แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณี 4 ภาค แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณี 4 ภาค แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย บุญข้าวหลามฉะเชิงเทรา

ประเพณีบุญข้าวหลาม เป็นประเพณีของชาวลาวเวียงและลาวพวนในอำเภอพนมสารคาม ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายลาว ที่อยู่ใกล้เคียงกับชาวไทยเชื้อสายเขมร
ประเพณีนี้อาจเป็นสิ่งที่ยึดถือสืบต่อกันมาแต่ก่อนเมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศลาวจึงเท่ากับเป็นการรักษาประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งเท่ากับเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง
พิธีกรรม
วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ชาวบ้านทุกบ้านจะเผาข้าวหลาม เพื่อนำไปถวายพระในเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ตอนสายจะพากันเดินไปขึ้นเขาดงยาง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๖ กิโลเมตร เพื่อปิดทองรอยพระพุทธบาทบนเขาดงยาง และนำข้าวหลามไปรับประทานบนเขา
สาระ
นอกเหนือจากการทำบุญกุศลแล้วยังเป็นการชุมนุมพบปะกัน ของชนเผ่าผู้อพยพทางหนึ่ง ทั้งนี้สืบเนื่องจากชุมชนลาวรุ่นแรกๆล้วนมาจากประเทศลาวแล้วแยกย้ายกันบุกเบิกป่าสร้างที่ทำกิน การกำหนดนัดพบหน้าโดยถือเอาวันสำคัญทางศาสนาเป็นแกนนั้นนับได้ว่าได้ทั้งบุญกุศส ได้ทั้งความรู้สึกอบอุ่นทางเชื้อชาติในคราวเดียวกัน
เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com   
ข้อมูลอ้างอิงไม่ทราบที่มาแน่ชัด
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย อุ้มพระดำน้ำ

สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง 





ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีความเชื่อถือศรัทธาต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือพระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิ จากตำนานเล่าสืบกันมาว่า ย้อนหลังไปประมาณ ๔๐๐ ปี ชาวประมงกลุ่มหนึ่งออกหาปลาบริเวณลำน้ำป่าสัก ซึ่งในสมัยนั้นมีปลาชุกชุมมาก วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ประหลาด ทั้งวันไม่สามารถจับปลาได้เลย และกระแสน้ำก็เกิดหยุดไหล มีพรายน้ำผุดขึ้นทีละฟอง และมากขึ้นตามลำดับ แล้วเปลี่ยนเป็นวังวนวงใหญ่และลึกมาก ปรากฏพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยจากใต้น้ำขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ ชาวประมงจึงอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานบนบกให้ผู้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา และได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยลพบุรีลักษณะงดงาม ชาวบ้านจึงขนานนามว่า พระมหาธรรมราชา




บางตำนานก็เล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งไปทอดแหในแม่น้ำป่าสัก พายเรือจากบ้านไปเรื่อย ๆ จนถึงบ้านนาสารก็หาปลาไม่ได้ พอไปถึงวังน้ำลึกก็ทอดแหลงไป แต่ดึงแหไม่ขึ้น จึงดำน้ำลงไปก็พบพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ ปรากฏว่าประดิษฐานได้ปีเดียวก็หายไปจากตู้กระจก วันหนึ่งหลวงตารพราหมณ์ได้ไปทำทำนบกั้นน้ำ วิดปลาจนน้ำเริ่มแห้งขอด พอใกล้สว่างก็พบพระทองเหลืองอร่าม เป็นองค์เดียวกันกับพระที่หายไปจากวัดไตรภูมิ จึงอัญเชิญไปไว้ที่วัดอีก พระอาจารย์ที่วัดจึงไปหาหมอมาสะกดด้วยการตอกตะปูที่อุ้งพระบาท จึงไม่สามารถหลบไปได้อีก หากปีใดมีความแห้งแล้งเกิดขึ้น ก็จะทำพิธีบวงสรวงโดยยกเป็นศาลเพียงตาสามวันสามคืน หากต้องการให้ฝนตกตามฤดูกาล ก็อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาแห่รอบเมือง มีการสวดคาถาด้วยก็จะบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาลได้

จากตำนานที่พระพุทธรูปได้หายไปจากวัดไตรภูมิถึง ๒ ครั้ง ดังนั้นจึงได้มีพิธีนำพระพุทธรูปไปดำน้ำป่าสัก ปีแรกมีการอุ้มพระพุทธรูปมาดำน้ำที่เกาะวังศาล ครั้งที่ ๒ ได้นำพระพุทธรูปมาดำน้ำที่วัดโบสถ์หรือวัดโบสถ์ชนะมารมาจนถึงปัจจุบัน


พิธีอุ้มพระดำน้ำจะเริ่มจากการแห่พระวนรอบเมือง เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา หลังจากทำพิธีแห่รอบเมืองแล้ว จะนำพระพุทธมหาธรรมราชาไปประดิษฐานในปะรำพิธีที่วัดไตรภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้มากราบไหว้บูชา ปิดทอง ตอนค่ำจะมีการสวดมนต์เย็น ตกกลางคืนจะมีมหรสพและการละเล่นต่าง ๆ พอวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีทำบุญวันสารท ชาวบ้านจะนำภัตตาหารมาถวายที่วัด มีข้าวกระยาสารทพร้อมด้วยเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ จะมีพิธีอุ้มพระดำน้ำ มีการรำถวายบวงสรวงด้วยการฟ้อนชุดต่าง ๆ


เมื่อได้ฤกษ์พิธีอุ้มพระดำน้ำ จะเริ่มด้วยการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงบุษบกในเรือพิธี บริเวณที่จะอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงสรงน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ซึ่งเป็นวังน้ำลึก ผู้ที่รับหน้าที่อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำ คือผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยอุ้มพระพุทธรูปลงดำไปยังก้นแม่น้ำ แล้วโผล่ขึ้นมา ทำเช่นนี้จนครบ ๔ ครั้ง ถือว่าเป็นสิริมงคล เชื่อกันว่าหากไม่ได้ทำพิธีอุ้มพระดำน้ำจะเกิดฝนแล้ง


ภายหลังจากที่ได้ผ่านพิธีการอุ้มพระดำน้ำแล้ว ชาวเพชรบูรณ์ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จึงกระโดดลงไปอาบน้ำหรือตักขึ้นมาดื่มกิน เสร็จจากพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้ว ก็จะเริ่มการแข่งขันเรือประเพณีของจังหวัดซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี


พิธีอุ้มพระดำน้ำในปีนี้จะตรงกับวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันสารทไทย สอบถามข้อมูลได้ที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ ๐ ๕๖๗๒ ๙๗๔๖-๗ สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ ๐ ๕๖๗๑ ๑๔๗๕, ๐๕๖๗๑ ๑๐๐๗ ต่อ ๑๐๒

จังหวัดเพชรบูรณ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๓๔๖ กิโลเมตร มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายประเภท ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และธรรมชาติ เช่น ไร่บีเอ็น เขาค้อ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ฯลฯ


อ้างอิงจาก highlightthailand.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}