แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด

ประเพณีไทย บายศรีสู่ขวัญข้าว

ช่วงเวลา
ประเพณีไทยสู่ขวัญข้าว (ทั่วไป) บุญสู่ขวัญข้าว (หมู่บ้านเนินใหม่ ตำบลโคกกรวด) เรียกขวัญข้าว (หมู่บ้านท่าด่าน) กระทำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓

ความสำคัญ
เพื่อเรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง บูชาพระแม่โพสพ ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทำลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากในปีต่อไป

พิธีกรรม
โดยทั่วไปชาวนาต่างก็ทำพิธีโดยให้เจ้าของนาฝ่ายหญิงนุ่งขาว ห่มขาวเป็นผู้ทำพิธีตอนเช้าตรู่โดยเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ข้าวต้ม เผือก มัน ไข่ ขันธ์ ๕ ขวดน้ำ แก้วแหวนเงินทอง แป้ง หวี กระจก ผ้าสไบ (อาจมีเพิ่มเติมหรือแตกต่างตามท้องถิ่น) นำสิ่งของเหล่านี้ห่อด้วยผ้าขาว ใส่กระบุงหรือบางท้องที่ปิดกระบุงด้วยผ้าขาว นำขอฉายคอนกระบุง (บางหมู่บ้านใช้ผ้าสีผูกให้สวยงาม) เดินไปตามท้องนา เจตนาของตน ร้องเรียกแม่โพสพ ใจความคือเชิญแม่โพสพที่ตกหล่นอยู่ให้มาอยู่ในยุ้ง ฉาง บางหมู่บ้าน เพื่อนบ้านขานรับจนถึงบ้าน นำกระบุงไปไว้ในยุ้งข้าว บางหมู่บ้านมีพราหมณ์ทำพิธีเรียกขวัญเข้ายุ้ง โดยมีการตั้งบายศรี และเครื่องไหว้ในยุ้ง การสู่ขวัญด้วยสำนวนหรือภาษาถิ่นที่แตกต่างกันออกไป
ในปัจจุบันประเพณีสู่ขวัญข้าวยังคงกระทำอยู่ในหมู่บ้านทั้งสี่อำเภอ เช่น หมู่บ้านหนองโพธิ์ ตำบลศรีนาวา สู่ขวัญข้าวร่วมกันและทำบุญเลี้ยงพระด้วย

สาระ
เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและความเชื่อของชาวนา รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ข้าวในปีหน้าได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น



ประวัติเพิ่มเติม
   
   เป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม้หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย วันที่ทำพิธีโดยปกติถือเอาวันที่ขนข้าวขึ้นยุ้งเสร็จแล้ว หากไม่ทันก็อาจทำในวันรุ่งขึ้นก็ได้

การเรียกขวันข้าวนั้นอาจทำได้ทั้งแบบเรียบง่ายและแบบใหญ่โตโดยขึ้นกับความนิยมในท้องถิ่นหรือความพร้อมของเจ้าของนา หากทำพิธีแบบใหญ่โตแล้วก็จะมีเครื่องบูชามากมาย โดยทั่วไปเครื่องพิธีจะมีไก่และเหล้าและเครื่องใช้ของผู้หญิงเช่นกระจก หวี แป้ง นำเครื่องพิธีดังกล่าวไปวางไว้ที่แท่นพิธีบริเวณที่เคยทำพิธีแรกนา แล้วก็มีคำโอกาสราธนาคือคำสังเวยที่เป็นคำขอบคุณแก่พระแม่โพสพ ที่ช่วยให้ได้ผลผลิตเป็นข้าวมากมาย ถ้าเป็นพิธีใหญ่ส่วนมากเจ้าของนาจะกล่าวคำโอกาสด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องขออาจารย์ประจำหมู่บ้านเป็นผู้โอกาสให้

ในการทำพิธีแบบง่ายนั้น เครื่องบูชา มีข้าว ไข่ต้ม กล้วย ๑ ผลขนมต่าง ๆ ดอกไม้ ธูปเทียน จัดใส่กระทงหรือพานเล็ก ๆ ผู้ที่เป็นพ่อนาจะเอาไม้ไผ่เฮี้ยยาวประมาณ ๒ เมตร ปล้องของไม้บนสุดทุบให้แตกแป็นซีก ๆ แล้วดุนให้ถ่างออกป่องตรงกลาง คล้ายกับที่เรียกกันว่ารังมดส้ม (มดแดง) 

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะพากันขนเครื่องบูชาและเครื่องประกอบพิธี มีกระทงใส่เครื่องบูชาและทับพี ๑ อัน ไม้รังมดแดง และนำไม้นะโมตาบอด พร้อมด้วยรวงข้าวที่เก็บไว้ก่อนนั้นแล้ว ออกไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงพ่อนาจะฝังหรือปักไม้เฮี้ยที่เป็นรังมดแดงนั้นที่กลางตาลางคือลานนวดข้าว เอากระทงเครื่องบูชาใส่ปลายไม้เฮี้ยที่เป็นรูปรังมดแดง ผูกรวงข้าวให้แขวนลงในกระทงนั้น ปักไม้นะโมตาบอดซึ่งเป็นเครื่องป้องกันมิให้ผีมาขโมยข้าวไว้ที่ ๔ มุมของลาน แล้วจุดธูปเทียน ผู้หญิงก็จะใช้ทัพพีกวักไปรอบ ๆ ในบริเวณนั้น เพื่อกวักเอาขวัญข้าวให้มาอยู่รวมกัน ด้วยการพูดเป็นโวหารเอาเอง ด้วยคำที่เป็นมงคลเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ตกแถวนั้นสัก ๒-๓ เม็ด หรือจะหยิบเอาเศษฟางก็ได้สมมุติว่าเป็นขวัญของข้าวใส่ในกระทง นำเอากระทง และไม้นะโมตาบอดกลับบ้าน ปักไม้นะโมตาบอดไว้ที่ ๔ มุม ในยุ้งข้าวแล้วเอากระทงขวัญข้าววางไว้จุดใดจุดหนึ่งในหรือยุ้งข้าว แล้วเอากระดองเต่า หรือฟักหม่น คือฟักเขียว วางไว้ข้างบนข้าว เพื่อให้เต่าหรือฟักคอยกกฟักให้ข้าวอยู่นาน ๆ เหมือนกับเต่าฟักไข่ พร้อมกับกล่าวออกเสียงเบา ๆ ว่า "ขอให้ข้าวจงอยู่ในนี้เน่อ อย่าได้ออกไปทางใด เพราะว่าเดือน ๔ เพิ่นจักปล่อยช้างปล่อยม้า เดือน ๕ เพิ่นจักปล่อยงัวปล่อยควาย" ดูเป็นการสอนเตือนข้าวไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่นเกรงว่าจะถูกช้างม้าวัวควายเหยียบเอา

เมื่อนำข้าวเข้าเก็บแล้ว ที่ประตูยุ้งข้าวจะมี ปักขทืนกระด้าง หรือปักขทืนวันจกเข้า คือปฏิทินกำกับวันข้างขึ้นข้างแรมที่ควรหรือไม่ควรตักข้าวออกจากยุ้ง เชื่อกันว่าหากมิได้ปฏิบัติตามพิธีดังกล่าวมาข้างต้น ข้าวจะเปลือง หรือหมดเร็ว เพราะมีผีมาขโมยเอาไปกิน เล่ากันว่าที่ในถ้ำแกลบ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว ในถ้ำจะมีแกลบอยู่


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก prapayneethai.com และ lannaworld.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การทำบุญโคนไม้ จังหวัด.ตราด


ระยะเวลา ช่วงเดือนเมษายน และหลังจากวันเพ็ญเดือนสิบสอง

สาระสำคัญ
การทำบุญโคนไม้ เป็นประเพณีไทยพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดตราดที่ทำเป็นประจำทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านในชุมชน การทำบุญโคนไม้และการทำบุญตามสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน นอกจากจะให้ผลในการดำเนินชีวิตโดยตรงแก่ผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานของตนรู้จักรักป่า แผ่นดิน และพื้นน้ำ ไม่คิดทำลายธรรมชาติ ที่ตนต้องพึ่งพาอาศัย ในขณะเดียวกันยังสอดแทรกคุณธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณสืบทอดให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ให้รู้จักการทำบุญให้ทาน มีความเมตตาเอื้อเฟื้อ รู้จักรักผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมหลักของการอยู่ร่วมกัน


พิธีกรรม
ชาวบ้านจะนัดหมายกันหลังจากทำบุญสงกรานต์หรือหลังจากทำบุญทอดผ้าป่าคืนวันลอยกระทง แล้วมอบหน้าที่ให้แก่ไวยาวัจกรหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสม นิมนต์พระ เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ ธูปเทียน ไปยังสถานที่นัดหมาย ทำพิธีกรรมทางสงฆ์ ถวายทานแก่พระสงฆ์ กรวดน้ำเหมือนทำบุญถวายสังฆทาน หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะทำพิธีแห่เรือมีการตีไม้ล่อนำหน้าขบวนไปยังห้วยหนองคลองบึง เพื่อทำพิธีปล่อยเรือที่ทำด้วยกาบหมาก ขดหัวท้ายให้คล้ายเรือ ภายในบรรจุด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน หอม กระเทียม เกลือ พริก เป็นต้น น้อมจิตอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผีป่า ผีโป่ง ผีทุ่ง ผีนา พร้อมกับฝากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไปกับเรือ เสร็จพิธีแล้วจะกลับมายังสถานที่
บำเพ็ญบุญเพื่อรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี

คำบูชาและแผ่ส่วนกุศล
" บุญนี้ที่ข้าทำ ขอให้เป็นข้าวน้ำ เครื่องพิจารณาสู่วิมานทอง เรืองรองโสภา พบนางฟ้าวันหนึ่งประมาณ ศีลทานดังนี้ ขอศีลธรณี ถึงบิดามารดา ฝูงเปรตทั้งหลาย นรกอสูรกาย กุ้งเล็กปลาน้อย ปลาโตปูหอย ใหญ่น้อยเรืองรอง ให้ตั้งใจปอง รับเอาส่วนบุญ อินทร์กา เทวา ทุกชั้นพรหมา ท้าวเวสสุวัน พระอินทร์ พระศุกร์สาลี อีกทั้งพระกานต์ จตุโลกบาลทั้งสี่ ครุฑ นาค นาคี กินนรี คนพาลขออย่าได้พบ ขอจงประสบพบท่านผู้ดี มีปัญญา ทานของข้านี้ อย่าได้สิ้นที่ ความยากเข็ญใจ ขออย่าได้เกิดมี ขอให้เป็นเศรษฐี มนตรีเจ้าพระยา เดชะกุศล พ้นจตุรา ขอให้ตัวข้า ไปเกิดทันพระศรีอารย์ ยังมีสัตว์อีกหมู่เที่ยวอยู่เวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในวัฏสงสาร ได้ชื่อว่าห่า อย่ามาเบียดผลาญ ก่อความรำคาญ ระรานรบกวน วันนี้พวกข้า เจตนาร่วมกัน ได้นำอาหาร คาวหวานล้วน ๆ เชิญท่านมารับ ข้าวกับทั้งมวล ทุกสิ่งสมควร มารับเอาไป แล้วอย่ากังวล ทำให้คนวุ่นวาย ทั้งเด็กผู้ใหญ่ จงไปถิ่นฐาน บรรดาพวกข้า นายบ่าวทั้งนั้น เร็วพลันรนราน ซมซานรีบไป ผีทุ่ง ผีนา ผีป่า ผีโป่ง ทั้งผีตายโหง ทั้งสิ้นทั้งหลาย ต่าง ๆ อย่าช้า รับอาหารไป เร็ว ๆ ไว ๆ จงไปรีบไป ลงเรือนาวา จัดหาไว้ให้ เครื่องเสาเพลาใบ แต่งไว้หราหรู ให้ท่านทุกตนทุกผู้ ไต่ก๋งจุ้นจู้ วิ่งอู้ออกไป คะชาอะโมมะหิ โอกาเสติ ตะถามิ อับเปหิไป สุขสบายทั่วกัน พวกข้าอยู่หลัง มุ่งหวังสุขสันต์ กุศลสรรสร้าง สู่ทางนิพพาน ให้พ้นสงสาร เป็นสุขเกษมใจ อันตัวข้านี้ มีศรัทธาเลื่อมใส ได้สร้างกุศลไว้ ในการวันนี้ โดยมีมโนนัย หวังเป็นปัจจัย แห่งพระนิพพาน แม้ยังไม่สำเร็จ ข้าขอเข้าเขต พระเมตตรัยญาณ เกิดชาติต่อไป ขอให้
เกิดในพุทธกาล ขอถึงซึ่งนิพพาน นะปัจจะโยโหตุ

สาระ
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ภูตผีที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ ผีทุ่ง ผีนา ที่ช่วยคุ้มครองรักษาให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก prapayneethai.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย กวนข้าวทิพย์

ประวัติความเป็นมา

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนา พราหมณ์ที่มีสอดแทรกเข้ามาปะปนในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัยอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ตาย

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน ๑๐ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาละเว้นเลิกรา ไปในสมัยรัชกาล ที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แล้วมาได้รับการฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน ๑๒ บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งคงจะถือเอาระยะที่ข้าวกล้า ในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี และชาวบ้านก็มีความพร้อมเพรียงกัน


ในจังหวัดสิงห์บุรีบริเวณที่ยังคงรักษาประเพณีกวน ข้าวทิพย์ มีเหลืออยู่เพียง ๓ หมู่บ้าน คือหมู่บ้านพัฒนา โภคาภิวัฒน์ หมู่บ้านวัดกุฎีทอง หมู่บ้านในอำเภอพรหมบุรี ยังคงรูปเค้าโครง ของการรักษาประเพณีไทย และมีความเชื่อถือ อย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งแฝงด้วยจริยธรรมและคติธรรมอยู่มาก ที่สมควรนำมากล่าวถึงคือ ความพร้อมเพรียงของ ชาวบ้านทั้งที่ทำนา และไม่ได้ทำนาถึงเวลาก็มาร่วมจัดทำและ ช่วยเหลือโดยยึดถือ ความสามัคคีเป็นหลัก พิธีกรรม สิ่งของเครื่องปรุงข้าวทิพย์ ได้เลือก คงไว้ ๙ สิ่ง คือ ถั่ว , งา , นม , น้ำตาล , น้ำผึ้ง , น้ำอ้อย เนย และน้ำนมที่คั้นจากรวงข้าว

การจัดพิธีกรรม 

ยังคงรักษารูปเดิมไว้ โดยมีพราหมณ์ เข้าพิธี มีสาวพรหมจารีซึ่งจะพิถีพิถันคัดเลือกจากหญิงสาว ที่ยังไม่มีดอกไม้ (ระดู) ด้วยต้องการบริสุทธิ์สำหรับสาว พรหมจารีที่จะเข้าร่วมพิธี ต้องสมาทานศีล ๘ และต้องถือ ปฏิบัติตามองค์ศีลอย่างมั่นคง แม้ที่พักก็จัดให้อยู่ส่วนหนึ่ง จนกระทั่งถึงเวลาถวายข้าวทิพย์แก่ พระสงฆ์ ในตอนเช้าจึง จะหมดหน้าที่ ความเชื่อ ข้าวทิพย์เป็นอาหารที่รวมโอชารสต่าง ๆ ไว้พร้อม บริโภคแล้วจะได้รับประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามหลักโภชนาการสมกับเป็นข้าวทิพย์ รวมเอนกรส ยากที่จะทำขึ้นบริโภคได้ เมื่อผู้ใดได้บริโภคแล้วจะทำให้มีกำลังแข็งแรง มีคุณค่าอาหาร คงอยู่ในตัวได้นานพิจารณาแล้ว จะเป็นทางสนับสนุนข้าวทิพย์ของนางสุชาดา ที่นำไปถวายพระพุทธเจ้า ในวันตรัสรู้

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก kanchanapisek.or.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ขึ้นเขาพนมรุ้ง

ตำนานเรื่องเล่า

ประเพณีไทย ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นศาสนสถานสำคัญบนยอดเขาของนครขอมโบราณนาม วนัมรุงปุระ ตั้งอยู่เชิงเขาพนมรุ้งวนัมรุงปุระ เป็นเมืองใหญ่และมีคามสำคัญมากเมืองหนึ่งบนเส้นทางปราสาทหินโบราณ จากปราสาทหินพิมายไปถึงเมืองพระนคร เมืองแห่งนี้ล่มสลายลงในยุคขอมสิ้นอำนาจและไม่เคยกลับคืนมาเป็นเมืองอีกเลย คงปล่อยให้ศาสนสถานอันสวยงามที่ยังสร้างไม่เสร็จแห่งนี้เปลี่ยวร้าง ปรักหักพังไปตามกาลเวลา

ปราสาทหินพนมรุ้ง น่าจะได้รับการจัดสร้างโดย นายช่างฝีมือเยี่ยมของขอม การรังวัดจัดสร้างต้องทำอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยเฉพาะการจัดสร้างแนวประตูปราสาท ที่ต้องวางแนวขนานกับยอดเขา เล็งให้ศูนย์กลางประตูอยู่ในแนวเดียวกับพระอาทิตย์ขึ้นตรงกันตลอดแล้วทำเครื่องหมายไว้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ของทุกปีเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นขนานกับยอดเขา จึงสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ได้เป็นแนวเดียวตลอดทั้ง 22 ประตู และเกิดขึ้นในลักษณะนี้ได้เพียงวันเดียวในรอบปี

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ด้วยการผนวกเอาตำนาน การสร้างปราสาทหินพนมรุ้งรวมเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของประชาชนท้องถิ่นจัดเป็นงานเทศกาลวันเดียวที่มีเนื้อหาและมีจุดสำคัญของงานต่อเนื่องกันตลอดทั้งวัน นับตั้งแต่การรอชมพระอาทิตย์ขึ้น การทำบุญตักบาตร ขบวนแห่จำลองขบวนเดินทางของเจ้าเมือง การเฉลิมฉลองสมโภชปราสาท และการจัดเลี้ยงอาหารค่ำพร้อมชมการแสดงแสงเสียง ประกอบการแสดงในพื้นที่โบราณสถานอันยิ่งใหญ่ในช่วงกลางคืน 

วันเวลาจัดพิธีกรรม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

รูปแบบประเพณี


เป็นงานประเพณีไทยวันเดียวที่มีจุดเด่นเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าพระอาทิตย์ขึ้น จะเป็นการเฝ้าชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ได้เป็นแนวเดียวกันตลอดทั้ง 22 ประตู ปัญหาสำคัญคือ ทุกปีจะมีผู้เฝ้าชมมากแต่ประตูปราสาทเล็กทำให้ชมได้ลำบาก หากไม่ต้องการเบียดชม ก็มีการทำบุญตักบาตรบนยอดเขาในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการเดินทางของเจ้าเมืองวนัมรุงปุระนำขบวนนำขบวนข้าราชบริพารขึ้นมานมัสการองค์ปราสาท การนำชมตัวปราสาท และตกค่ำจะเป็นการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำพร้อมชมแสงเสียงประกอบการแสดงพื้นในที่ลานกว้างหน้าปราสาทท่ามกลางแสดงจันทร์และแสงดาว


จุดเด่นของพิธีกรรม

มีจุดเด่นของพิธีกรรมเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงเช้าและมีช่วงพักในเวลากลางคืน นับเป็นงานเทศกาลที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายกิจกรรมติดต่อกันอย่างน่าสนใจยิ่ง 

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก ku.ac.th
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ทิ้งกระจาด


 งานทิ้งกระจาด เป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีแนวคิดคล้าย พิธีกงเต้ก เป็นการ เจริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ตาย และของใช้อื่นๆ มาแจกจ่ายแก่ผู้ยากจน ตาม ตำนานพระสูตร กล่าวว่า "สมัยหนึ่งพระอานนท์กำลังบำเพ็ญสมาธิ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ เกิดมีอสุรกาย ตนหนึ่ง สำแดงร่างเป็นเปรต รูปร่างผอมสูง มีแต่หนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม เปรตนั้นได้กล่าวแก่พระ อานนท์ว่า อีก 3 วัน พระเถระจะถึงแก่มรณภาพ พระอานนท์จึงถามว่าจะแก้ไขอย่างไร เปรตตอบว่า ต้องทำ พิธีอุทิศเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นไทยทานแก่ฝูงเปรตทั้งหลายจึงจะรอดพ้น และพระเถระก็จะมีอายุมั่นขวัญ ยืน พระอานนท์จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็โปรดให้ประกอบพิธีเมตตาธรรมตามที่พระอานนท์ กราบทูล พิธีนี้จึงเกิดขึ้นและสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และเรียกกันว่า งานทิ้งกระจาด งานทิ้งกระจาดของสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว แต่จะจัดติดต่อ กันมาตลอดหรือขาดหายไปในระยะใดบ้างนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เท่าที่มีหลักฐานปรากฏว่า ในสมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2487) งานทิ้งกระจาดมีสืบเนื่องมาทุกปีไม่เคยเว้น

ความสำคัญ
        งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้ เป็นงานที่รวมกันของประชาชน ในวันที่จะทำบุญให้ทาน เป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เป็นการสร้างความเอื้ออาทรกันในหมู่สมาชิกของสังคมส่วนใหญ่ โดยถือว่าการทำบุญให้ทานนี้เป็นเครื่องลดความเห็นแก่ตัวลง

พิธีกรรม

        งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้จะเริ่มหลัง วันสารทจีน 3 วัน วันเพ็ญเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ประมาณปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ตามปฏิทินไทย อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาตั้งเป็นประธานในพิธี ซึ่งจะสร้างเป็นโรงกงเต็ก ที่หน้าสมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง และศาลมูลนิธิท่งเอี้ยะเซี่ยงตึ้ง ถนนพันคำ ภายในโรงกงเต็กนี้มีการอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาสิงสถิตในโรงกงเต็กชั่วคราว ติดกับบริเวณโรงพิธีจะมีร้านปลูกไว้สูง 4-5 เมตร บนร้านมีกระจาดใส่สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิดที่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านร้านตลาด ในวันที่สามของงานจะเป็นวันทิ้งกระจาด ทำเป็น ติ้ว ติดหมายเลขทิ้งลงมาจากร้านสูงนั้น ใครเก็บได้ก็นำไปแลกสิ่งของตามหมายเลขนั้น ๆ
        นอกจากนี้งานประเพณีทิ้งกระจาดยังมีรูปพญายมที่ชาวจีนเรียกว่า ไต้ซื้อ ทำด้วยกระดาษ โครงร่างสานด้วยไม้ไผ่ เขียนด้วยสีน้ำเงิน ขาว และแดง สูงในราว 4-5 เมตร ยืนชี้นิ้วหน้าตาถมึงทึงน่ากลัวมาก บนศีรษะไต้ซื้อมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมอยู่องค์หนึ่ง คอยดูแลพวกภูติผีปีศาจแย่งชิงสิ่งของกัน หน้าโรงกงเต็กมีงิ้วแต้จิ๋วประชันกัน 2 โรง ในสมัยก่อนเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงเต็มไม่หยุด 3 วันสามคืน พอบ่ายวันที่สาม งิ้วทั้งสองจะวิ่งมาชิงธงกัน ใครเอาไปปักก่อนเป็นฝ่ายชนะ

ประวัติความเป็นมา

        ประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีน ว่าสืบเนื่องมาจากมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชาย ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีนามว่า พระอรหันต์ "มู้เหลี่ยง" (หรือ หมกเลี้ยง)
        บิดาของท่านเป็นผู้ที่ชอบปฏิบัติธรรม มีใจเป็นกุศล ชอบทำบุญทำทาน และเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ทว่ามารดาของท่านกลับตรงข้าม ไม่ชอบเรื่องเหล่านี้ และไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ
        ในเวลาต่อมา บิดาของท่านถึงแก่กรรมลง พระมู้เหลี่ยงก็จัดพิธีงานศพ ตลอดจนพิธีกงเต็กให้บิดา โดยท่านนิมนต์พระคณาจารย์จีน ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ฉันแต่อาหารเจ ในขณะเดียวกัน เทพจี้กง จำพรรษาอยู่ในวัดที่พระมู้เหลี่ยงไปนิมนต์มาในพิธีงานศพของบิดา
        ครั้นก่อนถึงวันที่จะทำ พิธีกงเต็ก คืนนั้นเทพเจ้าจี้กงเตือนให้พระที่ได้รับกิจนิมนต์ว่า ในพิธีกงเต็กที่ได้รับนิมนต์จะพบกับ คนใจดำอำมหิตเป็นมาร จะมากลั่นแกล้งพระที่ได้รับนิมนต์ไปในงานนี้ ให้ระวังให้ดี
        พระที่ได้รับนิมนต์ไปเรียนถามว่า จะมีวิธีป้องกันอย่างไร เทพจี้กง แนะนำว่า สิ่งที่มองไม่เห็น อย่าได้ฉัน ให้ฉันแต่สิ่งที่มองเห็นก็พอ
        ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันทำพิธีกงเต็ก มารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยง ต้องการ แกล้งพระ และต้องการทดสอบ ปฏิปทาของพระไปในตัว เพราะตลอดเวลาตนก็ไม่มีใจศรัทธาอยู่แล้ว จึงสั่งให้คนครัวนำเอาสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปฆ่า แล้วนำเนื้อสุนัขมาหมักรวมกับต้นหอม ผักชี และกระเทียม แล้วนำมาทำเป็นไส้ซาลาเปา
        พอถึงเวลาฉันเพล จึงให้คนนำ ซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ทำไว้ออกมาถวายพระ เมื่อพระที่ได้รับนิมนต์เหล่านั้นเห็น ซาลาเปา ทุกรูปก็จำคำเตือนของเทพจี้กง จึงหยิบซาลาเปา แล้วซ่อนไว้โดยไม่ยอมฉัน พอได้เวลาพักผ่อน พระได้ชมบ้าน และสวนดอกไม้ทางหลังบ้านของเศรษฐี
        ในขณะที่ชมสวนอยู่นั้น พระท่านนำเอาซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ซ่อนไว้ออกมาหักดู ก็เห็นไส้ซาลาเปามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ จึงโยนทิ้งลงในบริเวณสวนดอกไม้นั้น
        ทันใดก็เกิดอาเพศ ฝนฟ้าคะนอง และตกลงมาอย่างหนัก
        หลังจากที่พระทำพิธีกงเต็กเสร็จแล้ว มารดาของพระมู้เหลี่ยงจึงถามพระที่ทำพิธีว่า ต้องการฉันอาหารเนื้อสัตว์อะไร (หมู เห็ด เป็ด ไก่) ตนจะได้จัดถวายให้
        พระท่านบอกว่า โยม อาตมาฉันแต่อาหารเจ ไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ มารดาของพระมู้เหลี่ยงได้ยินดังนั้นก็หัวเราะเยาะเย้ยหยัน พร้อมกล่าวว่า ซาลาเปาที่ท่านฉันตอนเพลนั้น มันเป็นไส้เนื้อสุนัข ท่านฉันแล้วไม่รู้หรือว่ามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ ไม่เห็นท่านว่ากล่าวอะไรออกมาเลย
        เมื่อได้ฟังดังนั้นพระก็บอกว่า โยม อาตมาไม่ได้ฉันซาลาเปานั้นเลย ตามอาตมาไปที่สวนหลังบ้านดูสิ
        เมื่อมารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยงไปถึง ก็เห็น ต้นหอม ต้นผักชี และ ต้นกระเทียม งอกขึ้นมาในสวน เป็นที่แปลกและอัศจรรย์ใจมาก จึงเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็น บาปอันมหันต์ และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อถึง เทศกาลกินเจเดือนเก้า ชาวจีนนอกจากจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังไม่รับประทานผัก ๓ ชนิดนี้ด้วย
        ต่อมามารดาของพระมู้เหลี่ยงถึงแก่กรรม ขณะเดียวกัน พระลูกชายก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ลงไปท่องเที่ยวยังเมืองนรก ได้พบกับวิญญาณของมารดา ซึ่งถูกล่ามโซ่ตรวนไว้ และกำลังจะถูกนำไปเกิดใหม่
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ได้ถาม ท้าวเวสสุวรรณ ว่า จะนำวิญญาณดวงนี้ไปไหน ? ท้าวเวสสุวรรณ ตอบว่า จะนำไปเกิดเป็น สุนัข เพราะตอนมีชีวิตอยู่ทำบาปไว้มาก เคยสั่งให้คนฆ่าสุนัข แล้วนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยงมีความกตัญญูต่อมารดามาก คิดที่จะช่วยมารดา จึงกล่าวขอท้าวเวสสุวรณไว้ ท้าวเวสสุวรรณก็ไม่ยอม เพราะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม กฎแห่งกรรม ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำให้เกิดการประลองฝีมือกันขึ้น ระหว่างพระอรหันต์มู้เหลี่ยงกับท้าวเวสสุวรรณ
        ความได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จลงมายังเมืองนรก และตรัสห้ามพระอรหันต์มู้เหลี่ยงว่า อย่ากระทำเช่นนั้นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตาม กฎแห่งกรรม
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยงตรัสพ้อว่า ตนบวชเป็นพระจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณของมารดาได้ รู้สึกบั่นทอนจิตใจเหลือเกิน
        พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านสามารถที่จะช่วยปลดปล่อยทุกดวงวิญญาณในขุมนรกนี้ทั้งหมดไหม ?
        พระอรหันต์มู้เหลี่ยงตอบว่า ได้ แล้วจึงได้กำหนด พิธีทิ้งกระจาด ขึ้น เพื่อที่จะช่วยดวงวิญญาณในขุมนรกนั้น โดยในพิธีนี้จัดให้มีการสวดพระคาถา และบริจาคสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ เช่น หับ เสื้อผ้า ภูเขาเงิน ภูเขาทอง เป็นต้น โดยกำหนดให้เริ่มพิธีตั้งแต่ วันที่ 1 เดือน 7 ถึงวันที่ 30เดือน 7 ของจีน (ชิกหง้วย) เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อให้ดวงวิญญาณที่อยู่ในนรกออกมารับกุศลผลบุญต่างๆ และเป็นอานิสงส์ส่งไปเกิดในภพต่อไป
        ชาวจีนจึงถือปฏิบัติเป็น ประเพณีงานทิ้งกระจาด ตามสถานปฏิบัติธรรม (โรงเจ) และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งในเมืองไทย เพราะถือเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์สูงส่ง รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนอีกด้วย

ประเพณีนี้ยังเกี่ยวข้องกับ
ประเพณีไทยชิงเปรต
ประเพณีไทย การชิงเปรต


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก panyathai.or.th/wiki

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ความหมายประเพณีไทยและการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย



ความสำคัญของประเพณีไทย


พจนานุกรมภาษาไทยฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายของคำว่า ประเพณีไทย ไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่างๆ ออกได้เป็น ขนบ มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง ธรรมเนียมมีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่า ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแบบแผน และได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อๆไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป ซึ่ง
เราอาจสรุปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ประเพณีไทย หมายถึง กิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ เป็นกฎระเบียบในการประพฤติปฏิบัติตน และมีความสำคัญต่อสังคมจนส่งอิทธิพลต่อสังคมในด้านต่างๆเช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ ฯลฯ
ประเพณีของไทยนั้นให้ความสำคัญในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันเช่น มารยาทในห้องรับประทานอาหาร การให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส ผู้น้อยต้องรู้จักสัมมาคารวะให้ความเคารพผู้ใหญ่ ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม ที่รับเอาอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทยและชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยการสร้างศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล อย่างไรก็ดีอิทธิพลจากศาสนาอื่นเช่น ศาสนาพราหมณ์ และ การอพยพของชาวต่างชาติเช่น คนจีนก็มีอิทธิพลของประเพณีไทย
ประเพณีไทยนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่คือ ภาษา, ศิลปะ และประเพณี
  1. ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติของคนไทย ตัวอักษรของภาษาไทยถูกสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงใน พ.ศ.1826 ตัวอักษรของภาษาไทยได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี และสันสกฤต อีกทั้งยังได้รับได้รับอิทธพลมาจากภาษาต่างๆ ทั่วโลกเช่น บาลี, ขอม, มาเล, ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน ทำให้ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยจนถึงปัจจุบัน
  2. ศิลปะไทย นั้นได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากพระราชาและชาววังครั้งแต่โบราณ และส่วนมากจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น ศิลปะการสร้างภาพวาดฝาหนังที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และพิธีกรรมทางศาสนา การสร่างสิ่งก่อสร้างในทางพระพุทธศาสนาเช่น เจดีย์, วัด, หรือสถูป ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่นการจัดงานประจำปี นอกจากนี้แล้ววัดยังเป็นสถานที่เรียนหนังสือกับเยาวชนและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนสถูป และเจดีย์ ถูกสร้างขึ้นขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระพุทธรูป หากบรรจุพระบรมสารีริกธาตของ พระพุทธเจ้าหรือของพระมหากษัตริย์นั้นก็จะเรียกว่าธาตุเจดีย์ และยังเป็นคติให้รำลึกถึงความเชื่อใน ศาสนาพุทธที่ว่าสังขารของคนนั้นไม่เที่ยงแท้ เมื่อมีการเกิดก็ย่อมต้องมีวันแตกดับได้เป็นไปตามปัจจัยของโลก คนไทยมีประเพณีสร้างเจดีย์เอาไว้ในวัดมาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อเตือนใจคนในสังคมไม่ให้ทำความชั่ว และหมั่นสร้างความดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมในภพนี้และภพหน้า
  3. ประเพณีไทย แสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตที่สอดประสานกับฤดูกาลและธรรมชาติอย่างชาญฉลาดของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ทั่วแผ่นดินไทย และความผูกพันกับความเชื่อและ พุทธศาสนาเช่น
ภาคเหนือ ประเพณีบวชลูกแก้วของคนไตหรือชาวไทยใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภาคอีสาน ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวจังหวัดยโสธร
ภาคกลาง ประเพณีทำขวัญข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคใต้ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

วัฒนธรรมประเพณีไทยของชาติล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมของไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงแนวความคิด ความเชื่อ และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดําเนินชีวิตความเป็นมาในอดีต ซึ่งมีความสําคัญพอสรุปเป็นสังเกตได้ดังต่อไปนี้


  1. พระพุทธศาสนา และพราหมณ์รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานั้น มีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ในด้านความเชื่อในเรื่องของความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
  2. เป็นเครื่องเตือนจิตใจ ให้รู้จักเป็นผู้มีความเสียสละ และความรักความสามัคคี ซึ่งจะเห็นได้จากงานบุญต่างๆ ที่ต้องใช้การร่วมมือ  ร่วมแรงร่วมใจกันจึงจะประสบผลสำเร็จเช่น พิธีขนทรายเข้าวัด การก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น
  3. มารยาทไทย เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันเป็นเอกลักษ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน และการมีสัมมาคารวะ
  4. ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยทำหน้าที่เป็นเครื่องกำหนดควบคุมพฤติกรรมให้คนไทยอยู่ในกรอบที่ดีงาม
  5. ขนบธรรมเนียมประเพณี สามารถบ่งบอกถึงความเป็นมาของชาติ ถึงแม้ประเพณีจะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นชนชาติเดียวกัน
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและประเพณีไทย


การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้ดำรงอยู่สืบไปจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทุกคน ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกัน ดังนี้
  • การรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งจากคนในท้องถิ่น และเอกสารที่ได้มีการบึนทึกไว้ เพื่อนำมาศึกษา วิจัยให้เข้าใจถึงแก่นแท้ เอกลักษณ์ และคุณประโยชน์ของวัฒนธรรมนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดการยอมรับ และนำไปปรับใช้กับชีวิตยุคปัจจุบันได้
  • ส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของประเพณีไทย โดยเฉพาะประเพณีในท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงเอกลักษ์ทางวัฒธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงจากวัฒธรรมอื่นๆที่เข้ามาได้
  • การรณรงค์เพิ่อปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบในการอนุรักษ์วัฒนธรรมให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ ของวัฒนธรรมว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน รวมทั้งภาคเอกชนต้องร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมให้กับชุมชน
  • ส่งเสริมให้ใช้ศิลปะวัฒนธรรมเป็นซื่อกลาง ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งวัฒนธรรมภายในประเทศ ระหว่างท้องถิ่นต่างๆและระหว่างประเทศ
  • ปลูกฝังทัศนคติว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง ฟื้นฟู และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติให้ทุกคนเกิดความเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
  • สร้างศูนย์กลางในเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานทางด้านวัฒนธรรม ด้วยระบบเครื่อข่ายสารสนเทศ เช่นเวบไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตได้ง่าย อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
เรียบโรงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก ประเพณีไทย.ebst.info
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย รับตายาย ส่งตายาย สารทเดือนสิบ


ประเพณีไทยรับ-ส่งตายาย ประเพณีท้องถิ่นของคนใต้ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่โบราณ มีขึ้นในช่วงกลางเดือนสิบ ประมาณเดือนกันยายน  ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ-วันแรม 15 ค่ำ ของทุกปี หรือที่เรียกกันว่าประเพณีสารทเดือนสิบ  คำว่า "สารท" เป็นภาษาบาลีแปลว่า ฤดูอับลม หรือฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า "ศารท" ฤดูสารท หรือฤดูศารท ตรงกับเดือน 11 และเดือน 12 แต่การทำบุญวันสารทของไทยอยู่ในราวปลายเดือน 1 อาจเป็นเพราะการนับเดือนสมัยโบราณ เริ่มนับจากข้างแรม ถ้านับเริ่มจากเดือน 5 ปลายเดือน 10 จะเป็นวันครบครึ่งปี ดังนั้น คำว่า "สารท" ตามคติไทยอาจถือเป็นวันทำบุญครบครึ่งปีก็ได้ อันที่จริงประเพณีสารทเดือนสิบนี้เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในทุกท้องถิ่นทั่วไทย แต่เรียกชื่อต่างกันไปตามพิธีกรรม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประจำในถิ่นนั้นๆ
  • ภาคเหนือ เรียก กินก๋วยสลาก /ทานก๋วยสลาก/ตานก๋วยสลาก/ตานสลาก/ กิ๋นข้าวสลาก/กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก
  • ในภาคอีสาน เรียกบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก
  • ภาคกลาง เรียก สลากภัตรและสลากกระยาสารท
  • ภาคใต้ เรียก ประเพณีทำบุญเดือนสิบ หรือรับ-ส่งตายาย

การทำบุญสารทเดือนสิบ หรือทำบุญตายาย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ โดยในช่วงปลายเดือนสิบของแต่ละปี ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นได้รับผล คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลแรกแก่ ผีสาง เทวดาเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อได้รับศาสนาพราหมณ์และพุทธ พิธีกรรมดังกล่าวจึงเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า "ปรทัตตูปชีวีเปรต" จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลูกหลานที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น ?การชิงเปรต? ในเวลาต่อมา

วิถีพุทธของคนไทยมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเปิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศกุศลไปให้ในแต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน แล้วจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
วันรับตายาย จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับมาจากยมโลก วันนี้จะมีการจัดอาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน ไปทำบุญที่วัด เพื่อเป็นการอุทิศ ส่วนกุศลให้แด่ท่านผู้ล่วงลับ เรียกวันทำบุญวันนี้ว่าวัน 'หมฺรับเล็ก'คนที่ไปทำงานหรือไปอาศัยที่อื่นๆก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมงานบุญนี้กับครอบครัว เป็นวันรวมญาติกันอีกวันหนึ่ง

วันส่งตายาย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะต้องกลับยมโลกดังเดิม เป็นพิธีใหญ่ของงานบุญสารทเดือนสิบ เริ่มทำกันตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ โดยแต่ละบ้านจะเตรียมจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ เตรียมทำขนมที่ใช้ในพิธี รุ่งขึ้นวันแรม 14 ค่ำ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้ การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเครื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี 5 อย่าง (บางแห่งมี 6 อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา และตั้งร้านเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้  มีการชิงเปรต และแจกจ่ายขนมในหฺมฺรับ ที่เหลือจากถวายพระแบ่งให้ลูกหลานนำกลับไปกินกัน
ประเพณีรับตายาย-ส่งตายาย ในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบของชาวใต้ มีทั้งพิธีกรรมทางประเพณี และพิธีทางพุทธศาสนา งานนี้จึงจัดขึ้นที่วัดทุกแห่งในภาคใต้ แต่ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นงานประจำปีของจังหวัด คืองานเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากประเพณีท้องถิ่นที่ทำกันทุกหมู่บ้าน มาเป็นงานประจำปีของจังหวัด เริ่มจัดงานครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังจึงถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า กลายเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งความสำคัญและความยิ่งใหญ่ ของการจัดงานทำให้งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป ในภาคใต้ รวมทั้งภาคอื่นๆ ของประเทศด้วย

เรียเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก siamfreestyle.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญผะเหวด ภาคอีสาน




ความเป็นมา บุญผะเหวด เป็นประเพณีไทยอีสาน

    "บุญผะเหวด" เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า "บุญพระเวส"หรือ พระเวสสันดร เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา ตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว ภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย โดยบุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน

     วันแรก เป็นวันเตรียม ในวันแรกนี้ ชาวบ้าน จะช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญ

     วันที่สอง เป็นวันโฮม เป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร  ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธีมี ทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด(ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย  ในเรื่องพระมาลัยนี้ จะแสดงให้เห็นถึงที่มาของประเพณีบุญผะเหวด

     ส่วนวันที่สาม เป็นงานบุญพิธี  เป็นวันที่มีเทศน์เวสสันดรชาดก ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงราย นำกัณฑ์เทศน์ กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน มาถวายพระ พระสงฆ์จะเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกจนจบ และเทศน์อานิสงส์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี


มูลเหตุของพิธีกรรม 

      จากเรื่องในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบปะสนทนากับพระศรีอริยเมตไตย ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เนื้อความตอนหนึ่งว่า....

“..   ลำดับนั้น สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตยใคร่จักทราบถึงวิธีการทำบุญของเหล่าชาวชมพูทวีป จึงขอให้พระมาลัยวิสัชนา พระมาลัยจึงกล่าวว่า  “มนุษย์บางพวกก็ให้ทานรักษาศีล บางพวกก็จัดให้มีพระธรรมเทศนาพร้อมกับป่าวประกาศให้ชาวประชามารับฟัง บ้างก็สร้างวัดวาอารามศาลากุฎี บ้างก็สร้างสถูปเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ในพระศาสนา บ้างก็ถวายเสนาสนะคิลานเภสัชแด่พระภิกษุสงฆ์ บ้างก็มีเจตจำนงถวายภัตตาหารบิณฑบาตตลอดจนสบงจีวรแด่พระภิกษุ บ้างก็เป็นบุตรกตัญญูเลี้ยงดูบำรุงบิดามารดา บ้างก็สร้างพระคัมภีร์ไตรปิฎก สุดแท้แต่กำลังแห่งทรัพย์แลปัญญาของตน มหาบพิตร”

     เมื่อสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตยได้ทราบถึงวิธีการทำบุญกุศลของชาวชมพูทวีปแล้ว พระองค์จึงถามถึงมโนปนิธานในการทำบุญนั้นว่าหวังผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติ พระมาลัยตอบว่า “ดูกรมหาบพิตร อันมนุษย์ทั้งหลายที่หมายทำบุญกุศลด้วยมิได้หวังผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติแต่อย่างใด กลับมุ่งหมายให้ได้เกิดทันศาสนาของพระองค์ทั้งนั้นเป็นส่วนใหญ่ ที่หมายใจเป็นอย่างอื่นกลับมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง”

     เมื่อพระศรีอาริยเมตไตยทรงสดับเช่นนั้นก็มีพระดำรัสตรัสฝากพระมาลัยไว้ว่า “ถ้าพวกเขาเหล่านั้นอยากเกิดทันศาสนาของข้าพระองค์ ก็จงอุตส่าห์ฟังธรรมมหาเวสสันดรชาดกให้จบทั้งหมดในวันเดียว แล้วบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้อย่างละพันฉัตร อันประกอบด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวเขียว ดอกบัวขาว ดอกสามหาวอย่างละพัน ถ้าทำได้ดังนั้นก็จะพบกับศาสนาของข้าพระองค์ ส่วนคนบาปหยาบช้าหนาหนัก เช่นกระทำปิตุฆาต มาตุฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า แลทำสังฆเภทให้หมู่สงฆ์เกิดการแตกแยกแตกความคิดไม่สามัคคี ทำลายพระเจดีย์แลพระพุทธรูป ตลอดจนคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวไม่รู้จักทำบุญให้ทาน ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ดำรงตนอยู่ในความประมาท คนพวกนี้มิได้มีโอกาสพบศาสนาของข้าพระองค์เป็นแน่แท้”

     เมื่อพระมาลัยได้ฟังดังนั้น ก็กำหนดจดจำไว้ในใจ เพื่อว่าจะได้นำไปเทศนาสั่งสอนชาวประชาทั้งหลายให้ได้ปฏิบัติ…”
     ด้วยมูลเหตุนี้ ชาวอีสานต้องการจะได้พบพระศรีอริยเมตไตย และเกิดร่วมศาสนาของพระองค์ จึงมีการทำบุญผะเหวด เป็นประจำทุกปี

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก isan.clubs.chula.ac.th

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ปีใหม่โบราณ



แต่เดิมนั้น เราถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่
          ครั้งภายหลัง เมื่อทางราชการนิยมใช้วันทางสุริยคติ จึงได้ถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันปีใหม่ มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ และเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ทางราชการก็ได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลง ให้เอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดาอารยะประเทศ

          บางทีอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า แต่ก่อนเราถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ วันสงกรานต์นั้นจะตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ของทุกปี  จนในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ วันสงกรานต์นี้ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕จึงประกาศให้ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมา สาเหตุก็เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ คือในปีนั้น ตรงกันทั้งวันสงกรานต์และวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕

          ได้มีการใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่นั้นเรื่อยมา แม้ว่าในปีต่อไปจะไม่ตรงกับวันสงกรานต์ ทั้งนี้เพื่อให้มีกำหนดวันทางสุริยคติที่แน่นอนตายตัวลงไป

          จันทรคติ คือ การนับวันเดือนปี โดยใช้การโคจรของพระจันทร์เป็นเกณฑ์ คือ นับขึ้นแรม นับเดือนอ้าย ยี่ สาม สี่ ฯลฯ นับปีชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ เรียกว่า การนับทางจันทรคติ

          สุริยคติ คือ การนับวันเดือนปี โดยใช้การโคจรของพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ คือวิธีการนับอย่างในปัจจุบัน เช่น วันจันทร์ อังคาร พุธ เดือน มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และปี พ.ศ. ปี ค.ศ. ต่างๆ ฯลฯ
          ต่อมาในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เป็นสากลทั่วโลก และใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ ================
        เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญๆ

        ครั้นถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ไปวัดเพื่อประกอบกิจกุศลต่างๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฎิบัติธรรม แต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงเป็นที่ครื้นเครงสนุกสนาน  เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 

       เช้าวันที่ ๑ มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน

        สำหรับในต่างจังหวัด จะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับ กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้าน หรือจัดมหรสพมาฉลอง

คติข้อคิดในวันปีใหม่
================
        เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไปครบ ๑ ปี เราได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ขอให้ลองมองย้อนหลังกลับไปคิดดูว่า วันเวลาที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือเปล่า  และได้กระทำคุณงามความดีอันใดไว้บ้าง ควรหาโอกาสกระทำให้ยิ่งขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันเราได้กระทำความผิดหรือสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องไว้หรือไม่ หากมีต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงต้นฉบับหาย

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย ทำบุญ


 

     ทำบุญ หมายถึง การกระทำดีตามหลักคำสอนในศาสนา วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายคุ้นเคยกับการทำบุญ และถือว่า ควรทำบุญอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ชีวิตมีความสงบสุข ได้พบแต่สิ่งดี ๆ แม้มีอุปสรรคหรือประสบชะตากรรม การทำบุญก็ช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ การทำบุญมาก ๆ แม้ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ได้อยู่ในที่ที่มีแต่ความสุข ทำบุญมากจะทำให้สามารถไปถึงนิพพานได้
    
  คนไทยมีความเชื่อตามแนวทางพุทธศาสนา คือ ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ซึ่งหมายถึงผลแห่งกรรม หรือผลแห่งการกระทำ ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น
     
   หลักง่ายในการทำบุญแล้วได้บุญ คือ ต้องมีจิตใจพร้อม ยินดี มีใจบริสุทธิ์ที่จะทำบุญ การทำบุญต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและผู้อื่น
     
  การทำบุญ ทำได้ 3 วิธีคือ การให้ทาน การรักษาศีล และ การภาวนา ถ้าปฏิบัติได้ครบ 3 วิธี ถือว่าทำบุญได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การทำทาน เป็นการทำบุญ ซึ่งก็ถูก เพราะเป็นขั้นต้นของการทำบุญ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง ทาน เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ทำกันสม่ำเสมอ
     
การทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

     การทำบุญตักบาตร คือ การนำอาหารไปใส่บาตรพระเณรที่ออกจากวัดมาบิณฑบาตในตอนเช้า คือ เวลาประมาณ 6.00-7.30 น. พระเณรจะออกมาบบิณฑบาต หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาโปรดสัตว อันหมายถึง การมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำทาน หรือได้ทำบุญ นั่นเอง
ทำบุญตักบาตรริมคลอง ที่หนองจอก

     อาหารที่จะนำมาใส่บาตร มักจะจัดเตรียมอย่างดี คือ ข้าวที่หุงสุกใหม่ กับข้าวก็จัดเตรียมให้พร้อม รวมทั้งของหวานและผลไม้ด้วย บางคนก็เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ด้วย เมื่อพระเณรมาถึง ชาวบ้านก็นิมนต์ให้ท่านหยุดและเปิดฝาบาตรออก ชาวบ้านก็จะใส่ข้าว กับข้าว ขนม และผลไม้ลงไป ส่วนดอกไม้ ธูป เทียน ก็จะถวายบนฝาบาตรที่ปิดบาตรแล้ว หรือใส่ย่ามที่พระเณรเตรียมมา พระก็จะให้ศีล ให้พร เป็นเสร็จ ถ้าจะให้ดี ควรหลั่งน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวร หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีการทำบุญตักบาตรด้วยการทำทาน

     เรื่องการทำบุญ โดยวิธีการทำทานนี้ คนไทยประพฤติปฏิบัติกันมานานเป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว การทำทานในพระพุทธประวัติกล่าวไว้ 2 ตอน คือ ครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ เสด็จไปประทับ ณ ควงไม้เกด พ่อค้าชื่อ ตะปุสสะ และภัลลิกะ ผ่านมาก็เลื่อมใส นำข้าวสัตตุผงสัตตุก้อนที่เป็นเสบียงมาถวาย พระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาหารด้วยบาตร ครั้งที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังป่ามะม่วง ตำบลอนุปิยะ แคว้นมคธ ได้เสด็จออกบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ ของพระเจ้าพิมพสาร ชาวเมืองเห็นพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตครั้งแรก ก็ชวนกันนำอาหารมาใส่บาตร เลยถือปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้นในตอนเช้าเราจึงเห็นพระเณรออกบิณฑบาต และเห็นชาวบ้านทุกเพศทุกวัยออกมาทำบุญ คือ มาทำทาน โดยนำอาหารมาตักบาตแด่พระสงฆ์และสามเณร

ข้อมูลอ้างอิง thaifolk.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย แข่งว่าวไทย.. จังหวัดสตูล


ช่วงเวลา ต้นสัปดาห์แรกเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี

ความสำคัญ


การแข่งขันว่าวประเพณีไทยจังหวัดสตูล เริ่มมีวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ โดยคณะครู-อาจาย์โรงเรียนสตูลวิทยา และชาวบ้านตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ริเริ่มจัดการแข่งขัน เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ลงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลมว่าวกำลังพัดย่านท้องที่สนามบิน และในจังหวัดภาคใต้ เหมาะแก่การเล่นว่าว ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่ลงทุนน้อย เล่นง่าย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประดิษฐ์ว่าวประเภทต่างๆ ขึ้นมา ประกอบคนชาวไทยเป็นนักประดิษฐ์ ช่างคิด ช่างทำ เห็นควายอยู่ในนาที่กำลังเก็บเกี่ยวจึงได้จำลองหน้าตาของควายลงในตัวว่าว ขณะที่ว่าวลอยกลางอากาศส่วนหางจะอยู่บน ส่วนหัว เขา จมูก หู อยู่ส่วนล่าง ว่าวมีเสียงดัง อยู่ไม่นิ่ง ส่ายไปมาเหมือนนิสัยบ้าบิ่นของควาย ชาวบ้านจึงเรียกว่าวควาย เป็นสัญลักษณ์ของการเล่นว่าวในจังหวัดสตูล เป็นที่นิยมของประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ



พิธีกรรม
อดีตว่าวเป็นเครื่องมือวัด ลม เป็นอุปกรณ์เสี่ยงทายถึงความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่นนิทาน หรือตำนานของไทย เช่น เรื่องแก้วหน้าม้า ว่าวสมัยก่อน พระมหากษัตริย์ให้ความสนใจมากหากว่าวตกลงบ้านใคร เจ้าของบ้านจะได้รับรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน ชาวจีนใช้ว่าวทำสงคราม ชาวฝรั่ง เช่น เบ็ญจามิน แพรงกิน ใช้ว่าวทดลองทางวิทยาศาสตร์
ว่าวจุฬา - ปักเป้า เป็นว่าวที่พระราชาทรงโปรด จัดให้มีการแข่งขันท้องสนามหลวง ว่าวจุฬา แต่ละตัวที่จัดทำขึ้นต้องมีพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น การค้นหาไม้ไผ่ที่แก่จัด อยู่กลางกอไผ่ มีอายุที่กำหนดไว้ เมื่อตัดไม้ไผ่แล้วต้องไปแช่น้ำระยะหนึ่ง จึงจะมาตกแต่ง มีการรมควันเพื่อให้ไม้ไผ่ทนทาน ไม่มีมอด แมลงมาชอนไช การตกแต่งโครงว่าว การผูกเชือก การติดกระดาษ ล้วนแต่ใช้ภูมิปัญญาไทย บางครั้งต้องมีการเซ่นไหว้ เพื่อให้มีชัยชนะ

สาระ
๑. เป็นการตอบแทนบุญคุณของควายที่ช่วยเหลือชาวนา ทำนา จึงเทอดทูนผู้มีพระคุณ
๒. เป็นการอนุรักษ์ช่างฝีมือในการทำว่าว ซึ่งนับวันจะหายากยิ่งขึ้น
๓. เสริมสร้างความสัมพันธ์ไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างรัฐต่าง ๆ ของประเทศมาเลเซียที่มีชายแดนติดต่อกับจังหวัดสตูล
๔. เป็นศูนย์รวมของว่าวภาคใต้
๕. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ปลูกฝังให้เยาวชนให้ตระหนักถึงภูมิปัญญาไทย มรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรม


เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก prapayneethai.com
ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}