ประเพณีไทย ปอยหลวงของชาวล้านนา


  งานบุญประเพณีไทยของชาวล้านนาไม่ว่าจะเป็นงานน้อยงานใหญ่ ก็ล้วนแล้วมาจากพลังศรัทธาของชาวบ้านทั้งสิ้น เช่นเดียวกับงานบุญปอยหลวง วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนแต่ละท้องถิ่นบ่งบอกถึงวัฒนธรรม ประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา จนกลายเป็นแบบแผนที่คนรุ่นหลังจำต้องยึดถือปฏิบัติ และดำรงรักษาไว้

  ความเชื่อของคนล้านนาส่วนใหญ่มักจะสอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา อาจเป็นเพราะว่าศาสนา ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนล้านนามาช้านาน จะเห็นได้จากการร่วมแรงร่วมใจในการจัดงานบุญประเพณีนั้น สร้างความสามัคคี และพลังศรัทธาอันมหาศาลต่อพระพุทธศาสนา ดังความเชื่อที่ว่า อานิสงส์ของการสร้างกุศลผลบุญ จะส่งผลให้ดวงวิญญาณของผู้ทำบุญได้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ ดังนั้น ในงานบุญประเพณีของชาวล้านนา ไม่ว่าจะเป็นงานน้อย งานใหญ่ ก็ล้วนแล้วมาจากพลังศรัทธาของชาวบ้านทั้งสิ้น เช่นเดียวกับงานบุญปอยหลวง


  คำว่า "ปอยหลวง" ในภาษาล้านนา หมายถึง การจัดงานเฉลิมฉลองศาสนสถาน ที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวบ้าน เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา กุฏิ หรือ กำแพงวัด การที่เรียกว่า "ปอยหลวง" เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ จากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งพิธีทางศาสนา และมหรสพบันเทิง

  ก่อนที่จะถึงวันงานประมาณ 2-3 วัน ชาวบ้านจะมีการทานตุง ซึ่งทอด้วยฝ้ายหลากสีสัน ประดับด้วยดิ้น สีเงิน สีทอง บางผืนทอขึ้นเป็นสีธงชาติไทย หรือปักเป็นรูปนักษัตร 12 ราศี ยาวประมาณ 2 เมตร นำไปติดไว้กับปลายไม้ไผ่ ศรัทธาชาวบ้านจะนำตุงของแต่ละบ้านไปปักไว้ตามถนนระหว่างหมู่บ้าน ตุงหลากสีสันที่เรียงรายอย่างสวยงาม ตลอดสองข้างทางของหมู่บ้านนั้น จะเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้ทราบว่า วัดแห่งนั้นกำลังจะมีงานปอยหลวง


งานประเพณีปอยหลวงของชาวล้านนา นิยมจัดขึ้น 2-3 วัน   วันแรก เรียกว่า "วันแต่งดา"  หรือ  "วันห้างดา"   วันที่ 2  เรียกว่า "วันกิน"   ส่วนวันสุดท้าย เรียกว่า  "วันตาน"  หรือ  "วันครัวตานเข้า"

 วันแต่งดา  คือ  วันที่มีการเตรียมอาหารคาวหวาน ผลไม้ รวมทั้งข้าวของ เครื่องใช้ที่จะนำไปถวายวัด
ใส่ใน "ครัวตาน" ซึ่งสร้างขึ้นจากไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมสำหรับใช้คนหาม  ด้านบนมียอดแหลม  ทำมาจากใบคา สำหรับปักเงิน หรือสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับพระภิกษุ สามเณร  เช่น  แป้ง สบู่  ผงซักฟอก  แปรงสีฟัน  สมุด  ดินสอ  ปากกา  เพื่อนำไปถวายให้กับวัด   ส่วนยอดของครัวตานแต่ละบ้านจะไม่เหมือนกัน  บางบ้านทำเป็นรูปใบโพธิ์  นำถ้วย  ช้อน 
จาน  ชามมาประดับ    บางบ้านนำโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับถวายให้กับวัด  ซึ่งแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบ้าน   ถ้าต้นครัวตานของใครสวยงาม ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้มาร่วมงาน   สิ่งสำคัญของครัวตาน คือ ยอด มักนิยมนำธนบัตรมาหนีบไว้กับไม้ไผ่  แล้วนำมาปักประดับตามยอดเป็นช่อชั้นอย่างสวยงาม

  เมื่อถึงวันกิน จะมีบรรดาญาติสนิท มิตรสหาย แขกผู้มีเกียรติ ซึ่งเจ้าของบ้านได้บอกกล่าวให้มาร่วมงาน
ก็จะมีการยกสำรับกับข้าว เหล้ายาปลาปิ้งมาเลี้ยง ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันที่สนุกสนาน รุ่งขึ้นอีกวันถือเป็นวันตาน มีการแห่ต้นครัวตานของแต่ละบ้านไปวัด บรรยากาศในวันนี้ก็ยิ่งสนุกสนานคึกคัก ด้วยว่าแต่ละบ้านจะมีมหรสพ แตรวง ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าครัวตาน ญาติพี่น้องก็จะออกมาร่วมรำวงฟ้อนรำ


  ขณะเดียวกันบรรยากาศภายในวัดก็ดูคึกคักไม่แพ้กัน มีทั้งคนเฒ่า หนุ่มสาว เด็กเล็ก พ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาจำหน่าย
รวมถึงศรัทธาญาติโยม ตลอดจนพระสงฆ์องค์เจ้า ที่มาร่วมงานตามคำเชิญของวัดเจ้าภาพ พระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนามาเป็นเจ้าพร หรือ ตุ๊เจ้าปั๋นปอน จะเป็นพระที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีโวหารที่สละสลวย เพราะต้องให้ศีล ให้พรแก่ศรัทธาที่นำครัวตานมาถวาย เจ้าพรอาจจะพรรณนาถึงความงดงามของครัวตานนั้นๆ เพื่อให้ผู้ที่นำครัวตานมาถวายเกิดความปลาบปลื้มใจ

  ส่วนบริเวณใกล้ๆ วัดจะมีการแสดงมหรสพพื้นบ้าน เช่น ซอ ลิเก ให้กับผู้มาร่วมงานชม งานปอยหลวงจะดำเนินไป
ทั้งกลางวัน และกลางคืน เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ในบางหมู่บ้าน เวลากลางคืนจะมีคนมาเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก เพราะกลางวันอาจติดภารกิจ การงาน ประการหนึ่งยังเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบปะพูดคุยกันอีกด้วย
ประเพณีปอยหลวงของชาวล้านนา ถือว่าเป็นงานบุญถวายทานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งนานปีจะมีสักครั้ง ดังนั้นงานประเพณี
ปอยหลวง จึงเป็นงานที่ทุกคนปลาบปลื้มภูมิใจ บางคนชั่วอายุหนึ่งอาจมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพในงานปอยหลวงเพียงครั้ง หรือสองครั้งเท่านั้น เพราะงานปอยหลวง จะจัดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างศาสนสถานขึ้นเท่านั้น 

ขอบคุณข้อมูลและภาพสวยๆ จาก http://student.nu.ac.th/chollathit

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ


ประวัติประเพณี
 หลังจากพระยาลิไท ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุช่อแฮแล้ว ได้โปรดให้มีงานฉลองสมโภช 5 วัน 5 คืน ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเดือนมีนาคมของทุกปี นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเจ้าผู้ครองนครแพร่ทุกองค์จึงได้ยึดถือประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

  ประเพณีไทยการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เดิมจะจัด 5 วัน 5 คืน ในปี พ.ศ. 2536 ได้เปลี่ยนแปลงเป็น 7 วัน 7 คืน วันแรกของงาน จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ไต้ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ในการจัดงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ประกอบไปด้วยริ้วขบวนของทุกอำเภอ การฟ้อนรำ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่ กังสดาล ขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ซึ่งประกอบด้วยขบวนตุง 12 ราศรี ขบวนข้าวตอกดอกไม้ ต้นหมาก ต้นผึ้ง ต้นดอก ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศรี ขบวนกังสดาล ขบวนตุง ขบวนฟ้อนรำ มีการเทศน์และมีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน




ข้อมูลต่างๆของประเพณี

  วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 8 กิโลเมตร ในบริเวณวัด ประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศี คือ พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ) องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ศิลปะแบบเชียงแสน

  ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า สมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะ แห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับขุนลั๊วะอ้ายก้อม จึงได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮแห่งนี้ เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา

   ด้านประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างขึ้นสมัยสุโขทัย โดยระหว่างจุลศักราช 586-588 (พ.ศ.1879-1881) ในสมัยพระมหาธรรมราช (ลิไท) ขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้เสด็จมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ และใน พ.ศ.1902 ได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ และขนานนามว่า “โกสิยธชัคคปัพพเต” หรือ “โกสัยธชัคคบรรพต” จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน และต่อมาจึงได้ชื่อว่า “พระธาตุช่อแฮ” (คำว่า “แฮ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่า ผ้าแพร)

  สมัยกรุงธนบุรี (ปี พ.ศ.2512) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงยกทัพตีพม่าที่ยึดครองล้านนาอยู่ โดยมีพญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ ผู้ปกครองเมืองแพร่ พาขุนนาง กรมการเมืองและไพร่พล เข้าเฝ้าถวายบังคมเข้าร่วมทัพ ยกทัพไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดแต่งตั้งให้เป็นพระยาสุริยวงศ์

  ดังนั้นในสมัยกรุงธนบุรี จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุช่อแฮ โดยพญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ (พระยาศรีสุริยวงศ์) ตลอดมา พญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ (พระยาศรีสุริยวงศ์) ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาดูแลองค์พระบรมธาตุช่อแฮจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในปี พ.ศ.2361 ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเจ้าหลวงเทพวงศ์ (เจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นทอง) ในปี พ.ศ.2373 เจ้าหลวงอินทวิไชย ก็รับการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากเจ้าหลวงเทพวงศ์

ในปี พ.ศ.2415 เจ้าหลวงที่มีบทบาทในตำบลป่าแดงมากที่สุดและอุปถัมภ์พระบรมธาตุช่อแฮตลอดคือ เจ้าหลวงพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) และจนมาถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเมืองแพร่มากที่สุด คือเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ (พระยาพิริวิไชย) ท่านปกครองเมืองแพร่ ปี พ.ศ.2432 ถึง ปี 2445 เจ้าหลวงเดินทางลี้ภัยไปหลวงพระบางซึ่งในปีนี้เมืองแพร่เกิดจลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่

ในปี พ.ศ.2467 องค์พระธาตุช่อแฮก็ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งโดยนักบุญแห่งล้านนาไทย ที่ซึ่งเรียกตามคนเมืองแพร่ว่า ครูบาศีลธรรมหรือครูบาศรีวิชัยนั่นเอง ดังค่าวตำนานปางเดิม

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2474 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานเล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2532

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดไว้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.1900 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.1910 ตามหนังสือ ที่ พ.ศ. 0003/526 ลงวันที่ 24 มกราคม 2548

วัดพระธาตุช่อแฮ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 96 ง ลงวันที่ 24 มกราคม 2549

จังหวัดแพร่ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่างวันขึ้น 9 ค่ำ-ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ ของทุกปีโดยใช้ชื่องานว่า “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง”

ด้วยความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้า เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด และนำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้
“หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมืองลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”

ผู้เรียบเรียงใหม่ http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก wikipedia.org และ phrathatchohae.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ตานก๋วยสลาก ภาคเหนือ

 

วัน เดือน ปีที่จัดกิจกรรมนิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
สถานที่จัดกิจกรรม- วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน
- วัดบุญยืน ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา
- วัดพงษ์ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น
- วัดนาทะนุง ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น
- วัดปิงหลวง ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น

ประวัติความเป็นมา 

ตานก๋วยสลาก ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก  ล้วนแต่เป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการ อาจจะแตกต่างกันไปบ้านในเรื่องรายละเอียด ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่า “ สลากภัต”ของชาวล้านนา  คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือสังฆทาน มีประวัติความเป็นมาเล่ากันว่า “ ครั้งพุทธกาลพระบรมโพธิสัตว์พร้อมพระสาวกำด้เดินทางจาริกแสวงบุญ เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาได้มีศรัทธา ญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวาย ในบรรดาญาติโยมเหล่านั้น แต่ละคนมีฐานะแตกต่างกัน คนที่มีฐานะดีก็นำอาหารอย่าดี จำนวนมากมาถวาย ส่วนคนที่มีฐานะยากจน แต่มีจิตศรัทธาใคร่ทำบุญก็นำอาหารเท่าที่หามาได้มาทำบุญ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สงฆ์ที่รับถวาย  พระพุทธองค์พิจารณาเห็นดังนั้น จึงบัญญัติวิธีการให้พระสงฆ์จับสลารับถวายอาหารจากญาติโยม ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุติธรรม และความพอใจให้แก่ทุกฝ่าย และได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

ความมุ่งหมายของประเพณี 
ประเพณีตานก๋วยสลาก ปฏิบัติในช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่นลำไย พระสงฆ์ ส้มโอ เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจี ชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตเริ่มขัดสน เมื่อข้าวในยุ้งหมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้ จึงเท่ากับได้สงเคราะห์คนยาก คนจนเป็นสังฆทานได้กุศลเอง 

 

ขั้นตอนปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม
วันดา  หรือวันสุกดิบ หรือวันเตรียม ก่อนจะถึงวัดตานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่าวันดา  หรือวันสุกดิบ วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ  เริ่มจากเตรียมก๋วยสลาก บรรจุลงในก๋วย  (ชะลอมสานจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก ) แล้วนำอาหารคาวหวาน อาหารแห้งและของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ  กะปิ   น้ำปลา  หมาก พลู น้ำดื่ม ขนม ข้าวต้ม  กล้วย ส้ม สมุด  ดินสอ  สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และยารักษาโรค ที่จำเป็น ฯลฯ   เท่าที่หาได้พร้อมอาหารคาว หวาน และข้าวสุกที่พระสงฆ์จะนำไปฉัน  สำหรับจะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก และวันนี้มักจะมีญาติมิตรสหาย ที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดา สลากด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรบที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตองหรือกระดาษก็ได้ เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นเล็กๆ สำหรับเสียบเงินที่เป็นธนบัตร เพื่อทำยอดก๋วยสลาก จะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ  คณะศรัทธาใดที่จะจัดงานประเพณีสลากจะต้องจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดบ้าน จัดเตรียมสถานที่ จัดหาข้าวของใช้ อาหาร หรือวัสดุในการทำอาหารความหวานไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดสถานที่ ที่จะจัดเตรียมก๋วยสลากที่วัด  วันนี้มักเรียกว่า วันเตรียมหรือวันสีเตียน


วันตานสลาก ผู้จะถวายสลากภัต จะนำก๋วยสลาก พร้อมก้านตานสลาก ดอกไม้ ธูปเทียน ไปวางไว้ ณ สถานที่ในบริเวณวัดจัดไว้ เพื่อทำพิธีทางศาสนา และถวายก๋วยสลากแด่พระสงฆ์ตามหมายเลขที่พระสงฆ์จับได้   การตานสลากภัต จะเขียนคำอุทิศถวาย ที่เรียกว่า ด้านสลาก หรือก้านตาน หรือใบสลาก มักทำด้วยกระดาษแข็งหรือใบลาน เพื่อให้พระสงฆ์กรวดน้ำ ในสมัยก่อนนั้น จะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาบางสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์ จากจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้น บ้างแล้วแต่  กรณีส่วนหนึ่งแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อน จะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเส้นสลากไปอ่าน  โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อน  โดยจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธี

ก๋วยสลากถูกแกะเอาข้าวปลาอาหาร ออกมากิน จะกลายเป็นอาหารมื้อเที่ยงสำหรับชาวบ้านที่มารอรับ  สำหรับของใช้และอาหารแห้งต่างๆ ชาวล้านจะเป็นเอาไว้ใช้ประโยชน์

ก๋วยสลากจะมี ๒ ลักษณะ 
๑.ก๋วยฉลาก เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ  ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้น อาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น  ช้าง  ม้า  วัว ควาย และสุนัข  เป็นต้น  หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ในภายหน้า

๒.ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี  เป็นพลวปัจจัย นับว่าได้กุศลแรงสิ่งที่นำมาบรรจุใส่ในก๋วยสลาก เพื่อจะนำไปถวาย  ได้แก่ ข้าวสาร บุหรี่ กะปิ  น้ำปลา เกลือ กระเทียม หอม น้ำ ขนม ข้าวต้ม ข้าวนึ่งจิ้นทอด เมี่ยง พริกแห้ง ไม้ขีดไฟเทียนไข สบู่ ยาสีฟัน สมุด แปรงสีฟัน ดินสอ ผลไม้ต่างๆ และที่สำคัญ คือ เงินสำหรับ ที่จะทำยอดของก๋วยสลาก

สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ อีกอย่างหนึ่งคือ  สลากโชค  มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะระดับเศรษฐี (บางคน)  ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน   สลากโชค มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่นผ้าห่ม ที่นอนหมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่มห่ม อาหารแห้งต่างๆ และเงินธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด  ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่าง เช่น “ ศรัทธาหมายมีนายบุญมีนางคำมา ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยตาแม่อุ้ยเฟยผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ”  เป็นต้น


แหล่งข้อมูล
๑. หนังสือโครงการสืบค้นวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน รวบรวมโดยนายบรรเจิด   ติ๊บตุ้ย  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

๒. หนังสือข้อมูลด้านการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน(อำเภอเวียงสา)  รวบรวมโดยนางอารีย์วรรณ์ ปันสอน  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

บทความดีๆจาก http://www.m-culture.go.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย กับความหมายวันขึ้นปีใหม่

UploadImage

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่างๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุกๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับ ฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของ กษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุกๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทินเมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March) 

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดัง นั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่ เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนาที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็น การเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"

เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม          
ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามโดยเหตุผลสำคัญก็คือ

           เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
           เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ
           ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
           เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพลงวันปีใหม่

แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อยๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้


          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ


ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่

การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่างๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่างๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"

                      ส.ค.ส          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า "ส.ค.ศ" หรือ "ส.ค.ส" ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า "ส.ค.ส" เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า "ส่งความศุข" หรือ "ส่งความสุข"


          หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่างๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
            

ส.ค.ส พระราชทาน     
ทุกๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดย ปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

                                      ส.ค.ส พระราชทาน
                                                   ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2530

นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนักเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจาก เหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

         ในส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียง ถ้อยคำสั้นๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน 
                                  ส.ค.ส พระราชทาน
                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2547

          สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส พระราชทานนั้น ในยุคแรกเป็น ส.ค.ส.ไม่มีลวดลาย สีขาวดำ มีข้อความปรากฎสั้นๆ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2532 เริ่มมีลวดลายประดับประดา ส.ค.ส.มากขึ้น จนถึงในปี พ.ศ.2549 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี

                        ส.ค.ส พระราชทาน

                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2551
กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

          กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ คือ
           เก็บกวาดทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
           ทำบุญตักบาตร กรวดนำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว
           ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
           ไปกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง ด้วยการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการ์ดอวยพร

           ตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีสิ่งใดคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรให้อภัยกับผู้ที่มีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี
           จัดงานรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือสถานที่ต่างๆ
           จัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่
           จัดกิจกรรมการกุศลตามสถานที่ต่างๆ



ขอขอบคุณข้อมูลจากwiki
- banfun.com
- bmaeducation.in.th
- thaigoodview.com
- tumsrivichai.com
- eduzones.com
- ru.ac.th
- duangden.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การเลี้ยงขันโตก


  ประเพณีไทยการเลี้ยงขันโตก เป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่โบราณ การเลี้ยงแขกโดยการกินข้าวขันโตก ซึ่งอาจมีหลายชื่อทีใช้เรียก ขานกัน เช่น กิ๋นข้าวแลงขันโตก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ประเพณี ขันโตก หรือสะโตก 

    ขันโตกเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้ โดยนำมากลึงให้เป็นลักษณะกลมเหมือนถาด ขันโตกขนาดเล็กนั้น จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๔ นิ้ว และขนาดใหญ่ จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ ๒๐ นิ้ว หรือถ้าเป็น ขันโตกสำหรับ เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือคหบดีก็จะดัดแปลงให้หรูหราตามแต่ฐานะ บ้างก็ใช้เงินทำหรือ "ทองกาไหล่" หรือไม่ก็ลงรัก ปิดทอง 

    ในสมัยก่อน ชาวเหนือนิยมรับประทานอาหารกับพื้น เมื่อแม่บ้านทำกับข้าว เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะยกออกมาตั้งโตก โดยในขันโตกนั้นจะมีกับข้าวพร้อม และเมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้วก็ยก ไปเก็บทั้งโตก เป็นการประหยัดเวลา ในการจัดและเก็บ ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวเหนือที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งการเลี้ยงขันโตกก็ยังได้รับความนิยมและใช้เลี้ยงรับรองผู้มาเยือนอยู่เสมอๆ 

    จุดมุ่งหมายของการกินข้าว แบบขันโตกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้มีการพัฒนา มาจากสมัยก่อน โดยถือว่านอกจากจะ เพื่อเป็นการเลี้ยงรับรองแขกที่มาเยือน ให้หรูหรา สมเกียรติ และเพื่อให้เกิดความอบอุ่นประทับใจใน การต้อนรับแล้วยัง ไ้ด้มีการประยุกต์ เอาวิธีการเลี้ยงดูแขกให้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่ม สีสันของการจัดงาน ให้ยิ่งใหญ่ดูวิจิตรพิสดาร เพียบพร้อมไปด้วย บรรยากาศของ เมืองเหนือจริงๆ โดย ประดับประดาเวทีด้วย ดอกไม้ต้นไม้ให้ดูผสมผสานและดู กลมกลืนกันไป การตระเตรียมขั้นตอนการดำเนินงานเลี้ ยงขันโตก เพื่อให้พิธีการ หรูหรา ประณีต และงดงาม เหล่านี้เป็นการสร้างบรรยากาศเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อ เพื่อให้ประทับใจ และถือเป็นการให้ ความยกย่องแขกทั้งสิ้น 


    จะเห็นว่า การกินข้าวขันโตกของชาวเหนือนั้น นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อ แสดงน้ำใจในการต้อนรับแขก และเป็นการให้เกียรติแก่ผู้มาเยือนแล้วในปัจจุบัน ก็ยังได้มีจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่หลายประการ เช่น บาง ท้องถิ่นก็ได้จัดงานเลี้ยง ขันโตก เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีไทย ในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อฟื้นฟูการแต่งกายแบบพื้นเมือง เพื่อการทำอาหารพื้นเมืองเพื่อส่งเสริมการ ท่องเที่ยว ให้ชาวบ้านมีรายได้มีงานทำด้วย บางแห่งก็มีการจัดงาน เลี้ยงขันโตก เพื่อหารายได้สำหรับสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น 

    งานจะเริ่มจากการร่วมแรงร่วมใจกันตระเตรียมสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ ตลอด ไปจนสถานที่ โดยจะประดับเวที ฉาก และการแสดงบนเวที สำหรับสถานที่นิยม จัดในที่กลางแจ้ง เช่น สนามหญ้าต่างๆ แล้วนำเสื่อมาปู ส่วนมากเป็นเสื่อยาวๆ จะนั่งกันประมาณ ๕ ถึง ๖ คน มีขันโตกตั้งอยู่ตรงกลาง ในขันโตกส่วนมากก็จะมี อาหารประมาณ ๕ อย่าง ตัวอย่างเช่น แกงอ่อม แคบหมู แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ชิ้นปิ้ง ผักสด และที่ขาดไม่ได้ คือ ข้าวเหนียว หรือที่ชาวเหนือเรียกกันว่า ข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งของชาวเหนือ นั้นจะต้องอาศัยทักษะและ ความรู้ในการทำพอสมควร คือ เริ่มจากนำข้าวไปแช่น้ำ เรียกว่า การหม่าข้าวไว้ ๑ คืน ในหม้อข้าวหม่า (หม้อที่ ใช้สำหรับแช่ข้าวเหนียว) ซึ่งก่อนที่จะทำการนึ่งต้องซาวข้าวด้วยการใช้ ซ้าหวด (คือ ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่สำหรับ ใส่ข้าวเหนียวเอาไปล้างน้ำให้สะอาดก่อน ที่จะนำไปนึ่ง) การนึ่งจะต้องใช้ไหข้าวมีฝาปิดมิดชิดให้ข้าวสุกดีขึ้น แล้วยกลงมา นำไปวางในภาชนะที่เรียกว่า กั๊วะข้าว หรือถาด ต้องคอยคนให้ไอน้ำในข้าวระเหย ออกไปบ้าง และคอยระวังไม่ให้ข้าวแฉะ ข้าวแข็ง หรือสุกไม่ทั่วกัน เมื่อข้าวสุก ได้ที่แล้ว ก็นำข้าวไปใส่ กระติ๊บบ้าง หรือที่ทางเหนือเรียกว่า แอ๊บ หรือก่องข้าว ซึ่งนิยมสานด้วย 

    สำหรับงานเลี้ยงข้าวขันโตก จะมีกระติ๊บข้าวนึ่งที่มีขนาดใหญ่อีกกระติ๊บหนึ่ง เรียกว่า กระติ๊บหลวง มีลักษณะเหมือนกระติ๊บทั่วไปแต่มีขนาดใหญ่มาก อาจต้อง ใช้คนหามเข้าขบวนแห่นำขบวน ขันโตก โดยมีขบวนสาวงามช่างฟ้อนนำขบวน ขันโตกเข้ามาในงาน ผสมกับเสียงดนตรี และเสียงโห่ร้องเพื่อแสดงความยินดี เมื่อสาวงามช่างฟ้อนมาถึงงานเลี้ยงแล้ว ก็จะนำกระติ๊บหลวงไปวางไว้กลางงาน และนำข้าวนึ่ง ในกระติ๊บหลวง ออกแบ่งใส่กระติ๊บเล็กๆ แจกจ่ายไปตามโตกต่างๆ จนทั่วบริเวณงาน ซึ่งมีโตกกับข้าวเตรียมไว้ก่อนแล้ว 

    การนั่งรับประทานอาหารในงานขันโตก จะนั่งกับพื้นบนสาดเติ้ม (เสื่อไผ่สาน) หรือจะนั่ง รับประทานขันโตกบนพื้นไม้ที่ยกพื้นขึ้นมาในระดับเวทีก็ได้ 



    ผู้ที่มาร่วมงานทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวเหนือ ผู้ชายสวมเสื้อ ม่อฮ่อม มีผ้า ขาวม้าคาดเอว มีพวงมาลัยดอกมะลิคล้องคอ ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ยาวถึงตาตุ่ม สวมเสื้อแขนกระบอก ทัดดอกไม้ที่หู หรือคล้องพวงมาลัยดอกมะลิ 

    นอกจากอาหารคาวแล้ว ยังมีอาหารหวาน ที่นิยมเลี้ยงกันในงานขันโตก เช่น ขนมปาด ข้าวแตน ข้าวควบ มีน้ำต้นคนโท ขันน้ำสำหรับล้างมือก่อนหยิบข้าวนึ่ง มีกระโถนใส่เศษอาหาร และเมี่ยง บุหรี่ไว้สำหรับ แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน บุหรี่ที่ใช้ คือ บุหรี่ขี้โย เป็นบุหรี่ยาเส้น นำมามวนใบตอง ชาวบ้านนิยมสูบกันทั่วไป เมี่ยง คือ ใบชานำมาหมักให้ได้ที่ใช้อมกับเกลือ มีรสเปรี้ยว อมเรียกน้ำลายทำให้ชุ่มคอ

    สำหรับบรรยากาศที่น่าประทับใจของงาน คือ จะให้แสงสว่างบนเวทีจากไฟ ตะเกียง หรือแสงเทียน บนโตกมีการจุดเทียน ๒ - ๓ เล่ม ให้พอมองเห็นหน้ากัน บนเวทีมีการตกแต่งประดับประดาให้เข้าบรรยากาศเมืองเหนือ และมีวงดนตรีอยู่ที่ มุมหนึ่งของเวที ในขณะที่แขกเหรื่อกำลังรับประทานอาหารก็มีการบรรเลงดนตรี ขับกล่อมตลอดเวลาสลับกับการแสดงบนเวที และส่วนมากนิยมนำเอาศิลปะการ ฟ้อนรำแบบชาวเหนือมาแสดงบนเวที สลับกับการแสดงดนตรีพื้นเมือง เช่น ชุดการแสดงฟ้อนสาวไหม ฟ้อนตาว (ฟ้อนดาบ) ฟ้อนเทียน 

    การจัดงานประเพณีกินข้าวแลง ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้มีการนำเอาศิลปะ วัฒนธรรมของ ชาวเหนือเข้ามาผสมผสานเพื่อให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น เช่น จัดให้ มีการประกวดโคมลอย การประกวดจิบอกไฟ (จุดบอกไฟ) หรือจุดพลุในเวลา กลางคืนให้ดูสวยงาม เพิ่มสีสันให้แก่งานอย่างมาก 

    งานประเพณีต้อนรับแขกชาวเหนือ เป็นงานประเพณีที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ ของชาวไทยภาคเหนือ เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตั้งแต่ดั้งเดิมที่สืบมา จนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศ ในการต้อนรับให้อบอุ่น และสร้าง ความประทับใจแก่ผู้มาเยือน ยากที่จะลืมเลือน


บทความประเพณีขันโตก ศึกษาต่อเกี่ยวกับเรื่อง ฟ้อนรำ สถานที่ รายการอาหาร ได้ที่ http://ขันโตก.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}