพรจากผีฟ้าเพื่อให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านของตน ตกดึกก่อนที่จะเข้านอนคนเฒ่าคนแก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วพูดในสิ่งที่เป็นมงคล เพื่อให้ผีฟ้าผีบ้าน ผีเรือน ได้ช่วยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้มีความสุข ทำมาหากินได้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
          วันที่สองเป็นวันกำฟ้า ตรงกับเดือนสามขึ้น 3 ค่ำ ชาวไทยพวนจะหยุดทำงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน และใครจะส่งเสียงอึกทึกครึกโครมไม่ได้ โดยเชื่อว่า ถ้าใครทำเสียงอึกทึกครึกโครมฟ้าจะผ่า ทำให้ความเงียบสงบครอบคลุมไปทั้งหมู่บ้าน เกิดบรรยากาศเยือกเย็นขรึมอย่างประหลาด ในวันกำฟ้านี้ ชาวบ้านจะพากันตื่นตั้งแต่เช้ามืด หุงหาอาหารทั้งคาวหวาน รวมทั้งข้าวหลามและข้าวจี่ใส่สำรับไปถวายพระที่วัด โดยใส่ตะกร้ามีสายสำหรับคล้องไม้คานแล้วเอาอาหารไปรวมกันที่กุฏิที่เรียกว่า "หอแม่ออก" คนเฒ่าคนแก่และญาติโยมซึ่งเรียกว่า "พ่อออกและแม่ออก" จะช่วยกันจัดสำรับภัตตาหารถวายพระ จากนั้นพระสงฆ์จะให้ศีลและแสดงธรรมสั้น ๆ เสร็จแล้วฉันภัตตาหาร ยถาสัพพีตามประเพณี ส่วนชาวบ้านก็จะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน และกลับถึงบ้านตอนสาย ๆ
          
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 2  การกำครั้งที่สองจะห่างจากการกำครั้งแรกเจ็ดวัน โดยเริ่มจากเดือนสามขึ้น 9 ค่ำ จะมีการกำฟ้าตั้งแต่ตะวันตกดินไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 10 ค่ำ เมื่อถึงเวลาเพลชาวบ้านจะนำอาหารเพลไปถวายพระที่วัดเรียกว่า "ไปเพล" วิธีการก็เช่นเดียวกับการถวายอาหารเช้า คือ การนำเอาอาหารไปรวมกันที่หอแม่ออกแล้วรับศีลและฟังธรรมต่อจากนั้นจึงถวายอาหาร พระฉันเสร็จแล้วจึงยถาสัพพี เป็นอันเสร็จการทำบุญ เมื่อกลับจากการไปเพลแล้ว ชาวไทยพวนเรียกว่า "คืนเพล" ถือว่าเลิกกำ ใครจะทำงานทำการอะไรก็ได้
         
พิธีกำฟ้าครั้งที่ 3 จะห่างจากการกำครั้งที่สอง 5 วัน พอเดือนสามขึ้น 14 ค่ำ เมื่อตะวันตกดินแล้ว ชาวไทยพวนเริ่มจะกำอีกครั้งหนึ่ง และกำตลอดไปจนถึงวันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะรีบตื่นกันแต่เช้า จัดเตรียมข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานไปถวายพระเรียกว่า "ไปจังหัน" การกำครั้งนี้ถือว่า เป็นการกำครั้งสุดท้าย
          ในตอนเย็น เมื่อหุงข้าวเย็นรับประทานกันแล้ว ชาวไทยพวนทุกบ้านจะต้องเอาดุ้นฟืนเฉพาะดุ้นที่ไฟไหม้มากที่สุดไปดับที่แม่น้ำลำคลอง โดยการโยนทิ้งให้ไหลไปตามสายน้ำ หรืออาจนำไปโยนตรงหนทางที่บรรจบกัน แสงไฟจากดุ้นฟืนที่วาบไหวไปตามทางเดินในความมืดให้บรรยากาศสั่งลาพิธีกำฟ้าเป็นไปอย่างน่าศรัทธา การดับฟืนชาวไทยพวนจะใช้มือหนึ่งถือดุ้นฟืน อีกมือหนึ่งถือกะลามะพร้าวใส่น้ำสำหรับดับไฟ เมื่อไปถึงแม่น้ำลำคลองหรือทางที่มาบรรจบกันก็เทน้ำในกะลามะพร้าวดับไฟ จากนั้นจึงโยนทิ้งไปเรียกว่า 
"เสียแสงฟืนแสงไฟ" เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้าในปีนั้น


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ info.ru.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}