แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทยทรงดำ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทยทรงดำ แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทยทรงดำ ประเพณีที่คนไทยแทบจะไม่รู้จัก

นายสมจิต จริยะประเสริฐสิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนางตะเคียน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า อบต.นางตะเคียน ร่วมกับ อบจ.สมุทรสงคราม จัดงานฟื้นฟูประเพณีไทยทรงดำ ครั้งที่ 10 ที่วัดธรรมาวุธาราม หรือวัดบังปืน หมู่ 6 ต.นางตะเคียน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำให้เป็นอมตะสืบทอดเป็นมรดกไปชั่วลูกชั่วหลาน

    โดยจะจัดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่หยุดงาน จึงขอเชิญชวนชาวไทยจะเชื้อสายไทยทรงดำหรือไม่ก็ตามมาร่วมงานในวันดังกล่าว

    พระมหาจรูญ ฐานจาโร เจ้าอาวาสวัดธรรมวุธาราม หรือวัดบังปืน กล่าวว่า ทางวัดจัดงานนี้มา 10 ปีแล้ว ในวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี ไม่มีเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงแม้จะไม่ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม ประกอบกับวันที่ 1 พ.ค.เป็นวันแรงงาน ผู้ใช้แรงงานได้หยุดเป็นพิเศษ ได้เงินและได้บุญอีกด้วย

    ส่วนที่มาของของชาวไทยทรงดำใน จ.สมุทรสงครามนั้น จากการค้นคว้าพบว่าเป็นคนเชื้อสายลาวจากเวียงจันทน์ที่เรียกกันว่าลาวโซ่ง อพยพมาในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตามขอบเขตชายแดนติดกับไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม และมุกดาหาร เป็นต้น สาเหตุก็น่าจะเกี่ยวกับการหนีภัยสงคราม
    พระมหาจรูญกล่าวว่า ชาวลาวโซ่งหรือไทยทรงดำกลุ่มนี้เมื่ออพยพมาแล้ว ก็มีการสัญญากันว่าปีหนึ่งเราจะนัดพบกันครั้งหนึ่ง โดยเลือกเอา จ.อุบลราชธานี เป็นศูนย์กลาง ตั้งชื่อว่าเป็นวันชุมนุมชาวไทยทรงดำ แต่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะชาวไทยทรงดำกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเห็นพ้องกันว่าให้สวมชุดดำเป็นสัญลักษณ์ ถ้าเป็นหญิงก็ให้ใช้ผ้าสีเหลือง สีแดง สีชมพู สีฟ้า สีเขียว สีน้ำเงินและสีขาว เป็นสะไบพาดไหล่ ถ้าเป็นผู้ชายให้ใช้ผ้าสีคาดเอว สีใครสีมัน เพื่อเป็นข้อสังเกตว่าเป็นชาวไทยทรงดำของจังหวัดไหนและจากต้นตระกูลอะไร

    นอกจากแต่งชุดดำมาพบกันแล้ว ชาวไทยทรงดำยังร่วมกันประกอบกิจกรรมในงานคือรำวงร่วมกัน บางแห่งมีการนำดนตรี เช่น แคน แตรวง กลองยาว กลองชุด หรือดนตรีสตริงมาร่วมด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็มีการจัดงานชุมนุมชาวไทยทรงดำทุกปีตามหัวเมืองต่างๆ สลับกันไป โดยไม่ตรงกัน อย่างวันที่ 1 พ.ค.จัดที่วัดบังปืน พอวันที่ 20 พ.ค.ก็จัดที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งต่างก็ผลัดกันมาร่วมงาน เวลาจะกลับก็แยกย้ายกันไปโดยมีไม่มีบอกลา โดยถือว่าพบกันแล้วอย่าลา เพื่อวันหน้าจะมาพบกันใหม่

    สำหรับชาวไทยทรงดำที่อพยพมาอยู่ใน จ.สมุทรสงครามมี 50 กว่าครอบครัว ประมาณ 1,500-2,000 คน อยู่ที่หมู่บ้านดอนสามและบ้านดอนมะโนรา อ.บางคนที ในงานชุมนุมจะมากันพร้อมหน้าแบบยกครัวเรือน ขณะที่ชาวไทยทรงดำจากจังหวัดอื่น เช่น เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม ไปจนถึง จ.อุดรธานี ขอนแก่น พิษณุโลก ก็พากันมาร่วมงานด้วย รวมแล้วจะมีจำนวนคนนับหมื่น

    นายพิสิฐ เสือสมิง นายก อบจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับชาวนางตะเคียน ชาวดอนมะโนรา และชาวไทยทรงดำทุกภาคที่มาร่วมงานชุมนุมที่วัดบังปืน เพื่อร่วมอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามเอาไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า จ.สมุทรสงครามซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ก็ยังมีชาวไทยทรงดำหรือลาวโซ่งอยู่ร่วมกันด้วย และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติอีกชนเผ่าหนึ่ง ซึ่งเขาคงรักประเทศไทยเหมือนกับที่คนไทยรัก.
ที่มา http://www.thaipost.net/x-cite/300412/56098
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}