ประเพณีไทย การเบิกน่านน้ำ


ช่วงเวลา กระทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในเทศกาลออกพรรษา ก่อนจะมีการแข่งขันเรือพาย

ความสำคัญ
เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงมีประเพณีการแข่งขันเรือพายขึ้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า งานออกพรรษา ประเพณีการแข่งเรือถือว่าเป็นการบูชาพญานาค ๗ ตระกูล และเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างชาวมุกดาหารกับชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

พิธีกรรม
ก่อนจะมีการแข่งขันเรือ จะต้องทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าฟ้ามุงเมือง และศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง โดยจะมีขบวนแห่จากชาวคุ้มวัดต่าง ๆ เพื่ออัญเชิญเจ้าฟ้ามุงเมืองลงเรือลำแรก (ชื่อเรือมุกดาสวรรค์) โดยเจ้าฟ้ามุงเมืองในร่างของจ้ำหรือคนทรงจะประทับนั่งที่หัวเรือ เพื่อเป็นการเบิกน่านน้ำ ให้การแข่งขันเรือพายในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดผลดี เป็นสิริมงคล เกิดความสนุกสนานแก่ปวงชนปราศจากอุปสรรคทั้งปวง ต่อจากเรือมุกดาสวรรค์จะเป็นขบวนเรือประเพณี ประกอบด้วยฝีพายที่เป็นหญิง แต่งกายสีสันตามแบบพื้นเมือง หัวเรือ ๒ คน และท้ายเรือ ๓ คน จะเป็นชาย หลังจากล่องเรือแข่งกันแล้วจะเริ่มพายทวนน้ำจากหน้าวัดศรีบุญเรืองไปสิ้นสุดที่หน้าวัดศรีมงคลใต้ ระหว่างทางจะหยุดรับเครื่องสักการะจากชาวบ้าน มีเหล้า ดอกไม้ ธูป เทียน และดอกดาวเรือง ส่วนเรือประเพณีที่ตามหลังจะมีสาวงาม ๑ คน ฟ้อนหางนกยูงอย่างสวยงามที่หัวเรือ พร้อมกับฝีพายจะร้องเล่น เซิ้งและผญาอย่างสนุกสนาน

สาระ
เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณ เชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างพี่น้องสองฝั่งโขงไทย-ลาว แสดงถึงความสามัคคีของชาวจังหวัดมุกดาหารและชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อ้างอิงจาก prapayneethai.com

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า


  คำว่า “ ข้าวประดับดิน ” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538 ได้ให้ ความหมายไว้ว่า “ ข้าวประดับดิน (ถิ่นอีสาน) ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์และพระเจดีย์เวลาเช้ามืดเดือน 9 ” ความหมายตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคนะวันออกเฉียงเหนือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ที่ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

“ ข้าวประดับดิน ชื่อของบุญเดือน 9 บุญข้าวสากน้อยที่เรียกว่า : ชื่ออาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ที่จัดใส่กระทง วางไว้ตามพื้นดินหรือโคนต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ”


   เนื่องจากคนลาวและไทอีสานมีความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ว่ากลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรมสิบสี่ค่ำเดือน เก้า) เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากัน จัดห่อข้าว ไว้ให้ญาติที่น้องที่ตายไปแล้ว ผู้ล่วงรับไปแล้ว

   ครั้งพระพุทธกาลบรรดาญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์แล้ว ตายไปเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระ พุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้ว จึงได้ทรงอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้บรรดาเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น เมื่อเปรตมิได้รับผลบุญ ถึง เวลากลางคืนพากันมาส่งเสียงน่ากลัว เพื่อขอส่วนบุญอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชนิเวศน์ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้ยินเช่นนั้น พอรุ่งเช้าจึง เสด็จไปทูลถามสาเหตุจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแจ้งสาเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารททรงทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารนั้นทรง ทราบแล้ว จึงถวายทานและอุทิศส่วนกุศลซึ่งได้ทำให้เปรต ตั้งแต่นั้นมาบรรดาเปรตเหล่านั้นก็ไม่มารบกวนอีก เพราะเปรตที่เป็น ญาติได้รับผลบุญแล้ว ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ทำบุญข้าวประดับดินติต่อกันมา


   พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหารมีทั้งคาวหวาน แก่ เนื้อปลาเผือกมัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลูบุหรี่ไว้ให้พร้อมเพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสมเณรบ้าง ส่วน สำหรับอุทิศให้ญาติที่ตายใช้ห่อด้วยใบตองกล้ายคาวห่อหนึ่ง หวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่งเย็บหุ้มปลายแต่บางคนใส่ ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มีหรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้

   พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหารหมากพลู บุหรี่ที่ห่อหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลาวัดตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ใน บริเวณวัด พร้อมพับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาของและผลบุญด้วย

เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปตักบาตรและถวายทานแต่พระภิกษุสามเณร มีการ สมาทานศีลฟังเทศน์และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป

การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว หวานหมากพลูบุหรี่ไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญ ข้าวประดับดิน


คำถวายสังฆทาน (ข้าวประดับดิน)

   อิมานิ มะยัง ภันเต ปิณฑะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยะมะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปิณฑะ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

   ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวและอาหาร (ข้าวประดับดิน) กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวและอาหาร(ข้าวประดับดิน) พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และ ความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.


   การห่อข้าวปลาอาหารและของขบเคี้ยวต่างๆ เป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายทานบ้าง แขวนไว้ตามต้นไม้บ้าง ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) เรียกว่าข้าวประดับดิน การทำบุญด้วย การให้ทาน รักษาศีล ด้วยอาศัยข้าวประดับดินเป็นมูลเหตุเรียกว่า "ข้าวประดับดิน" นักปราชญ์อีสานโบราณได้ กล่าวไว้เป็นบทผญา โดยได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์และประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า...

เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว 
เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน 
กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน 
ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว 
เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน 
เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้ 
เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น 
คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย

อ้างอิงจาก www.phibun.com/thai_tradition ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย การทำขวัญผึ้ง

 
   เป็นประเพณีไทยพื้นบ้านที่เก่าแก่ของหมู่บ้านโซกกระบาท ตำบลคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ประเพณีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังจากสูญหายไปราว 40 ปี ในอดีตเมืองศรีคีรีมาศต้องส่งส่วยน้ำผึ้งทดแทนการถูกเกณฑ์แรงงานตามพระราชกำหนดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการยกเลิกการส่งส่วยน้ำผึ้ง

การส่งส่วยดังกล่าวเป็นผลให้เกิดมีประเพณีการทำขวัญผึ้งเพื่อให้ผึ้งมาทำรังตามต้นไม้มากๆ ต่อมาประเพณีได้ค่อย ๆ เลือนหายไป ศูนย์ศึกษาและวิจัยวัฒนธรรมพื้นบ้าน หัวเมืองฝ่ายเหนือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก) ได้ฟื้นฟูประเพณีการทำขวัญผึ้งตำบลคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2526 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3

   สถานที่ประกอบพิธีทำขวัญผึ้งเป็นป่าใหญ่อยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน บริเวณเขาหลวงนี้อุดมไปด้วยว่านนานาชนิด จึงเป็นแหล่งที่เกิดน้ำผึ้งดอกว่านขึ้น ก่อนจะถึงวันทำพิธี ชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมข้าวของเครื่องใช้ ข้าวปลาอาหาร สำหรับรังผึ้งปลอมต้องทำไว้ตั้งแต่กลางคืน คือ การทำขนมแดกงา เริ่มด้วยการนำข้าวเหนียวล้างสะอาด แช่น้ำไว้จนข้าวเหนียวขึ้นน้ำ นำไปนึ่งให้สุกเมื่อสุกแล้วเทข้าวเหนียวร้อน ๆ ใส่ครกผสมกับเกลือเล็กน้อยโขลกให้เกลือเหลวแล้วจึงค่อย ๆ เอางาดำที่คั่วแล้วผสมลงไปโขลกด้วยจนน้ำมันงาออกทำให้ข้าวเหนียวไม่ติดครก เมื่อโขลกเหนียวได้ที่แล้วเอาข้าวเหนียวผสมงาไปใส่กระด้งนวดให้เหนียวผสมงาอีกครั้งหนึ่งจนมีสีดำ


   จากนั้นทำเป็นรังผึ้งขนาดต่าง ๆ ติดกิ่งไม้ไว้เพื่อเตรียมไปแขวนที่ป่า เช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านจะพากันเดินทางไปยังบริเวณที่ประกอบพิธีในป่า บริเวณที่จะทำพิธีต้องมีต้นไม้ใหญ่และเคยมีรังผึ้งมาก่อนแล้ว เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า "โซกลำเกลียว" เท่าที่ผ่านมาต้นไม้ที่ใช้ประกอบพิธี คือ ต้นยาง เมื่อได้ต้นไม้ในลักษณะที่ต้องการแล้ว กำหนดเขตโดยใช้ไม้ไผ่สานสูงประมาณเอว กั้นเป็นอาณาเขตห่างจากต้นไม้ประมาณ 3 วา เว้นช่องทางให้เข้าทั้งหมด 8 ช่อง เพื่อเป็นประตู 8 ทิศ แต่ละประตูสร้างศาลตีนเดียวสูงประมาณ 2 วา ที่ศาลจะมีเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ก่อนที่จะเริ่มพิธีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจะเอารังผึ้งปลอม (ทำจากขนมแดกงา) ไปติดตามต้นไม้รอบบริเวณนั้นจะมีกี่รังก็ได้ แต่จะต้องมีรังหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 ศอกเป็นรังผึ้งหลวงเพื่อใช้ประกอบพิธี อีกกลุ่มหนึ่งก็เอาผ้าสามสีและด้ายขาวแดงมาพันรอบต้นไม้ใหญ่ แต่เดิมนั้นใช้ผ้าม่วงผ้าไหมปัจจุบันหาไม่ได้แล้วจึงใช้ผ้าสามสีแทน และที่ผ้าสามสีจะประดับด้วยเหรียญเงินโดยรอบ เรียกว่า พวงเงิน พวงทอง ด้ายแดงขาวอีกส่วนหนึ่งนำไปพันที่รอบต้นไม้ใหญ่ 9 รอบ ตรงหน้าต้นไม้ใหญ่สร้างศาลตีนเดียวขนาดใหญ่หนึ่งศาล หน้าศาลมีที่วางเครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ บายศรี 1 ปาก หัวหมู 1 หัว ตีนหมู 8 ตีน หางหมู 1 หาง ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้าป่า ข้าวเหนียวขาว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวสุกจากปากหม้อ ผักหญ้า ปลายำ ไข่ต้ม มะพร้าวอ่อน 1 ผล หมากพลูอย่างละ 3 คำ ธูป 3 ดอก เทียน 3 เล่ม เครื่องเซ่นเหล่านี้จะแบ่งไปตามศาลตีนเดียวทั้ง 8 ศาลด้วย

   เมื่อจะเริ่มพิธีมีการจุดธูปเทียนที่ศาลใหญ่และศาลทั้ง 8 ทิศ ผู้ทำพิธีจะทำน้ำมนต์เพื่อปัดเสนียดจัญไร แล้วเอาน้ำมนต์พรมที่เครื่องสังเวยและคนในบริเวณนั้น จากนั้นจะไหว้พระรัตนตรัย กระทำธรณีสาร กล่าวคาถาชุมนุมเทวดาให้มารับเครื่องเซ่นสังเวยและร้องเชิญพ่อผึ้ง แม่ผึ้งให้ชวนบริวารมาทำรัง จากนั้นจะมีชาวบ้านชายหญิงสมมติเป็นพ่อผึ้ง แม่ผึ้ง ลูกผึ้ง ชวนกันมาทำรังที่ต้นไม้นี้ โดยจะเข้ามาทางประตูทั้ง 8 ทิศ ชาวบ้านที่สมมติเป็นเทวดาผู้เฝ้าประตูจะคอยซักถามว่า พ่อผึ้ง แม่ผึ้ง ลูกผึ้งนี้มาจากไหน และเชิญชวนให้มาทำรังผึ้งที่ป่าแห่งนี้ เมื่อขบวนผึ้งเข้ามาแล้วก็จะออกไปยังประตูตรงกันข้ามแล้วเข้ามาใหม่โดยมีเทวดาผู้เฝ้าประตูซักถามอีก จะเดินเข้าออกในลักษณะนี้จนครบทั้ง 8 ทิศ เป็นอันว่าเสร็จพิธี


   หลังจากนั้นชาวบ้านที่มาร่วมในพิธีนี้จะเล่นขโมยรังผึ้งกัน โดยจะขโมยขนมแดกงาที่มีผู้นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในบริเวณพิธีและจะมีตำรวจคอยจับขโมย ถ้าขโมยคนใดถูกตำรวจจับได้ ตำรวจก็จะจับส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะตัดสินจำคุกกี่ปีก็ได้ การลงโทษจำคุกนี้ใช้วิธีการดื่มเหล้าแทน เช่นจำคุก 5 ปี ก็ให้ดื่มเหล้า 5 จอก เป็นการละเล่นที่สนุกสนานของชาวบ้านมาก

 เมื่อสิ้นสุดการละเล่นแล้วจะมีการสมมติตีรังผึ้งจากต้นยาง ที่ใช้ประกอบพิธี เป็นการเสร็จสิ้นพิธีการทำขวัญผึ้งโดยสมบูรณ์

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
อ้างอิงจาก www.info.ru.ac.th/province/sukhotai

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย บุญแจกข้าว

  
       ชาวอีสานมีความเชื่อว่าดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หากไม่ได้รับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แล้ว ดวงวิญญาณนั้นก็จะมีแต่ความอดอยากทนทุกข์ทรมานและไม่ได้ไปผุดไปเกิด ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้จึงทำให้มีการจัดงานหรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่เสียชีวิต หรือเรียกว่า การทำบุญแจกข้าว
               
  การทำบุญแจกข้าวเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอา ซึ่งผู้เสียชีวิตเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปได้ไม่นานมากนัก ประมาณ 1-3 ปี

  โดยการทำบุญแจกข้าวนี้ ต้องมีการระบุไปว่ามีความต้องการจะทำบุญแจกข้าวให้ใคร โดยจะมีการจัดงานกันใหญ่พอสมควรโโยมีการบอกกล่าวเพื่อนบ้านใกล้เคียงและ ภายในหมู่บ้านหรือต่างหมู่บ้าน และมีการบอกกล่าวไปถึงญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลให้มาร่วมงานนี้ด้วย

  งานทำบุญแจกข้าวนี้นิยมทำกันในเดือนสี่ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวอีสานว่างเว้นจากการทำไร่ไถนาจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการทำกิจกรรมนี้ การทำบุญแจกข้าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวอีสานเพราะชาวอีสานมีความเชื่อว่าทุกคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ต้องได้กินข้าวแจก หากคนใดที่เสียชีวิตไปแล้วแล้วไม่ได้ทำบุญแจกข้าวไปให้บุคคลนั้นจะได้รับความอดอยากไม่ได้ไปผุดไปเกิด จะยังคงวนเวียนเพื่อรอรับข้าวแจกจากญาติพี่น้องต่อไป

  บุคคลใดเมื่อมีญาติที่เสียชีวิตไปแล้วไม่ได้ทำบุญแจกข้าวอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็จะถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนภายในหมู่บ้าน ว่าไม่รู้จักบุญคุณไม่รักใคร่ญาติที่เสียชีวิตไป เป็นคนเห็นแก่ตัวไม่รู้จักเสียสละ
          

   ก่อนการทำบุญแจกข้าวจะมีการบอกเล่าญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านว่าจะมีการทำบุญ ให้ญาติที่เสียชีวิตไป พอถึงวันทำบุญในช่วงตอนกลางวันจะมีการจัดแต่งเครื่องไทยทาน เรียกว่า ห่ออัฎฐิ และมีการจัดเลี้ยง อาหารกลางวันแก่ผู้ที่มาจัดแต่งเครื่องไทยทานและมาช่วยงานในเรื่องต่างๆ บางครั้งภายในงานก็จะมีการบว๙นาคด้วย ในช่วงเย็นก็จะมีการฟังเทศน์และในช่วงกลางคืนก็ก็จะมีงานมหรสพที่เจ้าภาพของงานว่าจ้างมา ไม่ว่าจะเป็น หมอลำ ภาพยนตร์ เป็นต้น

  ในช่วงเช้าของวันใหม่จะมีการถวายอาหารและเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยจะนิมนต์มาบ้านเจ้าภาพหรือนำไปถวายที่วัดก็ได้ หลังจากนั้นก็จะมีการถวายผ้าบังสกุล ฟังเทศน์ และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไป หลังจากนั้นก็จะมีการจัดเลี้ยงอาหารให้ผู้ที่มาร่วมงาน ก็เป็นอันเสร็จพิธี การทำบุญแจกข้าวแก่ญาติที่เสียชีวิตไป
          
  ชนชาวอีสานถือเรื่องความกตัญญูต่อญาติพี่น้องและผู้มีพระคุณ การจัดงานทำบุญแจกข้าวจึงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ที่เสียชีวิตไป เพื่อให้ดวงวิญญาณของคนเหล่านั้นได้รับบุญกุศลและไปเกิดใหม่ไม่ต้องวนเวียนเพื่อรอรับส่วนบุญอีกต่อไป

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก ibrary.uru.ac.th/webdb

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}

ประเพณีไทย พิธีสืบชะตาแม่น้ำ


ในยามที่เห็นว่าแม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาหมายถึง การต่ออายุให้ยืนยาวออกไป

ในกรณีของทางภาคเหนือนั้น การต่อชะตามีหลายอย่าง และนิยมทำในหลายกรณี ชาวบ้านบางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำ ชาวบ้านก็นิยมจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ เพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับแม่น้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้กับแม่น้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ

พิธีสืบชะตาแม่น้ำประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน มีความสำคัญดังนี้ 
๑. ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน
๒. ทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำ
๓. เกิดความรักหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร



พิธีกรรม
๑. ก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้าน
๒. ในวันกระทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ
๓. เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข ๙ เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร)


อย่างไรก็ดีการสืบชะตาถ้าพูดง่ายๆ ก็คือการต่ออายุให้มีอายุยืนยาวขึ้นนั่นเอง เราคงเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับคำพูด  สืบชะตาเมือง    

จากโหร หรือนักโหราศาสตร์ในช่วงบ้านเมืองเกิดวิกฤต  โดยพิธีสืบชะตาแม่น้ำนี้  จัดขึ้นเพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับแม่น้ำ  และเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำ สายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำและเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน

เรียบเรียงใหม่โดย http://ที่นี่ประเพณีไทย.blogspot.com
บทความ : อ. สิริชัย พยากรณ์

ให้คะแนนกับบทความนี้:
{[['']]}