ประเพณีไทย ทำบุญ


 

     ทำบุญ หมายถึง การกระทำดีตามหลักคำสอนในศาสนา วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายคุ้นเคยกับการทำบุญ และถือว่า ควรทำบุญอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ชีวิตมีความสงบสุข ได้พบแต่สิ่งดี ๆ แม้มีอุปสรรคหรือประสบชะตากรรม การทำบุญก็ช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ การทำบุญมาก ๆ แม้ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ได้อยู่ในที่ที่มีแต่ความสุข ทำบุญมากจะทำให้สามารถไปถึงนิพพานได้
    
  คนไทยมีความเชื่อตามแนวทางพุทธศาสนา คือ ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ซึ่งหมายถึงผลแห่งกรรม หรือผลแห่งการกระทำ ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น
     
   หลักง่ายในการทำบุญแล้วได้บุญ คือ ต้องมีจิตใจพร้อม ยินดี มีใจบริสุทธิ์ที่จะทำบุญ การทำบุญต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและผู้อื่น
     
  การทำบุญ ทำได้ 3 วิธีคือ การให้ทาน การรักษาศีล และ การภาวนา ถ้าปฏิบัติได้ครบ 3 วิธี ถือว่าทำบุญได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การทำทาน เป็นการทำบุญ ซึ่งก็ถูก เพราะเป็นขั้นต้นของการทำบุญ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง ทาน เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ทำกันสม่ำเสมอ
     
การทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

     การทำบุญตักบาตร คือ การนำอาหารไปใส่บาตรพระเณรที่ออกจากวัดมาบิณฑบาตในตอนเช้า คือ เวลาประมาณ 6.00-7.30 น. พระเณรจะออกมาบบิณฑบาต หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาโปรดสัตว อันหมายถึง การมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำทาน หรือได้ทำบุญ นั่นเอง
ทำบุญตักบาตรริมคลอง ที่หนองจอก

     อาหารที่จะนำมาใส่บาตร มักจะจัดเตรียมอย่างดี คือ ข้าวที่หุงสุกใหม่ กับข้าวก็จัดเตรียมให้พร้อม รวมทั้งของหวานและผลไม้ด้วย บางคนก็เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ด้วย เมื่อพระเณรมาถึง ชาวบ้านก็นิมนต์ให้ท่านหยุดและเปิดฝาบาตรออก ชาวบ้านก็จะใส่ข้าว กับข้าว ขนม และผลไม้ลงไป ส่วนดอกไม้ ธูป เทียน ก็จะถวายบนฝาบาตรที่ปิดบาตรแล้ว หรือใส่ย่ามที่พระเณรเตรียมมา พระก็จะให้ศีล ให้พร เป็นเสร็จ ถ้าจะให้ดี ควรหลั่งน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวร หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีการทำบุญตักบาตรด้วยการทำทาน

     เรื่องการทำบุญ โดยวิธีการทำทานนี้ คนไทยประพฤติปฏิบัติกันมานานเป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว การทำทานในพระพุทธประวัติกล่าวไว้ 2 ตอน คือ ครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ เสด็จไปประทับ ณ ควงไม้เกด พ่อค้าชื่อ ตะปุสสะ และภัลลิกะ ผ่านมาก็เลื่อมใส นำข้าวสัตตุผงสัตตุก้อนที่เป็นเสบียงมาถวาย พระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาหารด้วยบาตร ครั้งที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังป่ามะม่วง ตำบลอนุปิยะ แคว้นมคธ ได้เสด็จออกบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ ของพระเจ้าพิมพสาร ชาวเมืองเห็นพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตครั้งแรก ก็ชวนกันนำอาหารมาใส่บาตร เลยถือปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้นในตอนเช้าเราจึงเห็นพระเณรออกบิณฑบาต และเห็นชาวบ้านทุกเพศทุกวัยออกมาทำบุญ คือ มาทำทาน โดยนำอาหารมาตักบาตแด่พระสงฆ์และสามเณร

ข้อมูลอ้างอิง thaifolk.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย "การชนวัว"



อุปกรณ์และวิธีการเล่น

พันธุ์วัวชนเป็นพันธุ์ไทยเฉพาะ เจ้าของจะผสมพันธุ์วัวชนของตนเอง แล้วคัดเลือกวัวลูกคอกที่มีลักษณะดี นำมาเป็นวัวชน อายุ ๔-๖ ปี จัดว่าอยู่ในวัยหนุ่มถึกเต็มที่เหมาะที่จะชน

การเลี้ยงดู ในระยะแรกต้องเอาวัวที่คัดเลือกไว้นั้นมา "ปรน" (บำรุงเลี้ยงดู) ให้สมบูรณ์เสียก่อน ในกรณีที่เป็นวัวใหม่ อาหารหลักคือหญ้า วัวชนนั้นจะต้องตัดหญ้าใส่ลังหรือรางให้กินในโรงวัวหรือที่พักของวัว ไม่ปล่อยให้กินหญ้าเหมือนวัวประเภทอื่น ๆ อาหารหลักอย่างอื่นมีน้ำและเกลือ สำหรับน้ำจะต้องให้วัวกินละ ๒ ถึง ๓ ครั้ง เกลือให้กิน ๑๕ วันต่อครั้ง ครั้งละ๑ กำมือ หรืออาจจะมากน้อยไปกว่านั้นก็ได้ อาหารเสริมสำหรับวัวชนมีหลายอย่าง เช่น ถั่วเขียวต้มกับน้ำตาลกรวด กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม น้ำมะพร้าวอ่อน ขนุน ไข่ไก่และผลไม้อื่น ๆ สำหรับไข่ไก่ให้วัวชนกินครั้งละ ๑๐ ถึง ๑๕ ฟอง อาจจะเอาไข่ไก่ตีคนกับเบียร์ดำใส่กระบอกกรอกให้กินก็มี


ที่อยู่ของวัวชน จะปลูกสร้างเป็นโรงนอนให้อยู่ขนาดพอควร แต่ต้องก่อไฟแกลบไล่ยุงและริ้น ไม่ให้มารบรวนได้ บางตัวที่เจ้าของมีฐานะดี กางมุ้งหลังใหญ่ให้วัวนอน หรืออาจทำมุ้งลวดให้ โรงวัวดังกล่าวจะต้องทำความสะอาดทุกวัน


การออกกำลังกายและฝึกซ้อมก่อนชนวัว ในระยะก่อนชน คนเลี้ยงจะต้องนำวัวเดินหรือวิ่งออกกำลังกายในตอนเช้ามืดทุกวัน เป็นระยะเวลาทางประมาณ ๕ ถึง ๑๐ กิโลเมตร เมื่อเดินหรือวิ่งในตอนเช้ามืดแล้ว คนเลี้ยงวัวจะนำวัวไปอาบน้ำ ด้วยการขัดสีด้วยแปรง บางตัวฟอกสบู่จนเนื้อตัวสะอาดสะอ้านดีแล้ว จึงนำมากินหญ้ากินน้ำ แล้วเริ่มตากแดด เรียกว่า "กราดแดด" คือล่ามหรือผูกไว้กลางแดด เพื่อให้วัวชนมีน้ำอดน้ำทน เริ่ม "กราดแดด" ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น. แต่บางตัวจะต้องกราดแดดต่อไปจนถึงบ่ายก็มี เมื่อกราดแดดแล้วก็นำเข้าเพื่อพักผ่อน ให้กินหญ้าให้กินน้ำ พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ ถึง ๑๖.๐๐ น. คนเลี้ยงจะนำวัวพาเดินไปยังสนามที่จะชน เพื่อให้คุ้นเคยกับสถานที่ เรียกว่าให้ "ลงที่" ทุกวัน แล้วนำมากลับอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งอีกครั้งก่อนที่จะเข้าที่พัก เพื่อให้กินหญ้ากินน้ำและพักผ่อน จึงเห็นได้ว่าในช่วงเวลาวันหนึ่ง ๆ นั้น คนเลี้ยงวัวชนจะต้องเอาใจใส่โดยกระทำต่อวัวของตนเป็นกิจวัตรประจำวัน


การซ้อมคู่ การซ้อมคู่ หรือปรือวัว จะใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที และต้องใช้เชือกยาว เพื่อสะดวกในการแยกคู่ออกจากกันเมื่อต้องการหยุดซ้อม การซ้อมคู่ทำได้ประมาณ ๑-๒ ครั้งต่อเดือน วัวชนตัวหนึ่งๆ ต้องซ้อมคู่อย่างน้อย ๔-๕ ครั้ง จึงจะทำกันชนได้



การเปรียบวัว การเปรียบวัว คือการจับคู่ชน นายสนามจะเป็นผู้นัดวันเปรียบวัวโดยให้นำวัวที่จะชนกันมาเข้ายืนเทียบกัน เพื่อพิจารณาความสูงต่ำ เล็กใหญ่ของลำตัว และเขาของวัวทั้งสอง เมื่อเจ้าของวัวตกลงจะชนกัน นายสนามจะกำหนดวันชนซึ่งเจ้าของวัวจะต้องปฏิบัติตามกติกาการชนวัวอย่างเคร่งครัด

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การชนวัวมักจะชนในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลเดือนสิบ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาวบ้านหยุดการทำงาน มารื่นเริงสนุกสนานตามเทศกาล บางสนามวัวชนจะมีการชนวัว เดือนละครั้ง ในวันเสาร์และอาทิตย์ หรือแล้วแต่โอกาสอันเป็นที่ตกลงนัดหมาย

แนวคิด
กีฬาชนวัวเป็นกีฬาพื้นเมืองของนครศรีธรรมราช มีกติกาชัดเจนถึง ๑๔ ข้อ จนถึงขั้นแพ้ชนะ ให้ความสนุกสนานตื่นเต้นประทับใจแก่ผู้ชมยิ่ง ในระยะแรกจึงเชื่อกันว่า ชนเล่นเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมามีการพนันกันขึ้น มีการมัดจำวางเงินเดิมพันกัน จึงเป็นที่น่าวิตกว่ากีฬาชนวัวอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา เพราะการพนันย่อมมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย เพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อย ทางราชการจึงควรเข้าไปควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีขอบเขตจำกัดให้การชนวัวเป็นเพียงกีฬาพื้นบ้าน เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น


ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย มวยโบราณของไทยเรา

สวัสดีครับเจอกับผมอีกเช่นเคย วันนี้ผมก็มานำเสนอมวยโบราณประเพณีไทยตั้งแต่เรายังไม่เกิดเลยก็ว่าได้ประเพณีนี้ใครๆทั่วโลกก็รู้ว่าเราเป็นที่หนึ่งในการต่อสู้มวย หากเพื่อนๆอยากศึกษาประวัติความเป็นมาเชิญติดตามอ่านข้างล่างต่อไปนี้ได้เลยครับ...


มวยโบราณ ประวัติ / ความเป็นมา

          “มวย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการต่อสู้ด้วยพละกำลัง ใช้อวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก รวมทั้งหัวด้วย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในสมัยก่อนนิยมฝึกหัดกันในหมู่นักรบโบราณ เป็นที่นิยมชมชอบของชนทุกชั้น แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีปรากฏในพงศาวดาร ครั้งกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม พระเจ้าเสือ ทรงนิยมชมชอบมวยมาก ถึงกับปลอมพระองค์ไปชกมวยตามหัวเมืองบ่อยครั้ง”

          ข้อความเบื้องต้นมาจากหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี (เป็นครูมวยโบราณของสกลนคร เป็นผู้ที่สืบสานศิลปะการร่ายรำมวยโบราณ)  ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ อาจารย์จำลอง นวลมณีได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ…. เมื่อปี พ.ศ.2331 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนักมวยฝรั่งสองพี่น้อง ล่องเรือกำปั่นท้าพนันชกมวยมาหลายหัวเมือง และชกชนะมาทั้งสิ้น ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาท้าพนันชกมวยกับคนไทย พระยาพระคลัง กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงทราบ จึงรับสั่งให้รับท้าพนัน วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง หรือ 4,000 บาท (สมัยนั้นก็มากแล้ว) สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา จึงจัดหานักมวย ชื่อ หมื่นผลาญ ซึ่งมีความรู้ทั้งมวยต่อยและมวยปล้ำและดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประทับทอดพระเนตร ผลการชกปรากฏว่า นักมวยฝรั่งแพ้ไม้เป็นท่า เป็นที่น่าอับอายมาก


นางศาสตร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เขียนไว้ในหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ว่า
“ในสมัย 50 ปีมาแล้ว จะมีงานแห่ต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณีที่เรียกว่า งานบุญพระเวส ชาวสกลนคร 10 คุ้ม ก็มีการแห่กัณฑ์เทศน์ และแห่บั้งไฟไปตามถนสายต่างๆ เพื่อทอดถวายองค์พระธาตุเชิงชุมโดยมีคณะนักมวยรำมวยออกหน้า มีปี่ ฆ้อง กลองประโคม เป็นเครื่องประกอบ เมื่อขบวนไปพบกันจะไม่มีใครหลีกทางให้กัน จึงมีการต่อสู้กันขึ้น”


ดังนั้น มวยโบราณจึงเป็นการต่อสู้ด้วยมือ เท้า เข่า ศอก มีมาก่อนมวยคาดเชือก (มวยคาดเชือกใช้ผ้าดิบ หรือบางครั้งใช้เชือกพันมือ สันนิษฐานว่า มีขึ้นในสมัยอยุธยา)
พ.ศ.2472 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจเกิดขึ้น เมื่อนายเจีย แขกเขมร ขอขึ้นทาบรัศมีกับ นายแพ เสียงประเสริฐ และผลการต่อสู้ในครั้งนั้น นายเจีย ถูกนายแพ ต่อยถึงแก่ความตายที่สนามมวย หลักเมือง ของพลโท พระยาเทพหัสดิน ตั้งแต่นั้นมวยคาดเชือกจึงต้องเลิกไป





กิจกรรม / พิธี
          ท่ารำของมวยโบราณ เป็นที่อ่อนช้อยแต่เข้มแข็งทะมัดทะแมงอยู่ในที การรำมวยโบราณเช่นนี้มิได้มีแต่เฉพาะภาคอีสานเท่านั้น แต่ทางภาคเหนือก็มีศิลปะการต่อสู้แบบโบราณที่เรียกว่า “ฟ้อนเจิง” ภาคใต้ก็มีการรำมวยโบราณที่เรียกว่า “ชีละ” ท่ารำมวยโบราณนั้นทั้งหมดมี 14 ท่า คือ..


  1.  ท่าเสือออกจากเหล่า (หมายถึง เสือออกจากถ้ำหรือออกจากป่า) เป็นท่าเริ่มต้น
  2.  ท่าย่างสามขุม คือ การเหยาะย่างอย่างทะมัดทะแมง
  3.  ท่ากุมภัณฑ์ถอยทัพ ลีลาท่าทางในเชิงถอย
  4.  ท่าลับหอกโมกขศักดิ์  ท่าแสดงจินตนาการเหมือนกุมภัณฑ์ลับหอกโมกขศักดิ์
  5.  ท่าดาบยามปราบมาร แสดงความเข้มแข็งให้เป็นที่ยำเกรงของคู่ต่อสู้
  6.  ท่าทะยานเหยื่อเสือลากหาง เป็นท่าที่แสดงจินตนาการวาดท่าของลูกเสือที่หยอกล้อกัน
  7.  ท่าเหยียบไก่เล้า เป็นท่าเลียนแบบการเลาะเลียบของไก่ที่จะเข้าเล้า
  8.  ท่าน้าวคันศร เป็นท่าพระรามน้าวคันศร
  9.  ท่ากินนรเข้าถ้ำ
10.  ท่าเตี้ยต่ำเสือหมอบ 
11.  ท่าทรพีชนพ่อ เป็นลีลาแสดงความดุดันของทรพีที่โหดร้ายต่อทรพาผู้เป็นพ่อ
12.  ท่าล่อแก้วเมขลา เมขลาล่อแก้วให้รามสูรขว้างขวาน
13.  ท่าม้ากระทืบโรง
14.  ท่าโขลงทะยานป่า  เป็นท่าที่มีลีลาเหมือนช้างป่าเมามัน รุกไล่ศัตรูอย่างฮึกเหิม


นอกจากนั้นยังมีท่ารำมวยโบราณแบบที่รำเป็นขบวนแห่อีก 9 ท่า คือ
  1.  ท่ากาเต้นก้อนไถ
  2.  ท่าหวะพราย
  3.  ท่าย้ายสามเสา
  4.  ท่าน้าวเฮียวไผ่
  5.  ท่าไล่ลูกแตก
  6.  ท่าช้างม้วนงวง
  7.  ท่าทวงฮัก กวักชู้
  8.  ท่าแหวกถลา ถาถากปีก
  9.  ท่าเลาะเลียบตูบ





    การแต่งกายของมวยโบราณ
มวยโบราณนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คือ ดึงชายกระเบนให้สูงขึ้น เพื่อให้เห็นลายสักที่ขา สีของผ้าโจงกระเบนนิยมสีแดงหรือสีน้ำเงิน ปล่อยชายหางกระเบน ห้อยลงมาพองาม มีผ้าคาดเอวสีแดงหรือ น้ำเงิน (ใส่สลับกับผ้านุ่ง คือ ถ้าผ้านุ่งสีแดง ผ้าคาดเอวก็สีน้ำเงิน)  ผ้าคาดเอวนี้จะช่วยรัดให้ผ้าโจงกระเบนแน่นกระชับ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ มีผ้าประเจียดโพกศีรษะ (ผ้าประเจียดคือ ผ้าลงยันต์ บรรจุมนต์ขลังของเกจิอาจารย์) นอกจากนั้นก็มีผ้ารัดต้นแขนทั้งสองข้าง เป็นผ้าสีแดง มีตะกรุดหรือเครื่องรางของขลังอยู่ข้างใน


การสักหรือการเขียนลาย จุดเด่นของมวยโบราณนิยมสักลวดลายตามตัวทั่วร่างกาย ทั้งแขน ขา สมัยก่อนสักด้วยน้ำว่าน น้ำยาศักดิ์สิทธิ์สักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เลื่อมใสว่ามีกำลังอำนาจ นอกจากนั้นยังสักเป็นลวดลายและลงอักษรโบราณที่เป็นคาถาอาคม


เล่ากันว่า ในสมัยโบราณผู้ชายที่ไม่สักลายผู้หญิงจะไม่รัก และไม่แต่งงานด้วย ถึงกับมีคำพังเพยว่า “ขาบ่ลายบ่ให้ก่าย” ก่ายก็หมายถึง กอดก่าย การสักนี้มีจุดมุ่งหมายเหมือนกับมีเครื่องรางของขลังติดตัวไปด้วย ทำให้อยู่ยงคงกะพันแคล้วคลาดและเป็นมหาเสน่ห์ สมัยก่อนการสักลงยันต์ทำกันเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องสักลงไปบนผิวหนัง ฝังลงไปในเนื้อโดยให้เหล็กแหลมเหมือนปากกา สักด้วยหมึกดำ หมึกแดง ผสมกับรงและว่าน รอยสักนี้จะติดไปบนผิวหนังตลอดชีวิต


ในปัจจุบันนี้ ไม่มีผู้นิยมสักลาย นักมวยโบราณจึงได้พัฒนาการสักลายมาเป็นการเขียนลายแทน และเขียนด้วยปากกาเมจิก หรือสีเคมีแห้งเร็ว เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ใช้แป้งผงที่ทาตัวเด็ก โรยลงไปให้ทั่วเพื่อไม่ให้สีที่เขียนเลอะเทอะเมื่อเหงื่อออก


ดนตรีประกอบการแสดง เป็นสิ่งจำเป็นมากในการแสดงมวยโบราณ เพราะจะช่วยสร้างอารมณ์ให้เกิดความคึกคักให้กับนักมวย และผู้ชมยิ่งเป็นดนตรีพื้นเมืองของอีสานด้วยแล้วยิ่งสนุก คึกคัก เร้าใจ นักมวยโบราณได้ฟังเสียงแล้วก็ฮึกเหิม ร่ายรำได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย คนดูก็สนุกไปด้วย


เครื่องดนตรีของมวยโบราณ เป็นดนตรีพื้นบ้านทั้งสิ้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

1.  เครื่องดีด ได้แก่  กระจับปี่ (พิณ) เป็นเครื่องดนตรีหลัก
2.  เครื่องสี    ได้แก่  ซอกระบอกไม้ไผ่
3.  เครื่องตี    ได้แก่  กลองตุ้ม (กลองสองหน้า) หมากกระโหล่ง โปงลาง ฆ้อง ฯลฯ
4.  เครื่องเป่า ได้แก่  แคน อาจเพิ่มโหวตเข้าไปด้วย


ส่วนเพลงที่ใช้ตีประกอบนั้น มวยโบราณจะอาศัยจังหวะจากเสียงกลองและเครื่องตีประกอบ จังหวะอื่นๆ เป็นตัวทำจังหวะให้นักมวยเต้นเหยาะย่างตามลีลาท่ารำ สำหรับบทเพลงที่เหมาะที่สุด คือ เพลงขารเลงลายผู้ไทย ซึ่งอาจเป็นผู้ไทยน้อยสำหรับเสียงสูง หรือผู้ไทยใหญ่สำหรับเสียงต่ำ



เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ไม่ทราบข้อมูลอ้างอิงที่แน่ชัด ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย วัวลาน เมืองเพชรบุรี ต้นฉบับการแข่งวัวลาน

สวัสดีครับเพื่อนๆที่ติดตามผมอยู่วันนี้ผมจะมาเสนอข้อมูลประเพณีไทยเมืองเพรชบุรีแข่งวัวลานต้นฉบับแห่งการแข่งวัววานแบบดังเดิม ประเพณีนี้จัดทุกปีครับ ผมจะไม่พูดบรรยายความมากแล้วเชิญไปอ่านประวัติความเป็นมาต้นฉบับ....

ประวัติ / ความเป็นมา



การเล่นวัวลาน ได้มีวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว เพราะลักษณะลานนวดข้าวเป็นวงกลมเป็นดินเหนียวที่อัดแน่นเป็นพื้นเรียบ แล้วส่วนใหญ่ชาวนาจะทาพื้นด้วยมูลวัวอีกทีหนึ่ง วิธีการนวดข้าวนั้น ชาวนาจะแยกเมล็ดข้าวออกจากรวงหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว โดยใช้แรงวัวมาช่วยนวดข้าว ชาวนาจะผูกวัวเรียงเป็นแถวหน้ากระดานไว้กับเสากลางลานบ้าน วัวที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง ไม่ต้องใช้กำลังและฝีเท้ามาก เพราะอยู่ในช่วงหมุนรอบสั้นวนเป็นรอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะหลุดออกจากรวงข้าวหมด แต่วัวตัวที่อยู่นอกสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว่า จึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดีด้วยเหตุนี้ วัวหมุนรอบและเหยียบย่ำจนเมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว เมล็ดข้าวเปลือก วัวหมุนรอบและเหยียบย่ำจนเมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว เมล็ดข้าวเปลือกจะหล่นบนพื้นลานที่ปราบไว้ดีแล้ว การนวดข้าวจึงเกิดการละเล่นพื้นบ้านวัวลาน



วัวลาน จึงจัดเป็นการเล่นพื้นบ้านหรือกีฬาพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้ รับความนิยมอย่างสูง จัดเป็นหัวใจของคนท้องถิ่น ด้วยว่า “วัว” เป็นสัตว์ที่คลุกคลีอยู่กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาแต่ครั้งบรรพกาล การแข่งขันวัวลานจึงเป็นกีฬาของลูกผู้ชายชาวเมืองเพชรโดยแท้ การแข่งขันวัวลาน ได้วิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงมาจากการนวดข้าวของชาวไทยท้องถิ่นซึ่งใช้วัวเดินวนนวดข้าวในลานวงกลม วัวของใครมีพละกำลังดี แข็งแรงมากก็จะเดินวนนวด ข้าวอยู่รอบนอก วัวตัวใดมีพละกำลังน้อยก็จะเดินคลุกอยู่วงในชิดเสากลางลาน ต่อมาคงมีการ พนันขันต่อสนุกสนานกันขึ้นในวงนวดข้าว การแข่งขันวัวลานจึงถือกำเนิดขึ้นมาจากประเพณีการ นวดข้าวดังกล่าวนี้ สำหรับในจังหวัดเพชรบุรีกล่าวกันว่า เริ่มมาจากตำบลท่าแร้ง ซึ่งมีชาวอิสลามมาเลี้ยงวัวอยู่มากก่อนตำบลอื่น จากนั้นก็ได้รับความนิยมขยายอาณาเขตจนนิยมกันไปทั้งเมือง

กำหนดงาน

การแข่งขันวัวลานคนที่จังหวัดเพชรบุรี มีกำหนดไม่แน่นอน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าที่ไหนจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบางครั้งก็จัดในช่วงสงกรานต์หรือบางครั้งจะแข่งขันกันในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และออก พรรษาแล้ว ในช่วงเข้าพรรษาจะงดการแข่งขันโดยสิ้นเชิง

อุปกรณ์การแข่งวัวลาน

  1.  เสาเกียรติ ทำด้วยเสากลม ต้องแข็งแรงพอที่จะต้านทานแรงดึงของวัว 18-19 ตัวได้ เสานี้จะ ปักกลางลานที่วิ่งสำหรับผูกวัวที่จะวิ่งแข่ง อาจมีการบวงสรวง ชุมนุมเทวดาด้วย ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เหล้า และมะพร้าวอ่อน
  2. เชือกห่วงและเชือกพวน เชือกห่วงเป็นเชือกที่คล้องไว้ที่เสาเกียดสำหรับผูกวัว ส่วนเชือกพวน คือ เชือกที่ทาบคอวัวผูกติดกันเป็นราวแล้วผูกกับเชือกห่วงอีกทีหนึ่ง ขณะที่จะนำวัวผูกกับเสาเกียดนั้น เจ้าของวัวและคณะจะโห่เอาฤกษ์เอาชัย
  3. ราวพักวัว จะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นราวไว้
  4. วัวที่ใช้เล่นวัวลานจะมีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นวัวพันธ์ไทยเพศผู้ แข็งแรงอดทน ซึ่งเจ้าของจะต้องฝึกวัวให้คุ้นเคยกับคนจำนวนมากๆ เพื่อวัวจะได้ไม่ตื่นคน และจะต้องให้อาหารเสริม เช่น เกลือแร่ ไข่ น้ำมันตัปปลา กล้วยน้ำว้าแช่น้ำผึ้ง
- วัวนอก คือ วัวที่อยู่ปลายเชือกจะต้องคัดเลือกวัวที่มีพละกำลัง เพราะจะต้องวิ่งชนะวัวในให้ได้
- วัวใน คือ อยู่ถัดจากวัวนอก ตัวที่ 2-4จะต้องเลือกวัวตัวที่มีฝีเท้าดีเช่นกัน
- วัวคาน คือ วัวที่ติดอยู่กับตัวที่ 4 (วัวใน)เข้าไปถึงเสาเกียด มีจำนวน 14-18 ตัว มีหน้าที่ช่วยพยุงวัวนอกและวัวในให้แข่งขัน

เครื่องประดับวัวลาน
  • เชือกขับเป็นเชือกที่ใช้ผูกวัว
  • กระดิ่งมีไว้เพื่อรู้ตำแหน่งของวัวเมื่อวัวหาย
  • เขาลองทำจากไหมพรมใช้ประดับวัว
  • ลูกเชือกทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างอ้อม สะพาย กับ เชือกขับ
  • หน้าเพชร
  • เกราะ
การจัดสนามแข่งวัวลาน

ประกอบด้วยลานดินมีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ตรงกลางจะมีเสาใหญ่ทำด้วยเนื้อแข็งปักไว้อย่างมั่นคงที่สุดสำหรับผูกวัว ซึ่งเรียกเสาไม้นี้ว่า "เสาเกียด" ที่ริมสนามจะมีหอคอยสูงประมาณ 3-5 เมตร เพื่อให้คณะกรรมการ และโฆษกของงานขึ้นไปนั่งสังเกตการณ์


วิธีการเลือกวัวที่เข้าวิ่งจะประกอบไปด้วย


 วัวผูก หรือ วัวพวง วัวผูกนี้ส่วนใหญ่ผู้จัดการแข่งขันจะจัดหามาเอง โดยอาศัยการไหว้วานจากสมัครพรรคพวก และการวิ่งแต่ละรั้งจะต้องมีวัวผูกอย่างน้อย 19 ตัว

วัวสาม เป็นวัวที่ผูกถัดมาจากวัวพวง ซึ่งทางคณะกรรมการจะต้องเตรีมไว้เช่นกัน และจะต้องเลือกวัวที่มีฝีเท้าพอ ๆ กับวัวที่จะแข่งขัน (วันยืนและวัวติด) เพราะถ้าวัวสามวิ่งช้ากว่าวัวแข่งจะดึงวัวยืนให้แพ้

วัวยืน และ วัวติด วัวสองตัวนี้ เป็นวัวที่เข้าแข่งขัน ตัวที่ยืนติดจากวัวสาม เรียกว่า "วัวยืน" และตัวอยู่นอกสุดเรียกว่า "วัวติด" วัวยืน และวัวติดนี้คนที่เป็นเจ้าของจะต้องมาจับฉลากกันว่าตัวไหนจะเป็นวัวยืน ตัวไหนจะเป็นวัวติด แล้วจึงวิ่งรอบเสาเกียด 3 รอบ
ดังที่เรียนให้ทราบแล้วว่า วัวยืนและวัวติดจะต้องวิ่งกันคนละ สามรอบของเสาเกียด แต่ละรอบกรรมการซึ่งอยู่บนหอคอยจะขานว่า "หู" "ผาน" หรือ "สวาบ" หรือ "หลุด" เมื่อวัววิ่งเลยธงได้เสีย แต่ถ้าวัวหลุดตั้งแต่ยังไม่ถึงธงได้เสียจะต้อง กลับมาตั้งต้นกันใหม่ ถ้าวัวหลุด 3 ครั้ง ถือว่าแพ้ ต้องมาสลับที่กับวัวยืนใหม่ การที่กรรมการขานคำว่า "หู"หมายความว่า ชนะแค่หู ซึ่งจะมีคะแนนให้ 3 คะแนน และ "ผาน" แปลว่า ชนะแค่หน้าหนอก หรือระดับหนอกได้ 2 คะแนน "สวาบ" ชนะแค่สวายได้ 1 คะแนน คะแนนนี้ให้เฉพาะวัวติด ว่าจะเกาะวัวยืนได้นานแค่ไหน

การเตรียมความพร้อมของวัว
เจ้าของวัวจะนำวัวของตนเอวมารวมกันแล้วต้อนขึ้นรถยนต์ ซึ่งเป็นรถบรรทุก จะบรรทุกวัวไปยังสถานที่เล่นวัวลานตามที่นัดหมาย ซึ่งเรียกกันว่า "ลานวัว" ระหว่างทางก็จะมีการโห่ร้องอย่างสนุกสาน เพื่อให้เกิดความครึกครื้น วัวอยู่ตรงกลางรถ คนจะอยู่ที่ท้ายรถ และด้านบนของหัวรถ เมื่อไปถึงลานวัวเป็นเวลาที่พลบค่ำ เจ้าของวัวจะนำวัวลงจากรถบรรทุกนำไปผูกไว้ยัง "ราวผูกวัว" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้จัดให้มีการเล่นวัวลานเป็นผู้จัดเตรียมไว้ ซึ่งก็จะอยู่ติดกับ "ลานวัว"


วิธีการเล่นวัวลาน
วัวลาน เป็นการเล่นพื้นเมืองของชาวเมืองเพชรบุรี ที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมเกษตรกรรม เป็นการพักผ่อนหย่อนใจและเกมสนุกสนานตื่นเต้น ส่งเสริมอาชีพทางอ้อม กระตุ้นให้ผู้เลี้ยงวัว ดูแลวัวให้แข็งแรงสมบูรณ์ ด้วยมุ่งหวังให้วัวลงแข่งเพื่อรับเงินรางวัลและมีชื่อเสียง การละเล่นวัวลานวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว การเตรียมสถานที่เล่นวัวลาน ต้องมีที่เป็นลานกว้างสำหรับวัววิ่ง ปักหลักเกียด ซึ่งเป็นหลักไม้ไว้กลางลาน มีศูนย์กลางและเชือกพรวนไปตามแนวรัศมีของลานเป็นวงกลม แล้วนำวัวตัวผุ้มาผูกติดเป็นรัศมีออำไปยาว และมีราวสำหรับพักวัว การละเล่นจะมีผู้มาร่วมหลายคณะ 
การแข่งขันจะมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายวัวรอง และฝ่ายวัวนอก 

ฝ่ายวัวรอง จะผูกวัวไว้ตามเชือกพรวนตามรัศมีของบานประมาณ 17-20 ตัว ตามแต่ตกลง แต่ต้องคัดเลือกวัวฝีเท้าดีประมาณ 3 ตัว ไว้รอบนอกคอยวิ่งกันมิให้วัวนอกของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะนำมาผูกวิ่งแซงได้ 

ฝ่ายวัวนอก จะนำวัวที่มีฝีเท้าดีที่สุดมาผูกทับกับวัวรอง เพื่อจะได้แข่งขันกันว่าวัวใครมีฝีเท้าดีและเมื่อปล่อยวัวแล้ว ถ้าวัวนอกวิ่งแซงวัวรองได้และสามารถลากวัวรองไปได้อย่างไม่เป็นขบวนและทำให้วัวรองดิ้นหลุดจากระดับแถว แสดงว่าวัวนอกชนะ แต่ถ้าวัวรองสามารถวิ่งแซงวัวนอกและลากวัวนอกไปจนทำให้ดิ้นออกมาจากรัศมีแถวได้ ก็ถือว่าวัวรองชนะ ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแซงซึ่งกันและกันได้ก็เสมอกัน วัวลานมักเล่นในฤดูแล้งหรือว่างจากการทำนา

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิง mit.pbru.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย แข่งว่าวไทย.. จังหวัดสตูล


ช่วงเวลา ต้นสัปดาห์แรกเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี

ความสำคัญ


การแข่งขันว่าวประเพณีไทยจังหวัดสตูล เริ่มมีวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ โดยคณะครู-อาจาย์โรงเรียนสตูลวิทยา และชาวบ้านตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ริเริ่มจัดการแข่งขัน เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ลงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลมว่าวกำลังพัดย่านท้องที่สนามบิน และในจังหวัดภาคใต้ เหมาะแก่การเล่นว่าว ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่ลงทุนน้อย เล่นง่าย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประดิษฐ์ว่าวประเภทต่างๆ ขึ้นมา ประกอบคนชาวไทยเป็นนักประดิษฐ์ ช่างคิด ช่างทำ เห็นควายอยู่ในนาที่กำลังเก็บเกี่ยวจึงได้จำลองหน้าตาของควายลงในตัวว่าว ขณะที่ว่าวลอยกลางอากาศส่วนหางจะอยู่บน ส่วนหัว เขา จมูก หู อยู่ส่วนล่าง ว่าวมีเสียงดัง อยู่ไม่นิ่ง ส่ายไปมาเหมือนนิสัยบ้าบิ่นของควาย ชาวบ้านจึงเรียกว่าวควาย เป็นสัญลักษณ์ของการเล่นว่าวในจังหวัดสตูล เป็นที่นิยมของประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ



พิธีกรรม
อดีตว่าวเป็นเครื่องมือวัด ลม เป็นอุปกรณ์เสี่ยงทายถึงความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่นนิทาน หรือตำนานของไทย เช่น เรื่องแก้วหน้าม้า ว่าวสมัยก่อน พระมหากษัตริย์ให้ความสนใจมากหากว่าวตกลงบ้านใคร เจ้าของบ้านจะได้รับรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน ชาวจีนใช้ว่าวทำสงคราม ชาวฝรั่ง เช่น เบ็ญจามิน แพรงกิน ใช้ว่าวทดลองทางวิทยาศาสตร์
ว่าวจุฬา - ปักเป้า เป็นว่าวที่พระราชาทรงโปรด จัดให้มีการแข่งขันท้องสนามหลวง ว่าวจุฬา แต่ละตัวที่จัดทำขึ้นต้องมีพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น การค้นหาไม้ไผ่ที่แก่จัด อยู่กลางกอไผ่ มีอายุที่กำหนดไว้ เมื่อตัดไม้ไผ่แล้วต้องไปแช่น้ำระยะหนึ่ง จึงจะมาตกแต่ง มีการรมควันเพื่อให้ไม้ไผ่ทนทาน ไม่มีมอด แมลงมาชอนไช การตกแต่งโครงว่าว การผูกเชือก การติดกระดาษ ล้วนแต่ใช้ภูมิปัญญาไทย บางครั้งต้องมีการเซ่นไหว้ เพื่อให้มีชัยชนะ

สาระ
๑. เป็นการตอบแทนบุญคุณของควายที่ช่วยเหลือชาวนา ทำนา จึงเทอดทูนผู้มีพระคุณ
๒. เป็นการอนุรักษ์ช่างฝีมือในการทำว่าว ซึ่งนับวันจะหายากยิ่งขึ้น
๓. เสริมสร้างความสัมพันธ์ไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างรัฐต่าง ๆ ของประเทศมาเลเซียที่มีชายแดนติดต่อกับจังหวัดสตูล
๔. เป็นศูนย์รวมของว่าวภาคใต้
๕. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ปลูกฝังให้เยาวชนให้ตระหนักถึงภูมิปัญญาไทย มรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรม


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก prapayneethai.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}