เป็นประเพณีไทยพื้นบ้านที่เก่าแก่ของหมู่บ้านโซกกระบาท ตำบลคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ประเพณีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังจากสูญหายไปราว 40 ปี ในอดีตเมืองศรีคีรีมาศต้องส่งส่วยน้ำผึ้งทดแทนการถูกเกณฑ์แรงงานตามพระราชกำหนดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการยกเลิกการส่งส่วยน้ำผึ้ง
การส่งส่วยดังกล่าวเป็นผลให้เกิดมีประเพณีการทำขวัญผึ้งเพื่อให้ผึ้งมาทำรังตามต้นไม้มากๆ ต่อมาประเพณีได้ค่อย ๆ เลือนหายไป ศูนย์ศึกษาและวิจัยวัฒนธรรมพื้นบ้าน หัวเมืองฝ่ายเหนือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก) ได้ฟื้นฟูประเพณีการทำขวัญผึ้งตำบลคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2526 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3
จากนั้นทำเป็นรังผึ้งขนาดต่าง ๆ ติดกิ่งไม้ไว้เพื่อเตรียมไปแขวนที่ป่า เช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านจะพากันเดินทางไปยังบริเวณที่ประกอบพิธีในป่า บริเวณที่จะทำพิธีต้องมีต้นไม้ใหญ่และเคยมีรังผึ้งมาก่อนแล้ว เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า "โซกลำเกลียว" เท่าที่ผ่านมาต้นไม้ที่ใช้ประกอบพิธี คือ ต้นยาง เมื่อได้ต้นไม้ในลักษณะที่ต้องการแล้ว กำหนดเขตโดยใช้ไม้ไผ่สานสูงประมาณเอว กั้นเป็นอาณาเขตห่างจากต้นไม้ประมาณ 3 วา เว้นช่องทางให้เข้าทั้งหมด 8 ช่อง เพื่อเป็นประตู 8 ทิศ แต่ละประตูสร้างศาลตีนเดียวสูงประมาณ 2 วา ที่ศาลจะมีเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ก่อนที่จะเริ่มพิธีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจะเอารังผึ้งปลอม (ทำจากขนมแดกงา) ไปติดตามต้นไม้รอบบริเวณนั้นจะมีกี่รังก็ได้ แต่จะต้องมีรังหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 ศอกเป็นรังผึ้งหลวงเพื่อใช้ประกอบพิธี อีกกลุ่มหนึ่งก็เอาผ้าสามสีและด้ายขาวแดงมาพันรอบต้นไม้ใหญ่ แต่เดิมนั้นใช้ผ้าม่วงผ้าไหมปัจจุบันหาไม่ได้แล้วจึงใช้ผ้าสามสีแทน และที่ผ้าสามสีจะประดับด้วยเหรียญเงินโดยรอบ เรียกว่า พวงเงิน พวงทอง ด้ายแดงขาวอีกส่วนหนึ่งนำไปพันที่รอบต้นไม้ใหญ่ 9 รอบ ตรงหน้าต้นไม้ใหญ่สร้างศาลตีนเดียวขนาดใหญ่หนึ่งศาล หน้าศาลมีที่วางเครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ บายศรี 1 ปาก หัวหมู 1 หัว ตีนหมู 8 ตีน หางหมู 1 หาง ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้าป่า ข้าวเหนียวขาว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวสุกจากปากหม้อ ผักหญ้า ปลายำ ไข่ต้ม มะพร้าวอ่อน 1 ผล หมากพลูอย่างละ 3 คำ ธูป 3 ดอก เทียน 3 เล่ม เครื่องเซ่นเหล่านี้จะแบ่งไปตามศาลตีนเดียวทั้ง 8 ศาลด้วย
เมื่อจะเริ่มพิธีมีการจุดธูปเทียนที่ศาลใหญ่และศาลทั้ง 8 ทิศ ผู้ทำพิธีจะทำน้ำมนต์เพื่อปัดเสนียดจัญไร แล้วเอาน้ำมนต์พรมที่เครื่องสังเวยและคนในบริเวณนั้น จากนั้นจะไหว้พระรัตนตรัย กระทำธรณีสาร กล่าวคาถาชุมนุมเทวดาให้มารับเครื่องเซ่นสังเวยและร้องเชิญพ่อผึ้ง แม่ผึ้งให้ชวนบริวารมาทำรัง จากนั้นจะมีชาวบ้านชายหญิงสมมติเป็นพ่อผึ้ง แม่ผึ้ง ลูกผึ้ง ชวนกันมาทำรังที่ต้นไม้นี้ โดยจะเข้ามาทางประตูทั้ง 8 ทิศ ชาวบ้านที่สมมติเป็นเทวดาผู้เฝ้าประตูจะคอยซักถามว่า พ่อผึ้ง แม่ผึ้ง ลูกผึ้งนี้มาจากไหน และเชิญชวนให้มาทำรังผึ้งที่ป่าแห่งนี้ เมื่อขบวนผึ้งเข้ามาแล้วก็จะออกไปยังประตูตรงกันข้ามแล้วเข้ามาใหม่โดยมีเทวดาผู้เฝ้าประตูซักถามอีก จะเดินเข้าออกในลักษณะนี้จนครบทั้ง 8 ทิศ เป็นอันว่าเสร็จพิธี
หลังจากนั้นชาวบ้านที่มาร่วมในพิธีนี้จะเล่นขโมยรังผึ้งกัน โดยจะขโมยขนมแดกงาที่มีผู้นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในบริเวณพิธีและจะมีตำรวจคอยจับขโมย ถ้าขโมยคนใดถูกตำรวจจับได้ ตำรวจก็จะจับส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะตัดสินจำคุกกี่ปีก็ได้ การลงโทษจำคุกนี้ใช้วิธีการดื่มเหล้าแทน เช่นจำคุก 5 ปี ก็ให้ดื่มเหล้า 5 จอก เป็นการละเล่นที่สนุกสนานของชาวบ้านมาก
เมื่อสิ้นสุดการละเล่นแล้วจะมีการสมมติตีรังผึ้งจากต้นยาง ที่ใช้ประกอบพิธี เป็นการเสร็จสิ้นพิธีการทำขวัญผึ้งโดยสมบูรณ์
เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงจาก www.info.ru.ac.th/province/sukhotai
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}